ที่มา ประชาไท
ภาพจาก http://bellacaledonia.files.wordpress.com
"การแทรกแซงทางทหารในลิเบียนั้นถือเป็นข้อผิดพลาดอย่างรุนแรง" นอม ชอมสกี้ นักเคลื่อนไหว กล่าวต่อ ซานดร้า แซทเทอลี
นอม ชอมสกี้ เขียนถึงสงครามกลางเมืองสเปนในหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนซึ่งตอนนั้นเขามีอายุเพียงแค่ 10 ขวบ เขาเคยถูกจองจำด้วยกันกับ นอร์แมน เมลเลอร์ในปี 1967 จากการประท้วงต่อต้านสงครามในเวียตนามที่เพนตาก้อน และเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาเขาถูกกักตัวโดยชาวอิสราเอลในขณะที่เขาพยายามจะเข้าไปในเวสต์แบงค์โดยใช้เส้นทางผ่านประเทศจอร์แดน
นักวิชาการชื่อก้องโลก และศาสตราจารย์ปลดเกษียนด้านภาษาศาสตร์แห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT) เขายังคงเป็นนักเคลื่อนไหวที่ยังมีความกระตือรือร้นอยู่ในวัย 82 ปี และเป็นนักวิจารณ์นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯด้วย
ชอมสกี้เตือนว่าการแทรกแซงทางทหารในลิเบียนั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่
“เมื่อสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสเลือกการแทรกแซงทางทหารแล้ว เราต้องตระหนักด้วยว่าประเทศเหล่านี้จะเป็นที่รังเกียจในภูมิภาคนี้ด้วยเหตุผลที่มีน้ำหนักมาก พวกคนรวยและผู้มีอำนาจนั้นสามารถพูดได้ว่าให้อยู่กับปัจจุบันไม่ใช่อดีต แต่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่โชคดีอย่างนั้น” ชอมสกี้ กล่าว
“การขู่แบบนี้ ผมมั่นใจว่ามันจะนำมาซึ่งความทรงจำที่เลวร้ายในภูมิภาคนั้น และผู้คนหลายคนในแอฟริกา และโลกอาหรับนั้นจะเป็นปฏิปักษ์กับการแทรกแซงทางทหาร”
ชอมสกี้ยังกล่าวต่ออีกด้วยว่าในโพลความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในอียิปต์นั้นแสดงให้เห็นว่า 90% ของประชากรทั้งหมดเห็นว่า สหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดที่เขาเคยเจอ
เขายังย้ำอีกด้วยว่าในลิเบียนั้นเป็นปัญหาทางด้านมนุษยธรรม “มันคือสงครามกลางเมือง และการเข้าไปแทรกแซงสงครามกลางเมืองนั้นยิ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นไปอีก” เขากล่าวเสริมอีกว่า “เราอาจไม่เห็นด้วยกับมัน แต่มันก็มีคนที่สนับสนุนกัดดาฟี่”
พูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปาเลสไตน์ สถานการณ์ในแอฟริกาเหนือนั้นดูท่าจะไม่ดีขึ้น หากรายงานข้อเรียกร้องของรัฐบาลอิสราเอลต่อสหรัฐฯ เพื่อเงินสนับสนุนจำนวน 2 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพื่อรักษาความมั่นคงในภูมิภาค (ทางทหาร)
“นี่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามันจะถูกนำมาใช้เพื่อให้อิสราเอลยังคงควบคุมสิ่งที่ยังพอจะเหลืออยู่ในปาเลสไตน์ได้มากขึ้น และเพื่อรักษาความสามารถในการใช้กำลังของอิสราเอล นี่ไม่ได้หมายความว่าอิสราเอลจะประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งเงินจำนวนนี้จากสหรัฐฯ แต่เจตนานั้นชัดเจน” ชอมสกี้กล่าว
เขายังมองเห็นการเปลี่ยนไปของอำนาจของสหรัฐฯ ที่มีในแถบแอฟริกาเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอียิปต์
เขาเชื่อว่าข้อสังเกตของ Wall Street Journal นั้นยังถูกต้องอีกด้วยที่ว่าชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ตอนนี้กำลังประสบปัญหา
“ขณะนี้ยังไม่มีใครคิดออกว่าจะควบคุมปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ สมมติฐานนั้นแน่นอนว่าเราจะต้องควบคุมมันให้ได้” ชอมสกี้ กล่าว
เกี่ยวกับการผกผันของพันธมิตรในโลกตะวันตกกับระบอบเผด็จการ ชอมสกี้ยกตัวอย่างและกล่าวว่ามันกลายเป็นว่าโลกตะวันตกในขณะนี้ เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะสนับสนุนผู้นำเผด็จการที่ตนต้องการ
“ณ ตอนนี้มีแผนการที่ได้มีการนำไปปฏิบัติแล้ว โดยจะเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ ที่มีการกำจัดผู้นำเผด็จการต่อเมื่อไม่สามารถสนับสนุนผู้นำเผด็จการนั้นได้อีกต่อไปแล้ว จึงทำการชูความรักในระบอบประชาธิปไตยแทน” เขากล่าว
ซาอุดิอาระเบียนั้นเป็นตัวอย่างของความขัดกันของนโยบายในโลกตะวันตก
ชอมสกี้ กล่าวว่า “ซาอุดิอาระเบียเป็นศูนย์กลางของอิสลามหัวรุนแรง อีกทั้งยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ และอังกฤษที่สนับสนุนอิสลามหัวรุนแรงให้แตกกันกับพวกชาตินิยมที่ไม่เคร่งศาสนา (secular nationalism) ซาอุดิอาระเบียเป็นเผด็จการที่โหดเหี้ยมทีเดียว ดูจากก่อนที่จะมีความวุ่นวายครั้งล่าสุด รัฐบาลกล่าวชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และแล้วมันก็เป็นจริง” (หมายความว่าใช้รัฐฯ ใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง-ผู้แปล)
ดังที่เราได้เห็นแล้วว่าทหารของซาอุฯ นั้นถูกส่งเข้าไปในบาห์เรน จากนั้นก็มีผลตามมาที่น่ากลัว
ฮิลลารี คลินตัน เลขาธิการแห่งสหรัฐฯ แคทเทอรีน แอชตัน ประธานการต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป และวิลเลี่ยม เฮค เลขาธิการการต่างประเทศแห่งอังกฤษ ประชุมกันที่เจนีวาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อทำการสนับสนุนคดีในดำเนินการฟ้องร้องกัดดาฟี่โดยศาลโลก(International Criminal Court (ICC)
“คำถามหนึ่งก็คือมันจะไปขัดกับแนวทางที่ดีกว่า นั่นคือ ทำการเอากัดดาฟี่ออกไปจากประเทศ”
“นอกจากนั้นแล้ว สำหรับจุดยืนของศาลโลกนั้นเราไม่สามารถมองข้ามความจริงที่ว่าสำหรับหลายประเทศแล้ว ศาลโลกนั้นถูกให้ชื่อว่าเอนเอียงเข้าทางกับโลกตะวันตก” ชอมสกี้ กล่าว
ชอมสกี้ สงสัยว่าทำไม จอร์จ บุช และ โทนี่ แบลร์นั้นไม่ถูกนำขึ้นศาลโลกจากกรณีบุกรุกอิรัก
“นี่คือการที่คนรวย และมีอำนาจนั้นพยายามละเว้นโทษของตัวเอง และนั่นไม่ได้หมายความว่าศาลโลกนั้นไม่มีประโยชน์ใดๆ แต่มันก็เป็นการลดทอนความเป็นบูรณภาพของตัวมันเอง” ชอมสกี้ กล่าว
พูดถึงเรื่องน้ำมัน และเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในแถบแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ชอมสกี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรื่องของผลประโยชน์โดยมีอำนาจในการควบคุมน้ำมันนั้นเป็นแนวทางของนโยบายของอังกฤษมากว่าทศวรรษ อีกทั้งยังเป็นแนวทางของนโยบายของสหรัฐฯ มาเกือบจะนานเท่ากัน และแน่นอนมันก็ยังคงเป็นอยู่”