ที่มา ประชาไท
ภาพพจน์ของพระพุทธเจ้าที่เรารับรู้ผ่านคัมภีร์ทางพุทธศาสนานั้น มีสองภาพพจน์ที่ตรงข้ามกัน ภาพพจน์หนึ่งคือภาพของ “อภิมนุษย์” ที่บำเพ็ญบารมีมานับชาติไม่ถ้วน สุดท้ายไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต จากนั้นจึงมาเกิดเป็นมนุษย์และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า การถือกำเนิดก็มีปาฏิหาริย์เดินได้ 7 ก้าว และสามารถพูดได้ทันที รูปร่างก็สง่างามสมบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะ จะทำอะไรไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด ก็ประสบความสำเร็จเหนือสามัญมนุษย์
แต่อีกภาพพจน์หนึ่งพระพุทธเจ้าคือคนธรรมดาที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ผ่านความเจ็บปวดโศกเศร้า การดูหมิ่นเหยียดหยาม การเรียนรู้ลองผิดลองถูก ความล้มเหลวและความสำเร็จเยี่ยงสามัญมนุษย์ทั่วๆ ไป ต่างแต่ว่าเป็นผู้พัฒนาปัญญาจนสามารถดำเนินชีวิติย่างมีอิสรภาพทางจิตวิญญาณ
ในความเห็นของผม ชาวพุทธทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกนิยมภาพพจน์แบบไหนของพระพุทธเจ้าก็ได้ และสำหรับผมแล้ว ผมเลือกที่จะรักความเป็น “มนุษย์ธรรมดา” ของพระพุทธเจ้ามากกว่า เพราะผมรู้สึกว่าผมสามารถใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์ธรรมดาได้มากกว่า
พระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์ธรรมดาสอนสิ่งสำคัญสิ่งแรกแก่ผมคือ “เสรีภาพในการแสวงหาความจริง” ว่า ในการค้นพบความจริงนั้นเงื่อนไขข้อแรกเราต้องมีเสรีภาพจากความเชื่อทางศาสนาที่ถือปฏิบัติตามๆ กันมาก่อน (ดูเหมือนนวนิยายเรื่อง “สิทธารถะ” ของ เฮอร์มาน เฮสเส จะสะท้อนความเข้าใจประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง)
ดังที่เราเห็นได้จากเดิมทีพระพุทธเจ้าเคยนับถือศาสนาพราหมณ์ตามตระกูลศากยะ จนเรียนจบไตรเพท ต่อมาพระองค์ขบถต่อศาสนาของตระกูลอย่างถึงราก โดยการปลงผมออกบวชเป็นขอทานเลี้ยงชีพ ซึ่งตามจารีตของศาสนาตระกูลศากยะถือว่าการใช้ชีวิตเช่นนั้นต่ำต้อยเยี่ยง “จัณฑาล” ที่เป็นคนนอกวรรณะ
หลังจากนั้นพระองค์ก็มานับถือศาสนาแบบดาบสที่เชื่อว่าการบรรลุฌานสมาบัติคือคำตอบของความพ้นทุกข์ แต่เมื่อฝึกสมาธิจนได้สมาบัติ 8 แล้วพระองค์พบว่าสิ่งดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือหนีทุกชั่วคราวเท่านั้น จึงหันไปนับถือศาสนาใหม่อีกคือลัทธิบำเพ็ญทุกกรกิริยาที่เชื่อว่าการทรมานร่างกาย หรือเอาชนะความต้องการตามสัญชาตญาณทางกายภาพได้คือคำตอบของการมีอิสรภาพจากพันธนาการของกิเลสและความทุกข์
แต่ในที่สุดพระองค์ก็พบว่าเป็นไปไม่ได้ และเห็นว่าป่วยการที่จะเดินตามจารีตของลัทธิความเชื่อหรือศาสนาใดๆ อีกต่อไป จากนั้นก็กลายเป็น “คนไม่มีศาสนา” ไม่สมาทานหรือเดินตามความเชื่อใดๆ แต่หันมาใช้ปัญญาไตร่ตรอง “ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์” อย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้ค้นพบความจริงของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติแห่งการเกิดทุกข์และการดับทุกข์ ซึ่งเป็นความจริงตามกฎธรรมชาติที่ไม่ขึ้นกับลัทธิความเชื่อหรือจารีตทางศาสนาใดๆ
และเครื่องมือที่จะค้นพบความจริงดังกล่าว ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่ถูกให้มาจากจารีตทางศาสนาหรือความเชื่อใดๆ หากแต่เป็น “ศักยภาพ” ที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกข์คน นั่นคือความสามารถในการใช้ปัญญาไตร่ตรองเพื่อทำความเข้าใจความทุกข์และการยุติความทุกข์ในชีวิตของตนเอง
สำหรับผมแล้ว ความน่าเคารพของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ความเปิดใจกว้างในการเรียนรู้ ความซื่อสัตย์ต่อความจริง (พิสูจน์ให้ชัดก่อนค่อยตัดสิน) บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ในความหมายที่ลึกสุดคือ “ความเป็นสัตว์ที่มีเสรีภาพ” ซึ่งในที่สุดพระองค์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เสรีภาพในการแสวงหาความจริงสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับอิสรภาพทางจิตวิญญาณ
แน่นอนว่าการยืนยันว่า “เสรีภาพในการแสวงหาความจริงสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับอิสรภาพทางจิตวิญญาณ” ย่อมเป็นการยืนยันความหมายของความเป็นมนุษย์ในฐานะเป็น “สัตว์ที่มีเสรีภาพ”
และโดยการยืนยันเช่นนี้ย่อมเป็นการปฏิเสธโดยปริยายว่า การดำเนินชีวิตที่ไม่เคารพเสรีภาพในการแสวงหาความจริงด้วยสติปัญญาของตนเองย่อมไม่ใช่การมีชีวิตที่พึงปรารถนา และสังคมที่ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงย่อมไม่ใช่สังคมที่พึงปรารถนาด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรตั้งคำถามอย่างจริงจังคือ ทำไมโดย “การกระทำ” หรือโดยแบบอย่างการปฏิบัติตัวของพระพุทธเจ้ามีลักษณะของการปลดปล่อยให้เราเป็นเสรีชน ชวนให้เราเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ในการแสวงหาความหมายของชีวิต แต่ทว่าศาสนาพุทธในรูปของจารีตประเพณีที่ตกทอดมาถึงเรากลับเป็นเครื่องมือสร้างพันธนาการที่ซับซ้อน
ทั้งพันธนาการในรูปอุดมการณ์แห่งรัฐ เช่น พุทธศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือค้ำยันอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ยกสถานะของพระมหากษัตริย์ให้เป็น “เทพ” (ทั้งที่พระพุทธเจ้าเองเป็น “คน”) ที่ศักดิ์สิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งสาระสำคัญแล้วอุดมการณ์ดังกล่าวขัดแย้งกับเสรีภาพในการแสวงหาความจริง
การปิดกั้นเสรีภาพในการแสวงหาความจริง หากพิจารณาจากความเป็นจริงที่ว่า “เสรีภาพในการแสวงหาความจริงสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับอิสรภาพทางจิตวิญญาณ” หรือความเป็นจริงที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเสรีภาพ” ย่อมถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
คำถามคือ สังคมที่ใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างอุดมการณ์ซึ่งลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชน สมควรเรียกว่าเป็นสังคมพุทธหรือ? หากเราเป็นชาวพุทธและซื่อสัตย์ต่อความจริง (อย่างที่พระพุทธเจ้าทำเป็นแบบอย่าง) เราจะตอบคำถามนี้อย่างไร?
นอกจากนี้ โดยจารีตการใช้พุทธศาสนาสร้าง “คนดี” ในสังคมไทย คนดีที่เป็นผลิตผลของจารีตพุทธคือ “ผู้ปฏิบัติธรรม” ตามวิถีจริยธรรมเชิงปัจเจกที่ยึดอุดมคติว่า การปฏิบัติธรรมหมายถึงการปฏิบัติสมาธิ ทำบุญทำทาน เพื่อการมีชีวิตที่สุขสบายในโลกหนี้และโลกหน้า ได้ขึ้นสวรรค์ หรือบรรลุนิพพาน ซึ่งทั้งหมดนั้นมีลักษณะเป็นความดีส่วนตัวที่มุ่งประสงค์ต่อความสุขส่วนตัวเป็นที่ตั้ง เสร็จแล้วชาวพุทธก็อธิบายกันว่า ถ้าแต่ละคนเป็นคนดีโดยการทำความดีต่างๆ ที่ว่ามานี้แล้วสังคมก็จะดีเอง
ที่สำคัญคือ “คนดี” และ “ความดี” ในความหมายดังกล่าว ไม่ได้เชื่อมโยงกับการชี้ชวนให้เห็นความสำคัญของการไตร่ตรอง หรือตระหนักรู้ในคุณค่าความหมายของความเป็นมนุษย์ในฐานะเป็น “สัตว์ที่มีเสรีภาพ” และไม่ได้สร้างมโนธรรมสำนึกในการปกป้อง “เสรีภาพในการแสวงหาความจริง” แต่อย่างใด
เมื่อพุทธแบบจารีตไม่ได้สร้างวัฒนธรรมแห่งการรู้คุณค่าและปกป้องเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการแสวงหาความจริง และเสรีภาพในทางสังคมการเมือง คนที่คิดต่างจากพุทธแบบจารีต ตั้งคำถามกับพระ กับคัมภีร์ทางศาสนา คือ “คนบาป” และแน่นอนว่าชาวพุทธประเภทนักปฏิบัติธรรมตามแบบจารีตทั้งหลายก็ไม่แคร์ว่า ประชาชนจะถูกละเมิดเสรีภาพในทางสังคมการเมืองอย่างไรบ้าง
ฉะนั้น จึงอาจกล่าวรวมๆ ได้ว่า นักปฏิบัติธรรมหรือชาวพุทธผู้เคร่งศาสนาในสังคมไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ต่างเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ไม่มีศาสนาตามจารีตก่อนที่จะค้นพบ “ความจริง” และอิสรภาพ!