ที่มา thaifreenews
โดย : ยรรยง ลูกชาวดิน
ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง “สนธิ-เจิมศักดิ์-ชัยอนันต์-ปราโมทย์” กรณีออกมาแฉปฏิญญาฟินแลนด์กล่าวหา “ทักษิณ-พรรคไทยรักไทย” ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่การปกครองในระบอบทักษิณ ศาลชี้อดีตนายกฯเป็นบุคคลสาธารณะจึงเป็นปรกติที่จะมีคนติดตามการทำงาน การวิพากษ์วิจารณ์ของจำเลยแม้จะมีถ้อยคำไม่เหมาะสมบ้างแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงเห็นควรยกฟ้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี
วันที่ 25 มี.ค. 2552 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 704 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทย มอบอำนาจให้นายนพดล มีวรรณะ ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม. นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระและคอลัมนิสต์ บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ASTV นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล นายพชร สมุทวณิช นายขุนทอง ลอเสรีวานิช กรรมการ บริษัทไทยเดย์ฯ บริษัท แมเนจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทแมเนเจอร์ฯ และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ ผู้ดูแลเว็บไซต์แมเนเจอร์ เป็นจำเลยที่ 1-11 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นด้วยการโฆษณา
โจทก์ฟ้องว่าระหว่างวันที่ 24-28 พ.ค. 2549 จำเลยร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “ปฎิญญาฟินแลนด์ ยุทธศาสตร์ครองเมืองของไทยรักไทย” ซึ่งถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV และเว็บไซต์ผู้จัดการ หมิ่นประมาทโจทก์ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบทักษิณโดยมุ่งหมายเข้าบริหารประเทศตามปฏิญญาฟินแลนด์
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทแมเนเจอร์ฯ จำเลยที่ 10 มีส่วนรู้เห็นกับการจัดเสวนาตามฟ้องแต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้องและจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 10 ออกจากสารบบความและมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1-9 และจำเลยที่ 11 จากนั้นศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยมาเป็นลำดับจนถึงวันตัดสินคดี
ศาลวิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้บริหารประเทศ ขณะที่โจทก์ที่ 2 เป็นพรรคการเมืองใหญ่เป็นรัฐบาล มีอำนาจในการออกนโยบายในการบริหารประเทศและถือเป็นบุคคลสาธารณะ จึงเป็นปรกติที่ประชาชนมีการติดตามการทำงาน ซึ่งในการเสวนาดังกล่าวจำเลยที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งเป็นนักคิดนักวิชาการและสื่อสารมวลชน ได้แสดงความคิดเห็นว่าการดำเนินนโยบายของโจทก์อาจส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แม้จะมีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมไปบ้าง แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ไม่เป็นการหมิ่นประมาท จำเลยที่ 5-9 และ 11 จึงไม่มีความผิดไปด้วย พิพากษายกฟ้อง
อีกคดียุทธศาสตร์ฟินแลนด์
หลังอ่านคำพิพากษาคดีแรกจบ ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ โจทก์ร่วม ยื่นฟ้องนายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ จำเลยที่ 1 บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 2 น.ส.เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟู จำเลยที่ 3 นายขุนทอง ลอเสรีวานิช และนายปัญจภัทร อังคสุวรรณ จำเลยที่ 5 เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ดูหมิ่นด้วยการโฆษณา ซึ่งคดีนี้ศาลมีคำสั่งยกฟ้องจำเลยที่ 3 ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
ตามฟ้องโจทก์ระบุว่าระหว่างวันที่ 17-25 พ.ค. 2549 จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างวาระ โดยจำเลยที่ 1 ได้เขียนบทความ “ยุทธศาสตร์ฟินแลนด์ : แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย?” และจำเลยที่ 2-5 นำไปตีพิมพ์เผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันและเว็บไซต์ www.manager.co.th ทำให้โจทก์ที่ 1 และ 2 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง
ความเห็นไม่สุจริตทำเสื่อมเสีย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่จำเลยที่ 1 เขียนรวม 5 ตอนลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและเผยแพร่ในเว็บไซต์ ซึ่งบุคคลและประชาชนทั่วไปสามารถหาอ่านได้อย่างทั่วถึง โดยจำเลยที่ 1 เขียนบทความทำนองว่าโจทก์มีนโยบายที่ต้องการทำลายระบบราชการไทย การสร้างระบบการเมืองพรรคเดียว ล้มล้างสถาบันเบื้องสูง และเบิกความยืนยันว่าแผนยุทธศาสตร์ฟินแลนด์มีอยู่จริง หากปล่อยให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการจนครบขั้นตอนอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง ซึ่งข้อมูลที่นำมาเขียนนั้นรับทราบมาจากนักวิชาการหลายคน แต่จำเลยที่ 1 กลับไม่นำบุคคลเหล่านั้นมาเป็นพยานเบิกความ และไม่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองได้กระทำการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด นอกจากนี้ท้ายบทความยังได้เรียกให้ประชาชนต่อต้านโจทก์ทั้งสองที่กำลังลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 เม.ย. 2549 นั้นไม่ได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามหลักวิชาการ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง
บรรณาธิการมีส่วนกลั่นกรองเนื้อหา
ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา มีหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาก่อนตีพิมพ์ ขณะเกิดเหตุมีความขัดแย้งทางการเมืองเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลและผู้คัดค้าน นำโดยแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีนายสนธิเป็น 1 ใน 5 แกนนำ และจำเลยที่ 4 เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาการเสนอข่าวของจำเลยที่ 4 แล้วส่วนมากมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาล เชื่อว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนรู้เห็นและทราบว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาดูหมิ่นโจทก์ทั้งสอง
จำคุก “ปราโมทย์” 1 ปี ปรับ 1 แสน
พิพากษาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329, 393 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอันเป็นบทหนักสุดตาม ป.อาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และ 4 เป็นเวลา 1 ปี และปรับ 100,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 เป็นนักวิชาการ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยสร้างคุณงามความดีมาก่อนที่จะกระทำผิด เพราะต้องการปกป้องสถาบันที่เคารพ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และ 4 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี และให้จำเลยที่ 1 และ 4 ร่วมกันลงโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อพอได้ใจความลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน บ้านเมือง และผู้จัดการ เป็นเวลา 7 วัน ส่วนจำเลยที่ 2 และ 5 เป็นเพียงเจ้าของเว็บไซต์และผู้ดูแล ไม่มีส่วนกับการคัดเลือกบทความ พิพากษายกฟ้อง
“ปราโมทย์” เตรียมยื่นอุทธรณ์
หลังศาลอ่านคำพิพากษา ทนายนายปราโมทย์และนายขุนทอง จำเลยที่ 1 และ 4 ได้นำเงินสดคนละ 100,000 บาท ชำระค่าปรับตามคำพิพากษานายปราโมทย์ให้สัมภาษณ์ว่า จะปรึกษาทนายความเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี เนื่องจากคดีที่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณฟ้องก่อนหน้านี้และเป็นคดีที่มีความเกี่ยวเนื่องกันศาลได้พิพากษายกฟ้อง โดยศาลมีดุลยพินิจว่าแสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจในฐานะนักวิชาการ