WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, March 29, 2011

ชุมชนนิยมกับประชาธิปไตยแบบไทย

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



ในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ทุนไทยเติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว บางส่วนตั้งพรรคการเมืองของตนเอง บางส่วนให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง หรือการรัฐประหาร แล้วแต่พรรคการเมืองพรรคใด หรือการรัฐประหารครั้งใด จะให้ประโยชน์แก่ตนมากที่สุด

อำนาจทางการเมืองนี้ นอกจากใช้เพื่อการครอบครองสัมปทานจากรัฐ และผูกขาดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แล้ว ยังเป็นหลักประกันว่ารัฐจะดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อธุรกิจของตนตลอดไป

ในช่วงเดียวกันนี้ ทุนยังบุกทะลวงเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรในชนบทมากขึ้น ทั้งเพื่อธุรกิจพลังงาน, การท่องเที่ยว และการตักตวงทรัพยากรใต้ดิน นับตั้งแต่น้ำ, เกลือ, จนถึงสินแร่อื่นๆ

ทั้งหมดนี้ทำได้ภายใต้ระบบการเมือง ที่อาศัยกลไกและรูปแบบของประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ

การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม จะขยายอำนาจและผลประโยชน์ของตน ภายใต้กลไกและรูปแบบของการเมืองชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ยิ่งอำนาจและผลประโยชน์ของตนขยายออกไปมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความจำเป็นจะต้องหาเหตุผลทาง "ศีลธรรม" ให้แก่กลไกและรูปแบบของระบบการเมืองที่เอื้อต่ออำนาจและผลประโยชน์ของตนมากขึ้น

ภาระนี้ทุนไทยไม่ได้ทำ หรือไม่สนใจจะทำ ดูเหมือนทุนไทยจะอาศัยแต่วิธี "ขู่กรรโชก" สังคม เพราะในช่วงนี้เป็นต้นมาเหมือนกันที่ทุนเอกชนจะเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่สุดของประเทศ ฉะนั้น เมื่อชนบทกำลังล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถเลี้ยงดูประชากรในชนบทได้ต่อไป สังคมจะอยู่สงบได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับกำลังการจ้างงานของทุนเอกชน ฉะนั้น หากทุนไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม กำลังการจ้างงานของทุนก็จะไม่เติบโตได้ทันการณ์กับจำนวนประชากรที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงาน

แต่ในขณะเดียวกัน ทุนไม่สนใจจะอธิบายในเชิง "ศีลธรรม" กับค่าแรงราคาต่ำ, การปลดคนงานที่กินเงินเดือนสูงเกินไป, การไม่จัดสวัสดิการแรงงานอย่างเพียงพอ, การลดต้นทุนการผลิตด้วยการกันให้คนงานส่วนหนึ่ง (ที่ใหญ่มาก) ไปไว้นอกระบบ, การไม่ยอมลงทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน, การไม่ลงทุนในการวิจัยและพัฒนา, การติดสินบาทคาดสินบนเพื่อเลี่ยงกฎหมาย, ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุนไม่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมมากไปกว่าจ้างงาน (ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขอย่างไร) หากการจ้างงานลดลง สังคมก็จะปั่นป่วน ดังนั้น จึงเป็นการ "ขู่กรรโชก" ไม่ใช่ให้คำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แก่อำนาจและผลประโยชน์ของตนที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในกลไกและรูปแบบการเมืองนี้

น่าประหลาดที่ว่า ความชอบธรรมในการเอารัดเอาเปรียบของทุนไทยนั้น ยิ่งนับวันก็ยิ่งต้องผูกพันรัฐมากขึ้น สัมปทานนี้ได้มาจากรัฐ โครงการนี้ริเริ่มหรืออนุมัติโดยรัฐ โครงการรับจำนำพืชผลการเกษตรซึ่งให้ผลกำไรอย่างสูงแก่นายทุน ก็เริ่มมาจากรัฐเอง ฯลฯ และดูเหมือนจะเป็นความชอบธรรมเพียงอย่างเดียว กล่าวคือเมื่อรัฐอนุญาตแล้ว จะถอนคำอนุญาตนั้นไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าลงทุนในประเทศไทย

ความชอบธรรมนี้ไม่เกี่ยวกับ "ประชาธิปไตย" หรือแม้แต่กลไกและรูปแบบของประชาธิปไตย ทุนไทยเป็นนักรัฐนิยม (statist) ขนานแท้ รัฐคือข้ออ้างทาง "ศีลธรรม" เพียงอย่างเดียวของทุน ไม่ว่ารัฐนั้นจะฉ้อฉล, เผด็จอำนาจ, หรือ "ตกยุค" อย่างใดก็ตาม (น่าเศร้าด้วยที่ว่า ทั้งความฉ้อฉล, อำนาจนิยม และความตกยุคของรัฐไทย กลับประสานเข้าหากันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสนิทแนบแน่น)

ทุนไทยจึงไม่มีส่วนในการสร้างเสริมฐานทาง "ศีลธรรม" ของประชาธิปไตย อย่างที่พบได้ในหลายสังคมทั่วโลก

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ รัฐไทยเองเป็นผู้เผยแพร่อุดมการณ์ที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยแก่ประชาชนของตน หลังจากที่สรุปกันได้ว่า วิธีจัดการกับการแข็งข้อของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่น่าจะได้ผลที่สุด คือสถาปนาประชาธิปไตยแบบไทยขึ้นให้มั่นคง ราชการก็ได้ลงทุนกับการเผยแพร่อุดมการณ์นี้ในชนบท (ซึ่งเชื่อว่าเป็นฐานกำลังคนที่สำคัญของ พคท.)

ตำรา "คู่มือประชาธิปไตย" หลายสำนวนที่ราชการพิมพ์แจกผู้นำหมู่บ้าน และในภายหลังแจกและเปิดอบรมประชาชนทั่วไปด้วย กลับเป็นผู้สร้างคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แก่ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของรัฐ หรือประชาธิปไตยที่มุ่งหมายให้เกิดความมั่นคงเป็นหลัก เช่น แม้จะยอมรับในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ย้ำเตือนว่าสิทธิเสรีภาพนั้นมีจำกัด คือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดความแตกแยก ทำลายความสามัคคีในชาติอันเป็นแหล่งที่มาของสิทธิประชาธิปไตยต่างๆ ในสำนวนหลังๆ ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของนักคิด กอ.รมน. ถึงกับระบุลงไปเลยว่า เสรีภาพมีอยู่ได้ก็แต่ในรัฐเท่านั้น ฉะนั้น บุคคลย่อมบรรลุเสรีภาพสูงสุดได้ก็ต่อเมื่อทำตามที่รัฐสั่ง

ในด้านการปกครอง ราชการก็เน้นอย่างเดียวกันคือ "ระเบียบ" ด้วยเหตุดังนั้น การปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย จึงหมายถึงการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนเองเท่านั้น ซ้ำยังมีผู้แทนที่มีมาโดยวัฒนธรรมทางการเมืองซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม หรือแม้แต่กองทัพก็ตาม ย่อมเป็นตัวแทนของประชาชนด้วย เพราะต่างเป็นสถาบันที่เข้าถึง "เจตนารมณ์ทั่วไป" ของสังคมอยู่แล้วโดยประเพณี (ตามทฤษฎีรุสโซแบบเบี้ยวๆ)

รัฐนิยม (statism) คือประชาธิปไตยแบบไทย เพราะการสยบยอมต่อรัฐต่างหากที่เป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตยแบบไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจ-สังคมไทยเปลี่ยนไป ประชาธิปไตยแบบสยบยอมเช่นนี้ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ชาวบ้านประสบอยู่ เช่น รัฐซึ่งควรเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองประชาชน กลับกลายเป็นเครื่องมือของทุนในการแย่งชิงทรัพยากร รัฐไม่ใช่คนนอกที่คอยเข้ามาสร้างความเป็นธรรม แต่รัฐกลับเป็นพื้นที่เปิดเฉพาะสำหรับอภิสิทธิ์ชน แม้แต่ในหมู่บ้าน ก็มีคนที่เข้าถึงพื้นที่นี้ได้เพียงไม่กี่คน และใช้อำนาจรัฐในการเบียดเบียนคนอื่น

ประชาธิปไตยแบบไทยกำลังต้องการคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ใหม่ มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถกำกับให้ประชาชนสยบยอมได้ต่อไป

และคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" แบบใหม่ที่ถูกหยิบมาใช้คือ "ชุมชนนิยม"

ที่จริงแล้ว แนวคิดชุมชนนิยมเกิดมานานแล้ว (ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เช่นกัน) ดูเหมือนในระยะแรก ไม่ได้ถูกใช้เป็นคำอธิบายเชิง "ศีลธรรม" ให้แก่ประชาธิปไตยแบบสยบยอม ในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ดูเหมือนจะเป็นฐานของพลังให้แก่การต่อรอง ทั้งกับตลาดและกับรัฐ ชุมชนนิยมให้ความสำคัญแก่ฐานทาง "ศีลธรรม" ที่มีพลังสูงมาก เพราะมีความหมายแก่ทุกคน เช่น ฐานทรัพยากร, ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์, ความมั่นคงด้านอาหาร และแน่นอนความมั่นคงด้านสังคม ซึ่งได้จากความสัมพันธ์ในชุมชน ใครๆ ย่อมให้คุณค่าแก่สิ่งเหล่านี้เหนือกำไรของบริษัทเอกชน และเหนือเขื่อนไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน

แต่นับจากสมัยทักษิณเป็นต้นมา ผู้ต่อต้านทักษิณโน้มนำให้ชุมชนนิยมมีความหมายเชิงสยบยอมมากขึ้น จนดูประหนึ่งว่าชุมชนมีความกลมกลืนในตัวเอง และแข็งแกร่งในตัวเองเสียจนไม่ต้องพึ่งทั้งตลาดและรัฐ ทุกคนสามารถหันกลับไปผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง เพราะชุมชนมี "ภูมิปัญญา" ทำได้ ซ้ำยังมีระบบความสัมพันธ์ภายในที่ช่วยประกันความอยู่รอดของทุกคนด้วย การ "พึ่งตนเอง" กลายเป็นการ "พึ่งตนเอง" ในเงื่อนไขของสังคมที่ได้ล่วงเลยไปแล้ว และคงไม่มีวันหวนคืนกลับมา

พระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของปี 2540 อาจเข้าใจได้เป็นสองอย่าง

อย่างแรก เศรษฐกิจพอเพียง เป็นกลวิธีสร้างพลังต่อรองให้ตนเอง ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยเพิ่มสัดส่วนการผลิตของตนเพื่อการบริโภคในครัวเรือนให้มากขึ้น จึงมีพลังพอจะพึ่งพาตลาดน้อยลง และย่อมต่อรองได้มากขึ้น รัฐก็สามารถทำอย่างเดียวกัน โดยจัดระบบเศรษฐกิจของตนให้ต้องพึ่งพาต่างประเทศน้อยลง เช่น ทำให้เกิดตลาดท้องถิ่นที่ครบวงจร พอที่จะประหยัดค่าขนส่งได้ เป็นต้น

ความเข้าใจอย่างแรกนี้ทำให้เห็นเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง ในการเพิ่มพลังต่อรองของผู้คนและประเทศชาติ ไม่ต่างไปจากจุดยืนของชุมชนนิยมในระยะแรก และต้องไม่ลืมด้วยว่า พลังต่อรองนั้นใช้ได้ทั้งกับตลาดและรัฐ เศรษฐกิจพอเพียง ในความหมายนี้ไม่ได้ปฏิเสธตลาด (หรือรัฐ) เพียงแต่จะเข้าตลาด (หรือรัฐ) โดยมีพลังต่อรองมากขึ้นได้อย่างไร นอกจากเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังมีกลวิธีอื่นอีกมาก เช่น สหกรณ์, การลงทุนด้านวิชาการของภาครัฐ, การจัดการทรัพยากรทั้งโดยชุมชนและรัฐ อย่างเป็นธรรม เพื่อเพิ่มพลังการผลิต, การมีสื่อของตนเอง, การมีพรรคการเมืองของตนเอง ฯลฯ

ความเข้าใจอย่างที่สอง ซึ่งถูกชูขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นปรัชญา ซึ่งอาจนำไปใช้ได้กับทุกกรณีและในทุกเงื่อนไขของการประกอบการ ทั้งในทางเศรษฐกิจหรือสังคม ในขณะเดียวกัน ก็ใช้ฐานทาง "ศีลธรรม" อย่างเดียวกับชุมชนนิยมในระยะเริ่มต้นได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงด้านอาหาร, ฐานทรัพยากร, หรือความเอื้ออาทรของคนในชุมชน

แต่เศรษฐกิจพอเพียงในความเข้าใจอย่างนี้ กลับไม่ได้มุ่งจะเพิ่มอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะอำนาจต่อรองทางการเมือง เหมือนยกรัฐให้คนอื่นไปจัดการอย่างเป็นธรรมหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงและเป็นสุขได้ ไม่มียูทูบในเศรษฐกิจพอเพียงแบบนี้ ทั้งๆ ที่ยูทูบเป็นพื้นที่สำหรับการรวมกลุ่มและต่อรองที่มีพลังในโลกปัจจุบัน

นี่คือการสยบยอมทางการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง ชุมชนนิยมซึ่งเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจให้ประชาชน กลายเป็นลัทธิที่จะปลดอำนาจของประชาชน ภายในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (หรือในชื่ออื่น)