WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, February 10, 2010

ปลายทางความรุนแรง : หายนะคนเสื้อแดงและประชาธิปไตยไทย (ปลายทางสันติวิธี : จุดจบระบอบอำมาตย์และกลุ่มอำนาจการเมืองฉ้อฉล)

ที่มา Thai E-News




โดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่มา เวบไทยฟรีนิวส์

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติศัพท์ไทยคำว่า “วิวัฒน์” เทียบเคียงกับคำภาษาอังกฤษว่า “EVOLVE” (ดูหนังสือ “บัญญัติศัพท์ของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์”, จัดพิมพ์โดยราชบัณฑิตยสถาน , พ.ศ. ๒๕๑๗)

แต่คำว่า “ปฏิวัติ” มีผู้ใช้ในภาษาไทยเทียบเคียงกับคำภาษาอังกฤษว่า “REVOLUTION” มาก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว โดยผู้ใช้คำดังกล่าวท่านแรกน่าจะเป็นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จากเนื้อหาปาฐกถา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งการใช้คำภาษาไทยว่า “รัฐประหาร” เทียบเคียงกับคำภาษาฝรั่งเศสว่า “COUP D’ETAT”

ในหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” โดย ดร. ปรีดี พนมยงค์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๐) มีการเสนอให้ถ่ายทอดคำภาษาอังกฤษว่า “REVOLUTION” เป็นคำไทยว่า “อภิวัฒน์” (ดูรายละเอียดการอภิปรายความเป็นมาของเรื่องที่เกี่ยวข้องนี้ในบทความเรื่อง “ความเป็นมาของศัพท์ไทย ‘ปฏิวัติ’ ‘รัฐประหาร’ ‘วิวัฒน์’ ‘ อภิวัฒน์’” ในหนังสือรวมข้อเขียนของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖)

แต่คำว่า “อภิวัฒน์” นั้นไม่ปรากฏว่าราชบัณฑิตสถาน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ กำหนดให้นำมาใช้เป็นคำไทยเทียบเคียงความหมายคำว่า “REVOLUTION” ในภาษาอังกฤษ

บทความชิ้นนี้จะใช้คำว่า “ปฏิวัติ” ที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงริเริ่มใช้และเทียบเคียงความหมายกับกระบวนเหตุการณ์ที่มีพลังพลวัตต่อเนื่องยาวนานของ “การปฏิวัติวิทยาศาสตร์” ในทวีปยุโรป
................................

จนถึงขณะนี้ เป็นเวลากว่า ๓ ปีหลังเหตุการณ์ “รัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙” ,ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มอำนาจเบื้องหลังการรัฐประหารข้างต้น ร่วมกับพรรคการเมืองและรัฐบาลในกำกับอำนาจของกลุ่มดังกล่าว ฝ่ายหนึ่ง

กับกลุ่มพลังการเมืองภาคประชาชนและพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มอำนาจดังกล่าว อีกฝ่ายหนึ่ง ยังคงเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีผลยุติชัดเจนให้เห็นได้ในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าผลในทางสมานฉันท์หรือผลในทางยกระดับขัดแย้งแตกหัก

การจัดตั้งรัฐบาลผสมพรรคพลังประชาชนเข้าบริหารประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นความสำเร็จของกลุ่มพลังฝ่ายหลัง ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์ได้สำเร็จ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน (ตุลาคม ๒๕๕๒) เป็นความสำเร็จของกลุ่มอำนาจฝ่ายแรก

บนพื้นฐานการวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนได้นำเสนอเผยแพร่ความเห็นไปบ้างแล้ว ทั้งต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศและในเวทีอภิปรายของไทยว่า “พลวัตการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย” ของกลุ่มพลังภาคประชาชนภายในเครือข่าย “นปช.” ทั่วประเทศที่มีพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้ถูกกระทำรัฐประหารข้างต้นเป็นแนวร่วม สามารถดำเนินต่อเนื่องได้โดย “อาจถูกถ่วงรั้งชะลอ แต่ไม่มีอำนาจใดสามารถหยุดพลวัตประชาธิปไตยนั้นได้”

พลังถ่วงรั้งชะลอการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ผู้เขียนกล่าวถึงนั้น นอกจากจะหมายถึงการใช้อำนาจทางตรงโดยองค์กรตามกฎหมายและอำนาจทางอ้อมตาม “บารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ของกลุ่มคณาธิปไตย ตามที่ นปช. ทั่วประเทศเรียกกันว่า “อำมาตยาธิปไตย” แล้วยังรวมถึงพลังบั่นทอนขบวนการ นปช. ที่มาจากการเผยแพร่นำเสนอความคิดเรื่อง “ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยอาศัยเวทีสาธารณะของ นปช. และเวทีข่าวสารข้อมูลอื่นเป็นพื้นที่เผยแพร่ความคิดดังกล่าว

ทั้งนี้ตามที่มีนักวิชาการ นักปฏิบัติการเคลื่อนไหวมวลชน และกลุ่มประชาชนที่สามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับขบวนการ “คนเสื้อแดง” จำนวนหนึ่งเข้าร่วมสนับสนุนการเผยแพร่ความคิดดังกล่าว

พลังถ่วงรั้งบั่นทอนเหล่านั้นในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา มักยั่วยุหรือนำเสนอให้ นปช. (หรือ นปก. ตามชื่อเรียกเดิม) ตัดสินใจดำเนินยุทธวิธีที่จะใช้พลังมวลชนดำเนินการต่อสู้ตอบโต้กับ “อำมาตย์” ด้วยยุทธวิธีรุนแรง (แต่ขณะนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพลังมวลชน นปช.สามารถยืนหยัดตอบโต้ด้วยแนวทาง “สันติวิธี” ต่อสู้กับความก้าวร้าวทางกฎหมายและการคุกคามด้วยอาวุธจาก “ระบอบอำมาตย์” ได้ตลอด ๓ ปีที่ผ่านมาโดยยังสามารถสะสมกำลังมวลมหาประชาชนเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณเมื่อคำนวณจากฐานมวลชนระยะแรกที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของเวที “พีทีวี” ที่ท้องสนามหลวงหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙)

หากจะมีการหันเหขบวนการ นปช. ให้เลือกวิถีความรุนแรงในช่วงเวลาปัจจุบัน (ทั้งนี้โดยมีการเร่งเร้าค่อนข้างชัดแจ้งอยู่ในกระบวนวิธีบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลปัจจุบัน เช่น การเร่งเร้ายั่วยุผ่านกระบอกเสียงของพรรคการเมืองในสังกัด และคำแถลงสื่อมวลชนจากรัฐมนตรีทั้งในและนอกสำนักนายกรัฐมนตรีบางท่าน นอกจากนั้นยังมีการเร่งเร้าแบบผสมกลมกลืนอยู่ในกลุ่มพลังภาคประชาชนที่ถ่วงรั้งบั่นทอนสันติวิธีตามที่กล่าวถึงข้างต้น)

พลังผลักดันการปฏิวัติทางการเมืองให้เป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งได้สะสมศักยภาพและพลานุภาพเพิ่มพูนขึ้นเป็นอันมากจากการทำงานทั้งในอดีตและปัจจุบันของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย จากพรรคพลังประชาชน จากพรรคเพื่อไทยและจากเครือข่ายมวลมหาประชาชนทั่วประเทศภายใต้ธงนำ “นปช.” วันนี้ อาจกลายสภาพเป็น “เบี้ยล่าง” ตามยุทธศาสตร์กวาดล้างและทำลายของ “กลุ่มอำมาตย์ ๒๕๔๙” ที่สืบทอดอุดมการปกครองมาจากอดีต “อำมาตย์ ๒๕๑๙” ซึ่งมีสมาชิกแกนนำคนสำคัญของคณะรัฐประหารวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้รับการส่งมอบอำนาจและส่งผ่าน “บารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ดำเนินกระบวนยุทธวิธีทั้งการเมืองและการทหารส่งผลในการขัดขวางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

หากมีการหันเหมวลชน นปช. เข้าหาวิถีแห่งความรุนแรงในห้วงเวลาต่อไปนี้ การเมืองไทยจะเริ่มเปิดฉากเข้าสู่ครรลองคล้ายคลึงกับสภาพการณ์ที่ “พลังประชาธิปไตย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖” ถูกบั่นทอนลงก่อนเหตุการณ์ “วันนองเลือด ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙” แต่ผลปลายทางของครรลองการบั่นทอนพลังประชาธิปไตยครั้งใหม่นี้อาจเกิดขึ้นได้อย่างน้อยใน ๒ ฉากอนาคต

ฉากความล้มเหลว ๒ แบบของวิถีแห่งความรุนแรง

ข้อเขียนนี้ไม่มีวัตถุประสงค์จะพยายามแนะนำคำตอบตายตัวสำเร็จรูปว่า “การปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างสันติวิธี” จะต้องใช้เทคนิควิธีอะไรบ้าง (แม้ว่าเทคนิควิธีเหล่านั้นจะมีปรากฏให้หยิบฉวยประยุกต์ใช้ตลอดเวลา) แต่ข้อเขียนนี้ร่างขึ้นด้วยความพยายามจะชี้ให้เห็นว่า ความล้มเหลวของกระบวนการประชาธิปไตยอาจเกิดขึ้นได้ หากมีการเลือกใช้วิถีแห่งความรุนแรงแทนที่วิถีทางแบบ “สันติและปราศจากอาวุธ” ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

หากมีการตัดสินใจหันเหทิศทางการเคลื่อนไหวมวลชน นปช. ไปสู่วิถีการใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ[1] ตอบโต้กับพลังอำนาจที่ นปช. เรียกว่า “อำมาตยาธิปไตย “ ในขั้นตอนสำคัญนับจากนี้ต่อไป , พลังประชาธิปไตยของขบวนการ นปช. ที่สะสมพอกพูนได้มากมายมหาศาลถึงปัจจุบันจะกลายเป็นความล้มเหลวได้อย่างไร ?

การฉายภาพอนาคต (scenario) ด้วยข้อเขียนเชิงสังเขปนี้มีภาพความล้มเหลวของกระบวนการประชาธิปไตย ๒ แบบให้พิจารณาความเป็นไปได้

ภาพแรกเป็นภาพความล้มเหลวรุนแรง นองเลือด และเฉียบพลันแบบกรณีเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

ภายในประเทศไทย องค์กรที่มีการสะสมอาวุธสังหารร้ายแรงมากที่สุดและทรงพลานุภาพสังหารคนในประเทศมากที่สุด คือ “กองทัพไทย” ซึ่งได้รับการพัฒนา ฝึกฝน และสนับสนุนช่วยเหลือทั้งในด้านยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีปราบปรามพิเศษมาจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาตาม “เอกสารข้อตกลงความช่วยเหลือทางการทหารระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๔๙๓” ในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบกและกองทัพอากาศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ปลายยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วทวีแสนยานุภาพมากขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร

ภายในประเทศไทยเช่นเดียวกัน บุคคลและกลุ่มบุคคลที่มี “อำนาจจริง” ในการเข้าถึงและสั่งการทางยุทธวิธีให้นำแสนยานุภาพกองทัพออกมาใช้ในการปราบปรามพิเศษภายในประเทศ คือ บุคคลและกลุ่มบุคคลในองค์กรทหารเครือข่าย “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”

พระมหากษัตริย์ในฐานะ “จอมทัพไทย” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มิได้มีอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชาสั่งการเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธสังหารร้ายแรงดังกล่าวแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายกำลังพล “ออก” หรือ “เข้า” กรมกองก่อนและหลังการปฏิบัติการปราบปรามพิเศษที่มีชีวิตประชาชนเป็นเบี้ยล่าง

ในทางตรงข้าม แกนนำ นปช. และมวลชน นปช. ไม่มีแสนยานุภาพการต่อสู้ด้วยอาวุธสังหารเทียบเท่าแม้แต่ประมาณ ๑ ใน ๑๐๐ ของกองทัพไทย รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยแสดงจุดยืนเจตนาที่สามารถประสานงานกับกองทัพในการเคลื่อนแสนยานุภาพสังหารครั้งใหญ่ซึ่งส่งผลให้เกิด “กรณีคลิปเสียงอื้อฉาวเรื่องการสร้างสถานการณ์ภาวะฉุกเฉิน” ที่ยังไม่มีข้อสรุปมาครั้งหนึ่งแล้วในเดือนเมษายน ๒๕๕๒ แต่ฉากการนองเลือดสังหารหมู่ประชาชนครั้งนั้นมีอันต้องหยุดชะงักล้มเหลวไปเนื่องจากแกนนำ นปช. ประกาศให้ประชาชนสลายการชุมนุมทันท่วงทีก่อนการสังหารนองเลือดขนาดใหญ่กว่าเหตุการณ์ที่สามเหลี่ยมดินแดงจะเกิดขึ้นตามมา

วันนี้แสนยานุภาพสังหารของกองทัพมิได้ลดลง แสนยานุภาพอาวุธสงครามของ นปช.ไม่ปรากฎว่ามี แต่อุดมการสังหารของกลุ่มผู้มีอำนาจบารมีที่สามารถสั่งการเคลื่อนไหวพลานุภาพอาวุธสงคราม ทั้งจากภายในและภายนอกราชการกองทัพไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

อันที่จริง กลุ่มผู้มีอำนาจบารมีขับเคลื่อนพลานุภาพอาวุธดังกล่าวนั้นคงจะยินดีสนับสนุนและส่งทั้งคน เสริมทั้งทุน เพื่อการลับ-ลวง-พราง หนุนหลัง “กลุ่มเสื้อแดง” ที่ฝักใฝ่ความรุนแรงให้รีบหาทางกระตุ้นใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวมวลชนจำนวนมากขึ้น สำหรับการยกระดับสถานการณ์เพื่อนำไปสู่ฉากความล้มเหลวเฉียบพลันของ ขบวนการ นปช. ให้เร็วที่สุดก่อนที่รัฐบาลและพรรคการเมืองในกำกับของกลุ่มอำนาจอำมาตย์จะยับเยินไม่มีชิ้นดีทางการเมืองยิ่งไปกว่านี้

ถ้าหาก “วันเสียงปืนแตก” จะเกิดขึ้นจากผลของความพยายามทำให้แกนนำ นปช. และมวลชน นปช. เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากมายมหาศาลสามารถเอาชนะ “อำมาตย์” โดยการต่อสู้ด้วยวิถีรุนแรงเด็ดขาดกับกองทัพที่มีกำลังพลน้อยกว่ามวลมหาประชาชน , วันนั้นมวลมหาชนจะ “ตายเป็นเบือ”

ฉากที่สองเป็นภาพการยกระดับสถานการณ์ภาคใต้ทั่วประเทศ

ข้อเสียเปรียบในเรื่องพลานุภาพอาวุธสงครามไม่เทียบเท่ากองทัพ มักจะทำให้มีผู้พิจารณาทางเลือกการต่อสู้ยืดเยื้อแบบ “การก่อการร้าย” โดยอาศัยกลุ่มขนาดเล็กกระจัดกระจายปฏิบัติการเป็นครั้งเป็นคราว โดยไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า “สงครามก่อการร้าย” ที่ริเริ่มขึ้นนั้นจะจบลงด้วยภาวะความเป็น “ประชาธิปไตย” เมื่อไรและอย่างไรในอนาคต

แนวทางการใช้ความรุนแรงขนาดเล็กแต่ยืดเยื้อแบบ “ขบวนการก่อการร้าย” ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลดังต่อไปนี้

๑) การขยายฉาก “สถานการณ์ ๓ จังหวัดภาคใต้” ขึ้นเป็นสถานการณ์ทั่วประเทศ


(๒) การสูญเสียแนวร่วมมวลมหาชนของ นปช. ภายในระยะเวลาไม่น่าจะเกิน ๑ ปี เพราะประชาชนไม่สามารถจะยินดีกับสภาพการดำเนินชีวิตที่ไม่ปลอดภัยและไม่สามารถคาดคะเนชะตากรรมของตนได้ว่าจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอาวุธของฝ่ายใดเมื่อไรในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือในการเดินทางออกมาร่วมชุมนุมกับ นปช. ต่อไป

๓) การช่วยให้ “ระบอบอำมาตย์” ชุดปัจจุบันมีข้ออ้างความชอบธรรมทางการเมืองทั้งภายในและการเมืองระหว่างประเทศในอันที่จะเร่งสร้าง “รัฐทหาร” เลียนแบบรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

(๔) การช่วยเชื้อเชิญองค์กรตาม “นโยบายปราบปรามการก่อการร้าย” จากรัฐบาลสหรัฐและประชาคมอาเซียนเข้าสู่ประเทศไทยในเงื่อนไขที่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มเติม ทั้งในด้านการค้าอาวุธสงครามที่สร้างภาระงบประมาณและเงินกู้ภาครัฐ และในด้านการสนับสนุนข้อแนะนำทางยุทธวิธีต่อต้านขบวนการก่อการร้ายที่กองทัพสหรัฐเป็นองค์กรเชี่ยวชาญระดับโลก

(๔) การยืดอายุการครองอำนาจตามระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีพลเรือนหรืออดีตทหารสืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกยาวนานเกินกว่าจะคาดคะเน ทั้งนี้ โดยอาศัย “รัฐธรรมนูญ” หรือ “ธรรมนูญการปกครอง” ซึ่งจะแก้ไขเพิ่มเติมครั้งต่อไปอย่างไรก็เป็นการแก้ไขภายใต้สถานการณ์ก่อการร้ายที่เป็นคุณกับอำนาจแบบอำมาตย์และเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มแสนยานุภาพสังหารของกองทัพต่อไป

และ (๕) สังคมไทยหันเหทิศทางเป็น “สังคมแบบอิรัก” หลังสมัยประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็นแทนที่จะเข้าใกล้ความเป็น “สังคมประชาธิปไตย” ตามที่นักยุทธวิธีมวลชนนิยมความรุนแรงอธิบายสนับสนุนแนวทางของตนก่อนการเริ่มต้นฉากความล้มเหลวอันเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรงในทางปฏิบัติ

วิสัยทัศน์สันติวิธีปฏิวัติการเมืองไทย [ii]

ในวิถีทางสร้างประชาธิปไตยที่แตกต่างไปจากแนวโน้มการก่อความรุนแรงทั้ง ๒ แบบข้างต้น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี (จากการเลือกตั้งก่อน ก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐) นำเสนอวิสัยทัศน์ “การสร้างประชาธิปไตยโดยสันติวิธี”[2] โดยกล่าวในเบื้องต้นว่า “ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลทุกยุคสมัย ต่างก็เห็นสอดคล้องกันว่า จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นให้ได้ โดยการสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ได้ศึกษาหรือเหลียวมองดูเลยว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้วทั้งหลาย เขาสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาอย่างไร นั่นคือการสร้างประชาธิปไตยขึ้นก่อน หลังจากนั้นจึงยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยของเขาไว้”

หลังจากนั้นพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ให้คำอรรถาธิบายเพิ่มเติมในข้อเขียนดังกล่าวว่า “ฉะนั้นภารกิจอันดับแรกของแนวทางแก้ปัญหาชาติ คือ การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง” และอธิบายว่า “รัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่เป็นความสำคัญสูงสุด ไม่สำคัญมากมากกว่าการสร้างระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องหลัก”

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันว่า ;

“พูดให้ถึงที่สุด ก็คือการต่อสู้กันของขบวนการของระบบเผด็จการกับขบวนการของระบบประชาธิปไตย หรือขบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยและอีกขบวนหนึ่งซึ่งมีเฉพาะในเมืองไทยก็คือขบวนการรัฐธรรมนูญที่มุ่งใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของการรักษาอำนาจไว้ให้มั่นคงที่สุด”


พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ๒ ขบวนการดังกล่าวว่า ;

“การแก้ไขปัญหาเพื่อสมานฉันท์ในสภาวะปัจจุบัน ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำให้คู่กรณีของความขัดแย้งสร้างความสมานฉันท์ขึ้นได้โดยปราศจากคนกลางที่มีความรอบรู้ มีความเข้าใจเหตุแห่งปัญหา ท่านนั้นจะต้องมีประสบการณ์ ผู้มีฐานะสูง สูงกว่าคู่กรณี มีบารมีมากพอ และเป็นที่ยอมรับนับถือ เคารพรักโดยบุคคลทั่วไปอีกด้วย”


ดังนั้น “คนกลาง” และกระบวนการสร้างภาวะสมานฉันท์ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นความจำเป็นในขั้นรากฐานการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งปัจจุบัน ซึ่งถ้าหากสังคมไทยประสบความสำเร็จในการยอมรับให้ “คนกลาง” ดังกล่าวช่วยสร้างภาวะสมานฉันท์ต่อไปแล้ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ชี้แนะถึงสิ่งที่จำเป็นจะต้องกระทำต่อเนื่องไปเพื่อ “การสร้างประชาธิปไตยก่อนการสร้างรัฐธรรมนูญ” สำหรับการรักษาประชาธิปไตยที่สร้างขึ้นนั้นว่า ;

“เมื่อประเทศมีความสมานฉันท์แล้ว ภารกิจสำคัญคือการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย โดยใช้รัฐบาลเฉพาะกาลที่มีคนกลางเพื่อสร้างระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ”


ผู้เขียนเห็นว่าวิสัยทัศน์สันติวิธี ตามที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นำเสนอเป็นข้อแนะนำสาธารณะนั้นเป็นวิถีทางที่สามารถนำไปสู่ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ที่เป็นจริงในสังคมและการเมืองของไทยได้ ทั้งนี้บนพื้นฐานของ “การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง” โดยประชาชนส่วนรวมของประเทศ และโดยบุคคลากรทางการเมืองแขนงต่าง ๆ ในระบบการเมืองและราชการของไทย

การทำให้ “การปฏิวัติประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี” ตามวิสัยทัศน์ข้างต้นเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มพลังมวลชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบทบาทสำคัญของกลุ่มพลังมวลชนในเครือข่ายแนวร่วม “นปช.” ปัจจุบัน) ในอันที่จะใช้ความอดทน อดกลั้น หลีกเลี่ยงมิให้เกิดวิถีแห่งความรุนแรงในครรลอง ๒ ภาพอนาคตที่ผู้เขียนกล่าวถึงในตอนต้น ทั้งวิถีความรุนแรงที่อาจเป็นฝ่ายริเริ่มขึ้นเองและวิถีความรุนแรงที่กระทำตอบโต้การยั่วยุความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามที่ขัดแย้งกัน

เพราะหากเกิดสภาพความรุนแรงขึ้นก่อน “การสร้างประชาธิปไตยด้วยแนวทางสันติวิธี” ตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะมีผลสัมฤทธ์ การเมืองไทยก็จะสูญเสียโอกาสสำคัญทางประวัติศาสตร์ (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นโอกาสที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด) ในอันที่จะบรรลุถึง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อีกครั้งหนึ่ง โดยมีการเมืองระบอบคณาธิปไตยเข้าคั่นกลางต่อเนื่องไป

แต่ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งแฝงเร้นอันเป็นที่ขัดขวางความเจริญเติบโตของประเทศในประชาคมโลกต่อไป

*******************

[1] (เชิงอรรถเพิ่มเติม วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) ความพยายามของพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล และ พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี (นายทหารซึ่งเคยมีส่วนร่วมดำเนินการเป็นปฏิปักษ์อย่างร้ายแรงต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งจากกรณีการสังหารหมู่ในมัสยิดภาคใต้และกรณีการดักวางระเบิดสังหารในรถยนต์ ก่อนการรัฐประหาร ๒๕๔๙) ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ต่อเนื่องถึงต้นปีพ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นความพยายามในการโน้มน้าวให้มวลชนเสื้อแดงหันเหไปใช้วิถีแห่งความรุนแรง

[2] (เชิงอรรถเพิ่มเติมวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี พยายามดำเนินการเป็นแกนนำผลักดันการจัดตั้ง “กองทัพประชาชน” สำหรับขบวนการ นปช. ใช้ต่อสู้ด้วยวิถีอาวุธรุนแรง โดยอ้างว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้จัดตั้งโดยให้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการสูงสุด แต่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ แถลงปฏิเสธ และยืนยันแนวทางสันติวิธี ทั้งนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ยังมิได้แถลงอย่างเป็นทางการว่าได้อนุมัติหรือเห็นด้วยกับการจัดตั้ง “กองทัพประชาชน” (ที่ส่อไปในทางการกระทำผิดกฎหมายหลายฉบับ) ตามที่พลเอกพัลลภกล่าวอ้างและสื่อมวลชนกระแสหลักช่วยกันประโคมเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศจริงหรือไม่

[i] บทความเผยแพร่ครั้งแรกในชื่อเรื่อง “สันติวิธีกับการปฏิวัติการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย” เพื่อเป็นเอกสารประกอบการบรรยายในการสัมมนา เรื่อง “ร่วมกันสร้างประชาธิปไตยโดยสันติวิธี” จัดโดย หนังสือพิมพ์ไทยเรดนิวส์ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิร์ลด์ ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

[ii] เนื้อหาข้อเขียนส่วนนี้ เขียนต่อจากเนื้อหาตอนต้น หลังจากที่ผู้เขียนได้อ่านบทความ โดย พณฯ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ การสร้างประชาธิปไตยโดยสันติวิธี” ในหนังสือพิมพ์ไทยเรดนิวส์ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒๒ วันที่ ๒๐ ตุลาคม – ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ , หน้า ๑๐ - ๑๑ ในขณะที่ผู้เขียนได้ไปร่วมการบรรยายข้างต้น