WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, February 10, 2010

ใจ อึ๊งภากรณ์ แนวคิดเรื่องการสร้าง “ประชาธิปไตย” ของอำมาตย์

ที่มา thaifreenews


โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
9 กุมภาพันธ์ 2553

แนวคิดเรื่องการสร้าง “ประชาธิปไตย” ของอำมาตย์

หัวข้อนี้อาจดูแปลกๆ เพราะอำมาตย์เป็นพวกทำลายประชาธิปไตย

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระแสประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมไทยและทั่วโลก แม้แต่อำมาตย์เอง และโดยเฉพาะนักวิชาการเหลืองที่รับใช้อำมาตย์ ยังต้องสร้างเรื่องเพื่อให้รูปแบบการปกครองของเขาดูดีอาศัยความชอบธรรมจากคำว่า “ประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่มันคือเผด็จการชัดๆ

สุจิต บุญบงการ


ในงานสัมมนาในปลายเดือนมกราคมปี ๒๕๕๓ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน สุจิต บุญบงการ นักวิชาการเหลือง พยายามใส่ร้ายว่าขบวนการคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งทั่วไปในรอบสิบปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่อย่างที่สุจิตว่า

สุจิตพยายามชี้ถึง “พลังเงียบ” ของคนที่ไม่เอาทั้งสองฝ่าย แต่เนื่องจากพลังเงียบไม่ออกความเห็น(มันจึงเงียบ) เราไม่มีวันทราบว่าเขาคิดอย่างไร และในขณะเดียวกันไม่มีข้อมูลอะไรที่เสนอว่าพลังเงียบดังกล่าวเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม

อย่างไรก็ตาม สุจิตก็ท่องสูตรนักวิชาการอนุรักษ์ และพูดถึง “ประชาสังคม” ว่าเป็นพลังในการสร้างประชาธิปไตย

ประชาสังคมของคนอย่างสุจิตคือคนชั้นกลาง นักวิชาการ และนักเอ็นจีโอ ซึ่งถ้าพิจารณาในบริบทของสังคมไทยแล้วคนกลุ่มนี้เข้าข้างเผด็จการ สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา และดูถูกวุฒิภาวะของพลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศว่า “เข้าไม่ถึงข้อมูล” หรือ “ไม่เข้าใจประชาธิปไตย”

ตกลงแล้วสำหรับนักวิชาการอำมาตย์ พลเมืองส่วนใหญ่ที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ไม่ฉลาดเท่าตัวเขาเองเพราะไปถูกหลอก ถูกซื้อ ไม่เหมือนนักวิชาการ นักเอ็นจีโอ หรือคนชั้นกลางที่ “รู้จริง” อันนี้เป็นแนวอภิสิทธิ์ชนชัดๆ แต่มันมีที่มาที่ไปและเชื่อมกับแนวคิดอนุรักษ์สากลด้วย

รัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยไทยจนถึงยุคช่วงพฤษภา ๓๕ ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดรัฐศาสตร์ฝ่ายขวาอเมริกา ที่เสนอแนวคิด “โครงสร้างหน้าที่”

แนวคิดนี้เน้นการสร้างประชาธิปไตยเหมือนวิศวกรสร้างเครื่องจักร คือมีการออกแบบสถาบันการเมืองต่างๆ และกระบวนการทางการเมือง เพื่อสร้างความมั่นคงของการปกครองของชนชั้นอภิสิทธิ์ โดยชนชั้นอภิสิทธิ์เองและนักวิชาการชนชั้นกลาง

สำหรับเขารูปการปกครองประชาธิปไตยสมบูรณ์คือสหรัฐอเมริกา แต่เขาจะไม่พูดถึงการที่ประชาชนสหรัฐเบื่อหน่ายกับการเมืองสองขั้วของนายทุน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำแต่อย่างใด นอกจากนี้มีการอธิบายว่า “วัฒนธรรมตะวันตกทำให้ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตย” ซึ่ง “ไม่เหมือนสังคมไทย”

แนวคิดนี้เสนอทฤษฏี “การทำให้ทันสมัย” ที่อธิบายว่าประเทศด้อยพัฒนายังเป็นเผด็จการเพราะชนชั้นกลางยังไม่เติบโตและสังคมยังไม่สุกงอม อันนี้กลายเป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวในการที่สหรัฐ ถือว่าเผด็จการทหารไทยเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกเสรี” ในสงครามเย็น เพราะในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจเจริญไทยคงเป็นประชาธิปไตย “ไปเอง”

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

นักวิชาการสหรัฐแนวนี้ที่มีอิทธิพลต่อนักวิชาการไทยรุ่นเดียวกับสุจิต บุญบงการ คือ Fred Riggs ที่เขียนว่าไทยเป็น “รัฐข้าราชการที่กำลังพัฒนา” และประชาชนไทยส่วนใหญ่ “เหมือนเด็ก ไม่รู้เรื่องและไม่สนใจการเมือง” ในสถานการณ์แบบนี้นักวิชาการ “ผู้รู้จริง” จะต้องออกไปสอนประชาชนเรื่องประชาธิปไตย และนี้คือแนวทางของสถาบันพระปกเกล้า ที่มีคนอย่าง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นหัวหน้า สถาบันพระปกเกล้าตั้งชื่อมาตามอดีตกษัตริย์(เซ็นเซอร์) และเต็มไปด้วยนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา


ตั้งแต่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก มีกระแสวิชาการใหม่อีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมาแทนแนวโครงสร้างหน้าที่ กระแสนี้เน้นการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่สังกัดกับองค์กรรัฐ และก่อกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องประเด็นของตนเอง คนเหล่านี้เป็นพลังหลักในการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในความเห็นของนักวิชาการสายนี้

ข้อดีคือเน้นบทบาทประชาชน และเน้นการสร้างประชาธิปไตยโดยประชาชนจากล่างสู่บน ในสิ่งที่เขาเรียกว่า “ประชาสังคม” แต่ข้อเสียมาจากการนิยามว่าใครเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคม เพราะนักวิชาการฝ่ายขวาอนุรักษ์จะเน้นว่าต้องเป็นคนชั้นกลาง และเอ็นจีโอ หรือพูดง่ายๆ เป็นคนที่มีการศึกษา “ไม่โง่”

แต่เราทราบดีว่าคนชั้นกลางในไทยสนับสนุนเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และรัฐประหาร ๑๙ กันยา ทั้งๆ ที่เคยสนับสนุนการต่อสู้กับเผด็จการ รสช. ในพฤษภา ๓๕ พูดง่ายๆ คนชั้นกลางโลเล เข้าข้างเผด็จการหรือประชาธิปไตยแล้วแต่ผลประโยชน์ และเอ็นจีโอก็ไปสนับสนุน ๑๙ กันยา ทั้งๆ ที่เคยต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในอดีต

นอกจากนี้ชนชั้นกลางทั่วโลกก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างออกไป5 เช่นในสิงคโปร์ก็สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ และในยุโรปตะวันออก และเกาะเฮติ เอ็นจีโอมักสนับสนุนเผด็จการหรือผลประโยชน์ธุรกิจ7

ประเวศ วะสี

ชัยอนันต์ สมุทรวานิช


นักวิชาการที่เสนอแนว “ประชาสังคมแบบชนชั้นนำ” อย่างนี้นอกจาก สุจิต บุญบงการ แล้ว มี ประเวศ วะสี และ ชัยอนันต์ สมุทรวานิช โดยที่ประชาสังคมของเขาจะร่วมมือกับรัฐอำมาตย์ และผู้ที่ “เป็นภัยต่อประชาธิปไตย” คือประชาชนส่วนใหญ่ที่ขาดการศึกษาและ “เข้าไม่ถึงข้อมูล” โดยเฉพาะขบวนการคนเสื้อแดง


แนวทางสร้างประชาธิปไตยของคนก้าวหน้า

สำหรับคนก้าวหน้า เรามองว่าประชาธิปไตยต้องมาจากการต่อสู้ของประชาชนคนชั้นล่างเอง มันต้องเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการก้าวหน้าอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มองว่า “ประชาสังคม” คือขบวนการของชาวบ้าน ไม่ใช่คนชั้นกลาง

นิธิ เอียวศรีวงศ์


หรือนักวิชาการมาร์คซิสต์ที่มองว่าการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างกรรมาชีพ หรือคนจนกับชนชั้นปกครองคือวิธีขยายประชาธิปไตย โดยไม่มีการแยกระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อเรื่องปากท้องเศรษฐกิจกับเรื่องการเมือง

ฝ่ายก้าวหน้าจะมองว่าประชาธิปไตยไม่ได้มาจากการออกแบบของ “วิศวกรรัฐศาสตร์” โดยเฉพาะพวกนักวิชาการเสื้อเหลือง หรือมาจากการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางและเอ็นจีโอ และแน่นอนรัฐประหารสร้างประชาธิปไตยไม่ได้

ที่สำคัญคือ เราไม่ได้มองว่าประชาชนโง่ ไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับใด การที่พลเมืองไทยเลือกไทยรักไทยจำนวนมาก มาจากการใช้ปัญญาในการคิดเรื่องการเมือง และบ่อยครั้งคนที่จบมหาวิทยาลัยอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ทำให้ตาบอด คือไม่กล้าใช้ปัญญาอย่างสุจริต เพราะข้อสรุปจะตรงข้ามกับผลประโยชน์ตนเองในฐานะคนรวย

สำหรับเรา คนเสื้อแดงคือพลังทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย จะเรียกว่ามวลชนคนชั้นล่าง หรือจะเรียกว่าประชาสังคมของประชาชนธรรมดาก็ได้

และในการเสนอว่าคนเสื้อแดงคือประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตย เราเข้าใจดีว่ามนุษย์ธรรมดาที่ตื่นตัวทางการเมืองและเข้ามาร่วมการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง นำความคิดเก่าๆหลากหลายที่อยู่ในหัวสมองมาเคลื่อนไหวอีกด้วย บางครั้งก็ก้าวหน้า เช่นการสนับสนุนประชาธิปไตยหรือการชื่นชมนโยบายที่เป็นประโยชน์สำหรับคนจน แต่บางครั้งก็มีความคิดล้าหลังที่ได้มาจากสังคมอำมาตย์ตกค้างอยู่ เช่นการไม่เคารพคนรักเพศเดียวกัน หรือการกดขี่ชาวมุสลิมภาคใต้เป็นต้น

ในโลกจริงไม่มีใครเป็นเทวดาหรือเป็นพระแต่กำเนิด ขบวนการของเราเป็นขบวนการของพลเมืองผู้ทำงานที่มือเปื้อนดินทรายที่พยายามทำไปและเรียนรู้ไป แต่ที่สำคัญเราต้องการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยและความทันสมัย

ในขณะที่ชนชั้นกลาง พันธมิตรฯ นักวิชาการเหลือง และเอ็นจีโอส่วนใหญ่ ต้องการปกป้องสภาพเดิมหรือหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคอำมาตย์ในอดีต เขากลัวอนาคตในขณะที่เราต้อนรับอนาคต


อิทธิพลของพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองในขบวนการกรรมาชีพ

สหภาพแรงงานถือว่าเป็นการรวมตัวกันของพลเมืองธรรมดา และถือว่าเป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” และส่วนหนึ่งของประชาสังคมที่มีความสำคัญ นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้องถือว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

คนงานกรรมาชีพส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของ ไทยรักไทย ไม่ใช่ว่าพรรคนี้แค่ครองใจคนในชนบทเท่านั้น เพราะคนงานในเมืองมักจะมีญาติพี่น้องพ่อแม่ที่ได้ประโยชน์จากโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคและกองทุนหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้ลดภาระของกรรมาชีพในเมืองที่เคยต้องเลี้ยงดูครอบครัวในชนบท

อย่างไรก็ตามขบวนการเสื้อแดงจนถึงทุกวันนี้ยังละเลยการสร้างกระแส และกลุ่มอิทธิพลในสหภาพแรงงานต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการละเลยแหล่งพลังสำคัญ

ในบางสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะในรัฐวิสาหกิจรถไฟและไฟฟ้า หรือในโรงงานประกอบรถยนต์ในภาคตะวันออกบางแห่ง พวกพันธมิตรฯได้เข้าไปสร้างอิทธิพลระดับหนึ่ง แต่ลักษณะอิทธิพลของพันธมิตรฯนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเสริมพลังกรรมาชีพหรือสหภาพแรงงานในด้านชนชั้นแต่อย่างใด และแน่นอนเป็นการต่อสู้เพื่ออำมาตย์ (เซ็นเซอร์) และนายทุนใหญ่ที่กดขี่ขูดรีดคนงานส่วนใหญ่มานาน มันจึงมีความขัดแย้งในตัวเอง

ลักษณะพิเศษของขบวนการแรงงานที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลพันธมิตรฯ มีดังนี้

สมศักดิ์ โกศัยสุข

สาวิทย์ แก้วหวาน

มักจะเป็นผู้นำแรงงานที่มีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข หรือสาวิทย์ แก้วหวาน ซึ่งเคยจัดกลุ่มศึกษาให้กับผู้นำแรงงานบางส่วน แต่เป็นกลุ่มศึกษาประเภท “บนลงล่าง” ที่ไม่เปิดโอกาสให้แรงงานนำตนเอง แต่สอนให้เชื่อฟังอาจารย์ใหญ่มากกว่า การดึงคนงานมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์อำมาตย์และคนชั้นสูง ในลักษณะที่ขัดต่อประโยชน์ตนเองต้องทำภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ แต่อย่างไรก็ตามคนงานก็คิดเองเป็น ซึ่งทำให้มีการทะเลาะถกเถียงระหว่างคนงานสายเหลืองกับแดงพอสมควรในเกือบทุกที่

ผู้นำแรงงานที่เข้ากับพันธมิตรฯ มีแนวโน้มจะเป็นผู้นำแรงงานเต็มเวลา ไม่ต้องทำงานในโรงงานข้างเคียงคนงานธรรมดา และบ่อยครั้งได้รับเงินเดือนในระดับสูงกว่าคนงาน อาจได้เงินเดือนจากเอ็นจีโออีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้นำเหล่านี้ห่างเหินจากคนงานรากหญ้าที่อาจชอบนโยบาย ไทยรักไทย ดังนั้นสภาพทางเศรษฐกิจสังคมของผู้นำเหล่านี้ช่วยให้เขาเป็นเหลืองได้

วิธีการต่อสู้ของสหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา มักจะมองว่าการรณรงค์ในหมู่สมาชิกให้มีการนัดหยุดงาน “ทำยาก” ผู้นำสหภาพเลยหันไปหาทางลัด โดยการเน้นการเจรจาผูกมิตรกับฝ่ายบริหาร หรือนักการเมืองมากกว่าการปลุกระดมสมาชิก อันนี้เห็นชัดในกรณีรถไฟและ กฟผ. แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าสมาชิกสหภาพจะไม่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประโยชน์คนงานเลย มีหลายกรณีที่ออกมาสู้ แต่วัฒนธรรมการหาพรรคพวกในหมู่ “ผู้ใหญ่” นำไปสู่การร่วมกับนายทุนอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล และทหาร คมช.

เวลาสหภาพที่มีแกนนำเป็นเหลืองต่อสู้กับนายจ้าง เช่นในโรงงานรถยนต์ภาคตะวันออก แกนนำจะเน้นยุทธวิธีการอ้างถึงผู้ใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลเหลืองที่สนับสนุนเขา หรืออาจนำพวกอันธพาลพันธมิตรฯ มาขู่นายจ้าง แทนที่จะปลุกระดมและสร้างความเข้มแข็งของแรงงานและสหภาพเอง ในระยะยาวการต่อสู้แบบนี้จะทำลายสหภาพ และพวกผู้ใหญ่เหลืองๆ ก็จะไม่สนใจว่าลูกน้องแรงงานเคยไปรับใช้เขาในอดีต เพราะผลประโยชน์ผู้ใหญ่คือผลประโยชน์นายทุน

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรเหมารวมว่าสมาชิกทุกคนในสหภาพหนึ่งจะมีแนวคิดเหมือนแกนนำ และเราไม่ควรมองว่าการต่อสู้ของสหภาพเหลืองจะทำเพื่อเบื้องบนอย่างเดียวตลอดกาล ถ้าเราสามารถชักชวนให้มีการสู้เพื่อประโยชน์แท้ของคนงานในเรื่องประจำวัน เราจะมีโอกาสทำลายความจงรักภักดีที่เขามีต่อพันธมิตรฯได้ เพราะจะเกิดความขัดแย้งทางความคิดที่รุนแรงมากขึ้น

อเนก เหล่าธรรมทัศน์

เราต้องข้ามพ้นหนังสือ สองนัคราประชาธิปไตย ของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์

หนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ดูเหมือนมีอิทธิพลสูงในสังคมไทย โดยเฉพาะในหมู่คนที่วิจารณ์และคัดค้านรัฐบาล ไทยรักไทย และสนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ดังนั้นเราคงต้องมาทบทวนวิเคราะห์หนังสือเล่มนี้ในบริบทการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน

หนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" เขียนในช่วงที่สังคมไทยกำลังถกเถียงกันในเรื่องการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่สำคัญคือหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นก่อนที่จะเห็นผลรูปธรรมของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และก่อนที่จะมีการก่อตั้งพรรค ไทยรักไทย และในช่วงภายหลังเอนกเข้าไปเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ และหลังจากนั้นร่วมก่อตั้งพรรคมหาชน ในที่สุดนักวิชาการคนนี้ไปสนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ข้อเสนอหลักในหนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" คือ มันมีความแตกแยกสำคัญระหว่างสองซีกในสังคมไทย (สองนัครานั้นเอง) คือระหว่างคนเมืองและคนชนบท

เอนกเสนอว่าคนเมืองเป็นคนชั้นกลาง และคนชนบทเป็นชาวไร่ชาวนา และเสนอต่อไปว่าคนชั้นกลางในเมืองเป็นคนที่ใช้วิจารณญาณ และมาตรฐานคุณธรรมในการเลือกหรือวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลต่างๆ และคนชั้นกลางเหล่านี้เป็นคนที่มีความคิดอิสระ ส่วนชาวไร่ชาวนาในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีคะแนนเสียงข้างมากในวันเลือกตั้ง โดยมักจะเลือกนักการเมืองท้องถิ่นในลักษณะการเลือกเจ้านายอุปถัมภ์ คือจะเลือกผู้ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลืออุปถัมภ์ตน และจะไม่มองว่าการซื้อขายเสียงผิดหรือขัดกับคุณธรรม เพราะเป็นพิธีกรรมระหว่างผู้อุปถัมภ์กับลูกน้อง เอนกมองว่าการลงคะแนนเสียงของชาวชนบทนี้ไม่ใช่ภายใต้ความคิดอิสระเหมือนชนชั้นกลาง แต่เป็นการตอบแทนบุญคุณตามระบบอุปถัมภ์ที่มีมานานตั้งแต่สมัยไพร่กับนาย

ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวชนบทเป็นฐานคะแนนของรัฐบาล แต่คนชั้นกลางในเมืองเป็นผู้ล้มรัฐบาลเพราะไม่พอใจกับนโยบายต่างๆ แต่การวิเคราะห์สังคมไทยแบบนี้ของเอนก ที่มองว่าเส้นแบ่งหลักคือระหว่างเมืองกับชนบทมีปัญหาหลายประการคือ

เอนกมองว่าคนเมืองคือชนชั้นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ผู้บริหาร และผู้ประกอบการรายย่อยที่แสวงหารัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่มีกลุ่มส่วนน้อยของชนชั้นกลางที่เป็นนักศึกษา นักวิชาการ และคนทำงานเอ็นจีโอ ซึ่งกลุ่มหลังนี้ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในสังคม แต่ภาพคนเมืองแบบนี้มองข้ามคนงานปกคอขาวที่ทำงานในออฟฟิสบริษัทเอกชนหรือร้านค้า มองข้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจ คนขับรถเมล์ คนขับแทกซี่ คนงานในโรงงาน และลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ ในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ในเมืองเป็นชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งปกคอขาวและปกคอน้ำเงิน

เอนกมองข้ามการแบ่งชนชั้นในชนบท และการที่เกิดเมืองต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็กในต่างจังหวัด ซึ่งทำให้คนต่างจังหวัดไม่ได้เป็นแค่ชาวไร่ชาวนาเท่านั้น

การเสนอว่าคนชนบทเป็นผู้ที่ขึ้นกับนายอุปถัมภ์ เป็นการดูถูกความสามารถของเขาที่จะคิดเองอย่างอิสระ เป็นการโทษคนชนบทว่าเป็นฐานเสียงนักการเมืองแย่ๆ


ระบบอุปถัมภ์ในชนบท?

หนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับประเด็นปัญหายุคนี้เมื่อเราพิจารณาข้อเสนอของเอนกในการแก้ปัญหาการซื้อขายเสียงและระบบอุปถัมภ์ในชนบท


เอนกมีข้อเสนอสำคัญสองข้อคือ

รัฐบาลต้องลงมาพัฒนาชนบทโดยตรงเพื่อให้การผลิตในชนบทเชื่อมโยงกับระบบตลาดของทุนนิยม ต้องมีการเพิ่มเทคโนโลจี และทุ่มเทงบประมาณรัฐในด้านนี้ ชนบทจะได้มี "ความเป็นเมือง" มากขึ้น

ต้องมีพรรคการเมืองที่เน้นนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้นโยบายกลายเป็นประเด็นหลักในการเลือกรัฐบาลของชาวชนบท แทนระบบอุปถัมภ์ ซึ่งจะมีผลในการลดอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นอีกด้วย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำนิยามของระบบอุปถัมภ์ที่นักสังคมศาสตร์ทั่วไปใช้กัน และที่อเนกใช้ในหนังสือ"สองนัคราประชาธิปไตย" ระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวมักเป็นสายสัมพันธ์ปัจเจกระหว่างนายกับผู้ได้รับอุปถัมภ์ ไม่ใช่สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และในกรณีที่พรรคการเมืองเป็นผู้อุปถัมภ์ ผลประโยชน์ที่พรรคยื่นให้ประชาชนเป็นผลประโยชน์พิเศษที่ตกกับคนกลุ่มหนึ่งตระกูลหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ และพรรคการเมืองแบบนี้มักไม่สนใจการเสนอนโยบายเลย

ถ้าเราอ่านแล้วตั้งคำถามว่า ไทยรักไทย ทำอะไร? มันคงเริ่มชัดเจนว่า ไทยรักไทย ทำตามข้อเสนอของเอนกทุกข้อ คือมีการทุ่มเทงบประมาณลงในหมู่บ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า มีการรณรงค์ให้ทำ OTOP มีการพยายามพัฒนาระบบการศึกษา และระบบสาธารณสุข และรัฐบาลเริ่มลดอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่นและการซื้อขายเสียงลงโดยการเชื่อมชนบทกับนโยบายรัฐบาลโดยตรง และที่สำคัญ ไทยรักไทย เป็นพรรคการเมืองแรกในรอบ 20 กว่าปีที่เสนอนโยบายชัดเจนในการหาเสียง และพยายามทำตามนโยบายดังกล่าวเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล

อย่างไรก็ตามในหมู่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเสื้อเหลือง มีการพูดเกือบจะเป็นหนึ่งเลยว่ารัฐบาลทักษิณ "สร้างระบบอุปถัมภ์ในชนบทผ่านนโยบายประชานิยม” และมีการเสนอต่อว่าสาเหตุที่คนจนและคนชนบทลงคะแนนเสียงให้ ไทยรักไทย ในปี ๒๕๔๘ และ ๒๕๔๙ ก็เพราะ "ชาวชนบทไม่ได้ตัดสินใจอย่างอิสระ เนื่องจากถูกดึงมาเข้าระบบอุปถัมภ์ และไม่ได้รับรู้ข้อมูลแท้เกี่ยวกับรัฐบาล”

และที่แปลกที่สุดคือมีการอ้างถึงหนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย" เพื่อพยายามให้น้ำหนักกับแนวคิดนี้ เป็นไปได้อย่างไรที่มีการมองกลับหัวกลับหางอย่างสิ้นเชิงแบบนี้? คำตอบคือข้อมูลความจริงไม่เคยเป็นอุปสรรค์ต่อการโกหกของนักวิชาการเสื้อเหลืองเลย

แล้วอเนกทำอะไรในยุค ไทยรักไทย? ในยุคที่นำ พรรคมหาชน เอนกอาศัยการอุปถัมภ์จากเจ้าพ่อการเมืองแบบเก่าสองคนคือเสธ.หนั่นกับวัฒนา อัศวเหม

ต่อมาหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา เอนกเสนอว่าประชาธิปไตยที่เหมาะที่สุดสำหรับประเทศไทยคือ “แบบไทยๆ” หรือแบบอำมาตย์นั้นเอง เพราะมองว่าประชาชนต้องแบ่งอำนาจกับทหารและกษัตริย์

ในความเป็นจริง การเลือกตั้งที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าคนชนบท และคนจนในเมือง ชื่นชมในนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ไทยรักไทย และในเมื่อมีแค่พรรค ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน และ ไทยรักไทย ให้เลือกในโลกจริง ชาวชนบทใช้วิจารณญาณและความคิดอิสระในการเลือกรัฐบาลของพรรคที่มีนโยบายชัดเจน ในขณะที่ชนชั้นกลางที่เคยนิยม ไทยรักไทย ในช่วงต้นๆ เปลี่ยนรสนิยมตามแฟชั่นและวิ่งตามฝูงโดยไม่มีความคิดอิสระ แถมยังดูถูกคนจน ไม่ไว้ใจการลงคะแนนเสียงในระบบประชาธิปไตย และหันมาเรียกร้องให้กษัตริย์แต่งตั้งรัฐบาลตามมาตรา 7 และหลังจากนั้นก็เชียร์รัฐประหาร

ปัญหาหลักของ ไทยรักไทย ไม่ได้อยู่ที่การสร้างระบบอุปถัมภ์ในชนบท และไม่ได้อยู่ที่การสร้างเผด็จการใดๆ หรือการคอร์รัปชั่นเป็นพิเศษมากกว่าพรรคอื่นหรือองค์กรอื่นๆ แต่อยู่ที่การปราบปรามประชาชนในภาคใต้และในสงครามยาเสพติด พร้อมกับการใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ซึ่งทำลายประสิทธิภาพของนโยบายสวัสดิการของรัฐบาล ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีและก้าวหน้า เกิดข้อเสียเพราะมีงบประมาณไม่พอเนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมเก็บภาษีเพิ่มจากคนรวย และใช้กลไกตลาดในการคิดบัญชีภายในระบบเอง

ยิ่งกว่านั้นการเซ็นสัญญา FTA ที่ให้อภิสิทธิ์อันไม่ชอบธรรมแก่บริษัทยาที่สร้างกำไรจากลิขสิทธิ์ยาราคาแพง มีผลในแง่ลบต่อเป้าหมายของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกด้วย

สรุป

ปัญหาประชาธิปไตยในไทย ไม่ใช่ปัญหาของการที่ประชาชนขาดการศึกษาหรือตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์ แต่อย่างใด แต่ปัญหาประชาธิปไตยมาจากจุดยืนและการกระทำของอำมาตย์กับชนชั้นกลาง และการดูถูกไม่เคารพพลเมืองธรรมดาของนักวิชาการและผู้นำเอ็นจีโอ

อำมาตย์และพวกเสื้อเหลืองมองว่าเขาฝ่ายเดียวเข้าใจประชาธิปไตยและมีสิทธิ์ใช้อำนาจและอิทธิพลในสังคม

แต่ฝ่ายเรามองว่าประชาธิปไตยแท้สร้างจากพลเมืองธรรมดา จากล่างสู่บน และขบวนการเสื้อแดงมีบทบาทสำคัญตรงนี้