ที่มา มติชน
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 3,323 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 2 - 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส ระบบบัญชีรายชื่อ คนกรุงเทพฯ ระบุว่า จะเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.6 (เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจครั้งก่อน เมื่อวันที่ 20 – 22 พ.ค. ร้อยละ 7.8) จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 17.1 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4) และจะเลือกพรรครักประเทศไทย ร้อยละ 3.2 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.2) อย่างไรก็ตามมีถึงร้อยละ 44.1 ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบแบ่งเขตพบว่า คนกรุงเทพฯ ระบุว่าจะเลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.8 (เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจครั้งก่อน เมื่อวันที่ 20 – 22 พ.ค. ร้อยละ 7.5) จะเลือกผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 17.6 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.4) และจะเลือกผู้สมัครของพรรครักษ์สันติ ร้อยละ 1.3 (เท่ากับผลสำรวจครั้งก่อน) อย่างไรก็ตามมีถึงร้อยละ 46.4 ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครของพรรคใด โดยเกณฑ์ที่คนกรุงเทพฯ ใช้ในการเลือก ส.ส. ระบบแบ่งเขตคือ เลือกจากคุณสมบัติและผลงานในอดีตของผู้สมัคร (ร้อยละ 49.4) รองลงมาคือ เลือกจากนโยบายที่ใช้หาเสียง (ร้อยละ 31.6) และเลือกจากพรรคการเมืองที่สังกัด (ร้อยละ 19.0)
ทั้งนี้เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายเขตพบว่า พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำอยู่ 21 เขต ได้แก่ เขต 3 เขต 4 เขต 5 เขต 7 เขต 8 เขต 10 เขต 11 เขต 12 เขต 13 เขต 14 เขต 16 เขต 17 เขต 18 เขต 20 เขต 23 เขต 24 เขต 26 เขต 27 เขต 29 เขต 32 และเขต 33 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนนำใน 6 เขต ได้แก่ เขต 1 เขต 2 เขต 15 เขต 19 เขต 22 และเขต 30 ส่วนอีก 6 เขตทั้ง 2 พรรคมีคะแนนสูสีกันได้แก่ เขต 6 เขต 9 เขต 21 เขต 25 เขต 28 และเขต 31
เมื่อสอบถามว่าอยากได้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากที่สุดพบว่าอยากได้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 42.6 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7) รองลงมาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 23.6 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2) ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ร้อยละ 3.9 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0) และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ร้อยละ 2.4 (ลดลงร้อยละ 1.2) ขณะที่อีกร้อยละ 27.5 ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกใครดี
สำหรับ สิ่งที่คนกรุงเทพไม่อยากเห็นมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้พบว่า อันดับแรกได้แก่ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง (ร้อยละ 23.2) รองลงมาคือ การก่อกวน ข่มขู่ ทำร้ายผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม (ร้อยละ 20.5) และการหาเสียงด้วยวิธีใส่ร้ายป้ายสี (ร้อยละ 20.1)
ทั้ง นี้เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการการเลือก ตั้งในการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพและบริสุทธิ์ยุติธรรมพบว่า ร้อยละ 66.9 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย (เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจเมื่อวันที่ 20 – 22 พ.ค. ร้อยละ 0.8) ขณะที่ร้อยละ 33.1 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงเชื่อมั่นมาก