สัปดาห์นี้ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับผู้หญิงกับการเมืองเป็นประเด็นที่ชวนติดตามอยู่ในรายงานข่าวของซีกโลกตะวันตก และละตินอเมริกา
ที่เป็นสีสัน ตื่นตาตื่นใจผู้เสพข่าวมากสุด เห็นจะเป็นการประท้วงของกลุ่มเฟมินิสต์ยูเครนที่มีชื่อเรียกกันว่า “เฟเมน” (FEMEN) ที่หน้าคูหาลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 กุมภาพันธ์) โดยที่สมาชิกของกลุ่มเลือกใส่เพียงกางเกงยีนส์ ปล่อยช่วงบนเปลือยเปล่า มีเพียงเทปสำหรับพันสายไฟสีเขียวทำเป็นเครื่องหมายกากบาทปิดยอดอกไว้ พวกเธอยืนชูป้ายที่เขียนว่า “หยุดข่มขืนประชาธิปไตยของพวกเรา!”
รายงานข่าวแจ้งว่า การประท้วงของกลุ่มเฟเมนนี้เกิดขึ้นหลังการรณรงค์หาเสียงที่ชาวยูเครนรู้สึกหงุดหงิดกับผู้ลงสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองคน ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการต่อสู้ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ
ส่วนสาวๆ กลุ่มเฟเมนนี้ เธอบอกกับนักข่าวว่า พวกเธอกำลังประท้วงจุดจดของประชาธิปไตยในยูเครน พวกเธอไม่ได้ทั้งต่อต้านหรือสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งคนใดเป็นการเฉพาะเจาะจง
กลุ่มเฟเมนนี้มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มีการประกาศภารกิจของกลุ่มไว้ว่า “เพื่อสร้างสภาพที่เอื้ออำนวยให้สตรีวัยรุ่นเข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ ทางสังคม..สนับสนุนซึ่งกันและกัน และด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม
ก่อนหน้านี้ กลุ่มเฟเมนจัดกิจกรรมรณรงค์ “ยูเครนไม่ใช่ซ่อง” เพื่อต่อต้านนักท่องเที่ยวที่มา “เซ็กส์ทัวร์” ที่ยูเครน โดยนอกจากส่งจดหมายเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการออกกฎหมายลงโทษผู้ประกอบธุรกิจการค้าประเวณีและผู้ชักนำให้มีการซื้อการขาย และให้ห้ามกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องสงสัยว่ามาเซ็กส์ทัวร์เข้าประเทศด้วย นอกจากนี้ พวกเธอยังจัดกิจกรรมแสดงกลางถนนเรียกความสนใจของสื่อและสาธารณชนด้วย
ครั้งนั้น พวกเธอยังสวมใส่บราเซียร์ปกปิดทั้งเต้าไว้
แต่สำหรับการเปลือยอกประท้วงการเมืองยูเครนครั้งนี้ ตำรวจยูเครนบอกว่า “พวกเธอมีความผิดฐานละเมิดกฎหมายจัดการการประท้วงในที่สาธารณะ เพราะไม่ได้ขออนุญาตก่อน และทำการรบกวนการทำงานของคณะกรรมการเลือกตั้ง” ดังนั้น พวกเธอจึงถูกควบคุมตัวไปจ่ายค่าปรับฐานความผิดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเฟเมนได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ให้ทั้งชาวยูเครน (และชาวโลก)รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่
เพราะการเปลือยอกของพวกเธอปรากฏทั้งภาพและข่าวไปทั่วโลก
ข้ามไปที่ละตินอเมริกา ประธานาธิบดี อีโว โมราเลส (Evo Morales) แห่งโบลิเวียที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นขวัญใจของขบวนการสิทธิสตรีเมื่อเขาประกาศรายชื่อรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีจำนวนหญิงและชายฝ่ายละ 10 คนเท่ากัน
อีกประเด็นที่เป็นที่กล่าวถึง คือไม่มีรัฐมนตรีหญิงคนใดที่ประชาชนครหาได้ว่ามาจากสมาชิกในครอบครัวหรือแวดวงใกล้ชิดของท่านประธานาธิบดี
นอกจากสัดส่วนจำนวนรัฐมนตรีหญิงในรัฐบาลใหม่ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การเมืองของโบลิเวียแล้ว ในสภาสูงของโบลิเวียยังมีสัดส่วนจำนวนสมาชิกหญิงถึง 47 เปอร์เซนต์ และมีผู้หญิงเป็นประธานสภาฯ
แต่ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นประเด็นที่สร้างความน่าตระหนกตกใจให้คนในประเทศอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงชนพื้นเมืองที่ได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสองมายาวนาน
ข่าวดีล่าสุดสำหรับขบวนการรณรงค์ประเด็นผู้หญิงกับการเมืองนั้น รายงานมาจากสาธารณรัฐคอสตาริก้า
ลอร่า ชินชิลล่า (Laura Chinchilla) วัย 50 ปี เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสาธารณรัฐคอสตาริก้า เธอจะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของคอสตาริก้า และจะถูกนับเป็นประธานาธิบดีหญิงคนที่ห้าของกลุ่มประเทศละตินอเมริกาที่มีประธานาธิบดีหญิงมาก่อนหน้านี้แล้ว คือ นิคารากัว ปานามา ชิลี และอาร์เจนติน่า และทั้งหมดนี้มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่า ลอร่า ชินชิลล่า ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฯ ได้รับการสนับสนุนจากนายออสการ์ อาเรียส ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และเธอจะเป็นผู้สานต่อนโยบายเศรษฐกิจของเขา โดยเฉพาะนโยบายตลาดเสรี และการค้ากับจีน
นอกจากนี้ ลอร่า ชินชิลล่า ยังมีแนวคิดทางสังคมแบบอนุรักษ์นิยมในบางประเด็น เช่น คัดค้านการทำแท้ง และการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
แต่นักโทษหญิงวัย 24 ปี คนหนึ่งที่ลงคะแนนเสียงให้ลอร่า ชินชิลล่า บอกว่า “ฉันเลือกลอร่า ชินชิลล่า เพราะเธอสัญญาว่าเธอจะต่อสู้เพื่อผู้หญิง เธอเป็นคนเดียวที่มาเยี่ยมพวกเราและบอกพวกเราเกี่ยวกับนโยบายของเธอ และฉันเชื่อเธอ”