ที่มา Thai E-News
จิตรา คชเดช อีกหนึ่งหญิงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ที่ร่วมกับเพื่อนกว่าสองพันต่อสู้กับการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ สองพันคนในปี 2552 จนมารวมตัวกันตั้งชุดชั้นใน Try Arm แข่งกับแบรนด์ Triumph ที่พวกเธอเคยผลิต
เธอเป็นกรรกรหญิงนักต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตย และอยู่ท่ามกลางห่ากระสุนและแก๊สน้ำตาที่ระดมยิงใส่คนเสื้อแดงเมื่อเดือน เมษายนและพฤษภาคม 2553 ปัจจุบันเธอเป็นที่รู้จักดีในฐานะคนชูป้าย "ดีแต่พูด" ให้กับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2554 ปัจจุบันนี้ป้ายนี้ถูกยกชูไล่อภิสิทธิ์ในทุกที่ที่เขาไปหาเสียง
ข่าวสดได้สัมภาษณ์เรื่องราวของเธอ . .
ที่มา ข่าวสด
15 มิถุนายน 2554
จิตรา คชเดช ต้นตำรับป้าย"ดีแต่พูด"
จิตรา คชเดช หญิงสาวท่าทางมุ่งมั่น เล่าปนขำถึงผลตอบรับหลังตกเป็นข่าวชูป้าย "ดีแต่พูด" ประท้วงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันสตรีสากล ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
มา ถึงวันนี้วลี "ดีแต่พูด" ปรากฏอยู่บนป้ายประท้วงอย่างแพร่หลาย รวมถึงเป็นคำที่มีผู้ตะโกนใส่นายอภิสิทธิ์อยู่บ่อยครั้งระหว่างหาเสียง
ชื่อของ จิตรา คชเดช ไม่ใช่เพิ่งจะได้รับการกล่าวถึงในช่วงนี้
ปี 2549 จิตราได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้าง และเป็นผู้นำคนงานไปร้องเรียนให้นายกฯ อภิสิทธิ์ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับถูกจับข้อหามั่วสุม เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 คดียังอยู่ในชั้นศาล
ปัจจุบันจิตราชักชวนเพื่อนๆ คนงานเปิดห้องแถวเล็กๆ ผลิตชุดชั้นในภายใต้แบรนด์ชื่อว่า "Try Arm - ไทรอาร์ม"
จิตรา เล่าเหตุการณ์วันที่ไปชูป้ายประท้วงนายกฯ ว่า วันนั้นได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรพูดเรื่อง 100 ปี วันสตรีสากล ร่วมกับผู้หญิงจากหลากหลายอาชีพ และทราบว่านายกรัฐมนตรีจะมาร่วมขึ้นเวทีด้วย จึงเตรียมข้อมูลบางอย่างจะไปบอกกับท่าน
แต่ปรากฏว่านายกฯ มาถึงหลังจากนั้นจึงไม่ได้สื่อสารกัน เมื่อท่านขึ้นพูดบนเวทีจึงใช้วิธีเขียนข้อความลงบนกระดาษแล้วชูให้เห็น ทั้งข้อความ "มือใครเปื้อนเลือด" "เหรอ" และ "ดีแต่พูด" หลังจากนั้นการ์ดของนายกฯ ก็เข้ามาปรามและพยายามแย่งป้ายไป ขณะที่นายกฯ ก็พูดเพียงไม่นานแล้วรีบเดินทางกลับ
ทำไมถึงเป็น "ดีแต่พูด"
จิตรา อธิบายว่า ตอนที่เธอและเพื่อนคนงานถูกเลิกจ้าง บริษัทมอบจักรเย็บผ้าให้ 400 ตัว ผ่านกระทรวงแรง งาน ซึ่งขณะนั้นรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ดูแลอยู่ แต่คนงานกลับได้รับจักรเย็บผ้าเพียง 250 ตัวเท่านั้น ส่วนที่เหลือ กลับไปอยู่กับมูลนิธิของรัฐมนตรีผู้นี้ เมื่อทวงถามก็ไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆ ที่นายกฯ รู้เรื่องนี้อยู่เต็มอก
นอกจากนี้ ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐ มนตรี นายอภิสิทธิ์เคยแถลงนโยบายเร่ง ด่วนว่า จะชะลอการเลิกจ้างที่เกิดจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หรือถ้าสุดวิสัยจริงๆ ก็จะมีโครงการต้นกล้าอาชีพรองรับคนกลุ่มนี้
"รัฐบาลไม่ได้ชะลอการถูก เลิกจ้างของเราเลย กลับไปส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่เป็นนายจ้างเราเสียอีก ส่วนโครงการต้นกล้าอาชีพก็ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนงานเหมือนกัน คนงานเย็บผ้าที่ถูกเลิกจ้างคุณต้องต่อยอดความสามารถเดิมที่เขามี แต่นี่กลับไปแนะนำให้เขาชงกาแฟ ซึ่งคนจะขายกาแฟได้ต้องมีเงินอย่างน้อย 5 หมื่นบาท ส่วนที่แนะนำให้เป็นหมอนวดแผนไทย การนวดแผนไทยถ้าจะมีรายได้ดี ก็ต้องคล้ายๆ กับขายบริการไปด้วย นั่นหมายความว่ารัฐบาลไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย"
นอกจากนี้ ยังมีโครงการเรียนฟรีที่จิตราเห็นว่าไม่ได้ฟรีจริงอย่างที่พูด หรือปัญหาชายแดนภาคใต้ที่บอกว่าจะแก้ไขได้ ผ่านไป 2 ปีก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ซ้ำยังรุนแรงขึ้นอีก ที่ใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่สัญญาไว้ว่าจะเพิ่มให้เป็นวันละ 250 บาท ผู้เกี่ยวข้องก็นิ่งเฉยในช่วงแรก และเพิ่งจะเพิ่มให้ช่วงใกล้ยุบสภา แต่ก็ยังได้รับแค่ 215 บาท ไม่ใช่ 250 บาทตามที่สัญญา
"แต่สิ่งที่ เลวร้ายที่สุดทางการเมือง คือกรณีสลายการชุมนุม รัฐบาลไม่แสดงความรับผิดชอบอะไร และไม่สามารถสืบได้ด้วยว่าใครเป็นคนฆ่าประชาชน"
หลังชูป้ายประท้วง จิตราและเพื่อนถูกตอบโต้ว่ากระทำการละเมิดสิทธิ์ของผู้ร่วมสัมมนา และการชูป้ายวันนั้นแสดงถึงความไม่เข้าใจรากเหง้าประชาธิปไตย
"เรา ถือว่าการกระทำของเราเป็นประชา ธิปไตยและสันติ ไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ใคร คนที่เป็นบุคคลสาธารณะ คนที่ก้าวเข้ามาเป็นนักการเมือง ใช้ภาษีประชาชน บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบได้ เมื่อไหร่ที่ตรวจสอบไม่ได้ก็เท่ากับเผด็จการ และคนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องว่ากันด้วยเรื่องระบบโครงสร้างการทำงานมากกว่า วิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่วนตัว หรือครอบครัวเขา ขอบเขตของเราอยู่ตรงนี้"
ถาม ถึงแรงงานกับการเลือกตั้งที่กำลังจะ มาถึง จิตราสะท้อนว่า ปัญหาขณะนี้คือคนงานไม่สามารถเลือกตั้งส.ส.ในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด ส.ส.ในพื้นที่เองก็รู้ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ฐานเสียงของเขา เพราะฉะนั้น นโยบายเกี่ยวกับกลุ่มคนงานในพื้นที่จึงไม่มี นั่นยิ่งทำให้อำนาจต่อรองของพวกเขาลดน้อยลงไปอีก
"สิ่งที่เราอยาก เห็นคือสวัสดิการของคนที่อยู่ในโรงงาน เราต้องการมีเงินส่งให้พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ต้องการให้ลูกได้เรียนฟรีจริงๆ ต้องการเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะส่วนใหญ่ย้ายถิ่นมาจากชนบท ต้องมาเช่าบ้านอยู่ ส่วนค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะต่อให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ค่าครองชีพยังสูงทุกวันมันก็อยู่ไม่ได้
สิ่งที่รัฐจะต้องควบคุม คือราคาสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ยังต้องสนับสนุนการมีสหภาพแรงงาน จะได้เรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ จากนายจ้างได้โดยตรง วิธีนี้จะแก้ปัญหาได้ดีกว่า"
คำพูดของจิตราคือเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ฝากถึงรัฐบาลชุดถัดไป
โดยหวังว่านโยบายที่ผู้สมัครพูดหาเสียงไว้ในวันนี้ เมื่อชนะการเลือกตั้งจะปฏิบัติตามนั้น
จะได้ไม่มีใครแย้งใส่อีกว่า
"ดีแต่พูด"