ที่มา ประชาไท
ผลสำรวจเผยเหลืองแดงรวมกันร้อยละ 12 ของประชากร ‘นงเยาว์’ ฟันธงอนาคตขัดแย้งระดับภูมิภาค นโยบายข้างหน้าต้องแก้ ชี้ปัจจุบัน ‘สงครามเย็น’ เลือกตั้งหนหน้าสงครามจริง ‘กวี’ จวกสื่อหลักไม่ทันปัญหา เร่งพัฒนาสื่อชุมชน
วานนี้ (28 มี.ค.54) ที่โรงแรมดุสิตธานี มูลนิธิเอเชียได้แถลงผลการสำรวจความคิดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยในระดับประเทศ “การสำรวจความคิดเห็นพลเมืองไทยระดับประเทศ: มติมหาชนและการเมืองระหว่างขั้วสี” ซึ่งทำการสัมภาษณ์ประชาชนไทยแบบตัวต่อตัว โดยการสุ่มตัวอย่างจากประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 1,500 คน กระจายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17 กันยายน - 23 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา
สำรวจพบเหลือง-แดงราว 10 ล้านคน!
จากผลสำรวจพบว่า สังคมไทยในปัจจุบันไม่ได้แตกแยกออกเป็นสองขั้วทางการเมืองอย่างที่เข้าใจกัน จากข้อมูลระบุว่าจำนวนผู้ที่ยอมรับว่าเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงเป็นจำนวนร้อยละ 12 ของจำนวนประชากร ซึ่งหากแยกทั้งสองสีออกจากกันพบว่าเป็นเสื้อแดงร้อยละ 7 ในขณะที่เป็นเสื้อเหลืองร้อยละ 5 ส่วนอีกร้อยละ 76 ไม่เลือกอยู่ข้างสีใด ซึ่งอีกร้อยละ 12 เท่านั้นที่ยอมรับว่ามีความเอนเอียงไปทางสีใดสีหนึ่ง ทั้งยังพบว่าสมาชิกภายในกลุ่มเสื้อสีเดียวกันก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายไม่ได้ลงรอยกันเสมอไป ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่ากลุ่มการเมืองสองขั้วสียึดถืออุดมการณ์อะไร
มีผู้ตอบแบบสอบถามส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ระบุว่าเคยมีส่วนร่วมในการชุมนุมทางการเมืองในรอบสองปีที่ผ่านมา เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมหลายครั้งที่เกิดขึ้นในรอบสี่ปีที่ผ่านมา เสียงข้างมากสองในสาม (ร้อยละ 66) สะท้อนว่าควรสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ มีกลุ่มตัวอย่างย่อยเพียงกลุ่มเดียวคือคนเสื้อแดงที่เสียงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 54) เห็นว่าควรยอมให้มีการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ได้
เสียงส่วนใหญ่ต้านใช้กำลังสลายการชุมนุม – รัฐควรรับผิดชอบ
ในประเด็นการใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53 เชื่อว่าการใช้กำลังเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เมื่อให้ประเมินว่าฝ่ายไหนควรรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ร้อยละ 40 โทษฝ่ายรัฐบาล ร้อยละ 37 โทษฝ่ายผู้ชุมนุม และร้อยละ 4 โทษทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 82 เชื่อว่ายังจะมีความรุนแรงที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นอีกในปี 2554
ต่อคำถามที่ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้ตอบแบบสอบถามจะพิจารณาผู้สมัครที่สังกัดกลุ่มสีใดสีหนึ่งหรือไม่ ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ที่ตอบว่าจะพิจารณาเลือกผู้สมัครจากการสังกัดกลุ่มสี ขณะที่ร้อยละ 88 ตอบว่า จะพิจารณาเลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองมากกว่า
ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองพาประเทศเดินผิดทิศทาง
ในภาพรวม แม้ประชาชนส่วนใหญ่ผู้ตอบแบบสอบถามจะมีทัศนะว่าสถานการณ์ของประเทศยังเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ทัศนะดังกล่าวก็เป็นไปในทางบวกมากขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสำรวจความเห็นครั้งแรกของมูลนิธิเอเชียเมื่อปี 2552 โดยจากการสำรวจในปี 2553 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 54 เชื่อว่าประเทศไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องนัก ลดลงจากตัวเลขร้อยละ 58 ในปีก่อนหน้านั้น
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจในปี 2552 เห็นว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ด้วยคะแนนร้อยละ 60 แต่ในปี 2553 ผู้ตอบแบบสำรวจกลับเห็นว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของคนไทย คือ ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยคะแนนร้อยละ 42
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 52 มีความเข้าใจว่าการแบ่งฝ่ายหรือแยกขั้วในสังคมปัจจุบันมีพื้นฐานมาจากอุดมการณ์และแนวคิดทางการเมืองที่ตรงข้ามกัน ร้อยละ 18 เข้าใจว่าสาเหตุพื้นฐานของปัญหาการแบ่งฝ่ายมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และร้อยละ9 คิดว่ามาจากความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท
เมื่อถามว่าประเทศไทยมีการใช้มาตรฐานความยุติธรรมที่แตกต่างกัน (สองมาตรฐาน) สำหรับกลุ่มคนที่แตกต่างกันหรือไม่? ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 67 แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการใช้สองมาตรฐาน
คนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นประชาธิปไตยคือรูปแบบการปกครองดีที่สุด
การสำรวจความเห็นครั้งนี้ยังพบว่า ประชากรผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 93 เห็นว่าประชาธิปไตยคือรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 97 ที่เห็นว่า ถึงแม้คนไทยจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็รวมตัวกันได้เพราะมีค่านิยมความเชื่อหลายประการเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่แสดงความเห็นไม่ยอมรับผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 76 ในปี 2553 จากร้อยละ 68 ในปี 2552
ขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง (ร้อยละ 59) ทั้งจากเขตเมืองและชนบท ยังเชื่อว่ารัฐบาลที่ดีที่สุดคือรัฐบาลที่มีตัวแทนหลากหลายจากทุกภาคส่วนของสังคมมากกว่ารัฐบาลของผู้นำที่มีตัวแทนจากเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูงสุด
สำหรับประเด็นการควบคุมตรวจสอบสื่อ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 48 ระบุว่า ควรปล่อยให้ประชาชนทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างอิสระ ขณะที่ร้อยละ 46 ระบุว่า บางครั้ง การควบคุมตรวจสอบสื่อก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยส่งเสริมความสงบและเสถียรภาพในสังคม
ศาลคะแนนตกแต่ยังนำความเชื่อมั่น ‘ซื่อตรง’ ส.ส.ต่ำสุด
ในส่วนคำถามเกี่ยวกับสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ศาลยุติธรรมเป็นเพียงสถาบันเดียว ที่ผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 59 ในปี 2553 เห็นว่ามีความซื่อตรง "สูง" แต่คะแนนที่ศาลได้รับก็ลดลงจากร้อยละ 64 ในปี 2552 ขณะที่สถาบันตำรวจ ได้รับคะแนนความซื่อตรงต่ำเพียงร้อยละ 17 เช่นเดียวกับสถาบันสื่อและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 14 และร้อยละ 11 ตามลำดับ ที่เชื่อว่าสื่อมวลชนและ ส.ส. มีความซื่อตรง "สูง" แต่มีถึงร้อยละ 85 และร้อยละ 88 ตามลำดับ ที่แสดงความไม่มั่นใจต่อความซื่อตรงของสื่อมวลชนและ ส.ส.
สำหรับปี 2553 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนความซื่อตรงในระดับ "สูง" แก่คณะกรรมการชุดนี้ เพียงร้อยละ 28 ขณะที่ร้อยละ 58 แสดงความไม่แน่ใจต่อความซื่อตรงของคอป.
ในประเด็นความเป็นกลาง ประชาชนร้อยละ 63 เห็นว่าศาลเป็นกลางและไม่มีอคติ โดยสถาบันกองทัพได้คะแนนมาเป็นอันดับสอง คือ ร้อยละ 38 เห็นว่ากองทัพเป็นกลาง แต่มีถึงร้อยละ 56 ที่เชื่อว่ากองทัพมีความลำเอียง "เป็นบางครั้ง" หรือ "บ่อยครั้ง" ทั้งนี้สถาบันตำรวจเป็นสถาบันที่ได้รับการจัดอันดับความเป็นกลางด้วยคะแนนต่ำที่สุด คือ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 83 ที่เชื่อว่าตำรวจมีความลำเอียง "บ่อยครั้ง" หรือ "บางครั้ง" เช่นกันกับสถาบันสื่อที่ถูกผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 80 มองว่ามีความเอนเอียง
เสียงส่วนใหญ่เห็นควรปรองดองลดขัดแย้งก่อนเลือกตั้ง
ส่วนทางเลือกเพื่อการปรองดอง เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 79 เชื่อว่าควรปรองดองลดความขัดแย้งให้ได้ก่อนจัดให้มีเลือกตั้ง ประชาชนในเขตเมืองร้อยละ 74 สนับสนุนแนวคิดนี้ต่ำกว่าผู้สนับสนุนจากเขตชนบท(ร้อยละ 82) ซึ่งน่าสนใจว่า เสียงของประชากรในกรุงเทพฯ ที่สนับสนุนให้เกิดการปรองดองก่อนจัดการเลือกตั้ง(ร้อยละ 62) ต่ำว่าเสียงสนับสนุนจากภูมิภาคอื่นๆ สำหรับกลุ่มเสื้อแดงและเสื้อเหลืองมีฉันทามติในระดับใกล้เคียงกันว่าควรสนับสนุนให้เกิดการปรองดองก่อนจัดการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27 ต้องการให้ใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันต่อไปโดยไม่ต้องแก้ไข ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศร้อยละ 12 ประสงค์จะให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ใหม่ (ลดต่ำลงจากร้อยละ 27 ในปี 2552) เมื่อถามว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเลือกตั้งก่อนมีการเลือกตั้งหรือไม่ ผู้ตอบแบบสำรวจมีความเห็นไม่ตรงกันหนึ่งในสี่(ร้อยละ 26) ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ร้อยละ 29 ต้องการให้รอจนกว่ามีการปฏิรูปผ่านไปก่อน และอีกร้อยละ 40 อยากให้รอจนกว่ารัฐบาลอยู่จนครบวาระตามรัฐธรรมนูญ
‘พิชาย’ ชี้สองขั้ว ‘ขัดแย้งเทียม’ ค่านิยมประชาธิปไตยไม่ต่าง
จากผลสำรวจดังกล่าว ‘ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าถ้าเป็นตัวเลขการอนุมานเปอร์เซ็นต์ไปสู่จำนวนประชากรพบว่า คนที่กล้ายอมรับว่าตนเองสังกัดสีใดมีหลักสิบล้านคน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นความกล้าหาญในการแสดงจุดยืนของตนเอง ซึ่งใน 10 ล้านคนนี้ตนมองในภาพรวมของประชากรแล้วพบว่าไม่มีความขัดแย้งรุนแรง มีเพียงบางจุดแล้วมีส่วนขยายเท่านั้น ซึ่งจากผลสำรวจยังพบว่าค่านิยมหลักไม่ได้ต่างกันเลย เช่น ค่านิยมยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ค่านิยมเสียงข้างมาก ฯลฯ ซึ่งค่านิยมหลักทางประชาธิปไตยไม่ต่างกัน แต่ที่ต่างคือมุมมองหรือทัศนะทางการเมืองที่แต่ละสีเผชิญหน้า เช่น การมองภาพรวมว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จะมีความแตกต่างเพราะรากฐานการสนับสนุน เช่น คนเสื้อเหลืองในสมัยที่ยังสนับสนุนประชาธิปัตย์มองว่าเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ในสมัยอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวชมองว่าไม่เป็น กลับกัน ในฝั่งของเสื้อแดงมองว่ายุคอภิสิทธิ์ไม่เป็น แต่ในยุคอดีตนายกฯ สมัครเป็นประชาธิปไตย ซึ่งตนยังมองว่าค่านิยมหลักการประชาธิปไตยในสังคมพหุวัฒนธรรมยังดีอยู่ แม้จะบูดๆ เบี้ยวๆ ไปบ้าง
“เหลืองแดงขณะนี้เป็นความขัดแย้งแบบเทียม เพราะขัดแย้งในเชิงประชาชนกับประชาชน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงหรือหลอมรวมกันได้ในอนาคต” นักวิชาการจากนิด้ากล่าวและว่า การขัดแย้งนี้เป็นกระแสความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งอาจนำไปสู่ความรู้สึกเบื่อหน่ายว่าประชาธิปไตยระบอบรัฐสภานี้ไม่สามารถแก้ปัญหาประชาธิปไตยในภาพรวมได้ ยิ่งผลสำรวจที่พบว่า ส.ส.มีคะแนนความซื่อตรงต่ำมาก อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าวขึ้นในอนาคตอันใกล้
นักวิชาการ มช.เผยอนาคตขัดแย้งภูมิภาค ถามนโยบายพรรคการเมือง-รัฐบาลข้างหน้าทำอย่างไร?
ด้าน รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า จากผลการสำรวจทำให้เห็นว่า ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของการล้มชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีลักษณะเป็นพหุสังคมมากขึ้น คือ คนที่มีความเห็นต่างกัน สามารถต่อสู้ ต่อรอง ขัดแย้งกันได้ ดังนั้น ประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงหมายถึงการประนีประนอมระหว่างเสียงส่วนใหญ่กับเสียงส่วนน้อย ซึ่งความหมายของประชาธิปไตยเช่นนี้เจริญเติบโตขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคมไทยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และยุคก่อนหน้านั้น
นักวิชาการผู้นี้กล่าวด้วยว่า ต่อไป ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยจะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนเมืองกับคนชนบทอีกแล้ว แต่จะเป็นความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค หรือ เป็นการเมืองของคนชนบทที่อิงกับสองแนวคิดหรือสองพรรคการเมือง เช่น คนใต้ปะทะกับคนเหนือและอีสาน โดยมีกรุงเทพฯเป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ความขัดแย้งแตกต่างดังกล่าวได้เข้ามาปะทะกัน ปัญหาคือ นโยบายของพรรคการเมืองและรัฐบาลในอนาคตจะทำอย่างไรกับความแตกต่างตรงจุดนี้
นางนงเยาว์กล่าวต่อว่า คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนราว 40 ล้านคน และโดยมากคนเหล่านี้ก็จะมาใช้สิทธิจริงๆ ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 20 ล้านคน ดังนั้น การที่ผลสำรวจนี้ระบุว่ามีคนไทยที่ประกาศตัวเป็นคนเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงอย่างชัดเจนประมาณร้อยละ 24 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือราว 10 ล้านคน จึงแสดงให้เห็นถึงจำนวนที่มิใช่น้อยของประชาชนผู้สนใจเรื่องการเมืองอย่างเข้มข้น และจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนทางการเมือง รวมทั้งผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งระดับคุณภาพในอนาคต
ชี้ปัจจุบัน ‘สงครามเย็น’ เลือกตั้งหนหน้าสงครามจริง
รศ.ดร.นงเยาว์กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ของตนในการทำวิจัยเรื่อง ′ผู้หญิงเสื้อแดง′ ในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าหลังจากคนเสื้อแดงกลับบ้านเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 สถานการณ์ในภาคเหนือก็เหมือนกับ ′สงครามเย็น′ และสงครามจริงจะเกิดขึ้นอีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า ในกรณีที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งที่ต่อสู้กันหนักมาก ดังนั้น ถ้าการเลือกตั้งคือเป้าหมายของสังคมไทย รัฐก็ต้องจัดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีหลายสายตาได้เข้าไปเกี่ยวข้องตรวจสอบตรงจุดนั้น และทุกฝ่ายจะได้มีความสบายใจกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ดำเนินการเช่นนั้น เราก็อาจจัดตั้งรัฐบาลกันไม่ได้ภายหลังการเลือกตั้ง
อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังกล่าวถึง สถาบันสื่อที่มีศักยภาพจะช่วยพัฒนาให้ระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้นได้ แต่จากผลสำรวจครั้งนี้กลับปรากฏว่าสื่อมวลชนได้รับความนิยมต่ำมากรองจาก ส.ส. โดยสื่อส่วนใหญ่ที่ประชาชนผู้ตอบแบบสำรวจเสพก็คือโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านไม่ไว้ใจและเบื่อสื่อโทรทัศน์ พวกเขาจึงไปค้นหาข้อมูลจากสื่อชนิดอื่นๆ ซึ่งทำให้ภาครัฐกล่าวหาว่าพวกเขาไปรับข้อมูลผิดๆ มาอีก
กวีฟันสื่อหลักไม่ทันปัญหา เร่งพัฒนาสื่อชุมชน
ส่วน ‘กวี จงกิจถาวร’ บรรณาธิการอาวุโส เครือเนชั่นเปิดเผยว่า จากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นว่า 1.ประชาชนทั้งสองขั้วสีและคนส่วนใหญ่ต้องการ ‘เวที’ แต่ปัจจุบันสื่อสารมวลชนยังไม่เท่าทันกับประเด็นปัญหา สื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อหลักที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มก็กลายเป็นเวทีที่ “คนโง่ออกมาพูด ส่วนคนฉลาดไม่พูดออกโทรทัศน์” จึงนำมาสู่ข้อ 2.ต้องพัฒนาสื่อชุมชน (Community Media) แต่ปัจจุบันคุณภาพของสื่อวิทยุ โดยเฉพาะวิทยุชุมชนที่เข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุดยังมีคุณภาพต่ำมาก จะหาทางออกอย่างไร?