การสืบชะตาดิน น้ำ ป่า เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ชุมชนได้ร่วมกันคิดและทำขึ้นมา เพื่อให้เยาวชนในฐานะผู้สืบทอดได้เรียนรู้ การดูแลรักษาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ผ่านพิธีกรรมความเชื่อของชาวปกาเกอญอ องค์ความรู้ภูมิปัญญาของชนเผ่านำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ได้อย่างสอดคล้องสัมพันธ์กัน
เมื่อวันที่ 16-17 ม.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านและเยาวชนบ้านป่าตึงงาม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดงาน‘พิธีสืบชะตาดิน น้ำ ป่า’กันขึ้นมา หลังจากเมื่อปีพ.ศ.2548 ชุมชนแห่งนี้ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ จนทำให้ชุมชนแห่งนี้ รวมทั้งหลายชุมชนบริเวณลุ่มน้ำแม่ป๋ามซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาหลักของแม่น้ำปิงตอนบน ต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นภัยที่เกิดจากธรรมชาติรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี
แน่นอนว่า ภัยพิบัติครั้งนี้ ได้ส่งผลทำให้ชาวบ้านหลายชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาและหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการปลุกจิตสำนึกของผู้คน ว่าจะมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างไรให้มีความยั่งยืนและเกื้อกูลกับวิถีชีวิตสัมพันธ์กัน เหมือนกับชุมชนบ้านป่าตึงงามแห่งนี้
ชุมชนบ้านป่าตึงงาม เป็นชุมชนปกาเกอญอ ที่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย และที่สำคัญมีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการจัดการทรัพยากร อย่างเช่น การจัดพิธีสืบชะตาดิน น้ำ ป่า นี้ก็เพื่อเป็นสำนึกต่อผืนดิน ผืนป่าและสายน้ำที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชาวบ้านมายาวนาน อีกทั้งกิจกรรมนี้ยังเป็นการปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนรู้จักรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ กิจกรรมดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลปิงโค้ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วยเยาวชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม จ.เชียงใหม่ เยาวชนตะกอนยม จ.แพร่ เยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย ชาวบ้าน และส่วนราชการในพื้นที่เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
กิจกรรมในวันแรก เป็นการเรียนรู้ของเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการลงพื้นที่ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ การเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ป่าชุมชน การจัดการน้ำโดยชุมชน การทำไร่หมุนเวียน โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน ได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอน
นายปรีชา ศิริ ปราชญ์ชาวบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ได้บอกเล่ากับน้องๆ เยาวชนว่า สิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา ก็คือทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องต้นไม้ กว่าเราจะเรียนรู้ได้มันต้องใช้เวลา และต้องอาศัยคนเฒ่าคนแก่มาเล่าขาน ถ้าลำพังคนเฒ่าคนแก่ก็คงไม่เพียงพอ ต้องเอาเยาวชนตัวน้อยๆ มาเรียนรู้ด้วย และหากว่าจะให้ดีต้องแบ่งเวลาในการเรียนรู้ให้เยาวชนด้วย
“พะตี(ลุง) เคยบอกครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งว่าจะสอนเรื่องต้นไม้ให้เด็ก เขาบอกว่าหากสอนเรื่องนี้ เด็กจะตกวิชาเลขคณิต แต่ว่าเราก็บอกว่า หากเราจะสอนเรื่องต้นไม้ เช่น ต้นก่อ 10 ต้น ถ้าโดนตัด 1 ต้น เหลือ 9 ต้น หรือหากว่าปลูกเพิ่ม 3 ต้นจะเป็นเท่าไหร่ตรงนี้ก็เรียนรู้เลขคณีตได้ และที่จริงคนเฒ่าคนแก่ปกาเกอญอ มีเรื่องราวมากมายที่อยากจะถ่ายทอด เช่น การอื่อทา ซึ่งเป็นนิทานคำสอน เป็นการเล่าบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของปกาเกอญอได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ด้าน น.ส.เยาวเรศ สุวิ เยาวชนบ้านป่าตึงงาม บอกเล่าให้ฟังว่า เคยเข้าร่วมงานบวชป่าครั้งแรก ตอนนั้นยังเป็นเด็กอายุประมาณ 7 ขวบ ก็คิดว่าเขาทำอะไรกัน การบวชป่าคืออะไร ทำกันอย่างไรก็ไม่รู้ ช่วงสองปีที่ผ่านมา มีโอกาสทำงานร่วมกับเยาวชนก็ทำให้รู้จักเพื่อนๆพี่ๆ กลุ่มอื่นๆ ทำให้เรารู้ว่ายังมีคนที่รักในถิ่นฐานของตัวเอง และยังสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง ในการทำงานตรงนี้ทำให้ตัวเราได้เห็นตัวเองมากขึ้น
“เมื่อก่อนยังไม่รู้จักอะไรเลย แต่พอมายืนตรงนี้ ก็มีความสุขและภูมิใจในการทำงานกับเยาวชนและรู้จักกับเพื่อนๆ ที่ทำงานเพื่อชุมชน รู้สึกดีมากๆ...”
นายภาคภูมิ โปธา แกนนำเยาวชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม และในฐานะสมาชิกสภาเทศบาลตำบลปิงโค้ง ก็บอกเล่าให้ฟังว่าการเรียนรู้ของระบบการศึกษาปัจจุบัน มุ่งสอนให้คิดแบบแยกส่วน ทั้งๆ ที่หลายสิ่งหลายอย่างมันเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว เราไม่สามารถแยกเป็นส่วนได้
“ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การเรียนรู้เรื่องดิน หากว่าไม่มีดิน เราก็ไม่ได้กินข้าว ข้าวมาจากไหนก็มาจากดิน มาจากน้ำ และในการจัดงานในครั้งนี้ก็เป็นการพยายามใช้สายน้ำเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนในชุมชน หัวน้ำ ท้ายน้ำ คนลุ่มน้ำเดียวกัน พยายามให้คนและชุมชนได้เข้ามาช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรร่วมกัน”
ในขณะที่นายชาติชาย ธรรมโม หรือ แคนแกนนำกลุ่มตะกอนยม จ.แพร่ กล่าวว่า ได้ยินว่ามีคนท้ายน้ำ คนปลายน้ำ ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากร ที่ผ่านมากกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ก็ตระหนักในเรื่องนี้ดี และก่อนที่ตะกอนยมคิดเรื่องนี้ทางผู้ใหญ่ก็คิดเหมือนกันว่าจะดูแลย่างไรให้เด็กทำและสืบทอดไว้อย่างไรดี
“แต่ยังมีสิ่งที่ขาดไป ก็คือเรื่องหลักสูตรการศึกษา ซึ่งเราพยายามทำหลักสูตรเรื่องของการเรียนรู้ ร่วมกับโรงเรียน ว่าเราจะต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ต้องรู้ทั้งนอก รู้ทั้งในต้องเป็นคน 2 วัฒนธรรม คือต้องรู้เรื่องของรากเหง้าของเรา และต้องมีการรู้เรื่องของสมัยใหม่ด้วย ซึ่งคนสองวัฒนธรรมแบบนี้ถึงจะเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลงได้”
ในวันที่สองของงาน ได้เน้นกิจกรรมที่เป็นเรื่องความเชื่อพิธีกรรม ที่ถือได้ว่าเป็นกุศโลบายในการร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง โดยในวันนั้นได้มีการทำพิธีสืบชะตา ดิน น้ำ ป่า เป็นการทำพิธีทางศาสนาพุทธ และได้มีการทำพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวปกาเกอญอ รวมทั้งมีการทำพิธีบวชต้นไม้ และการปล่อยปลาคืนสู่ธรรมชาติ
หลังจากนั้น ได้มีการเสวนาเรื่อง ทิศทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ลุ่มน้ำแม่ป๋าม โดยมีตัวแทนจากส่วนต่างๆร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาหลักของน้ำแม่ปิง โดยทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน บอกว่า พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และสนับสนุนงบประมาณ ขอเพียงว่าชุมชนสามารถที่จะปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรของชุมชนเองได้
ด้าน นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.)ได้มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย ก็ได้บอกกับน้องๆ เยาวชนว่า การเข้าร่วมงานตรงนี้ก็ทำให้รู้ว่าจะต้องร่วมกันทำอะไร มีการอธิบายให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า เราจะอยู่กับป่า เราดูแลรักษาป่า ก็มีการนำเสนอสิ่งที่เราเป็นอยู่ เช่น การบวชป่า ทำให้ตอนนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐเปลี่ยนมาเป็นเจ้าหมู่เดียวกัน มาช่วยกันรักษา ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่
ทั้งนี้ กิจกรรมการสืบชะตา ดิน น้ำ ป่า ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ชุมชนได้ร่วมกันคิดและทำขึ้นมา เพื่อให้เยาวชนในฐานะผู้สืบทอดได้เรียนรู้ การดูแลรักษาทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า โดยผ่านพิธีกรรมความเชื่อของชาวปกาเกอญอ โดยอาศัยองค์ความรู้ภูมิปัญญาของชนเผ่า นำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ได้อย่างสอดคล้องสัมพันธ์กัน
เหมือนกับ ‘ทา’ คำสอนเก่าแก่ของชาวปกาเกอญอสอนลูกสอนหลานมานานแล้ว
“ออที เก่อตอ ที เอาะก่อ เก่อตอก่อ
ดื่มน้ำรักษาน้ำ กินข้าวรักษาข้าว”