WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, June 24, 2010

คู่กัดเหลืองและแดง 2553 คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

ที่มา มติชน

โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่พัฒนาเป็นคู่กัดระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น แต่ละฟากมีมวลชนหนุนหลังเป็นจำนวนมากและก้ำกึ่งกัน คือระหว่าง 3-4 ล้านคน (งานวิจัยของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ) หรือประมาณร้อยละ 10 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งประเทศ 2 กลุ่มรวมกันก็เป็นร้อยละ 20

แต่ละฟากระดมมวลชนโดยชูประเด็นข้อเรียกร้องที่สะท้อนความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมือง

ฟากเหลืองชูประเด็นปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การเมืองจริยธรรมที่ปลอดจากการคอร์รัปชั่น การเมืองที่คนชั้นกลางมีบทบาทในการกำหนดนโยบาย

ฟากแดงเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง ความเป็นธรรมในสังคม การยกเลิกระบบสองมาตรฐาน บางกลุ่มในคนเสื้อแดงตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่จากผู้ที่ศึกษาพบว่ากลุ่มนี้เป็นคนส่วนน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งไม่ได้ปฏิเสธเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยม

ในงานศึกษาของเอนกและคณะก็พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศ เห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับต้นตอของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้นั้น วิเคราะห์ได้เป็นความขัดแย้ง 2 ระดับที่ทับซ้อนกันอยู่

ระดับที่หนึ่ง คือ ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ

อีกระดับหนึ่งเป็นความขัดแย้งเกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ทับถมมานาน เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มมวลชนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่างกัน

ความขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวชนชั้นนำ คือ การแก่งแย่งที่จะนำสังคม ระหว่างขั้ว นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากทักษิณ (แดง) กับนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ฟากต่อต้านทักษิณ (เหลือง)

อันที่จริง ณ จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2544 ชนชั้นนำไทยยังไม่ได้แบ่งขั้ว แทบทุกกลุ่มสนับสนุนทักษิณให้ขึ้นเป็นรัฐบาล โดยพวกเขามีความคาดหวังให้ทักษิณฟื้นฟูและปกป้องระบบเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต อีกทั้งให้นำนักธุรกิจไทยอยู่รอดปลอดภัยจากกระแสโลกาภิวัตน์ พวกเขาได้ร่วมกันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนพรรคทักษิณได้เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา แต่ต่อมาพบว่าทักษิณดำเนินนโยบายผิดแผกไปจากความคาดหวังในหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่

หนึ่ง แทนที่จะปกป้องทุนไทยจากโลกาภิวัตน์ ทักษิณกลับนำเศรษฐกิจถลำลึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้นๆ พร้อมกับที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจของตนเองและครอบครัวรวมทั้งพวกพ้องได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่สร้างปัญหาให้กับกลุ่มทุนที่ไม่ใช่พรรคพวก

สอง ทักษิณผงาดขึ้นเป็นผู้นำประชานิยมที่สามารถดึงดูดความนิยมชมชอบจากมวลชนชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน และคนรายได้น้อย-ปานกลาง ในเขตเทศบาลอย่างล้นหลาม โดยใช้ชุดนโยบายประชานิยมและบารมีความเป็นผู้นำที่มวลชนรู้สึกว่าให้ความเป็นกันเอง และทำให้พวกเขารู้สึกมีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีนักการเมืองใดในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยเคยทำได้ถึงขนาดนี้

นโยบายประชานิยมส่งผลให้ต้องดึงเอางบประมาณประจำปีที่ชนชั้นกลางในเมืองเคยได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยออกไปปันให้ชาวบ้าน

ขณะที่ชนชั้นกลางเห็นว่าเงินงบประมาณส่วนใหญ่มาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายมากกว่าชาวบ้านในชนบท ก่อให้เกิดความไม่พอใจและเป็นกังวลต่อไปว่า การใช้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมนั้น นอกจากว่าพวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังจะก่อหนี้สาธารณะที่จะต้องชดใช้ต่อไปในอนาคต

สาม ความนิยมทักษิณอย่างล้นหลามมีนัยยะว่า พรรคของเขาจะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อให้เกิดความเป็นกังวลว่าทักษิณจะครองเมืองเนิ่นนานไม่สิ้นสุด

สี่ นโยบายต่อต้านยาเสพติดและวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ภาคใต้ ใช้ความรุนแรงจนเกินเหตุ อีกทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่นที่โยงกับตัวเขา สมาชิกครอบครัวและพรรคพวก ทำให้ผู้ที่เคยนิยมทักษิณเปลี่ยนใจ

ขบวนการคนเสื้อเหลืองจึงก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านทักษิณและพรรคพวกของเขา (ผู้สนับสนุนเสื้อแดงจำนวนมากก็เคยอยู่ในขบวนการนี้ แต่ได้แยกออกไปในภายหลัง) ต่อมาได้มีการขยายประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่น บวกกับความไม่จงรักภักดี เป็นประเด็นดึงมวลชนเข้าร่วมขบวนการคนเสื้อเหลือง เพื่อล้มระบอบ "ทักษิณา-ประชานิยม"

แล้วนำเมืองไทยกลับสู่ระบอบก่อนทักษิณ หรือที่เอนกเรียกว่า ระบอบหลัง 14 ตุลา 2516

สำหรับต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างนั้น นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ว่า เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างคนจนและคนรวย ซึ่งได้ทับถมมาจากอดีต (นิธิ, บวรศักดิ์, เอนก, เกษียร, ปีเตอร์ วอร์, ริค โดเนอร์, ชาร์ลส์ คายส์)

งานวิจัยภาคสนามของเอนกและคณะ สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ใช้ตัวอย่างกว่า 5,500 ราย พบว่าผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่า 5,000-10,000 บาทต่อเดือน และเป็นที่ตระหนักกันว่า ผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงมาจากเขตชนบทของภาคอีสานและเหนือเป็นจำนวนมาก และที่เป็นคนงานอพยพทำงานในเขตเมืองต่างๆ และที่กรุงเทพฯ และยังมีมาจากคนรายได้ระดับปานกลางและต่ำภายในเขตเทศบาล

นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้แล้ว ยังมีปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม ชาวบ้านที่อีสานและภาคเหนือของไทยรู้สึกอยู่เสมอว่าชาวเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯดูถูกดูแคลนพวกเขา บ้างก็ว่าเป็นคนลาว คนเมือง ไร้การศึกษา ไม่ศิวิไลซ์ ละครโทรทัศน์จำนวนมากให้ภาพตัวละครจากอีสานหรือชาวบ้านชนบทเป็นคนเซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ค่อยรู้อะไร ถูกหลอกได้ง่าย ฯลฯ และผู้สร้างละครมักจะไม่สนใจว่าชาวบ้านจริงๆ เขารู้สึกรู้สากับภาพพจน์เช่นนั้นอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วพวกเขาตระหนักดี และอาจจะเก็บกดความรู้สึกไม่พอใจเอาไว้ลึกๆ มาเป็นเวลานาน

สำหรับปัญหาโครงสร้างที่เกี่ยวโยงกับเรื่องรายได้นั้น ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่อง "จนแทบตายแบบแต่ก่อน" แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่าง "คนมี" "คนไม่มี" โดยในประเด็นหลังเกี่ยวโยงกับความมุ่งหวัง (rising expectation) ด้วย

คนจนในเมืองไทยเคยมีถึงร้อยละ 60 ของประเทศ (พ.ศ.2503) แต่ขณะนี้ (2550) ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 5 แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งกลับสูงขึ้น สถิติที่มีอยู่บอกเราว่า คนจนร้อยละ 20 ของประเทศเคยมีส่วนแบ่งรายได้ทั้งหมดของประเทศ ร้อยละ 6 ขณะนี้ส่วนแบ่งนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4 แต่คนรวยสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งในรายได้รวมของประเทศเพิ่มจากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 54

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในเมืองไทยขณะนี้สูงกว่าที่ในยุโรป และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน แต่สูงกว่าที่อเมริกาเพียงเล็กน้อย

นักวิชาการบางท่านวิเคราะห์ว่า บางทีเจ้าตัวปัญหาอาจจะไม่ใช่ขนาดของความเหลื่อมล้ำเท่านั้น เพราะที่อเมริกาก็ไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่ บางทีเจ้าตัวปัญหาหลัก คือ มีความคาดหวังแล้วผิดคาด

ในกรณีของเมืองไทยนั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจได้ก่อตัวมาเป็นเวลาสักพักหนึ่งแล้ว แต่มาปะทุขึ้นมากหลังจากที่เศรษฐกิจบูม แล้วฟุบลงอย่างฮวบฮาบ เศรษฐกิจบูมสร้างความมุ่งหวังให้ผู้คนจำนวนมาก แล้วจู่ๆ เศรษฐกิจฟุบฮวบลงเมื่อ พ.ศ.2540 คนรวยก็เจอปัญหา แต่คนรวยสายป่านยาวกว่า และมีพรรคพวกอยู่ในศูนย์กลางอำนาจที่จะช่วยได้มากกว่าคนจน ผู้ที่อยู่ในฐานะด้อยว่าจึงมีความคับข้องใจสูง

โดยสรุป ปัญหาโครงสร้างมีองค์ประกอบของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม และความคาดหวังที่ไม่สมหวังด้วย

ภาวการณ์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้นักการเมืองแบบทักษิณพุ่งขึ้นสู่อำนาจได้ ปัญหาโครงสร้างนี้ถ้าไม่รีบเร่งหาทางแก้ไขที่ต้นตอก็ไม่จะไม่สามารถป้องกันการก่อตัวของนักการเมืองแบบทักษิณในอนาคต กล่าวคือ ถ้าไม่ใช้ทักษิณก็อาจมีคนอื่นพุ่งขึ้นมาได้

จากข้อมูลที่ได้เรียบเรียงมานี้ เราได้ข้อคิดอะไรบ้าง?

ประการที่หนึ่ง การที่คู่ความขัดแย้งมีมวลชนหนุนหลังอยู่พอๆ กันและเป็นจำนวนมาก หมายความว่า ทางออกที่จะกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะต้องมีต้นทุนสูงมาก จนเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ประการที่สอง ทั้ง 2 ขั้ว มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก (พรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษนิยมที่อังกฤษยังอยู่ร่วมกันได้) ที่ต้องคิดคือ ต้องสร้างกรอบกติกาทางการเมืองที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้แบบสร้างสรรค์ เอนกและคณะได้กล่าวไว้ให้คิดต่อว่า

"ทางเลือกที่จะเดินต่อไปนั้น คือ การปราบปราม ขจัด หรือบั่นทอนสีแดง เพื่อที่จะรักษาประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา 2516 ให้คงต่อไป แต่วิธีการนี้อันตรายเหลือเกินสำหรับสถาบัน จำเป็นที่จะต้องร่วมกันลอกคราบประชาธิปไตยและเดินอีกทางหนึ่ง คือ ไม่ให้ใครแพ้หมด ชนะหมด...

ประชาธิปไตยจากนี้ไปจะต้องฟังเสียงของประชาชนในความหมายของข้างมาก...(หน้า 119)

แต่ต้องเคารพสิทธิของคนส่วนน้อยด้วย" (หน้า 127) และ

"ระบอบใหม่นี้...ยังต้องขึ้นกับสามฝ่ายร่วมกัน ได้แก่ Monarchy (สถาบันในความหมายจำกัดยิ่งขึ้น) หนึ่ง Aristocracy (หมายรวมถึงคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา สื่อ ปัญญาชน ข้าราชการ) หนึ่งและ Democracy (ประชาชนผู้หย่อนบัตร คนธรรมดา สามัญชน คนยากจน) เพียงแต่ลูกตุ้มของนาฬิกาการเมืองเรือนนี้จะเหวี่ยงไปสู่ขั้ว Democracy มากขึ้น" (หน้า 119) ผู้เขียนเข้าใจว่าเอนกและคณะวิเคราะห์ระบอบนี้ภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง

ประการที่สาม เนื่องจากต้นตอของปัญหายังมีเรื่องความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วย

เมื่อพูดถึงการประนีประนอมเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ จึงต้องหมายถึงการนำคนระดับหัวของทั้งสองฝ่ายให้มาพูดคุยกัน ในประเด็นนี้นั้นข้อคิดจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จึงน่าพิจารณา "ถ้าคุณกล่าวว่ามิสเตอร์ x (ทักษิณ) เป็นต้นเหตุของทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตามหลักเหตุผลคุณจะต้องเจรจากับมิสเตอร์ x"

ขอฝากข้อสังเกตทั้งสามประการนี้ให้รัฐบาลนำโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขบคิดและดำเนินการ เพราะว่านี่เป็นภารกิจของท่านโดยแท้