ที่มา มติชน
โดย เกษียร เตชะพีระ
เมื่อ ต้นเดือนนี้ สถาบันสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว (เจ้าของโลโก้ใหม่รูปมีดบิน 4 แฉก เป็นสัญลักษณ์แทน 4 สาขาวิชา คือ นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์, สังคมวิทยา และเศรษฐศาสตร์) ชวนผมไปบรรยายเรื่องธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาลในประเทศไทย พร้อมร่วมอภิปรายตบท้ายเกี่ยวกับแนวทางธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาลกับญี่ปุ่นร่วม สมัย
ความรู้เรื่องญี่ปุ่นของผมเท่าหางอึ่ง จึงออกตัวขอไพล่ไปพูดเรื่องนัยทางการเมืองระดับโลกของแนวนโยบายธรรมรัฐ/ธร รมาภิบาล (Good Governance) แทน
ผมเริ่มโดยชวนผู้ฟังให้ลองจินตนาการ.....
ว่าอยู่สองต่อสองในห้องรโหฐานกับเขา/เธอที่คุณหมายปอง
จู่ๆ เขา/เธอคนนั้นก็สิ้นสติสมประดีไปเสียเฉยๆ อย่างนั้นแหละ
และสักครู่พอฟื้นตื่นขึ้นมา เขา/เธอกลับความจำเสื่อมหมด จำอะไรไม่ได้เลย พอเห็นคุณเข้าก็ออกปากถามว่า:
"ฉันเป็นใคร? ฉันชื่ออะไร? ฉันอยู่ที่ไหน? แล้วเธอล่ะเป็นใคร?"
อะแฮ่ม...แล้วคุณจะเล่านิทานเรื่องอะไรให้เขา/เธอฟัง?
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
Good Governance หรือธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาลก็คือนิทานที่ไอเอ็มเอฟเล่าให้ประชาชนไทยและเอเชีย ตะวันออกทั้งหลายฟังหลังพวกเขาฟื้นจากอาการช็อคและสลบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี ค.ศ.1997
หน้าที่ของนิทาน Good Governance ก็คือกอบกู้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ไว้จากวิกฤตต้มยำกุ้งนั่นเอง!
กล่าว คือแทนที่จะวิเคราะห์ฟันธงว่าวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเอเชียตะวันออกครั้งนั้น เกิดจากการเปิดเสรีทางการเงินตามแนวทางโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ที่หลงใหล ฮือฮาทำตามแฟชั่นกัน กลับไพล่ไปโทษว่าเกิดจาก Bad Governance หรืออธรรมรัฐ/อธรรมาภิบาลต่างหาก ฉะนั้นทางป้องกันแก้ไขต่อไปข้างหน้าคือต้องปฏิรูปธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาลหรือ Governance Reform
และแก่นสารสารัตถะของธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาลที่ถูกนำ เสนอก็คือ = [LESS STATE + BETTER STATE] หรือ[รัฐน้อยลง + รัฐที่ดีขึ้น] ภายในกรอบกำกับของแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่นั่นเอง
แปลว่ารัฐควรทำอะไร ให้น้อยๆ ไม่ต้องทำมาก และเท่าที่เหลือให้ทำก็ควรทำให้ดีขึ้น (โปร่งใส, มีประสิทธิภาพ, ประชาชนมีส่วนร่วม, บลาๆๆ) แต่ไม่ว่าจะทำอะไรห้ามรัฐล่วงละเมิดกรอบหลักการเสรี-นิยมใหม่/ฉันทามติ วอชิงตัน (เปิดเศรษฐกิจเสรี, ลดกฎเกณฑ์กำกับธุรกิจ, แปรรูปกิจการรัฐเป็นของเอกชน, ตัดทอนงบประมาณทางสังคม) เป็นอันขาด
ผล กระทบของมัน "ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ แถบนี้หันไปถือเศรษฐกิจเป็นสรณะและบั่นทอนความเป็นการเมืองลง (economization &depoliticization of democracy)
กล่าวคือรัฐ ต่างๆ พบว่าอำนาจอธิปไตยเหนือแนวนโยบายเศรษฐกิจเชิงมหภาค (การเงิน, การคลัง, อัตราแลกเปลี่ยน) ของตนหดลดขอบเขตลง และเท่าที่เหลืออยู่ ก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเทคนิคทางเศรษฐกิจการเงิน
นโยบายสาธารณะถูกกำกับด้วยหลักแคบ-ตื้น-แห้ง-ง่ายๆ ว่าด้วยกำไร/ขาดทุนและการคำนวณอรรถประโยชน์เป็นตัวเงินอันตื้นเขิน
ซึ่ง ไม่ใช่ธุระกงการของชาวบ้านตาสีตาสายายมียายมาไร้ความรู้เชี่ยวชาญอะไรจะมา ตัดสินวินิจฉัย ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกูรูผู้รู้ ก็คือบรรดาช่างเทคนิคทางเศรษฐกิจการเงินทั้งหลายแหล่นั่นเอง
แล้วเราก็ท่องบ่นนิทานธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาลอยู่กันมาอย่างใบ้เบื้อนับสิบปี
(ดู ประสบการณ์และปัญหาการดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ของญี่ปุ่นนับแต่ต้นคริสต์ ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาได้ใน Makoto Itoh, "The Japanese Economy in Structural Difficulties", Monthly Review, 56: 11 (April 2005), www.monthlyreview.org/0405itoh.htm)
จนกระทั่งวิกฤตซับไพรม์และ เศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ทำลายนิทานธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาล และซัดอภิมหากูรู Good Governance ตะวันตกคว่ำหงายเค้เก้ลงเมื่อสองปีมานี้
กลายเป็นว่าต้นตอตักกศิลาธรรมรัฐพังพินาศทางเศรษฐกิจการเงินเอง
เพราะ อะไร? ส่วนหนึ่งก็เพราะ [TOO LITTLE STATE, TOO FEW REGULATIONS] รัฐมีอำนาจหน้าที่และทำงานน้อยไป กฎเกณฑ์กำกับดูแลเศรษฐกิจการเงินการธนาคารเบาบางเกินไป ตามสูตรสำเร็จเสรีนิยมใหม่นั่นปะไร
เราควรเรียนรู้อะไรได้จากเรื่องนี้บ้าง?
นิทาน ธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาลมันไม่จริง กลไกตัวเลือกในการดำเนินเศรษฐกิจไม่ใช่ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่าง รัฐ กับ ตลาด, มันต้องใช้ทั้งสองอย่างนั่นแหละ เพียงแต่พินิจพิจารณาให้ชัดว่าใช้รัฐแค่ไหน? ปล่อยให้เป็นเรื่องของตลาดเท่าไหร่? แล้วจะเอารัฐประเภทไหน? ตลาดแบบใด? ขีดจำกัด, สัดส่วนระหว่างองค์ประกอบของกลไกเหล่านี้จะอยู่ที่ใด?
อุปมา อุปไมยก็เหมือนหนึ่งประชาชนโลกถูกวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ช็อค เข้าอีกที, สลบไปอีกที และบัดนี้ก็ฟื้นตื่นขึ้นมาอีกที
แล้วจะเล่านิทานเรื่องอะไรให้ประชาชนฟังดีล่ะทีนี้?