ที่มา Thai E-News โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
23 มิถุนายน 2553
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 เวลา 13.00-16.00 น. ที่คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีการเสวนาทางวิชาการเนื่องในโอกาส 78 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ภายหลังการเสวนาได้มีการออกแถลงการณ์ให้มีการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ จ.อุบลราชธานีดังข้อความในแถลงการณ์ต่อไปนี้
ประการแรก ขณะนี้สถานการณ์ที่จังหวัดอุบลราชธานีอยู่ในภาวะปกติประชาชนทำมาหากินและประกอบกิจกรรมอื่นๆตามที่เคยเป็นมา และในเดือนกรกฎาคมนี้จะมีงานเทศกาลฉลองเทียนพรรษาซึ่งเป็นงานพิธีของชาวพุทธ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญประจำปีของจังหวัด ส่วนในด้านของการก่อเหตุร้ายก็ไม่มีปรากฏ และถ้าหากจะมี ทางราชการก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในภาวะปกติจัดการได้อยู่แล้ว
ประการที่สอง การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้รัฐบาลจะอ้างว่าไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ แต่โดยแท้จริงแล้ว พ.ร.ก. กลับมีผลต่อการรับรู้และแสดงออกทางความคิดและกิจกรรมต่างๆอย่างยิ่ง อาทิมีการปิดกั้นเวปไซต์อย่างเหมารวม การปิดสถานีวิทยุ การติดตามตรวจสอบการส่งข่าวสารของประชาชน การห้ามพบปะกันเกินกว่า 10 คน ทั้งที่กิจกรรมเหล่านี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้นจึงสร้างความอึดอัดคับข้องใจกับประชาชนอย่างมาก หรือแม้กระทั่งหากมีการรวมตัวกันแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐบาล ก็สมควรเป็นสิ่งที่ทำได้ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย หากมีสิ่งใดเกินเลยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด รัฐบาลก็ยังสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเข้ามายับยั้งได้
ประการที่สาม ภายใต้ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจอย่างไม่มีขอบเขต จึงปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งที่รัฐบาลต้องสงสัยว่ามีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐบาล ถูกสอดส่องติดตามมีความหวั่นเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้งด้วยการออกหมายจับ และเมื่อถูกหมายจับก็ไม่สามารถจะฟ้องร้องหรือชี้แจงได้ตามกระบวนการยุติธรรมซึ่งข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งถูกคุมตัวในเรือนจำในเวลานี้ ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางการเมืองที่ผ่านมา หรืออาจมีส่วนร่วมในบางกิจกรรม แต่กลับถูกตั้งข้อหาที่เกินไปกว่าความจริง พวกเราไม่ปฏิเสธที่จะให้มีการเอาผิดตามกฎหมายกับบุคคลไม่ว่าฝ่ายใด แต่ขอเรียกร้องให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
ประการสุดท้าย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมีค่าไม่ต่างกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เท่ากับบ้านเมืองไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้รัฐบาลเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ยังทำให้ชาติไทยโดยรวมเสื่อมเสียเกียรติ์คุณอย่างร้ายแรงในสายตาชาวโลก อีกทั้งในขณะที่รัฐบาลต้องการดำเนินการปรองดองและปฏิรูปประเทศไทย การคง พ.ร.บ. ฉุกเฉิน เป็นอุปสรรค์ต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว เพราะ มันได้แต่ทำให้เกิดการอึดอัดคับข้องไปจนถึงแค้นเคืองใจ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้สังคมไทยสร้างสรรค์สิ่งที่ดีร่วมกันในขั้นต่อไปได้เลย
ด้วยเหตุดังกล่าวพวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน ที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยเร็วที่สุด.
ชื่อ – สกุล สังกัดหรืออาชีพ
เพื่อไทย
Thursday, June 24, 2010
แถลงการณ์ชาวอุบลราชธานีขอให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
แถลงการณ์ชาวอุบลราชธานีขอให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน