ที่มา Thai E-News
โดย ธนาพล อิ๋วสกุล
ระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงประมุขนั้น มีความละเอียดอ่อน สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือว่า จะอนุรักษ์สถาบันดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของราษฎรส่วนใหญ่ไว้ได้อย่างไร การรักษาสถาบันนี้ไว้นั้น จะต้องมีผู้กล้าหาญทางจริยธรรม ปัญหาที่ทุกคนเผชิญคือมาตรา 112 มาตรานี้เกิดขึ้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งบ้านเมืองเป็นเผด็จการมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น มาตรา 112 เป็นมาตราซึ่งทำร้ายสถาบันยิ่งกว่าเป็นการอุดหนุนสถาบันสุลักษณ์ ศิวรักษ์,ข่าวมติชนออนไลน์กรรมการสิทธิฯ จัดเสวนาการจัดการความรุนแรงในสังคมไทย กรณีม. 112 ส.ศิวรักษ์-สมศักดิ์-วรเจตน์ เข้าร่วม
ผู้ สื่อข่าวจากไฟแนนเชียล ไทมส์ถามเรื่องกฎหมาย“หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าควรมีการปฏิรูปหรือไม่ อานันท์ตอบว่าการดำรงอยู่ของกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือการบังคับใช้ และเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้ เนื่องจากใครก็ได้มีสิทธิกล่าวโทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนใช้ประโยชน์จากตัวกฎหมายและสถาบันกษัตริย์เพื่อผล ประโยชน์ของตนเอง หากแก้ปัญหาดังกล่าวได้ก็คงจะลดปัญหาที่เกิดขึ้น-'อานันท์' แจงนักข่าวตปท. ม.112 มีปัญหาที่การบังคับใช้
"ผัง ล้มเจ้า" เมื่อตอนประกาศเปิดเผยครั้งนั้น ไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่มาสารภาพกันในภายหลัง และเมื่อวิเคราะห์จากเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เห็นได้ชัดว่ามุ่งประโยชน์ที่จะแย่งชิงมวลชน โดยนำภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ (ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอยู่จริง หรือถึงมีอยู่ก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่แสดงด้วย "ผังล้มเจ้า") ออกมาโฆษณา เป็นการ "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลและกองทัพ อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องปิดบังอำพรางเลย-นิธิ เอียวศรีวงศ์ “ความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน”
จะว่าเป็นครั้งแรกก็ได้ ที่กล้าบอกกันตรงๆ เลยว่า "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์ในการต่อสู้กันทางการเมือง
ใน ฐานะประชาชนชาวไทยผู้มีความเป็นห่วงและกังวลต่อสภาวการณ์บ้าน เมืองภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว และในฐานะนักเขียนไทยผู้หวงแหนเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น เราต้องการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเร็วที่สุด และสนับสนุนการนำแนวทางที่ปัญญาชนบางกลุ่มบางท่าน (เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และกลุ่มอื่นๆ) ได้เสนอแนะไว้ในหลายวาระ ขึ้นมาพิจารณาประกอบกัน เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่เป็นธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมไทย,จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนไทย เรื่อง ขอเชิญร่วมลงชื่อเรียกร้องแก้ไข ม.112
นอก จากนี้ เราต้องการเรียกร้องให้ผู้ใช้สถาบันกษัตริย์เป็นข้ออ้างในการแสดงบทบาทและ วางอำนาจทางการเมือง เช่น ทหาร ได้ยุติพฤติกรรมดังกล่าว และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง หากความสงบสุข ความสามัคคี และความเป็นธรรม คือสิ่งที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ใจ
ปฏิกิริยา ไม่เห็นด้วยต่อการ “ใช้” สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นถี่ขึ้น และจากผู้คนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับการที่มีผู้โดนคดี “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เล่นงานที่มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
เดวิด สเตร็คฟัส นัก วิชาการที่ศึกษาเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในเวลา 5 ปีหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีผู้ถูกกล่าวหา ถูกจับกุม ดำเนินคดี และพิพากษานั้นมีมากกว่า 500 ราย ซึ่งก่อนหน้านั้นมีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ถึงปีละ 10 คดี ด้วยซ้ำ
สำหรับผู้เขียนแล้วแม้จะเห็นด้วยว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นมีปัญหาทั้งในแง่อุดมการณ์ บทบัญญัติ และการบังคับใช้ แต่การโยนปัญหาทั้งหมดว่าเป็นเพียงการ “ใช้” สถาบันกษัตริย์ไทย เป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้นผู้เขียนไม่เห็นด้วย ในความเห็นของผู้เขียนสถาบันกษัตริย์ไทยนั้นมิได้เป็นสถาบันที่มีลักษณะ “ถูกกระทำ” แต่ฝ่ายเดียว
แม้ว่าในหลักการทางรัฐธรรมนูญของประเทศ ประชาธิปไตยจะถือว่าพระมหากษัตริย์จะ อยู่ในสถานะ “The king can do no wrong” คือพระมหากษัตริย์ไม่อาจทำผิดได้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะกระทำผิด เนื่องจากการกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง
แต่ สำหรับประเทศไทยแล้ว บ่อยครั้งที่พระมหากษัตริย์ ได้กระทำด้วยตนเอง ดังจะเห็นได้จาก ประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็น “ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร” เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 (ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1 เล่ม 74 ตอนที่ 76 16 กันยายน 2500) ในครั้งนั้นก็ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นั่นหมายความว่า พระมหากษัตริย์ ได้แต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลจอมพล.ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 (แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก แต่การรัฐประหารก็มิใช่ทางแก้ไขที่ถูกต้อง)
ในงานศึกษาของทักษ์ เฉลิมเตียรณ เกี่ยวกับบทบาทและความคิดทางการเมืองของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กล่าวไว้ถึงเหตุการณ์สำคัญในตอนนี้ว่า
วัน ที่ 17 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สยามนิกรว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รักษาพระนครและมีอำนาจหน้าที่ออกคำสั่งได้ตามกฎหมาย เพราะเป็นพระบรมราชโองการ” หลังจากนั้นทั้งสฤษดิ์ และถนอม กิตติขจรได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งบังคับให้ตนต้องกระทำเช่นนั้น และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบและก็ได้ทรงให้การสนับสนุน จอมพลสฤษดิ์ได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์ว่าตนได้เก็บพระบรมราชโองการต้นฉบับไว้ ในตู้นิรภัยของตน และสามารถทำสำเนาแจกเพื่อให้หนังสือพิมพ์พอใจเกี่ยวกับการรับรองอำนาจอันชอบ ธรรมของตนทักษ์ เฉลิมเตียรณการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548. หน้า 165)
คำถามก็คือ
จอม พลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ “ใช้” สถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนในการเป็นเผด็จการต่อ เนื่องมา 6 ปี จนตายคาเก้าอี้ในปี 2506 ใช่หรือไม่ ?
.................................
กันยายน 2519 , 1 เดือนก่อนการสังหารหมู่ 6 ตุลา ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดที่ จอมพลถนอม กิตติขจร 1 ใน 3 ทรราช ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้บวชเป็น“เณรถนอม” เพื่อเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศ
ขบวนการนักศึกษาได้เริ่มต้น ประท้วงให้นำฆาตกรมาลงโทษ ขณะเดียวกันฝ่ายขวาก็ได้โจมตีนักศึกษาว่าจ้องล้มล้างพุทธศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่ฝ่ายขวาใช้เล่นงานขบวนการนักศึกษา
วันที่ 21 กันยายน 2519 เวลา 21.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จไปที่วัดบวรนิเวศเพื่อสนทนาธรรมกับพระญาณสังวร ซึ่งเคยเป็นพระพี่เลี้ยงเมื่อพระองค์ทรงผนวช ในระหว่างการเยือน คุณหญิงเกนหลง สนิทวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์ ได้แถลงว่า สมเด็จพระราชินีให้มาบอกว่า ได้ทราบว่าจะมีคนใจร้ายจะมาเผาวัดบวรนิเวศ จึงทรงมีความห่วงใยอย่างมาก “ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกัน อย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด”
วันที่ 24 กันยายน 2519 นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงว่า“การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จวัดบวรฯกลางดึก แสดงให้เห็นว่า พระองค์ต้องการให้พระถนอม อยู่ในประเทศต่อไป”
ในคืน วันนั้น ขบวนการนักศึกษาได้ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอมทั่วประเทศ ปรากฏว่านิสิตจุฬาลงกรณ์ที่ออกติดโปสเตอร์ถูกชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งดักทำร้าย และนำเอาโปสเตอร์ที่จะติดนั้นไปทำลาย
นอกจากนี้ นายชุมพร ทุมไมย และ นายวิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม และเป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชน ได้ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม ถูกคนร้ายฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณหมู่บ้าน 2 ตำบลพระประโทน ()
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการเคลื่อนไหว ของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม จนนำมาสู่การ “งดสอบ” ของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 และมีการแสดงละครล้อเลียนการบวชของ“เณรถนอม” จนนำไปสู่การฆาตกรรม 2 พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม
นี่เป็นชนวนให้เกิดการ “ป้ายสี” นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจงใจแสดงละคร “หมิ่นองค์รัชทายาท” และเป็นเหตุของการสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และการรัฐประหารในตอนเย็นวันเดียวกัน
คำถามก็คือ
คุณหญิงเกนหลง สนิทวงศ์ “ใช้” สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายนักศึกษาด้วยตัวเอง ใช่หรือไม่ ?
นาย สมัคร สุนทรเวช “ใช้” สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการให้ความชอบธรรมกับการบวชของ จอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อความชอบธรรมในการล้อมปราบในเวลาต่อมา ใช่หรือไม่ ?
............................
30 ปีต่อมา ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2549 พลอ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ออกเดินสายไปยัง 3 เหล่าทัพ เพื่อปลุกทหารให้แข็งข้อกับรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ข้อมูลนี้นำมาจากเกษียร เตชะพีระ รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 กับการเมืองไทย (ตอนที่ 2)
14 กรกฎาคม 2549 พลเอกเปรม ในเครื่องแบบนายพลทหารม้าสวมหมวกเบเร่ต์ดำ ก็ได้นำคณะอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่คนสนิทใต้บังคับบัญชา อาทิ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้น ไปบรรยายพิเศษแก่นักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 1 - 4 และข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ หอประชุม รร.จปร.
"..... จะเล่าให้ฟังอย่างนี้ก็แล้วกัน เปรียบเทียบคนที่เป็นทหารม้าถึงจะรู้เรื่องม้าดีและเรื่องการแข่งม้า การแข่งม้า ม้าจะมีคอก มีเจ้าของคอก คอกหนึ่งมีม้าหลายตัว 5 ตัว 10 ตัว 20 ตัวก็ได้ เจ้าของคอกก็เป็นเจ้าของม้า เวลาจะไปแข่ง เขาก็ไปเอาเด็กที่เราเรียกว่าจ๊อกกี้หรือเด็กขี่ม้า ไปจ้างให้เขามาขี่ม้า เขาจะขี่ม้า พอเสร็จจากการขี่ม้า เขาก็กลับไปทำงานอย่างอื่น วันนี้เขาขี่ม้าคอกนี้ พรุ่งนี้เขาขี่ม้าอีกคอกหนึ่ง เขาไม่ได้เป็นเจ้าของม้าหรอก เขาเป็นคนขี่.....
"รัฐบาลก็เหมือนกับ จ๊อกกี้ คือเข้ามาดูแลทหาร แต่ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแลกำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดีขี่เก่ง บางคนก็ขี่ไม่ดีขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน รัฐบาลบางรัฐบาลก็ทำงานดีทำงานเก่ง บางรัฐบาลก็ทำงานไม่ดีหรือไม่เก่งก็มี นี่เป็นเรื่องจริง"
"พล.อ. เปรม ปลูกจิตสำนึก นายร้อย จปร. เป็นทหารของชาติ ทหารของพระเจ้าอยู่หัว",มติชนรายวัน, 15 ก.ค. 2549, น. 2.
28 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 พลเรือเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในเครื่องแบบนายพลทหารเรือก็ได้ไปบรรยายพิเศษหัวข้อ "การเสริมสร้างการเป็นผู้นำ ด้วยหลักคุณธรรม ความพอเพียง และความเสียสละ" ให้แก่นักเรียนนายเรือ ณ โรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ โดยกล่าวสรุปเรื่อง คนดี/คนไม่ดีในแง่คุณธรรมจริยธรรมว่า:
"คนดีนั้นต้อง มีคุณธรรมและจริยธรรม คนไม่ดีไม่มี และจะทำให้คนดี จะต้องทำให้เขามีคุณธรรมและจริยธรรม คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะโดยเป็นข้าราชการ เป็นอะไรก็ตาม และก็เป็นผู้บังคับบัญชา คนเป็นผู้กำหนดแนวทางให้กับหน่วยนั้นองค์กรนั้น ถ้าไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ทุกอย่างก็ล้มเหลวหมด จะมีการโกง การกิน การเห็นแก่พรรคพวก การเห็นแก่ญาติพี่น้อง การเห็นแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าเขาไม่มีคุณธรรมและไม่มีจริยธรรม"
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, "บทบรรยายพิเศษในหัวข้อการเสริมสร้างการเป็นผู้นำด้วยหลักคุณธรรม ความพอเพียง และความเสียสละของ พลเรือเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ณ โรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙", นาวิกศาสตร์, ๙๐: ๒ (ก.พ. ๒๕๕๐),www.navy.mi.th/navic/document/ 900202a.html.
31 สิงหาคม 2549 พลอากาศเอกเปรม ติณสูลานนท์ในเครื่องแบบนายพลทหารอากาศได้ไปบรรยายพิเศษเรื่อง "ตามรอยพระยุคลบาทกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศของทหารอาชีพ" ที่อาคารรณนภากาศ โรงเรียนนายเรืออากาศ เขตสายไหม กรุงเทพฯ โดยเกริ่นว่า จากการบรรยายตามสถานศึกษาของทหารหลายสถาบัน บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ วันนี้จะพูดอย่างตรงไปตรงมาในฐานะที่เป็นครอบครัวและเป็นญาติกัน จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ จากนั้นได้กล่าวบางตอนเกี่ยวกับคนไม่ดี แต่มีเงินซึ่งจะถูกพระสยามเทวาธิราชสาปแช่งว่า:
"ผมยก พระบรมราโชวาทให้ฟัง เพื่อให้เข้าใจว่าเราต้องส่งเสริมคนดี และรังเกียจคนไม่ดี การส่งเสริมคนดีอาจทำได้ง่ายกว่าการรังเกียจคนไม่ดี เพราะวัฒนธรรมไทยอาจเป็นอุปสรรคต่อการรังเกียจคนไม่ดี เรามักจะนับถือผู้หลักผู้ใหญ่ คนมีเงิน ในส่วนของผู้หลักผู้ใหญ่น่าจะพอยอมรับได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ก็ยกมือไหว้ แต่คนมีเงินจะต้องดูให้ดีว่าเขามีเงินมาได้อย่างไร มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ หรือว่ามาด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง เราควรจะต้องแยกแยะให้ได้ว่าใครที่เราควรจะเคารพนับถือ ใครคือคนที่เราควรจะต้องถอยห่างออกไป หากเราไม่ทำอย่างนั้น ถ้าเรายังเคารพนับถือคนที่ไม่ดี แต่เขามีสตางค์ มีเงิน เราก็กลายเป็นคนมีส่วนร่วมโดยทางอ้อม ในการที่ไปยกย่องนับถือคนไม่ดี....."'เปรม' ย้ำสำนึกทหารอาชีพ ให้ถอยห่าง 'คนไม่ดีแต่มีเงิน'", มติชนรายวัน, 1 ก.ย. 2549, น. 2.
"ชาติ บ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครก็ตามแม้เพียงแต่คิดจะยึดถือเป็นของตนเอง หรือของพรรคพวกของตนเอง เพื่อประโยชน์อันไม่ชอบธรรมต่อตนเอง หรือต่อพรรคพวกของตนเอง จะพบกับความหายนะในที่สุด พระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคุ้มครองคนดีของชาติบ้านเมืองเสมอ และจะสาปแช่งคนไม่ดีให้มีอันต้องตกทุกข์ได้ยากแสนสาหัสตลอดชีวิต ผมเชื่อในสิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีความศักดิ์สิทธิ์ มีบารมีจริงๆ ที่จะคุ้มครองคนดีและสาปแช่งคนไม่ดี....."
อย่างที่รับทราบ คืออีก 1-2 เดือนต่อมาก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยา
ทั้ง ๆ ที่ การทำรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่ระบุว่า
"ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ
(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"
และ เราต้องไม่ลืมว่า พล.อ.เปรม ในฐานะประธานองคมนตรีที่ มาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดที่กำหนดที่มาว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเลือก” และมีหน้าที่ “ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ ทรงปรึกษา”
คำถามก็คือ
พลอ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี “ใช้” สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการปลุกทหารให้มาทำการรัฐประหารนานร่วมเดือน โดยไม่มีใครมาห้ามปราม นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องใช่หรือไม่ ?
.....................
คำ ถามของผู้เขียนก็คือ คนอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คุณหญิงเกนหลง สนิทวงศ์ นายสมัคร สุนทรเวช หรือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สามารถ“ใช้” สถาบันกษัตริย์ได้ตามอำเภอใจอย่างนั้นหรือ
ผู้เขียนคิดว่า สถาบันกษัตริย์ไทย มิได้ล่องลอยอยู่ในสุญญากาศที่ใครจะ “ใช้” เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ได้
ข้อมูล ที่ยกมาข้างต้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ต่อให้ “จริง”ที่ว่ามีการ “ใช้”สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ “ใช้” นั้นจะต้องมีความชอบธรรมไม่ทางใดทางหนึ่งด้วย
ดังนั้นผู้ เขียนจึงเห็นว่า การพูดเพียงว่าหยุด “ใช้” สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้นไม่เพียงพอ เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์นั้นมิ ใช่เป็นการ “ใช้/ไม่ใช้” เป็นเครื่องมือทางการเมือง
แต่เป็นเรื่องของการ “อนุญาต/ไม่อนุญาต” ให้“ใช้” สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง