กองทุนหมู่บ้าน'' เติบโตอย่างมั่นคง
พิสูจน์รากหญ้ามีวินัย-คุณธรรมสูงส่ง
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เกิดขึ้นในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น นายกรัฐมนตรี โดยมีการกดปุ่มเงินก้อนแรกไปให้ประชาชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 จำนวน 7,125 กองทุน กองทุนละ 1 ล้านบาท หรือหมู่บ้านละล้าน ท่ามกลางคำสบประมาท ดูถูกดูแคลนกันมากมายที่ดังก้องไปเข้าหูชาวรากหญ้าว่าเงินก้อนนี้คงกู้ไปใช้ จ่ายฟุ่มเฟือย ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูกหลาน พอถึงเวลาชำระหนี้ก็ชักดาบ
แต่กองทุนหมู่บ้านก็ยังดำเนินการไปตามปกติ ตามวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นธนาคารของประชาชน เป็นแหล่งทุนใน หมู่บ้านที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ที่สำคัญ ยังเป็นการส่งเสริมการบริหารประเทศ ในระดับฐานราก ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และประชาธิปไตย
กองทุนหมู่บ้านผ่านร้อนผ่านหนาวมา 9 ปี บางช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีข่าวว่าจะถูกยุบไปด้วยซ้ำ แต่ด้วยความเข้มแข็งและมั่นคงของกองทุนหมู่บ้าน จึงอยู่รอดมาได้จนถึงขณะนี้ โดยปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,255 กองทุน แยกย่อยเป็นกองทุนหมู่บ้าน74,989กองทุน กองทุนชุมชนเมือง 3,528 กองทุน และกองทุนชุมชนทหาร738 กองทุน รวมแล้วมีเม็ดเงินที่ชาวรากหญ้าบริหารจัดการกันเอง ประมาณ8 หมื่นล้านบาท
จากข้อมูลของ รศ.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (ผอ.กทบ.) เปิดเผยว่า จากรายงานเมื่อปี 2551 พบว่าเงินกองทุน 8 หมื่นล้านบาทที่บริหารกันโดยชาวบ้าน มีดอกผลงอกเงยขึ้นมากว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินยอดนี้ถูกนำไปใส่เข้าสมทบกอง ทุนจำนวน5,370 ล้าน บาท เงินออม 15,766 ล้านบาท เงินหุ้น 1,876 ล้านบาท เงินฝาก 1,758 ล้านบาท เงินประกันความเสี่ยง 1,676 ล้านบาท เงินเฉลี่ยคืนผู้กู้1,597 ล้านบาท เงินบริหารจัดการ2,441 ล้านบาท และเงินจัดสรรสวัสดิการ-สาธารณประโยชน์ 2,950 ล้านบาท
“เงินกองทุน 79,255 กองทุน ยังอยู่ในมือชาวบ้าน ไม่ได้หายไปไหน เพราะชาวบ้านมีวินัยทางการเงิน และมีความรับผิดชอบสูง โดยกองทุนทั้งหมดชาวบ้านบริหารกันเอง ด้วยฝีมือผู้บริหารที่ จบป.4ป.6 และสูงขึ้นมาหน่อยอาจจะจบ ชั้นมัธยม แต่สามารถ บริหารเงินกันได้ดี เพราะชาวบ้านส่วน ใหญ่ไม่เบี้ยวหนี้ หรือติดค้างชำระ เนื่องจากเขามีความละอาย ใครเป็นหนี้ 2 หมื่นบาท รู้กันทั้งหมู่บ้าน ถ้าค้างชำระก็ติดชื่อไว้ที่ศาลาวัด หรือไม่ก็ให้ลูกหลานช่วยทวงถามให้”
เท่าที่ทราบระเบียบของธนาคารชาติ ระบุว่าถ้าค้างชำระ 3 งวด ถือว่าเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) แต่กองทุนหมู่บ้านต้องฟ้องร้องจึงจะถือว่าเป็นหนี้เสีย ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านมีคดีความกับผู้กู้ โดยแบ่งเป็นคดีแพ่ง 5,054 คดี และคดีอาญา 694 คดี รวมแล้วไม่ถึง 6 พันคดี หรือจำนวน 6 พันคนที่มีปัญหา ด้วยมูลหนี้ประมาณ 200 ล้านบาท จากสมาชิกกองทุนกว่า 12 ล้านคน ถ้าเทียบ เป็นสัดส่วนจำนวนคนแล้วถือว่าน้อยมาก โดย เฉพาะมูลหนี้ 200 ล้านบาท ที่เป็นคดีความกันอยู่ ยังไม่ถือว่าเป็น หนี้สูญหรือถ้ามองแบบแย่สุดสุด200 ล้านบาท เป็นหนี้สูญ เมื่อเทียบกับกองทุนทั้งหมด 8 หมื่นล้าน บาท ถือว่าจำนวนหนี้เสียไม่ถึง 0.5%
รศ.นทีกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกอง ทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองหลายแห่ง ได้ยกระดับเป็น “สถาบันการเงินชุมชน” หมายถึงหลายกองทุนที่มีความเข้มแข็ง อยู่ใกล้ชิดกัน มีความเห็นสอดคล้องกัน ได้บูรณาการหลายกองทุนเข้าด้วยกันเป็นสถาบันการเงินชุมชน ซึ่งหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ตั้งเป็นธนาคารชุมชน ตรงนี้ต้องอธิบายว่า ใช้ชื่อธนาคารชุมชนไม่ได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขและกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนแล้ว 1,149 แห่งทั่วประเทศ หลายแห่งประสบความสำเร็จมาก เช่น สถาบันการเงินชุมชนปากเกร็ดรวมใจ มีเงินทุนหมุนเวียนในการปล่อยกู้ถึง 83 ล้านบาท สมาชิกสามารถกู้ได้รายละเป็นแสนบาท ส่วนแห่งอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จก็มีสถาบันการเงินชุมชนเขาหญ้าออก จ.พัทลุง มีเงินทุนหมุนเวียน 20ล้านบาท และสถาบันการเงินชุมชนถนนหัก จ.บุรีรัมย์ มีเงินทุนหมุนเวียน 15ล้านบาท
“ทั้งหมดเป็นบทพิสูจน์ฝีมือการบริหารของพี่น้องรากหญ้าได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมีวินัยสูง มีคุณ ธรรม เมื่อกู้เงินไปใช้ ไปลงทุน ก็พยายามหามาใช้คืน บางคนมีสปิริตถึงขั้นต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้คืนเงินกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเราไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เพราะถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนหมู่บ้าน และถ้าชาวบ้านเหลวไหล เหมือนคำสบประมาท ในช่วงแรก ๆ รัฐบาลชุดนี้คงไม่ให้เงินลงมากองทุนหมู่บ้านอีก 2 หมื่นล้านบาท และไม่ได้โยนให้เปล่า ๆ แต่หมู่บ้านและชุมชนเมืองต่าง ๆ ต้องเสนอแผนงาน เสนอโครงการเข้ามา จึงจะได้เงินกองทุน เพิ่ม ซึ่งปัจจุบันมีกองทุนเสนอโครงการเข้ามาแล้วกว่า 60% แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวมาก” รศ.นที กล่าว
ที่ผ่านมามีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวนหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประธานและคณะกรรมการบริหารกองทุน ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีความกระตือรือร้น บางกองทุนปล่อยกู้เฉพาะในหมู่วงศาคณาญาติ จึงไม่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกอื่น ๆ ในหมู่บ้านหรือชุมชน
ส่วนการชำระหนี้คืนกองทุนนั้น ชาวบ้านทั่วไปชำระหนี้คืนกันตามปกติ ถ้ามีปัญหาก็จะให้ลูก-หลาน และญาติเข้าไปช่วยพูดคุยเจรจา จนปัญหาคลี่คลายด้วยดี แต่ที่มีปัญหาส่อเจตนาจะเบี้ยวหนี้ ไม่ชำระหนี้คืนตามเวลา และติดตามทวงถามยาก คือข้าราชการบางคนในหมู่บ้าน
ทั้งหลายทั้งปวง แสดงให้เห็นว่าชาวรากหญ้าก้าวไปไกลกว่าที่คิด ลบคำสบประมาท และคำพูดดูถูกดูแคลนลงอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญในอนาคตกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตั้งเป้าหมายว่าจะมีตรา สินค้าเป็นของตนเอง และอาจปล่อยกู้ให้กับภาครัฐด้วย.
พิเชษฐ์ รื่นกลิ่น/รายงาน
ที่มา : [url] http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=560&contentID=47423[/url]