ที่มา ข่าวสด
วันที่ 24 มิ.ย. ภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาทางวิชาการ "70 ปีประเทศไทย ประชาชน ประชาชาติ กับประชาธิปไตย"
มีคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั้งสีเหลืองสีแดงเข้าร่วมฟังการเสวนา มีเนื้อหาน่าสนใจ ดังนี้
ไชยันต์ รัชชกูล
สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ
มหาวิทยาลัยพายัพ
เมื่อรัฐบาลทำผิดให้ขอโทษและรับผิดก่อน การอภัยถึงจะเกิดขึ้นได้
อยากให้พิจารณาของญี่ปุ่นและเยอรมัน ซึ่งเยอรมันนายกรัฐมนตรีกล่าวขอโทษที่หลุมฝังศพในโปแลนด์ ที่เสียชีวิตจากฝีมือของทหารเยอรมัน ทำให้เกิดความประทับใจ และรัฐบาลเยอรมันยอม รับว่าเขาทำ
ส่วนญี่ปุ่นไม่ยอมรับว่าทำผิดและมีปฏิกิริยาที่จีน เกาหลี ซึ่งผิดกับทัศนะของโปแลนด์
รัฐบาลไทยควรคิดดูเองว่าจะเอาแบบไหน
การเสนอการแก้ปัญหาความ ปรองดองมีอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับกว้าง ที่ต้องใช้เวลาและระดับเฉพาะหน้าเพื่อให้เกิดการยอมรับของผู้เสียชีวิต
การพัฒนาประชาธิปไตย บางคนบอกไม่เปลี่ยนเลย เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มเท่านั้น
บางคนบอกพัฒนาไม่ได้เพราะรัฐยึดอำนาจศูนย์กลางไปแล้ว บางคนเห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยในจุดหนึ่ง
ซึ่งแน่นอนประชาธิปไตยไม่ได้สมบูรณ์ อย่างอังกฤษก็ไม่ได้สมบูรณ์ ต้องมีการเพิ่มเติมโดยไม่ล้มรัฐธรรมนูญเก่าเพราะประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายไกลๆ
การที่รัฐบาลตั้งกรรมการแล้ว แต่จะแก้ปัญหาหรือเปล่า ต้องดูว่าเขาจะตั้งคณะกรรมการและแบ่งไปอย่างไรบ้าง ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลางแต่อยู่ทั่วไปหมด ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูงและที่ทำงาน ทั่วทุกท้องถิ่น
บางทีเราคิดว่าเข้าใจว่าสีแดงเป็นพวกรับเงินทักษิณ ล้มเจ้า ไม่ได้รับข้อมูล จริงๆ แล้วอาจเป็นเพียงบางส่วน เพราะแดงมีหลายเฉดมาก เช่นเดียวกับสีเหลืองก็มีหลายเฉด ซึ่งเราไม่เข้าใจเขา กรณีเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงอาจจะไม่เป็นอย่างที่คนอื่นกล่าวหา
ผมมองว่ามีทั้งความเห็นที่ต่างกันในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะหาข้อสรุปเอง
ส่วนเรื่องการปรองดองมีทั้งระดับโครงสร้างว่าเป็นไปได้ยากเพราะมีบางอย่างขวางอยู่
และปรองดองไม่ได้ถ้ารัฐบาลไม่รับผิด
อรรถจักร สัตยานุรักษ์
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
คำว่าปรองดองเป็นคำใหม่ ถามจากคนเหนือ อีสาน ใต้ ไม่มีคำนี้
สันนิษฐานว่าเพิ่งเกิด น่าจะเกิดหลังปี 2490 น่าจะเป็นฐานของรัฐเผด็จการ คือปรองดองเพื่อสยบยอมต่ออำนาจชุดหนึ่ง เพื่ออุดมคติของอะไรสักอย่างที่สร้างขึ้น
ดังนั้น จังหวะของสังคมไทยไม่ต้องการคำนี้ ต่อไปอาจใช้ในความหมายลบ คำนี้สะท้อนวิธีคิดของเครือข่ายอภิสิทธิ์ ข้างหลังของอภิสิทธิ์ ใช้เป็นฐานวิธีคิดของเผด็จการอำนาจ
สถานการณ์ของสังคมไทย เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดปัญหาสองมาตรฐานอยู่ตลอดเวลา มีกลุ่มที่ต้องการรักษาอำนาจเดิมและกลุ่มที่อยู่นอกระบบรัฐที่ต้องการเข้าสู่อำนาจออกมาต่อสู้กัน
ความขัดแย้งนี้ถ้าไม่คิดให้ดีจะถูกลากไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ปัจจุบันจะเห็นว่ากลุ่มอนุรักษนิยมได้เปรียบกว่าเพราะมีสื่อของตัวเอง ดังนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะไม่อยู่ในบ่วงสองบ่วงนี้ ในจังหวะที่อนุรักษนิยมและฝ่ายแดงต่อสู้กันการกระโดดไปอยู่สีใดสีหนึ่งไม่ใช่ทางออก
เราต้องช่วยกันคิดว่ามีทางสายอื่นบ้างหรือไม่ จะทำอย่างไรให้เราเข้าใจทั้งหมดได้ แม้จะถูกปิดกั้นเรื่องบางเรื่องในทางเปิดเผย แต่ในทางลับเราก็พูดกันได้ ทำอย่างไรจะเพิ่มมุมมองความเข้าใจในสังคมไทยอย่างไร
เราสามารถมีชัยชนะร่วมกันได้โดยไม่นำสู่การเสียเลือดเนื้อ หากเราหาทางสายที่สามที่จะผลักดันไปได้
สุชาติ เศรษฐมาลินี
สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ
มหาวิทยาลัยพายัพ
ผมมีโอกาสคุยกับเพื่อนบ้านที่พูดถึงปรองดองว่า "มันฆ่ามา เราก็ฆ่าไป" ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกของคนจำนวนมาก
ความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากผมมีความเป็นห่วง ยิ่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความจริง คณะกรรมการ ปรองดองยิ่งทำให้รู้สึกว่าเหตุการณ์อาจจะรุนแรงขึ้น
ถึงแม้มีการสอบสวนว่ามีความผิด แต่เวลาขึ้นศาลอาจถูกปล่อยไป เช่น กรณีตากใบ ผลการสืบสวนครั้งนั้นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ แต่ปรากฏถึงชั้นศาลไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ คำพิพากษาบอกว่าคนตายเพราะไม่มีอากาศหายใจ ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบครั้งนี้ก็หวั่นเกรงว่าจะเป็นแบบนั้น
วันนี้เรามีวัฒนธรรมหลายอย่างเกิดขึ้น ไม่เคยเห็นคือการสังหารด้วย "สไนเปอร์" ซึ่งเป็นอาวุธรุนแรง สังคมไทยความขัดแย้งรุนแรงก้าวข้ามเส้นแบ่ง เส้นแบ่งที่แข็งมาก ปรากฏการณ์เหลือง-แดงนี้ไปทุกที่แม้แต่ในครอบครัว
สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ เช่น การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มีน.พ.ประเวศ วะสี และนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานมีการวิจารณ์ว่าคณะปฏิรูปนี้จะมีปัญหา ไม่มีน้ำยา แต่น.พ.ประเวศก็โต้ว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่มีคำถามว่าโมเดลที่รัฐบาลใช้อยู่เวลานี้ในสังคมไทยจะทำได้หรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ
ในทุกสังคมการเยียวยาจะเกิดขึ้นได้คือต้องยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ถ้าบาดแผลเขาถูกมองข้ามการปรองดองจะไม่เกิดขึ้น
ต่อไปคือต้องมีการสารภาพผิด แสดงความเสียใจ ถ้ามีสองอันแรกจะนำไปสู่การให้อภัย ถ้าทำเรื่องนี้ก่อนการปฏิรูปต่างๆ ถึงจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้เรื่องสื่อเป็นเรื่องใหญ่ ผมติดตามการชุมนุมของเสื้อแดงอย่างใกล้ชิด แต่พบว่าสื่อเว็บไซต์ถูกปิด สังคมไทยไม่ควรเป็นแบบนี้ สื่อต้องเสรีภาพได้คิดได้แสดงออก แต่บ้านเมืองเราขณะนี้คืออะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้ความรุนแรงและการฆ่าฟัน
มาตรการระยะยาวที่เราต้องทำ คือต้องปฏิรูปสถาบันทหาร ซึ่งเราไม่ค่อยพูดถึงกันคือ "ความรับผิดชอบของสถาบันทหารในการสนับสนุนปฏิบัติการเพื่อสร้างสันติภาพ"
เราต้องตั้งคำถามเชิงปรัชญา การอนุญาตให้มีการเข่นฆ่าต้องมีการรับผิดชอบหรือไม่
มาตรการเร่งด่วน คือถ้าคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ต้องการปรองดอง ผมขอแนะนำคือ 1.ต้องประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินทันที เพราะมันไม่ช่วยรักษาความสงบ
2.ยุติการใช้ภาษาที่เป็นเครื่องมือทาง การเมือง ถือเป็นเกมทางภาษา เช่น ปรองดอง กระชับพื้นที่ ปฏิรูป ผมเป็นห่วงที่สุดคือคำว่า "ผู้ก่อการร้าย" การตีตราและยัดคำว่าผู้ก่อการร้ายให้กับเขา ซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาที่สุด
3.เราจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการพูดคุย แสดงความคิดเห็น ความรู้สึก แต่ละกลุ่มจะมีจุดร่วมเพื่อทำให้สังคมไทยสุขสงบมากกว่าที่เป็นอยู่ ผมยังไม่อยากใช้ว่า "ปรองดอง" เพราะผมรู้สึกว่าเป็นคำกลวงๆ ที่ฟังดูไพเราะเท่านั้นเอง
ที่ตั้งคำถามทำไมคนไทยฆ่ากันเอง ถามว่าฆ่าเป็นร้อยแล้วจะปรองดองอย่างไร ที่ภาคใต้ฆ่าแล้ว 4 พันกว่าศพ แต่คนใต้ก็ไม่ได้เคียดแค้น สังคมไทยทุกศาสนายังมีกลไกอีกหลายอย่างมารองรับให้ก้าวไปข้างหน้า ก้าวข้ามความบาดเจ็บ
แต่ทั้งนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความจริงใจ กล้าหาญ จริยธรรม อยากเรียกร้องความรุนแรงที่เกิดขึ้นวันนี้ ถ้าจะก้าวไปข้างหน้าให้เกิดความสงบสุขเราต้องร่วมกันรับผิด
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะสังคมศาสตร์ มช.
ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมามีคำที่ฟังไพเราะ เช่น ปรองดอง กระชับพื้นที่ คำเหล่านี้ในภาษาอังกฤษมันคือคำกลวงๆ ที่ฟังไพเราะ
จอร์จ ออร์เวลล์ (นักวิจารณ์ด้านการ เมืองและวัฒนธรรม ชาวอังกฤษ) บอกว่าความจริงแล้วคืออุปกรณ์ทางการเมือง ไม่มีความหมาย ฉะนั้นไม่ต้องถามหาความหมาย
คำพวกนี้มีหน้าที่ ผู้มีอำนาจเป็นผู้ใช้ สิ่งที่ทำยังใช้เป็นเครื่องมือชักจูงประชาชนเห็นและเชื่อ คำเหล่านี้ต้องอาศัยผู้ฟังที่ฟังอย่างเชื่องๆ จึงมีความหมาย
หน้าที่ของนักวิชาการคือต้องกะเทาะเปลือกมันออกมา เพราะไม่อาจพึ่งพาสื่อกระแสหลักได้
เพื่อไทย
Friday, June 25, 2010
เปิดเส้นทางสู่ความปรองดอง
คอลัมน์ รายงานพิเศษ