ที่มา ประชาไท
อ้างถึงบทบรรณาธิการในสารคดีฉบับที่ 313 เดือนมีนาคม 2554 หน้า 14-15
ผมรู้สึกสลดใจกับบทบรรณาธิการในฉบับดังกล่าว ซึ่งเข้าใจว่าเขียนโดยอ้างอิงกับการที่มีนักเขียนของสารคดีส่งจดหมายท้วงติงและลาออกประท้วงการลง Advertorial ให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) โดยไม่แจ้งให้ผู้อ่านทราบในฉบับก่อนหน้านี้
สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่านบทบรรณาธิการดังกล่าว ที่ใช้ชื่อว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” มีเนื้อหาสรุปโดยสั้นว่า บรรณาธิการเหมารวมว่าทุกคนคงเคยปั้นน้ำเป็นตัว ท่านได้ยกตัวอย่างนักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง หรือแม้แต่สมองของคน คนมักจะเชื่อเรื่องเล่าของแหล่งที่น่าเชื่อถือ และในสังคมมนุษย์ปัจจุบันก็เต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่โกหก ดังนั้น บรรณาธิการจึงประกาศว่า ‘โปรดอ่านทุกหน้าใน สารคดี ด้วยความใคร่ครวญ และอย่าเชื่อมั่นว่ามีแต่ความจริงอันเป็นที่สุด ไม่ว่าหน้านั้นจะมีคำว่า “พื้นที่ประชาสัมพันธ์” หรือไม่ก็ตาม’
อ่านบทบรรณาธิการฉบับนี้แล้ว เหมือนโดนตีแสกหน้า
ถึงอยากจะยกประโยชน์ให้จำเลยในแง่ที่ว่า บรรณาธิการอาจจะมีความตั้งใจจริงที่จะให้ผู้อ่านระมัดระวังและใช้วิจารณญาณในการอ่านสารคดีและเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวให้มากขึ้น แต่นัยที่แสดงออกอย่างเด่นชัด ไม่ว่าบรรณาธิการจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามคือ “การแก้ตัวอย่างขาดความรับผิดชอบ” อันเนื่องมาจาก “ความไม่สำนึกว่าได้กระทำความผิด” เหตุผลและตัวอย่างที่พยายามยกมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำรงอยู่ของบทโฆษณา ปตท. ในสารคดีฉบับก่อนหน้านั้น ก็มีตรรกะที่บิดเบี้ยว ซึ่งจะขออธิบายยกตัวอย่างในภายหลัง
นัยของบทบรรณาธิการ พยายามจะเตือนทุกท่านด้วยความหวังดีว่า เราอยู่บนโลกแห่งความลวง ดังนั้น ระวังให้ดี แต่ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่เราอยู่บนโลกแห่งความลวงหรือไม่
ประเด็นอยู่ที่เรื่อง “จรรยาชีพ” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม”
ความลวงของโลกไม่ได้มาเกี่ยวอะไรกับการลงบทโฆษณาดังกล่าวแม้แต่น้อย สิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญคือ จรรยาชีพของคนทำหนังสือสารคดี และความรับผิดชอบต่อสังคม ในแง่ของการตระหนักรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายของการลงโฆษณาด้วยวิธีดังกล่าวของบริษัท ซึ่งตามหลักวิชาชีพได้มีทางออกไว้ให้แล้วด้วยการยินยอมให้รับเงินจากบริษัทเพื่อลงโฆษณาประชาสัมพันธ์โดยอิงกับความน่าเชื่อถือและของนิตยสาร แต่ต้องแจ้งให้ผู้อ่านรับทราบล่วงหน้าด้วยข้อความว่า “พื้นที่โฆษณา” หรือ “พื้นที่ประชาสัมพันธ์” ไม่ว่ามันจะเขียนด้วยตัวอักษรที่ใช้สีกลมกลืนกับพื้นหลังและด้วยขนาดตัวอักษรที่เล็กเพียงใดก็ตาม
บรรณาธิการทราบดีอยู่แล้วว่ามนุษย์มักจะเชื่อโดยง่าย หากได้ข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ จึงสมควรจะทราบต่อไปอีกด้วยว่าบทความใน “สารคดี” คือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือด้านสิ่งแวดล้อมการลงโฆษณาด้วยวิธีดังกล่าว โดยไม่แสดงข้อความเตือน ทำให้อาจตีความได้ว่าเป็นความ “จงใจ” ที่จะหลอกลวงผู้สนับสนุนนิตยสาร “เพื่อหวังอามิสสินจ้าง” โดยไม่คำนึงถึงหลักการทางวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสังคม
แน่นอนว่า ผู้อ่านควรจะรับข้อมูลอย่างระมัดระวัง รอบคอบ ไม่ด่วนเชื่อ ไม่ยึดถือว่าสิ่งที่ได้อ่านเป็นความจริงแท้ แม้ว่าโลกจะเต็มไปด้วยความลวง แต่สังคมไม่สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน ด้วยข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เช่น เวลา ประสบการณ์ การเข้าถึงข้อมูล ฯลฯ จึงต้องมีการสร้างสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่เสมือนผู้รับรองความน่าเชื่อถือเบื้องต้นของข้อมูลเหล่านั้น และสารคดีเองก็เป็นสถาบันหนึ่งที่สังคมเชื่อว่าสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ การละเว้นไม่ทำหน้าที่อย่างจงใจของสารคดีจึงมีผลต่อสังคม
หากใช้ตรรกะของบรรณาธิการที่ว่า เราอยู่บนโลกแห่งความลวง นักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ อาจจะลวงเราได้ แล้วสังคมจะอยู่อย่างไรครับ? การที่เราไม่เชื่อ สถาบันที่ทำหน้าที่รับรองความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในระดับหนึ่ง (ผมไม่ได้หมายความว่าให้เชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม แต่หมายถึงหากไม่เชื่ออย่างสุดโต่งและสงสัย ตรวจสอบตลอดเวลา) แต่สังคมจะวุ่นวายและกลียุคกว่านั้น หากสถาบันเหล่านั้นไม่ทำหน้าที่คัดกรอง และตรวจสอบความจริง และปัดภาระด้วยการบอกว่า เราอยู่บนโลกแห่งความลวง ดังนั้น ทุกคนระวังให้ดีก็แล้วกัน!!!
ลองนึกภาพเราไปหาหมอ แล้วหมอก็จ่ายยาให้เราโดยไม่สนว่าจะถูกกับโรคหรือไม่ แต่เน้นจ่ายยาที่บริษัทยาให้ค่าคอมมิสชั่นแพง ๆ คนไข้จะกินยานั้นหรือไม่ หรือไปหายาอื่น ก็แล้วแต่วิจารณญาณดูก็แล้วกัน
ก่อนจะจบจดหมายฉบับนี้ ผมขอกลับไปที่เรื่องตรรกะของบรรณาธิการสักนิด
หลักคิดและตัวอย่างที่บรรณาธิการพยายามยกมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองนั้น มันไม่ตรงกับประเด็นเรื่องโลกแห่งความลวง ในกรณีของนักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ ชัดเจนว่า เขาพูดในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งตามธรรมเนียมของวัฒนธรรมของฝรั่ง ถือเป็นวันโกหก ดังนั้นในวันนี้ หากมีอะไรแปลกประหลาด ทุกคนจะระวังไว้ก่อนว่า อาจมีการอำครั้งใหญ่เกิดขึ้น วันที่ 1 เมษายน นี่ล่ะครับ คือ ข้อความ “พื้นที่ประชาสัมพันธ์” ที่จะทำให้ผู้รับสารระแวดระวังข้อมูลข่าวสารที่กำลังจะรับฟัง และควรจะตระหนักไว้ด้วยว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จะไม่มีวันโกหกแบบนี้ในวันอื่น ๆ และต่อให้เป็นวันที่ 1 เมษายน พวกเขาก็จะไม่โกหกเพื่อหาประโยชน์ใส่กระเป๋าตนเอง แต่จะอำ เพื่อกระตุ้นให้คนได้ไปคิดต่อ กรณีของการทดสอบยาก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการทดสอบทางการแพทย์ ไม่ใช่การโกหก สิ่งที่เป็นการโกหกเพียงอย่างเดียวน่าจะเป็นการที่คนเรามักจะเคยปั้นน้ำเป็นตัวตอนเด็ก ที่เกิดขึ้นเพราะความเยาว์ ความเขลา และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
ท้ายนี้ หวังว่าสารคดีคงจะรับฟังเสียงหนึ่ง (และคาดว่าจะไม่ใช่เสียงเดียว) ที่พยายามทำตัวเป็น “ป้ายเตือน” โค้งอันตราย ด้วยความไม่อยากเห็นสารคดีแหกโค้งสิ้นชีพลงไปด้วยวัยไม่เต็มสามสิบ