ที่มา ประชาไท ถ้าหากว่า "นิติรัฐ" มีความหมายเป็นเพียงแค่การปกครองโดยกฎหมาย เราก็คงต้องยอมรับมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่นิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการกระทำอื่นใดที่สืบเนื่องจากการรัฐประหารตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต เราก็ต้องยอมรับกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กำหนด "โทษที่ไม่เป็นธรรม" ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เราก็ต้องยอมรับกฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ไม่เพียงแต่คลอดมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเท่านั้น ทว่ายังให้อำนาจแก่ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเบ็ดเสร็จและไม่มีกระบวนการรับผิดต่อประชาชน หากไม่พอใจกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ก็เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายและผู้ใช้กฎหมาย เสนอให้แก้ไขกฎหมาย หรือไม่ก็ร่างกฎหมายใหม่ แต่ "นิติรัฐ" ไม่ใช่แค่การปกครองโดยกฎหมายเท่านั้น วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ สรุปแนวคิดรวบยอดว่า ไม่ใช่มีเพียงกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้เป็นเครื่องมือในการปกครอง แล้วรัฐนั้นจะเป็นนิติรัฐ แต่นิติรัฐคือรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย และในทางเนื้อหา กฎหมายนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม คำถามที่ตามมาคือ "ความยุติธรรม" คืออะไร ความยุติธรรมนั้นย่อมมีความหมายเชิงสัมพัทธ์ ไม่สัมบูรณ์ตายตัว ความยุติธรรมของคนต่างชนชั้นย่อมต่างกันได้ ความยุติธรรมของคนต่างเพศสถานะย่อมต่างกันได้ ความยุติธรรมของคนที่ต่างอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองก็ย่อมต่างกันได้ ความยุติธรรมอันเป็นที่ยุติสำหรับสังคมหนึ่งๆ ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ โครงสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองภายใน วิถีการผลิต ดุลทางอำนาจระหว่างกลุ่มพลังที่ต่อสู้ต่อรองกันตลอดเวลา และอื่นๆ ด้านหนึ่ง นิติรัฐจึงไม่พอเพียง ทั้งไม่พอเพียงในทางรูปแบบ จำต้องคิดถึงนิติรัฐในทางเนื้อหา ทั้งไม่พอเพียงในตัวมันเอง จำต้องคิดอย่างไม่จำกัดเฉพาะเรื่องนิติรัฐ กล่าวสำหรับปัญหาประชาธิปไตยไทย ณ ขั้นตอนปัจจุบัน หลายฝ่ายเสนอให้ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ทั้งในทางรูปแบบและเนื้อหา ซึ่งเป็นสิ่งควรต้องสนับสนุนอย่างยิ่ง แน่นอนว่านิติรัฐไม่ใช่ยาสารพัดนึกที่จะสามารถขจัดปัญหาทุกอย่างไปได้ แต่ระบอบประชาธิปไตยวันนี้ย่อมขาดไม่ได้ซึ่งนิติรัฐ อย่างไรก็ดี นอกจากนิติรัฐแล้ว โจทย์สำคัญของสังคมการเมืองไทยคืออะไรอีก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเสนอว่า ในระยะยาว เราต้องคิดถึงสิ่งที่เรียกว่า "สปิริต" ของระบบการเมือง-กฎหมายบางอย่างที่ยึดถือร่วมกัน หากไม่สามารถจัดการปัญหาใจกลางนี้ได้ จะเขียนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่อย่างไรก็ไร้ความหมาย กล่าวให้ถึงที่สุด นี่ถือเป็นภารกิจที่ตกค้างมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิติรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสปิริตของระบบการเมือง-กฎหมาย เหล่านี้ไม่สามารถกำหนดได้จากอัตวิสัยของใครเพียงลำพัง มีแต่ต้องเคลื่อนไหวผลักดัน ต่อสู้ ต่อรอง เปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัต
มนุษย์ถูกกำหนดโดยประวัติศาสตร์ แต่มนุษย์ก็เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์