ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
ยิ่งใกล้การเลือกตั้ง คำถามที่หลายฝ่ายเกรงกลัวก็เริ่มผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด หนึ่งในนั้นคือความไม่แน่ใจว่าเส้นทางเลือกตั้งจะช่วยยุติความขัดแย้ง "เหลือง-แดง" ของประเทศได้จริงหรือ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ทางมูลนิธิเอเชีย จึงจัดเวทีวิพากษ์ผลการสำรวจ เรื่อง การสำรวจความเห็นพลเมืองไทยระดับประเทศ พ.ศ. 2553 : มติมหาชนและการเมืองระหว่าง "ขั้วสี"
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
น่าสนใจมากเมื่อมองจากผลสำรวจ เราพบว่าคนกว่า 10 ล้านคนกล้าระบุว่าตนเองนั้นมีสังกัดเสื้อสีแดงหรือสีเหลือง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาสำหรับสังคมไทย
ความขัดแย้งในภาครวมของสังคมไทยไม่รุนแรง เป็นความขัดแย้งด้านประเด็น ตัวบุคคล และอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่ความขัดแย้งด้านค่านิยมหลัก จะเห็นได้ว่าทั้งฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ไม่มีประเด็นเรื่องค่านิยมหลักที่แตกต่างกัน ทั้งเรื่องยอมรับความหลากหลาย ยอมรับมติเสียงข้างมาก และเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง
แต่สิ่งที่ทำให้ค่านิยมบิดเบี้ยวไปคือ อคติทางการเมือง เช่น การรักชอบบุคคลหรือพรรคหนึ่งพรรคใดเป็นพิเศษ เป็นความคิดเชื่อมโยงระหว่างค่านิยมและการเมือง
แต่ที่น่าตกใจคือ 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 40 ล้านคน ยังเข้าใจว่าประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งเป็นสิ่งเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการประชาสัมพันธ์ความรู้ของสถาบันสื่อสารมวลชน และสถาบันการศึกษา
ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ถึง 1 ใน 3 มองว่าปัญหาใหญ่คือเศรษฐกิจ แต่คนในเมืองจะมองเรื่องการเมืองเป็นสำคัญด้วย เพราะเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ผ่านมา ล้วนเกิดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนเมืองและรู้สึกเป็นปัญหา
ขณะที่คนในพื้นที่ต่างจังหวัด มองปัญหาใกล้ตัว รองจากปากท้องก็เป็นปัญหายาเสพติด และภัยพิบัติธรรมชาติ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากๆ คือคนทั้ง 2 กลุ่มยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการคอร์รัปชั่นกับปัญหาทั้งหมด หากไม่มีคอร์รัปชั่น ปัญหาความยากจน การเดินขบวน ยาเสพติดและภัยพิบัติ ย่อมไม่มีหรือทุเลาลง
อีกจุดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อ ส.ส. เราพบว่าประชาชนไม่ค่อยเชื่อถือนักการเมือง กว่าร้อยละ 50 ซึ่งอันตรายมาก เพราะอย่าลืมว่าในระบอบประชาธิปไตย ส.ส.เป็นตัวแทนของประชาชน
ดังนั้น การที่ประชาชนแสดงความไม่ชื่นชอบส.ส.ขนาดนี้ ทำให้ผู้แทนฯเหล่านี้ต้องรีบปรับตัวเองขนานใหญ่ หากไม่ทำเช่นนั้น เมื่อวันที่ประชาชนรู้สึกสิ้นหวังในระบอบการปกครองแบบรัฐสภาแล้ว ประชาชนอาจมองหารูปแบบการปกครองใหม่ อาจเป็นระบอบผสม หรืออะไรก็ตาม เพื่อเดินหน้าประเทศตามแนวทางของตนเองต่อไป
ความขัดแย้งของเสื้อแดง และเสื้อเหลือง อาจเรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งเทียม เพราะไม่ได้ขัดแย้งกันในระดับค่านิยมหลัก การแก้ไขทำได้ง่าย เพียงใช้ความสัมพันธ์ของสถาบันต่างๆ ในสังคม เช่น ครอบครัว สถานศึกษา หรือที่ทำงาน
แต่ความขัดแย้งของชนชั้นนำของแต่ละกลุ่ม เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก
ผู้นำความคิดของฝ่ายเสื้อเหลืองขัดแย้งกับนักการเมืองตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในด้านค่านิยมและหลักคิด เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับคนกลุ่มนี้เท่าที่ทราบคือ ความต้องการรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ปกป้องอธิปไตยของชาติ และปกป้องสถาบัน
ส่วนผู้นำฝ่ายคนเสื้อแดง ขัดแย้งกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ ในข้อหาสังหารประชาชนระหว่างการประท้วง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยข้อหาก่อการร้าย สิ่งนี้เป็นความขัดแย้งระยะสั้น ทำนายว่าอีกไม่นานก็สามารถแก้ไขได้
แต่ยังมีชนชั้นนำแดงและนักวิชาการบางส่วนพยายามต่อสู้กับกลุ่มที่เรียกว่า อำมาตย์ ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในอนาคต
โดยสรุป ระบบการเมืองแบบรัฐสภาไทยสามารถผลิตได้แต่นักการเมืองโกงกิน ไม่แยแสต่อความเดือดร้อนของประชาชน ไร้ความสามารถ และตักตวงผลประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นที่ตั้ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดมาตั้งแต่ปี 2531
ประชาชนจึงควรกดดันให้มีการปรับโครงสร้างระบบด้านองค์กรยุติธรรม ซึ่งมีการเปิดช่องให้การทุจริตแพร่กระจายไปทุกภาคส่วน องค์กรจัดการเลือกตั้งก็อ่อนแอ หน่วยงานตรวจสอบการเลือกตั้งก็อ่อนแอ ทำให้เกิดการเข้าถึงอำนาจอย่างมิชอบของผู้มีอำนาจเพื่อตักตวงผลประโยชน์ไม่จบสิ้น
อย่างไรก็ตาม หลังการเคลื่อนไหวระหว่างปี 2549 ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการแพร่ขยายของการเมืองเชิงอุดมการณ์มากขึ้น คำถามคือประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองเหล่านี้จะมีวิธีการอย่างไรต่อไปที่จะแสดงอำนาจ และกดดันรัฐบาล
"นงเยาว์ เนาวรัตน์
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากประสบการณ์ที่มีโอกาสร่วมพูดคุยกับคนทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ทำให้เห็นความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะพัฒนาชาติไปในทิศทางที่ตนเองต้องการหรือเชื่อถือ ซึ่งไม่ใช่การทำลายล้างสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยขณะนี้ คือการก้าวไปสู่การเป็นรัฐประชาธิปไตยแบบพหุสังคมภายใต้ความขัดแย้ง เพราะความหมายของประชาธิปไตยที่เคยสั่งสอนในโรงเรียนว่า เป็นการรับฟังเสียงส่วนมาก
วันนี้ต้องเข้าใจใหม่ว่า เป็นการประนีประนอมกันระหว่างเสียงส่วนน้อยและเสียงส่วนมาก และประชาธิปไตยไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง แต่ยังเลยไปถึงการเคลื่อนไหวของคนทุกภาคส่วนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง ไม่ฝากความหวังไว้กับนักการเมืองอย่างเดียว การพัฒนาเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เราเคยได้ยินคำว่าคนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนกรุงเทพฯไล่รัฐบาล แต่ปัจจุบันมันจะกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคต่างๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นเวทีประลองกำลัง
โจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะมาคือ การรวมความเห็นอันแตกแยกของทั้งสองฝ่ายเข้าให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดต่อสู้กันต่อไป
บรรยากาศในบ้านเมืองขณะนี้อยู่ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งรอวันเกิดสงครามจริงในช่วงเลือกตั้งเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกำชัยชนะ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรใส่ใจ มีส่วนตรวจสอบการจัดการเลือกตั้ง เพราะกกต.ไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดการเลือกตั้งได้ เรื่องความโปร่งใสในการเลือกตั้งจึงสำคัญมาก
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพราะภาคส่วนต่างๆ ยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทำให้เกิดความไม่พอใจ
การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา จึงสะท้อนถึงความแร้นแค้นของสถาบันต่างๆ สิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริงอาจไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่คือการมีที่ยืนที่อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีบนสังคมประชาธิปไตย การได้รับการบริการจากหน่วยงานของรัฐบาลต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
เราจะเห็นว่าคนที่ออกมาประท้วงบางส่วนไม่ใช่คนจน แต่เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาต้องการ เป็นสิ่งที่คนในเมืองมองไม่เห็น รัฐบาลมองไม่เห็น ความซับซ้อนตรงนี้เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาเผชิญและตั้งรับกับสังคมแบบพหุลักษณ์ และความหลากหลายทางเศรษฐกิจ
เราไม่สามารถฝากความหวังกับการเมืองในระบบเพียงลำพังอีกต่อไป จึงต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกระบบคู่ขนานกันไปใน 3 มิติ คือการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง