ที่มา มติชน
คอลัมน์ ณ ริมคลองประปา โดย ประสงค์ วิสุทธิ์
ได้รับเชิญจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปอภิปรายในหลักสูตร "ผู้บริหารงานยุติธรรมระดับสูง" ของกระทรวงยุติธรรม เรื่อง "แนวความคิดในการพัฒนากระทรวงยุติธรรม" ทำให้ต้องค้นคว้าข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงยุติธรรม เพื่อไปใช้ในการอภิปราย ปรากฏว่าพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำซึ่งมีทั้งนักโทษเด็ดขาดและผู้ต้องขัง (คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา ไต่สวน สอบสวน) ดังนี้
จำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สำรวจ ณ วันที่ 1 มกราคม 2554 มีจำนวน 220,776 คน แบ่งเป็น นักโทษเด็ดขาด 159,626 คน ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา, ไต่สวน-พิจารณาในศาล, สอบสวน (ในชั้นพนักงานสอบสวน) จำนวน 58,991 คน ผู้ต้องกักขัง (แทนค่าปรับ?) 1,795 คน
ในจำนวนนี้ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมด เป็นคดี พ.ร.บ.ยาเสพติด จำนวน 128,750 คน หรือประมาณร้อยละ 58 (ตัวเลขผู้ต้องราชทัณฑ์ในคดียาเสพติดบางครั้งสูงถึงกว่าร้อยละ 60)
เมื่อจำแนกผู้ต้องราชทัณฑ์ตามเพศพบว่า เป็นชายจำนวน 189,042 คน เป็นคดี พ.ร.บ.ยาเสพติด จำนวน 104,447 คน หรือประมาณร้อยละ 55.7, เป็น หญิงจำนวน 31,734 คน เป็นคดี พ.ร.บ.ยาเสพติด จำนวน 24,303 คน หรือสูงถึงร้อยละ 76.58
แม้สัดส่วนผู้หญิงที่ต้องราชทัณฑ์มีเพียงร้อยละ 14.3 ของผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมด แต่ปรากฏว่า สัดส่วนของผู้ต้องราชทัณฑ์ของผู้หญิงในคดียาเสพติดสูงกว่าชายมาก ทำให้น่าศึกษาว่า อะไรเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ผู้หญิงถูกดึงเข้าสู่เครือข่ายยาเสพติดจำนวนมาก
เมื่อนำตัวเลขผู้ต้องขังที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ฎีกา ไต่สวน สอบสวน ในคดียาเสพติดมาจำแนกเปรียบเทียบกับผู้ต้องขังทั้งหมด พบว่า มีสัดส่วนใกล้เคียงกับผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมดคือประมาณร้อยละ 60 ซึ่งผู้หญิงมีสัดส่วนสูงกว่า
ตัวเลขผู้ต้องราชทัณฑ์เหล่านี้ สอดคล้องกับปัญหายาเสพติดที่กำลังขยายตัวและกัดกินสังคมไทยอย่างหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้
ขณะเดียวกันอาจเป็นตัวบ่งบอกด้วยว่า นอกจากชุมชนแออัด และสถานศึกษาต่างๆ ที่เป็นแหล่งค้ายาเสพติดแล้ว เรือนจำที่เต็มไปด้วยผู้ต้องราชทัณฑ์ในคดียาเสพติดกว่า 120,000 คน ก็เป็นแหล่งค้ายาเสพติดแหล่งใหญ่และมีผลประโยชน์มหาศาล
เพราะจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์กว่า 120,000 คนนี้ นอกจากผู้ค้ารายย่อยแล้ว ยังมีบรรดา "ขาใหญ่" ที่เป็นเครือข่ายยาเสพติดอยู่เป็นจำนวนมาก
จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมจึงมีการลักลอบนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในเรือนจำต่างๆ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเครือข่ายยาเสพติดในการบงการ สั่งซื้อหรือสั่งขายยานรกดังกล่าวโดยที่กรมราชทัณฑ์และผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการสั่งตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาขายผ้าเอาหน้ารอดและไม่ได้ผลใดๆ เพราะไม่มีทางที่ทางกรมราชทัณฑ์จะตัดสัญญาณโทรศัพท์ได้ 24 ชั่วโมงเนื่องจากจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่รอบๆ เรือนจำ
ดังนั้น "ขาใหญ่" จึงใช้วิธีการส่งข้อความสั้น (SMS) แทน เมื่อมีการเปิดสัญญาณโทรศัพท์ข้อความเหล่านั้นก็จะถูกส่งออกไปทันทีและตรวจสอบได้ยาก
ด้วยจำนวนเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากการค้ายาเสพติด ทำให้เครือข่ายเหล่านี้สามารถสร้างและขยายอิทธิพลครอบงำผู้คุมหรือพัศดีเรือนจำต่างๆ เพื่อให้ความร่วมมือในการค้ายาเสพติดในรูปแบบต่างๆ เช่น การช่วยกันลักลอบนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาในเรือนจำ
มีผู้เล่าว่า พัศดีหรือผู้คุมตามเรือนจำในจังหวัดต่างๆ มักมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้น "ขาใหญ่" ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำเดียวกันก็จะสั่งให้บรรดาลูกสมุนไปสืบดูว่า ลูกเมียของผู้คุมอยู่ที่ไหน จากนั้นก็จะนำมาใช้เป็นข้อมูลในเชิงบังคับให้ร่วมมือในการค้ายา มิเช่นนั้นแล้วลูกเมียของผู้คุมอาจเป็นอันตราย และถ้าร่วมมือด้วยยังจะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าด้วย
"ขาใหญ่" ในเรือนจำ ยังดึงผู้ต้องราชทัณฑ์ที่มีประวัติอาชญากรรมโชกโชนมาเข้าเป็นพวกด้วยการเรียกมาเจรจาและให้สัญญาว่า จะดูแลลูกเมียที่อยู่ข้างนอกให้เป็นอย่างดี ทำให้เครือข่ายยาเสพติดดังกล่าวขยายอิทธิพลในเรือนจำได้อย่างกว้างขวาง
ขบวนการค้ายาเสพติดในเรือนจำจึงมีอิทธิพลมาก ต้องอาศัยการทุ่มเททรัพยากรและการวางแผนอย่างรัดกุมในการปราบปรามแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่องเท่านั้น จึงจะประสบผล
ไม่ใช่ทำแบบฉาบฉวยตื้นเขินด้วยการเดินสายตรวจเพื่อให้สื่อมวลชนทำข่าวหรือแค่ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือให้ดูตื่นเต้นเท่านั้น