ที่มา Democracy 100 percent
คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง คอยแกนนำ
โดย กาหลิบ
เราต่างสะเทือนใจกับความรุนแรงที่พี่น้องประชาชนได้รับเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ อย่างชนิดน้ำตายังไม่แห้งและคงไม่แห้งไปอีกนานหลายปี แต่เราต้องยอมรับด้วยว่ามีหลายสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นในห้วงเวลานั้นเสมือนกองดินที่ไหลรวมกันแถวราชประสงค์จนเกิดดอกไม้สวยงามงอกขึ้นมา อันเป็นความงามตามธรรมชาติที่เจ้าของประเทศและลูกสมุนไม่อาจบิดเบือนให้เป็นอื่นได้เลย
หนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไประหว่าง “แกนนำ” กับ “มวลชน”
นำเรื่องนี้มาพูดเพราะหลายคนปรับทุกข์มาว่า เราจะทำอย่างไรในสถานการณ์ที่แกนนำออกมานำไม่ได้เพราะติดคุกบ้าง หลบซ่อนตัวอยู่บ้าง และลี้ภัยออกไปนอกประเทศไทยบ้าง คนที่เหลือก็ถูกขู่โดยกฎกติกาของฝ่ายเผด็จการจนกระดิกตัวไม่ได้ ทำให้รู้สึกราวกับว่าฝ่ายประชาชนกำลัง “แพ้” เขา
วันนี้ขอชี้ให้ท่านเหล่านั้นเห็นว่า บางครั้งจุดเริ่มต้นแห่งชัยชนะมันก็เป็นอย่างนี้สถานการณ์ใหญ่หลังการฆ่าประชาชนแห่ง พ.ศ.๒๕๕๓ เปลี่ยนทุกอย่างไปหมดเราไม่สามารถนำเรื่องเก่าๆ มาประติดประต่อเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ในห้วงต่อไปได้ เพราะจากนี้ไปทุกอย่างจะยกระดับขึ้น
เหมือนเราย้ายบ้านขึ้นมาชั้น ๒ จะไปเอาปัญหาชั้นล่างอย่างน้ำท่วม คนข้างนอกเข้าถึงตัวง่ายๆ มาคิดไม่ได้แล้ว แต่ต้องคิดถึงปัญหาของชั้น ๒ อย่างลมแรง คนแก่ขึ้นลงลำบาก แขกกดกริ่งไม่ได้ยินมาคิดแทน
สถานการณ์ใหม่ก็ต้องคิดใหม่ ประสบการณ์เก่ามีประโยชน์ในการเอามาคิดประกอบกัน ยึดเป็นตัวตั้งหรือเป็นหลักไม่ได้
ขณะนี้คำว่า “แกนนำ” กำลังเปลี่ยนไป เมื่อ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ จนถึงพฤษภาประชาธรรม พ.ศ.๒๕๓๕ แกนนำหมายถึงผู้นำโดยแท้ทีเดียว
แปลว่ามวลชนก็เป็นผู้ตามโดยแท้เหมือนกัน
จะเดินสักก้าวก็ต้องมองแกนนำ ถามแกนนำ และกำลังใจทั้งหมดดูเหมือนจะอยู่ที่ความเข้มแข็งของแกนนำ
หมดแกนนำแล้วก็หมดกัน
ทั้งๆ ที่มวลชนส่วนหนึ่งในวีรกรรมเดือนตุลาและพฤษภา เป็นมวลชนระดับปัญญาชนที่อ่านมากรู้มาก มีจุดเชื่อมโยงทางอุดมการณ์และทฤษฎีสูง อาจจะมากกว่าขณะนี้ด้วยซ้ำ แต่พลังทางปัญญาในขณะนั้นก็ยังสู้พลังการนำของแกนนำไม่ได้ชื่อผู้นำนิสิต นักศึกษา สหภาพแรงงาน สหภาพเกษตรกร ฯลฯ จึงโด่งดังในหัวใจของมวลชนเสียยิ่งกว่าแนวทางการต่อสู้
แต่ ณ ฉากการต่อสู้ที่สนามหลวง (ตั้งแต่ ๒๕๔๘) ทำเนียบรัฐบาล (จนถึงเมษายน ๒๕๕๒) ผ่านฟ้าลีลาศและราชประสงค์ (๒๕๕๓) ไม่ใช่เช่นนั้นเสียทีเดียว ความยึดมั่นถือมั่นในตัวแกนนำที่เป็นบุคคลยังมีอยู่มากก็จริง แต่เห็นได้ชัดว่าแนวร่วมจำนวนมากมิได้มาจากความรักลุ่มหลงในตัวแกนนำ
แต่มาต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
มาร้องหาความเสมอภาค (และเกลียดสองมาตรฐาน)
มากวาดล้างความอยุติธรรมในสังคม
ท้ายที่สุดก็มุ่งทำลายการกดขี่ชนชั้นคนรากหญ้าโดยฝีมือของเจ้าของประเทศและอำมาตย์ที่เขาชุบเลี้ยง
แนวทางที่ชัดเจนขึ้นโดยวิวัฒนาการทางสังคม ทำให้เกิดแกนนำธรรมชาติทั่วไปในขณะนี้ กรอบเดิมของ นปช. นั้นช่วยเพาะได้ส่วนหนึ่ง แต่นอกกรอบ นปช. เรากลับมีแกนนำใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ตัวหรือตั้งใจจะเป็นแกนนำให้เห็นอย่างมากมายไม่น่าเชื่อ จนมีจำนวนมากกว่าแกนนำในกรอบ นปช. ไปแล้ว
ท่านเหล่านี้เคยถูกกดด้วยแนวคิดเก่าๆ ว่า แกนนำจะต้องเป็น ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส. หรือนักจัดตั้งมวลชนมืออาชีพ คนจะ “นำ” มวลชนได้ต้องมีดีกรีทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี จนเกิดชนชั้นอย่างแปลกประหลาดขึ้นในขบวนประชาธิปไตย
แต่ใน พ.ศ.๒๕๕๓ มวลชนพัฒนาจนก้าวหน้าขึ้นและพร้อมจะจัดตั้งมวลชนไปทีละเล็กละน้อย จนเกิดแกนนำชนิดใหม่ที่ไม่โด่งดังหรือไม่ได้มีแฟนมารุมล้อมเหมือนดารา แต่จัดตั้งได้เหนียวแน่นและลงลึกทางแนวทางและอุดมการณ์ได้
นี่ล่ะครับคือแกนนำรุ่นต่อไป
นี่ล่ะครับคือแกนนำที่สังคมรอคอยและเริ่มได้เห็นบ้างแล้ว
การปฏิวัติประชาธิปไตยอยู่ในมือของคนเหล่านี้ ไม่ใช่คนที่ยังติดความเป็นขี้ข้าเก่าของอำมาตย์ครับ.