ที่มา ประชาไท
27 มี.ค.54 ภายหลังการเสวนาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกลุ่มนิติราษฎร์ มีการแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่มกิจกรรม “มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้” หรือ Article 112: Awareness Campaign” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้สังคมไทย ร่วมกันสร้างพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายหมิ่นฯ” โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกับการณรรงค์เรื่องนี้กว่าร้อยชื่อประกอบไปด้วย บุคคล หลากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักเขียน ศิลปิน นักสหภาพแรงงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกฎหมาย ข้าราชการ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ (รายชื่อดูในไฟล์แนบด้านล่าง)
ทั้งนี้ ชื่อโครงการดังกล่าวมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
นายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ระบุว่า ปัจจุบันมักพบว่าการฟ้องคดีหมิ่นฯ หรือที่เรียกกันว่า ข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มักพบในความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ข้อหานี้มีความร้ายแรง ทั้งร้ายแรงด้วยอัตราโทษ และร้ายแรงเพราะมักถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความ “ไม่จงรักภักดี” ต่อพระมหากษัตริย์ และ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง เพราะกฎหมายถูกนำไปไว้ในหมวด ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเปิดช่องให้ใครก็ได้สามารถแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีข้อหานี้ได้ ส่งผลให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพง่ายต่อการถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง โดยเห็นได้จากสถิติที่มีการกล่าวหาและจับกุมผู้ต้องหา ในคดีหมิ่นฯ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ จากเดิมที่มีคดีเฉลี่ยราว 10 คดีต่อปี แต่นับแต่ปี 2548-2552 กลับมีคดีจำนวนมากถึง 547 คดี ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
นอกจากนี้ในหลายคดีผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หลายคดีถูกฟ้องเพราะเป็นตัวกลางทางอินเทอร์เน็ต หรือเป็นสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวตามหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ามีการใช้กฎหมายและตีความกฎหมายไปในลักษณะที่กว้างขวาง ผิดต่อหลักการของกฎหมายอาญา ที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ระหว่างกรณีการวิพากษ์วิจารณ์กับการดูหมิ่นนั้นแตกต่างกันอย่างไร การหมิ่นประมาทกับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แตกต่างกันอย่างไร ส่งผลให้สังคมไทยโดยรวมตกอยู่ในความหวาดกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายหวาดกลัว ที่จะอนุญาตให้ผู้ถูกจับกุมได้รับสิทธิในการประกันตัว หลายคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐโน้มน้าวให้ผู้ต้องหาทำเรื่องให้เงียบโดยไม่ให้แจ้งข้อมูลกับสื่อมวลชน ทั้งยังโน้มน้าวให้ยอมรับสารภาพโดยข่มขู่ว่าคดีลักษณะนี้สู้ยากแต่หากยอมรับก็จะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง หลายครั้งการดำเนินคดีและกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยลับ ทำให้ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการได้
“โครงการ มาตรา112 ฯ เห็นถึงความละเอียดอ่อนของความสัมพันธ์ของกฎหมายมาตรานี้กับสังคมไทย และด้วยเหตุนี้ สมาชิกของเครือข่ายจึงมุ่งรณรงค์ในเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตราว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สอง ส่งเสริมให้เกิดการถกเถียงถึงผลกระทบที่รอบด้านจากกฎหมายหมิ่นฯ เป็นประเด็นสาธารณะ และประการสุดท้าย เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มและผู้สนใจร่วมกันหาทางออก บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย โดยมีบุคคลต่างตามรายชื่อแนบท้ายนี้ร่วมลงนามในแถลงการณ์” ปราบกล่าว
“เวทีนี้อาจมีคนเห็นปัญหาแล้วว่ากระทบต่อสิทธิเสรีภาพอย่างไร บางคนโดนขโมยเวลาในชีวิตไปเป็นสิบปี แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่แค่ในรั้วธรรมศาสตร์ ในรั้วเองหลายคนก็ยังไม่รับรู้ หลายคนยังเข้าใจว่าการพูดเรื่องนี้ การยกเลิกมาตรานี้ เป็นการกระทำการหมิ่น ยกเลิกสถาบัน นี่คือข้อกล่าวหาและทัศนคติในสังคมโดยรวมที่มีอยู่ จึงไม่อยากให้เราจำกัดสิทธิองคนที่ยังไม่รับรู้ต่อปัญหานี้ วิธีการควรค่อยๆ คุยกัน มาตรานี้มีปัญหาอย่างไร มีคนได้รับผลกระทบอย่างไร เปิดโอกาสให้เขาได้พูดในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เราโดนปิดปากแล้ว เราเองก็จะไม่ไปปิดปากบุคคลอื่น” จีรนุช เปรมชัยพร ผอ.เว็บประชาไท หนึ่งในคณะรณรงค์กล่าว
ภาพโดย กอล์ฟ ประกัน
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่ม 24 มิ.ย. แดงสยาม สนนท. วงดนตรีท่าเสาร์ จิตรา คชเดช เดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมตะโกนคำว่า "ยกเลิก 112" ไปตลอดเส้นทางเพื่อไปรวมกัน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศจุดยืนให้มีการยกเลิกมาตรา 112 เนื่องจากถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ลิดรอนสิทธเสรีภาพของประชาชน โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์ฯ ในงานนี้ นางสุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ แม่ของนายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน 2553 ได้ประชาสัมพันธ์งานฌาปณกิจศพลูกชายที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 เมษายนที่จะถึงนี้ หลังจากเก็บรักษาศพลูกไว้เพื่อรอให้มีการชันสูตรตามกฎหมายอาญา แต่ศาลยกคำร้อง