ที่มา มติชน
โดย สรกล อดุลยานนท์
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554) ฟัง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ให้สัมภาษณ์เรื่อง "น้ำมันปาล์ม" แล้วต้องนึกอยู่พักหนึ่งว่า 2 คนนี้อยู่ฝ่ายไหน
เป็น "ฝ่ายค้าน"
หรือว่า "รัฐบาล"
การไล่บี้กระทรวงพาณิชย์เรื่อง "น้ำมันปาล์ม" ทั้งแพงและขาดแคลนของ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ครั้งนี้ถือเป็นความเก๋าทางการเมืองอย่างมาก
เพราะสามารถเปลี่ยนเสื้อจาก "ผู้ร้าย" มาเป็น "พระเอก" ในพริบตา
"อภิสิทธิ์" เป็น "นายกรัฐมนตรี" ส่วน "สุเทพ" เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ดูแลเรื่อง "น้ำมันปาล์ม" โดยตรง
ชาวบ้านเดือดร้อน ต้องเข้าคิวซื้อน้ำมันปาล์ม เขาก็ต้องชี้นิ้วมาที่ "รัฐบาล"
คนยืนข้างหน้าสุด คือ "อภิสิทธิ์"
ถัดมา คือ "สุเทพ"
แต่ใครจะไปนึกว่าเพียงเผลอกะพริบตาแวบเดียว "อภิสิทธิ์-สุเทพ" จะกระโดดผึงเปลี่ยนมายืนฝั่งชาวบ้าน แล้วหันกลับชี้นิ้วไปที่ "พรทิวา นาคาศัย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ยืนอยู่ลำดับที่ 3
"พรทิวา" ที่ยืนงงๆ อยู่ลำดับที่ 3 ในฝั่งรัฐบาลกลายมาเป็นคนยืนเด่นอยู่หน้าสุดของฝั่ง "ผู้ต้องหา" ทำน้ำมันปาล์มขาดแคลน
"แมน" จริงๆ
ถามว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องรับผิดชอบเรื่องการนำเข้าน้ำมันปาล์มใช่หรือไม่
ตอบว่า"ใช่"
ถามว่ามีข่าวเรื่อง "ใต้โต๊ะ" ที่กระทรวงพาณิชย์ไหม
ตอบว่า "มี"
แต่ถ้าถามให้ลึกลงไปอีกว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปล่อยให้สต๊อคน้ำมันปาล์มในประเทศเหลืออยู่ต่ำมาก การอนุมัติให้นำเข้าแต่ไม่กำหนดเวลา และปล่อยให้ปัญหาบานปลายใหญ่โตขนาดนี้
ใครรับผิดชอบ
ไม่ใช่ผู้นำองค์กรหรือครับ
น้ำมันปาล์มไม่ได้เพิ่งขาดตลาดเพราะสื่อทุกแขนงตีข่าวเรื่องนี้มานานกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ "ผู้นำ" ยังสั่งการอยู่ในห้องแอร์ ไม่เคยมาไล่ปัญหาแบบนักบริหารจัดการเลย
นักบริหารที่ดีถ้าเกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหน
เขาจะเรียกประชุม ไล่งานอย่างละเอียด ถ้าส่วนไหนมีปัญหาก็ส่งคนเข้าไปกำกับดูแลละเอียด กำหนดขั้นตอนและเวลาชัดเจน
อะไรต้องเชือดก็เชือด
แต่ต้องคุยกันเงียบๆ ในห้องก่อน เพราะเป็น "ทีม" เดียวกัน
จากนั้นค่อยออกมาแถลงข่าวถึงวิธีการแก้ปัญหา
แต่ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ใช้วิธีออกมาตะโกนข้างนอก แล้วชี้นิ้วโยนความผิดไปที่ "ลูกน้อง" เลย
แบบนี้ไม่ใช่ "นักบริหาร" ครับ
แต่เป็น "นักการเมือง" ที่คิดเรื่องคะแนนเสียงอย่างเดียว
ทั้งที่ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดในเรื่องนี้
"อภิสิทธิ์-สุเทพ-พรทิวา" ทำงานร่วมกันมา 2 ปี รู้มือกันอยู่ว่าใครเก่งแค่ไหน สกปรกแค่ไหน ทำงานเป็นแค่ไหน ฯลฯ
ผู้บริหารที่เก่งต้องรู้ว่าจะใช้งานใคร และควรกำกับดูแลอย่างไร
"เก่ง แต่ขี้โกง" จัดการอย่างไร "ไม่เก่ง แต่มีหน้าที่รับผิดชอบ" จะจัดการอย่างไร ฯลฯ
ไม่ใช่พอเกิดปัญหาขึ้นมา ก็โยนให้ลูกน้องคิดและดำเนินการเองทั้งหมด
ถ้าดีก็รับเองคนเดียว
แต่พอผิดพลาดขึ้นมากลับโยนความรับผิดชอบให้ "ลูกน้อง"
ผมไม่เกี่ยว ผมสั่งการไปแล้ว แต่ลูกน้องทำผิดพลาดเอง ฯลฯ
ไล่จับผิด "ลูกน้อง" เหมือนตัวเองเป็น "ฝ่ายค้าน"
บางทีถ้าไม่มีใครสะกิด เขาอาจเผลอยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ "พรทิวา" ก็ได้
"อภิสิทธิ์-สุเทพ" เป็นรัฐบาลมากว่า 2 ปีแล้ว
ไม่น่าเชื่อว่าวิญญาณ "ฝ่ายค้าน" ยังไม่ออกจากร่างเลยครับ