ที่มา มติชน
โดย ปราปต์ บุนปาน
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 31 มีนาคม 2554)
ขออนุญาตตั้งสมมติฐานล่วงหน้าแบบมองโลกในแง่ดีไว้ก่อนว่า
จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นอย่างแน่นอนภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
แล้วถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง จะมีอะไรเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นบ้าง?
นักวิชาการท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่งเสนอเอาไว้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่า
หลังเดือนพฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา สถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคดังกล่าวก็เหมือนกำลังตกอยู่ในยุค "สงครามเย็น"
และคาดว่าจะมีสงครามจริงๆ เกิดขึ้นอีกครั้งผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า
ซึ่งจะเป็นสงครามที่มีการต่อสู้กันอย่างหนักหน่วง
รวมทั้งต้องการการมีส่วนร่วมตรวจสอบจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
เพราะหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อมั่นและไม่เชื่อถือในกระบวนการและผลการเลือกตั้งขึ้นมาแล้ว
รัฐบาลชุดใหม่ก็คงจะถูกจัดตั้งขึ้นไม่ได้ง่ายๆ ภายหลังการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ถ้าลองมองโลกในแง่ดีอีกมุมหนึ่ง
การเลือกตั้งครั้งหน้าก็อาจถือเป็นหนทางคลี่คลายหรือปลดปล่อยระบายความขัดแย้งทางการเมือง ที่มักลงเอยด้วยความรุนแรงเสียเลือดเสียเนื้อ ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
เพราะการเลือกตั้งปี 2554 อาจมีอีกสถานะหนึ่งเป็นดัง "การลงประชามติ" ทางการเมืองของประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงว่า
พวกเขาเห็นด้วยหรือไม่กับกระบวนการทางการเมืองไทยที่ถูกขับเคลื่อนโดยเครือข่ายผู้มีอำนาจบางกลุ่มตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
ตั้งแต่การรัฐประหาร, การยุบพรรคการเมือง, การตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และระบบยุติธรรมสองมาตรฐาน เป็นต้น
ปัญหาน่าสนใจ คือ ถ้าผลการเลือกตั้ง (หรืออีกนัยหนึ่งคือ "การลงประชามติ") ออกมาว่า
ประชาชนจำนวนมาก (อาจไม่ถึงครึ่งหรือเกินครึ่งก็ได้) แสดงความไม่เห็นด้วยกับกระบวนการทางการเมืองเหล่านั้นผ่านการกาบัตรลงคะแนนเสียง
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปอีก?
จะมีใครไม่พอใจและพยายามดึงดันต้านทานผลการเลือกตั้ง ("ประชามติ") ดังกล่าวอีกหรือไม่?
หากมีความพยายามจะกระทำการ "คิดสั้น" เช่นนั้นอีกครั้ง
ไม่ว่าจะอย่างโฉ่งฉ่างหรือแนบเนียน (ซึ่งคนเริ่มรู้ทันกันเกือบหมดแล้ว)
เรื่องราวก็คงไม่คลี่คลายไปสู่วิถีทางที่ดีขึ้นอีกเหมือนกัน
ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้าเกิดขึ้นจริง และชนชั้นปกครองไทยโดยรวมมีฉันทามติเห็นชอบด้วยกับการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว
ก็อยากฝากเนื้อหาบางส่วนของบทกวีการเมืองชิ้นหนึ่ง ที่ถูกแต่งขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 เอาไว้ว่า
"...ความก้าวหน้าปรากฏในชนชั้นล่าง
การเลือกตั้งปี 50 ยืนยันได้
กองทัพยึดเบ็ดเสร็จกุมกลไก
แต่ไม่สามารถบล็อกโหวตทหารเกณฑ์..."