ที่มา ประชาไท
เมื่อพี่น้องลูมิแยร์สร้างกล้องบันทึกภาพยนตร์เครื่องแรกขึ้นในโลก หน้าที่ของมันในขณะนั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิงแต่เป็นการเลือกเก็บบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ที่มีบทกำกับการแสดงเกิดหลังจากนั้นเป็นเวลาพอสมควร และหลังจากนั้นดูเหมือนว่าเมื่อเราพูดถึงคำว่า "ภาพยนตร์" การรับรู้ขั้นต้นของเราคือภาพยนต์ที่มีบทกำกับในการแสดงอย่างเช่นปรากฏในปัจจุบัน
อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เคยตั้งคำถามในข้อสอบปลายภาคสำหรับนักเรียนภาควิชาประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งถึงภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่าเราควรมองภาพยนตร์เรื่องนี้ในบทบาทของอะไร? ผมจึงขอคัดย่อจากความทรงจำคร่าวๆ มาเรียบเรียง โดยผมมีความคิดเห็นดังนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการสร้างหน้าที่ใหม่ของภาพยนตร์(อย่างน้อยก็สำหรับประเทศไทย)นั่นก็คือ เป็นการ "สร้างอนุสาวรีย์" ทางความคิดให้เป็นมรดกของคนรุ่นต่อๆ ไป
เหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของภาพยนตร์อิงประวัติศาตร์โดยเฉพาะในตะวันออกก็คือส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าแบบมุขปาฐะ ซึ่งไม่มีความชัดเจนเพราะไม่มีการจดบันทึกโดยละเอียด ถึงแม้จะมีการค้นคว้าและเก็บข้อมูลแต่ส่วนใหญ่ก็จะมีเพียงเค้าโครงเรื่องใหญ่ๆ ที่มีความเป็น Epic อยู่ค่อนข้างสูง[1]
ปัญหาก็คือสิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาเติมเต็มจินตนาการที่ขาดหายสำหรับแบบเรียนประวัติศาสตร์ในการศึกษาภาคบังคับที่ยังคงเว้าแหว่งด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ โดยหยาบๆ และนำไปออกข้อสอบเพื่อทดสอบความจำในชั้นเรียน
ถึงแม้ทีมงานจะมีการ "ออกตัว" ว่าเรื่องนี้มีการดัดแปลงจากเค้าโครงเรื่องและมีการค้นคว้าข้อมูลมาเป็นอย่างดี แต่ผู้รับสารย่อมได้รับการเติมเต็มตัวอักษรที่หายไประหว่างบรรทัดจากภาพที่ปรากฏบนหน้าจอ
แน่นอนที่สุด อย่างน้อยภาพของพระนเรศวรที่คนรุ่นที่พ้นวัยศึกษาในรั้วสถาบันจะมีอยู่ในหัวก็คือภาพของผู้ชายหน้าไทย ใส่เสื้อผ้าสีดำและมีหมวกและเหล่าพลทหารที่ออกรบโดยมีโล่และผ้าประเจียดป้องกันตัว (หากคิดไม่ออกให้กลับไปหาธนบัตรชนิด 100 บาทรุ่นเก่า) ซึ่งเป็นภาพอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง ที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ที่ๆ เชื่อว่าเป็นจุดทำสงครามยุทธหัตถี
แต่เมื่อมีภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้น ภาพของพระนเรศวรในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ภาพของพันโท วันชนะ สวัสดี ในบทพระนเรศวรทรงเกราะแบบยุโรป และประทับปืนแนบบ่าจากการโปรโมทผ่านสื่อต่างกลับเข้ามาแทนที่ และแย่งชิงการเป็นความรับรู้หลักของสังคมไปเสียแล้ว
เฉกเช่นเดียวกันกับเมื่อเราคิดถึงสมเด็จพระสุริโยทัย (ไม่ใช่ "สุริโยไท" ผมเคยถามเพื่อนที่จบโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ถึงเรื่องนี้เธอเคยเล่าว่าพอภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย หลายๆ คนบอกว่าชื่อโรงเรียนของเธอสะกดผิด ทั้งที่โรงเรียนของเธอมีอายุเก่าแก่กว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว) ภาพแรกที่คุณคิดถึงในจินตนาการย่อมเป็นภาพของหม่อมหลวง ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ในผมทรงกระทุ่ม จากความเชื่อเดิมที่ว่าผู้หญิงไทยไว้ผมยาว
ในกรณีระดับโลกที่ฮือฮาก็จากภาพยนตร์เรื่อง "Braveheart” เมื่อ Mel Gibson ผู้สวมบทวีรบุรุษชาวสก็อตต์นาม William Wallace ได้ถูกขอให้เป็นแบบในการจัดทำอนุสาวรีย์ของวีรบุรุษคนดังกล่าว
การเติมเต็มข้อความที่หายไปในหนังสือด้วยภาพจากภาพยนตร์นั้น ไม่น่าสนใจเท่ากับ "ข้อความ" และอุดมการณ์ที่ถูกแทรกและเติมเข้ามาระหว่างบรรทัดของบทภาพยนตร์
สิ่งที่น่าสนใจนั้นก็คือ "อนุสาวรีย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้" นั้นทรงพลังกว่าอนุสาวรีย์ที่เป็นสถานที่ให้นักท่องเที่ยวไปยืนถ่ายรูปเพื่อความบันเทิง เพราะมันเป็นการสถาปนาอำนาจนำทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ถูกฝังหัวมาโดยที่ผู้รับสารไม่รู้ตัวผ่านการบอกเล่าของตัวละครโดยทางตรงและทางอ้อม
ข้อสังเกตที่น่าขบขันก็คือทำไมเราสามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับร้อยๆ ปีที่ผ่านไปได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างผ่านการศึกษาวิจัยของทีมสร้างภาพยนตร์ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านไปไม่นานอย่าง 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 ที่ยังคงมีพยานปากสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมากกลับไม่ถูกเลือกที่จะนำมาถ่ายทอด[2] สิ่งที่น่าสนใจก็คือเราไม่ค่อยจะมีภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย โดยเฉพาะหลังจากยุค 2475 ถ้าหากเราคิดถึงหนังพีเรียด เรามักจะมองย้อนกลับไปช่วงก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ หรือส่วนมากก็แค่อาศัยช่วงเวลาเป็นฉากหลังในการดำเนินเรื่องราว และส่วนใหญ่หนังประวัติศาสตร์ของไทยยังคงติดอยู่กับกรอบคิดของประวัติศาสตร์แบบ "ราชาชาตินิยม" ที่น่าสนใจคือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์ของไทยกลับไม่เคยมีการสร้างขึ้นอย่างจริงจัง
หนำซ้ำอนุสาวรีย์ที่เป็นตัวแทนของการต่อสู้เรียกร้องของประชาชน ยังถูกเตะถ่วงจนเวลาล่วงเลยเกือบ 30 ปีกว่าที่จะมีการสร้างขึ้น สิ่งเหล่านี้กำลังบอกอะไรเราอยู่ หากอนุสาวรีย์เป็นการบ่งบอกถึงความสำคัญของบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติ ทำไมเรื่องเหล่านี้จึงถูกดึงไว้ทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและเป็นการต่อสู้ของ "ประชาชน"ไทย เพื่อประชาธิปไตยอันเป็นหลักสูงสุดของประเทศ หรือว่าจริงๆ แล้วเรามิได้ปกครองกันด้วยระบอบประชาธิปไตย? หรือว่าเรื่องราวเหล่านี้มันเป็นเสี้ยนหนามแทงตำใครหรือไม่?[3]
เพราะอนุสาวรีย์นั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาในทุกยุคทุกสมัยในการถ่ายทอด "มรดกทางความคิด" ของผู้มีอำนาจยุคต่างๆ เรามีวีรชนบ้านบางระจันในยุคที่ผู้นำต้องการให้เรามีความสามัคคี เรามีศาลพันท้ายนรสิงห์เพื่อเชิดชูความศักดิ์สิทธิ์ของนิติรัฐ[4] แล้วปัจจุบันใครเป็นผู้นำทางการเมืองของประเทศไทยที่ต้องการจะถ่ายทอดความคิดผ่านอนุสาวรีย์ในโลกเสมือนแห่งนี้?
คำถามที่สำคัญก็คือ ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เข้าฉายในช่วงเวลานี้กำลังจะบอก "ข้อความ" อะไรกับเรา? ผู้กำกับต้องการจะสื่อสารระหว่างบบรรทัดอะไรกับเรา? "ผู้อำนวยการสร้าง" ต้องการอยากให้เรามีทัศนคติแบบใด? หากเรามองให้ลึกๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ใช่ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ธรรมดา แต่มันกำลังจะกลายเป็นอนุสาวรีย์ทางความคิดความเชื่อที่พยายามจะสร้างมายาคติแบบใหม่ให้กับสังคม โดยเฉพาะคนที่เข้าไปดูและไม่ตั้งคำถามและเชื่อทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนหน้าจอ
ถ้าคุณอยากรู้ ติดตามได้ทุกโรงภาพยนตร์ใกล้บ้านคุณ....
เชิงอรรถ
[1] (ในกรณีภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การทำยุทธหัตถี ,การหลั่งน้ำสิโณธก และการชนไก่)
[2] (ที่จริงมีอยู่ 2 เรื่องคือ 14 ตุลา สงครามประชาชน ซึ่งที่จริงแล้วดัดแปลงจากหนังสือ "คนล่าจันทร์" ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นมุมมองของเสกสรรค์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ และ "ฟ้าใสหัวใจชื่นบาน" ที่จงใจล้อเลียนกลุ่มนักศึกษาที่เข้าป่าในช่วงหลัง 6 ตุลา 19 ให้ลดความน่าเชื่อถือเรื่องอุดมการณ์ และบริษัทอำนวยการสร้างเป็นของทายาทคนหนึ่งของผู้บัญชาการทหารเรือของคณะ คมช. ฐิติพันธุ์ เกยานนท์ บุตรชายของ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์)
[3] กรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจากภาพยนตร์สารคดี 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์นั้น มีการกล่าวว่าสาเหตุที่ท่านไม่สามารถกลับเมืองไทยได้จวบจนเสียชีวิตนั้น เพราะว่าผู้ปกครองและผู้มีอิทธิพลของประเทศเกรงกลัวท่าน เห็นได้จากความพยายามลบเลือนความทรงจำเกี่ยวกับท่านจากสังคมไทย แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของท่านเอง ชื่อถนนประดิษฐ์มนูญธรรม ซอยปรีดี พนมยงค์ หรือสถาบันปรีดี นั้นถูกตั้งขึ้นหลังจากการอสัญกรรมของท่าน
[4] (ทั้งสองเรื่องที่กล่าวถึงถูกจัดทำเป็นภาพยนตร์แล้ว โดยเรื่องพันท้ายนรสิงห์กำลังจะถูกทำเป็นละครทางช่อง 3 โดยมีคุณหญิงหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ภรรยาของท่ายมุ้ย ควบคุมงานสร้าง และบทประพันธ์โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธ์ ยุคล)