ที่มา ประชาไท ไม่ น่าเชื่อว่ามนุษย์ที่ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐจะเข่นฆ่าทำร้ายและคุมขัง มนุษย์ด้วยกันแต่ว่ามีความคิดเห็นแตกต่างจากตัวเองและไม่มีความเศร้าใจใดๆ ที่จะเทียบเท่ากับการได้เห็นภาพหรือทราบข่าวของการจับกุมคุมขังผู้ที่มีความ คิดเห็นแตกต่างจากผู้ครองอำนาจรัฐไม่ว่าจะเกิดขึ้นในผืนแผ่นดินใดในโลกนี้ ซึ่งเราเรียกเขาเหล่านี้ว่านักโทษทางความคิดหรือ Prisoner of Conscience คำว่านักโทษทางความคิดนั้นในคู่มือสมาชิกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย(Amnesty International Thailand)ได้ ให้ความหมายไว้ว่า คือ บุคคลที่ถูกคุมขัง หรืออาจกล่าวได้ว่าถูกกักขัง ทางร่างกายเนื่องจากความคิดเห็นทางการเมือง เพราะศาสนา หรือความเชื่ออย่างแท้จริงของเขา เพราะเผ่าพันธุ์ เพศ สีผิว ภาษา ถิ่นกำเนิดหรือสังคม สถานภาพทางเศรษฐกิจ การเกิด แนวโน้มทางเพศ หรือสถานภาพอื่นๆ ทั้งนี้ โดยที่เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง หรือความเกลียดชัง ไม่ มีใครรู้ถึงจำนวนที่แน่นอนของนักโทษทางความคิดที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั่วโลก พวกเขาถูกจับกุมโดยรัฐบาลหรือกลุ่มการเมืองติดอาวุธ บางคนเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักแก่สาธารณชน หลายคนเป็นศิลปิน นักกฎหมาย นักการเมือง หรือนักต่อสู้ของสหภาพแรงงาน โดยเขาเหล่านั้นได้ท้าทายความคิดเห็นของรัฐ อย่างไรก็ตามปรากฏว่านักโทษทางความคิดส่วนใหญ่กลับเป็นชายและหญิงธรรมดาๆ แม้กระทั่งเด็กๆจากผู้คนทุกชนชั้นโดยถูกคุมขังเพียงเพราะสิ่งที่พวกเขา เป็น(เช่น เป็นเหลือง หรือเป็นแดง เป็นต้น) มากกว่ากิจกรรมทางการเมืองของพวกเขา นัก โทษทางความคิดบางคนได้กระทำการต่อต้านระบบทั้งหมดของรัฐ ในขณะที่บางคนได้ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายของระบบการเมืองภายในประเทศ แต่พวกเขาก็ยังคงถูกจับกุมอยู่ดี ประชาชนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆอาจกลายเป็นนักโทษทางความคิดได้ เนื่องจากเหตุผลหลายประการที่อาจถูกหยิบยกขึ้นมา ได้ ทั้งๆที่มนุษย์ ทุกคนไม่ว่าจะมีความเชื่อใดควรได้รับสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพราะเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 2 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่า ”โดยปราศจากความแตกต่างไม่ ว่าในรูปแบบใด เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา การเมืองหรือความคิดเห็นอื่น สัญชาติหรือกำนิดทางสังคม ทรัพย์สิน การเกิดหรือสถานภาพอื่น” ตัวอย่างของการกล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุผลที่จะจับกุมคุมขังนักโทษทางความคิดที่พบเห็นอยู่เสมอ เช่น - การ เข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองที่ปราศจากความรุนแรง เช่น กิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง หรือการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพันธมิตรฯ เป็นต้น - การเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้เพื่อการปกครองตนเอง - การยืนยันที่จะปฏิบัติพิธีการทางศาสนาที่รัฐไม่ให้ความเห็นชอบ - การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงาน เช่น การนัดหยุดงาน หรือการเดินขบวนประท้วงของคนงาน เป็นต้น - การ ตั้งข้อหาว่าพวกเขาก่ออาชญากรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงการวิจารณ์ทางการหรือเป็นการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น เช่น การตั้งข้อหาก่อการร้าย หรือการป้ายสีว่าอยู่ในขบวนการล้มเจ้าทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ แต่ก็แจ้งความดำเนินคดีไว้ก่อนเพื่อกลั่นแกล้งกัน เป็นต้น - การ เขียนบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ที่กระตุ้นให้ผู้คนตระหนักในเรื่องของการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศของตน ก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการร้ายแยกดินแดนได้ เป็นต้น - การปฏิเสธการเข้ารับราชการทหาร สืบเนื่องมาจากความคิดเห็นของตนที่เป็นการปฏิเสธอย่างจริงใจ (Conscientious Objection) - การ ต่อต้านการใช้ภาษาราชการของประเทศ เช่น ในประเทศที่มีภาษาหลักอยู่หลากหลาย หรืออาจจะด้วยเพราะเหตุผลทางการเมือง เช่น อินเดีย แคนาดา ฯลฯ จนต้องมีภาษาราชการมากกว่า 1 ภาษา - เนื่อง จากเขาบังเอิญอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มีความคิด เห็นไม่ตรงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น หมู่บ้านในเขตสีแดงหรือสีชมพูในอดีต หรือ หมู่บ้านในในเขตภาคเหนือหรือภาคอีสานในปัจจุบัน เป็นต้น - เนื่องจากคนในครอบครัวเป็นศัตรูของรัฐอย่างเปิดเผยเปรียบดังกรณีหมาป่ากับลูกแกะ เป็นต้น - การอยู่ในสถานที่ที่ถูกจำกัดทางเพศเพราะเหตุเป็นสตรีเพศ เช่น ในอาฟกานิสถานภายใต้ระบอบการปกครองของตาลีบัน - เนื่อง จากอัตตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงหรือที่แสดงออกหรือการข้องแวะในความสัมพันธ์ หรือกิจกรรมของเพศเดียวกัน เช่น กรณีผู้นำฝ่ายค้านของมาเลเซีย เป็นต้น ตัวอย่าง ของนักโทษทางความคิดที่มีชื่อเสียงที่เรารู้จักกันดีก็คือ อองซาน ซู จี ของพม่าที่เพิ่งถูกปล่อยตัวจากการกักขังไว้ในบ้านของตนเอง(House Arrested) หรือกรณีของนาย Idriss Boufayed นัก ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวลิเบียซึ่งถูกจับกุมภายหลังเขากลับจากการลี้ภัย ในสวิตเซอร์แลนด์ไปลิเบียในเดือน ก.ย.2549 ทั้งๆที่เขาได้รับหนังสือเดินทางและคำยืนยันจากสถานทูตลิเบียประจำกรุงเบิร์ นว่าเขาจะไม่ได้รับอันตรายใดๆในการกลับเข้าประเทศ แต่ปรากฏว่าเขากลับถูกจับในวันที่ 5 พ.ย. 2549 และ ถูกขังเดี่ยวจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 29 ธ.ค.2549 แต่ต่อมาเขาก็ยังถูกจับกุมอยู่ดีในเดือน ก.พ.2550 ขณะที่กำลังวางแผนการชุมนุมอย่างสงบในเมืองเดียวกัน จาก ตัวอย่างทั้งหมดที่ได้ที่ได้กล่าวมานี้ ผมเห็นว่านักโทษทางความคิดทุกคนควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและโดยปราศจาก เงื่อนไข เพราะภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างๆไม่มีสิทธิที่จะกักขังบุคคลเหล่านั้น พวกเขาถูกปล้นอิสรภาพเพราะความเชื่อของตน หรือเพราะ อัตตลักษณ์ความเป็นตัวตน มิใช่การเป็นผู้ร้ายโดยกมลสันดาน เรามารณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดกันเถอะครับ ---------------------- หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 15 ธันวาคม 2553