ที่มา Thai E-News
โดย รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์
27 มีนาคม 2552
ข้อกล่าวหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคำโต้ตอบของ ร.ศ. ใจ อึ๊งภากรณ์
ขอประกาศให้สังคมทราบว่าผมไม่ได้หนีคดี ผมมาอยู่ที่อังกฤษเพื่อมีสิทธิเสรีภาพที่จะโต้ตอบข้อกล่าวหาอย่างตรงไปตรงมา และเปิดเผย ซึ่งผมทำไม่ได้ในประเทศไทย เนื่องจากไทยไม่มีประชาธิปไตยและความยุติธรรม
ผมท้าให้ทางฝ่ายรัฐบาลไทย ทหาร หรือศาล อธิบายเหตุผลว่าทำไมคำโต้ตอบคดีของผมข้างล่างนี้ “ฟังไม่ขึ้น” และทำไมต้องดำเนินคดีกับผมต่อไป และออกหมายจับ
ผมท้าให้สื่อกระแสหลักในไทยพิมพ์ข้อโต้ตอบของผมทั้งหมดและความเห็นของศาลและรัฐบาล เพื่อ “พิสูจน์” ว่ามีความโปร่งใสในสังคม เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นก็เท่ากับเป็นยืนยันว่าไทยขาดระบบยุติธรรม
หนังสือวิชาการ A Coup for the Rich เป็นหนังสือที่วิจารณ์การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา โดยที่ผมเสนอว่ารัฐประหารขาดความชอบธรรม และเป็นการทำลายประชาธิปไตย โดยกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มในสังคมไทยที่ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ แต่กลุ่มเหล่านี้ที่นำโดยทหาร คมช. ซึ่งยึดอำนาจ ได้ลากสถาบันกษัตริย์ ซึ่งควรจะอยู่เหนือการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง
เพราะทหารเผด็จการอ้างความชอบธรรมจากสถาบันนี้มาอย่างต่อเนื่อง การกระทำของทหารในครั้งนั้น และการดำเนินคดีหมิ่นเดชานุภาพฯ กับผู้ที่คัดค้านรัฐประหาร โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และทหารบางส่วน ได้สร้างภาพว่าสถาบันกษัตริย์ริเริ่ม หนุนหลัง และเป็นพลังสำคัญในการทำลายประชาธิปไตย ภาพนี้อาจไม่ตรงกับความจริงทั้งหมด แต่ก็ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจกับปวงชนชาวไทยจำนวนมาก และได้นำสถาบันกษัตริย์เข้าสู่วิกฤตทางการเมืองอันใหญ่หลวง
อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ไม่ได้วิจารณ์ทหารผู้ทำรัฐประหารแต่อย่างใด และไม่เคยออกมาปกป้องประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญ และ(เซ็นเซอร์)ได้ออกมาเลือกข้างสนับสนุนพันธมิตรอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักประชาธิปไตยสากล ทั้งหมดนี้นำไปสู่กระแสที่เรียกร้องให้กษัตริย์แยกตัวออกจากการเมือง หรือให้ประเทศไทยเป็น(เซ็นเซอร์)
หนังสือวิชาการ A Coup for the Rich พยายามที่จะอธิบายว่าทำไม ความจริงซับซ้อนกว่า และไม่ตรงกับภาพเท็จว่าสถาบัน(เซ็นเซอร์)ริเริ่ม หนุนหลัง และเป็นพลังสำคัญในการทำลายประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่พระมหากษัตริย์ลงพระบรมาภิไธยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเผด็จการ ส่งผู้แทนไปเปิดรัฐสภาที่ทหารแต่งตั้ง และกล่าวคำชมนายกรัฐมนตรี ประเด็นสำคัญคือทหารและฝ่ายเผด็จการ ไม่ได้ให้ทางเลือกอื่นต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเป็นไปได้ว่า(เซ็นเซอร์)ยินดีที่จะเลือกทำ ซึ่งการกระทำนี้ได้สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมไทย ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าการมีสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ในรูปแบบนี้ ไม่ได้ปกป้องเสถียรภาพของสังคมและความสงบของชีวิตพลเมืองแต่อย่างใด
ในการถกเถียงกับนักวิชาการกระแสหลักที่เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจสูงและ“หนุนหลัง”รัฐประหาร เราต้องเริ่มจากการยอมรับภาพที่ออกมา เช่นการลงพระบรมาภิไธย และการไม่ตักเตือนผู้ทำรัฐประหาร แล้วค่อยๆ อธิบายต่อไปว่าภาพดังกล่าวไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์มีอำนาจและเสรีภาพเต็มที่ นี่คือสิ่งที่ผมอธิบายในหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่ม ถ้าจะเข้าใจ ต้องอ่านเนื้อหาทั้งเล่ม ไม่ใช่หยิบยกบางท่อนมาตามลำพังในลักษณะแยกส่วน อย่างที่ตำรวจเสนอ
การกล่าวหาผมว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย
ผมปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง
ขอตอบข้อกล่าวหา จากแต่ละท่อนในหนังสือ A Coup for the Rich ที่รัฐบาลอ้างว่าหมิ่นกษัตริย์
ผมเขียนว่า...
1. “กลุ่มพลังหลักที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยา ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ไม่พอใจกับประชาธิปไตยในกองทัพและหมู่ข้าราชการชั้นสูง นักธุรกิจที่โกรธทักษิณ และปัญญาชนกับนักการเมืองเสรีนิยม การทำรัฐประหารได้รับความเห็นชอบจาก(เซ็นเซอร์)ด้วย กลุ่มพลังที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหารมีจุดร่วมในการดูถูกและเกลียดชังคนจน สำหรับเขา การมีประชาธิปไตย “มากไป” ให้อำนาจ“มากเกินไป”กับคนจนที่ลงคะแนนเสียง และส่งเสริมให้รัฐบาลใช้เงินอย่างไม่ระมัดระวังในการให้สวัสดิการ สำหรับคนเหล่านี้ประเทศไทยแบ่งแยกระหว่าง “ชนชั้นกลางที่มีจิตสำนึกประชาธิปไตย” และ “คนจนในชนบทและเมืองที่โง่และขาดความรู้” แต่ความจริงตรงกันข้าม คนจนเข้าใจและสนับสนุนประชาธิปไตย ในขณะที่คนที่ใครๆ เรียกว่าเป็นคนชั้นกลางใช้ทุกวิถีทางที่จะปกป้องอภิสิทธิ์”
เป็นความจริง และเป็นข้อมูลสาธารณะที่รับรู้ทั่วไปในสังคมไทยอย่างเปิดเผย ไม่มีการใช้ข่าวลือและไม่ได้นินทาใคร ย่อหน้านี้พยายามริเริ่มการแยกกลุ่มพลังที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ออกจากสถาบัน(เซ็นเซอร์)ที่เพียงแต่มีภาพว่า “เห็นชอบ” กับการกระทำของทหารที่ทำลายประชาธิปไตย เนื่องจากมีการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเผด็จการ
2. “คณะทหารอ้างว่าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี “พลเรือน” นักวิจารณ์ในสังคมวิ่งไปชื่นชมพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ โดยเสนอว่าเขาเป็น “คนดีที่มีศีลธรรม” ในความเป็นจริง สุรยุทธ เมื่อรับราชการทหารในปี ๒๕๓๕ มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นองเลือดที่ทหารกระทำต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ไร้อาวุธ[1] เพราะได้นำกองกำลังทหาร 16 คนบุกเข้าไปในโรงแรมรัตนโกสินทร์ ในขณะนั้นโรงแรมถูกใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม และทหารของสุรยุทธได้ตีและเตะประชาชน ภาพข่าวจากช่องโทรทัศน์ BBC และ CNN แสดงให้เห็นว่าทหารเดินบนร่างประชาชนที่ถูกสั่งให้นอนลงกับพื้น [2] สามเดือนหลังจากรัฐประหาร 19 กันยาในหลวงได้ชมนายกสุรยุทธในคำปราศรัยเนื่องในวันเฉลิมฯ”
ข้อความในย่อหน้านี้ล้วนแต่เป็นความจริงที่ปรากฏในข่าว และมีหลักฐานรองรับทั้งสิ้น ถ้าการพูดความจริงเป็นการหมิ่นใคร สังคมย่อมเป็นสังคมแห่งการโกหก
3. “สมาชิกสภาที่แต่งตั้งโดยทหารหลังรัฐประหาร ได้รับเงินเดือนและเงินค่าต่างๆ 140,000บาท ในขณะที่กรรมกรส่วนใหญ่รับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเดือนละ 5000 บาท และเกษตรกรจำนวนมาได้น้อยกว่านี้ พวกส.ส.เหล่านี้ได้เงินเดือนจากที่อื่นอีกด้วย รัฐบาลอ้างว่าใช้เศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์ และพูดว่าเราต้องไม่โลภมาก ดูเหมือนทุกคนต้องพึงพอใจกับระดับพอเพียงของตนเอง เราอาจคิดไปว่า จอร์ช ออร์เวล คงจะเสนอว่า “บางคนพอเพียงมากกว่าผู้อื่น” สำหรับพระราชวัง ความพอเพียงหมายถึงการมีหลายๆ วัง และบริษัททุนนิยมขนาดใหญ่เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับทหารเผด็จการความพอเพียงหมายถึงเงินเดือนสูง และสำหรับเกษตรกรยากจนหมายถึงการเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากโดยไม่มีการลงทุนในระบบเกษตรสมัยใหม่ รัฐมนตรีคลังเสนอว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการ “ไม่มากไปหรือน้อยไป” คือให้พอดีนั้นเอง เราคงไม่แปลกใจที่ พอล์ แฮนลี่ เสนอว่าเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ทฤษฏีเศรษฐกิจจริง[3] นอกจากนี้ คมช. ได้ยุบศูนย์ลดความยากจนของรัฐบาลทักษิณ และย้ายไปภายใต้ กรอมน.เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง[4]”
ย่อหน้านี้เป็นรายงานความจริงที่ทุกคนในสังคมรับทราบ และเป็นการวิจารณ์นโยบายสองมาตรฐานของรัฐบาล คมช. และชี้ให้เห็นถึงท่าทีต่อคนจน นอกจากนี้เป็นการอธิบายเกริ่นนำเรื่องปัญหาของเศรษฐกิจพอเพียง การวิจารณ์และทำความเข้าใจกับนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ เป็นภาระหน้าที่ปกติของนักวิชาการที่สอนเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างผม และกษัตริย์ได้เคยอธิบายว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่เป็นการปรับตัวของประชาชนให้เหมาะสมกับสถานภาพของแต่ละคน ที่แตกต่างกัน
4. “เราไม่ควรรีบสรุปว่าเครือข่ายทหาร-พลเรือนที่ต้านทักษิณเป็นเครือข่ายภายใต้อำนาจของกษัตริย์ ทั้งๆ ที่อาจมีสายสัมพันธ์กับพระราชวังบ้าง แต่ พอลล์ แฮนลี่ เสนอว่ากษัตริย์มีอำนาจมากที่สุดในสังคมและต้องการย้อนกลับไปสู่กษัตริย์ธรรมราชาแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[5] แฮนลี่ เสนออีกว่าทักษิณกำลังท้าทายกษัตริย์เพื่อหวังเป็นประธานาธิบดี แต่ไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่สนับสนุนข้อเสนอเหล่านี้ แท้จริงแล้วในหนังสือของแฮนลี่กลับมีข้อมูลมากมายที่เสนอว่ากษัตริย์มีอำนาจจำกัด อย่างไรก็ตามความเชื่อของแฮนลี่ว่ารัฐประหาร 19 กันยา เป็น “รัฐประหารของพระราชวัง” สะท้อนความเชื่อของคนจำนวนมากในสังคมไทย”
ย่อหน้านี้เป็นการพยายามถกเถียงกับจุดยืนของนักวิชาการกระแสหลักที่เชื่อว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจมากกว่าคนอื่นในสังคม และเป็นการเถียงกับผู้ที่มองว่ารัฐประหารและวิกฤตการเมือง มาจากความขัดแย้งระหว่างพระราชวังกับทักษิณ เป็นข้อเสนอที่มาจากการพิจารณาข้อมูลความจริง และเป็นข้อเสนอที่มองว่ากษัตริย์ไทยไม่ใช่กษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ดังนั้นการกล่าวหาผมว่าย่อหน้านี้หมิ่นกษัตริย์จึงเป็นความพยายามที่จะเสนอว่ามุมมอง พอล์ แฮนลี่ ถูกต้องและเราอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
5. “สถาบันกษัตริย์ในรอบ150 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ว่ามีความสามารถอย่างน่าทึ่งในการปรับตัวกับทุกสถานการณ์ และสามารถทำแนวร่วมกับกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหารหรือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ประมุขอาจวิจารณ์รัฐบาลทักษิณบ้างอย่างอ่อนโยน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นธนาคารหลวง จะไม่หาทุนมาเพื่อให้ Temasek ซื้อ Shin Corporation ของทักษิณ[6] นอกจากนี้เราไม่ควรมั่นใจเชื่อว่าทักษิณ หรือ ไทยรักไทย ต้านระบอบกษัตริย์แต่อย่างใด ในรอบ 300 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนายทุนในหลายประเทศ ได้เรียนรู้ว่าสถาบันกษัตริย์อนุรักษ์นิยม ช่วยปกป้องสภาพความเป็นอยู่ของสังคมภายใต้ระบบทุนนิยม และผลประโยชน์ทางชนชั้นของชนชั้นนายทุนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนคือกษัตริย์ไทยสบายใจกับเผด็จการทหารมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง นั้นช่วยอธิบายว่าทำไมประมุขสนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยา”
ภาระของสถาบันกษัตริย์ที่ครองราชย์มายาวนาน คือการปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการปกครองที่หลากหลายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย การเสนอสิ่งนี้เป็นการหมิ่นได้อย่างไร ผมอธิบายต่อไปเพื่อโต้ตอบคนที่เชื่อว่าความขัดแย้งหลักเป็นความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับวัง โดยชี้ให้เห็นข้อมูลความจริงที่สาธารณชนรับทราบอยู่แล้วว่าธนาคารไทยพาณิชย์มีส่วนในการขายหุ้น Shin Corporation ซึ่งไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์ขัดแย้งหรือเห็นชอบกับทักษิณแต่อย่างใด
ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา กษัตริย์ไทยอยู่กับรัฐบาลทหารหลายปี โดยที่ไม่เคยออกมาคัดค้านหรือวิจารณ์รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และเป็นที่ยอมรับโดยนักประวัติศาสตร์ว่ากษัตริย์เคยใกล้ชิดกับจอมพลสฤษดิ์ ในอดีต แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่ากษัตริย์คัดค้านประชาธิปไตยในทุกยุคทุกสมัย
ทั้งหมดไม่ใช่การหมิ่นกษัตริย์แต่เป็นการเสนอความจริงในลักษณะมุมมองวิชาการ
6. “ในเดือนเมษายน ๒๕๔๙ ในหลวงเสนอว่า “ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึง มอบให้พระมหากษัตริย์ มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่า ให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาก็จะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยขอ ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย” [7] แต่พอถึงกันยายน หรืออย่างแน่นอนในเดือนธันวาคม ในหลวงสนับสนุนรัฐประหารอย่างเปิดเผย”
ย่อหน้านี้เป็นการเสนอความจริงที่สาธารณชนรับรู้ ไม่มีใครถกเถียงว่าไม่จริง ดังนั้นผู้ที่กล่าวหาผมว่าหมิ่นเบื้องสูงกำลังเสนอว่าการพูดความจริงเป็นสิ่งที่ผิดในสังคมไทย เรามาโกหกกันดีกว่า ยิ่งกว่านั้นย่อหน้านี้แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของการทำงานของประมุข และเป็นสิ่งที่อาจนำมาตั้งคำถามกับข้ออ้างของทหาร คมช. ว่าทำ “รัฐประหารหลวง”
7. “ดังนั้นคำถามสำคัญเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยา คือ ประมุขไทยพยายามปกป้องระบบประชาธิปไตยจากการทำรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญหรือไม่? ประมุขไทยถูกบังคับ? หรือเต็มใจ? ในการสนับสนุนคณะทหารที่ทำรัฐประหาร? หรือประมุขวางแผนทำรัฐประหารเองตามที่หลายคนเชื่อ? คำถามนี้สำคัญ เพราะคณะทหารที่ทำการรัฐประหารและทำลายประชาธิปไตยได้อ้างอิงความชอบธรรมจากประมุขตลอด เช่นการเปิดภาพประมุขในจอโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องในวันแรก การผูกโบสีเหลืองบนปืนและเครื่องแบบ และการเชิญผู้แทนของประมุขไปเปิดสภาเผด็จการที่ทหารแต่งตั้งเป็นต้น ต่อมาในวันเฉลิมฯ กษัตริย์ได้ออกมาชมนายกรัฐมนตรีทหาร เราควรได้รับข้อมูลและความจริง เพื่อความโป่รงใสและเพื่อให้ประชาสังคมได้ตรวจสอบทุกองค์กรและสถาบันสำคัญๆ ในสังคม อย่าลืมว่าองค์กรหรือสถาบันใดที่ปฏิเสธการยอมสร้างความโป่รงใส ย่อมมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ต้องการปกปิดจากการตรวจสอบเสมอ”
ย่อหน้านี้เป็นการสรุปประเด็นคำถามต่อภาพที่ทหารสร้าง ที่อ้างว่าสถาบันกษัตริย์ริเริ่ม หนุนหลัง และเป็นพลังสำคัญในการทำลายประชาธิปไตย ย่อหน้านี้ท้าทายความชอบธรรมของรัฐประหาร และถ้าสร้างความไม่พอใจกับทหารบางกลุ่มหรือรัฐบาล ก็เพราะเป็นการโจมตีเขา ไม่ใช่การโจมตีหรือหมิ่นกษัตริย์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามย่อหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าการเป็นประมุขในระบบประชาธิปไตยมีหน้าที่ด้วย และตั้งคำถามว่ากษัตริย์ไทยทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การตั้งคำถามแบบนี้อันตรายสำหรับพวกเผด็จการ แต่เป็นคำถามที่จำเป็นสำหรับการปกป้องประชาธิปไตย
8. “ในช่วงแรกของการขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ ๙ มีอายุอ่อนและไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นกษัตริย์ การขึ้นมาเป็นกษัตริย์มาจากอุบัติเหตุที่เกิดกับพี่ชาย ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลไทยสมัยนั้น โดยเฉพาะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นรัฐบาลที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ ดังนั้นการทำหน้าที่ในการเป็นประมุขของรัชกาลที่ ๙ ในช่วงแรกๆ ย่อมยากลำบาก สภาพเช่นนี้สามารถช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมประมุขไทยแสดงความเชื่อมั่นและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ที่เริ่มเชิดชู โปรโมต และเคารพสถาบันกษัตริย์[8] แต่เวลาผ่านไปหลายปี ฐานะและประสบการณ์ของประมุขได้เปลี่ยนไป มีประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย มากกว่านักการเมืองทุกคน เพราะดำรงตำแหน่งมานานกว่าทุกคน คำถามสำคัญสำหรับวันนี้คือ ในเมื่อประมุขเคยตักเตือนรัฐบาลทักษิณเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติด[9] ทำไมไม่ตักเตือนทหารที่ก่อรัฐประหาร และละเมิดสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตยทั้งหมดไม่ได้?”
ประเด็นหลักของย่อหน้านี้คือการตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีการตักเตือนทหารที่ทำลายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นคำถามที่พลเมืองไทยยังรอคำตอบอยู่
00000000
อ้างอิง
[1] Kevin Hewison (2006) “General Surayud Chulanon: a man and his contradictions”. Carolina Asia Center, University of North Carolina at Chapel Hill.
[2] สุรยุทธ สารภาพ Thai Post 22 June 2000.
[3] Paul Handley (2006) The King Never Smiles. Yale University Press, page 415.
[4] Bangkok Post 4 January 2007.
[5] อ้างอิงหนังสือของ Paul Handley (The King Never Smiles)
[6] Bangkok Post 24/01/06.
[7] นสพ มติชน ๒๖เมษายน ๔๙ - มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ระบุว่าในวิกฤตประมุขสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ถึงแม้ว่านั้นคือข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ในปี ๒๕๔๙ แต่มีการถกเถียงกันว่ายุคหลังการเลือกตั้งเมษายนปี ๒๕๔๙ เป็นเวลาที่เหมาะสมกับการใช้มาตรา 7 หรือไม่
[8] Thak Chaloemtiarana (1979) Thailand: the politics of despotic paternalism. Social Science Association of Thailand and Thai Khadi Institute, Thammasat University. P. 309. หนังสือ อาจารย์ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ”
[9] ในเดือนธันวาคม 2546 ในหลวงเสนอให้รัฐบาลตรวจสอบคดีฆาตกรรมวิสามัญ 2,245 รายในสงครามยาเสพติด