ที่มา มติชน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการเมืองไทย ต้องบันทึกไว้ว่า วันที่ 5 สิงหาคม 2554 คือวันที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่ชื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" .................. เปิดปูม"นายกฯคนที่ 28" "น.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร" มีชื่อเล่นว่า "ปู" เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2510 เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 10 คน ของ "นายเลิศ-นางยินดี ชินวัตร"
โดย ตลอดทั้งวัน ทั้งก่อนที่ ส.ส.จะโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งถึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกสื่อมวลชนไทยและเทศต่างเฝ้าจับความเคลื่อนไหวตลอดเวลา
นับ แต่เวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากบ้านพัก ซอยโยธินพัฒนา 3 ย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา-เอกมัย เดินทางไปอาคารรัฐสภา ร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
ถึงรัฐสภา เวลา 09.30 น. โดยไม่ได้ให้พลขับนำรถขึ้นจอดที่ชั้นลอย ซึ่งเป็นช่องทางที่บรรดาคณะรัฐมนตรีใช้เข้าสู่ห้องประชุมสภา โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสั้นๆ ถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ก่อนเข้าไปพักผ่อนที่ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา
เวลา 10.00 น. เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งข้างๆ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ หลานสาว โดย ส.ส.ที่นั่งอยู่ด้านหลังของ ส.ส.ยิ่งลักษณ์ 4 แถว ล้วนแต่เป็น ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทย ประมาณ 30 คน ระหว่างโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ด้วยการขานชื่อ ส.ส.เป็นรายบุคคล ส.ส.เพื่อไทยเดินเข้ามาพูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นระยะ
เวลา 11.40 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีถึง 296 เสียงลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ลุกขึ้นยืน ยกมือไหว้ ส.ส.ที่อยู่ภายในห้องประชุมเพื่อแสดงความขอบคุณ จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินไปขอบคุณนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. ซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี
โดย ส.ส.เพื่อไทยและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลตั้งแถวรอแสดงความยินดีตลอดเส้นทางไปที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินออกจากห้องประชุมสภา ชั้น 2 ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินออกจากห้องประชุม ช่างภาพที่ดักรอถ่ายภาพในจุดสำหรับถ่ายภาพภายในห้องประชุมได้ตะโกนเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า "ท่านนายกฯ" เพื่อถ่ายภาพ ขณะ ส.ส.เข้ามาแสดงความยินดี ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์แสดงอาการตกใจเล็กน้อย ก่อนเงยหน้ามองพร้อมโบกมือให้ช่างภาพได้ถ่ายภาพ
เวลา 11.45 น. ทันทีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินพ้นประตูห้องประชุมสภา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาแสดงความยินดี โดยกล่าวว่า "ยินดีด้วยครับ พวกผมยินดีที่จะได้ทำงานร่วมกัน" จากนั้นช่างภาพได้ขอให้ทั้ง 2 จับมือแสดงความยินดีเพื่อจับภาพอีกครั้ง นายสุเทพกล่าวขึ้นว่า "จะดีเหรอครับ" จน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเป็นผู้ยื่นมือออกมา ก่อนที่ทั้ง 2 จะจับมือกัน
ระหว่าง นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินออกห้องประชุมสภา เพื่อไปพักผ่อนในห้องรับรอง 1 อาคารรัฐสภา ระหว่างทางกลุ่มเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดของอาคารรัฐสภา 3 คนได้ขออนุญาตแสดงความยินดี และเข้ากอด น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยความดีใจ โดยหนึ่งในนั้นน้ำตานองหน้าพร้อมกับพูดว่า "แอบเชียร์พรรคเพื่อไทยมานาน"
ต่อ มาเวลา 11.50 น. นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อให้ลงนามในเอกสารก่อนยื่นทูลเกล้าฯ ที่ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา
เวลา 12.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเปิดใจครั้งแรก หลังได้รับการโหวตรับรองจากสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเดินทางกลับพรรคเพื่อไทย
เมื่อเดินทางถึงพรรคเพื่อไทย เวลา 12.25 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ปรากฏว่ามีคนเสื้อแดงกว่า 100 คนมายืนรอต้อนรับพร้อมมอบดอกไม้เพื่อแสดงความยินดี โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ยกมือไหว้ขอบคุณคนเสื้อแดง จนคนเสื้อแดงตะโกนโห่ร้องด้วยความดีใจ บางรายพยายามฝ่าด่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าไปประชิดตัว และโผกอด น.ส.ยิ่งลักษณ์
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า ภารกิจแรกที่จะทำหลังเป็นนายกฯเต็มตัวคือ การลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย ก่อนที่เจ้าตัวจะเข้าพักผ่อนในห้องทำงานที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย
ด้วยเหตุผลที่เป็นน้องสาวคนสุดท้อง ทำให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชาย เลี้ยงดู-อุ้มชูประหนึ่งลูกสาวคนหนึ่ง
"ยิ่ง ลักษณ์" จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ และมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ก่อนเข้าศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้าปริญญาตรี-ได้เป็น "สิงห์ขาว" เต็มขั้นในปี 2531
จากนั้นลัดฟ้าไปศึกษาต่อด้านรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเคนทักกีสเตต สหรัฐอเมริกา และเป็น "มหาบัณฑิต" ปี 2533
แม้ ความใฝ่ฝันดั้งเดิมคือการเป็น "ทูต" แต่หลังสำเร็จการศึกษา เธอกลับเข้าทำงานที่ "บริษัท ชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด" ในปี 2534 ประเดิมอาชีพแรกด้วยการเป็นพนักงานขายฝึกหัดด้านการตลาด หรือ "เซลส์แมน" ขายโฆษณาเยลโล่เพจเจส (สมุดหน้าเหลือง) ก่อนได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็น "ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ" ในปีเดียวกัน และขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายผลิตในเวลาต่อมา
ปี 2537 ย้ายไปเป็น "ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เรนโบว์ มีเดีย จำกัด" เดิมเป็นแผนกงานหนึ่งของบริษัท ไอบีซี อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือทรูวิชั่นส์ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากบริษัทไอบีซีฯ คือ "รองกรรมการผู้อำนวยการ"
ปี 2545 ข้ามห้วยมาอยู่แวดวงธุรกิจสื่อสาร นั่งตำแหน่ง "กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส" หรือเอไอเอส รับหน้าที่บริหารธุรกิจสื่อสารคมนาคมที่มีมูลค่าหลักหมื่นล้าน
กระทั่ง ปี 2549 ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายเทหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ให้แก่กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ "ยิ่งลักษณ์" จึงลาออกจากการเป็น "บิ๊กบอสเอไอเอส"
แต่ยังดำรงตำแหน่ง "กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอสซี แอสเซท จำกัด" ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล "ชินวัตร"
นอก จากนี้ "ยิ่งลักษณ์" ยังมีบทบาทในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิไทยคม และเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีม "เรือใบสีฟ้า" ที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ทุ่มเงินซื้อ โดยหมายใช้กีฬาสานสามัคคีเพื่อนร่วมชาติ
ด้านครอบครัว "ยิ่งลักษณ์" สมรสแบบไม่จดทะเบียนกับ "อนุสรณ์ อมรฉัตร" อดีตผู้บริหารในเครือบริษัทซีพี และอดีตกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เอ็มลิงก์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของ "เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" พี่สาวคนที่ 5 ของ "น้องปู" ในปี 2538 มี "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานเครือซีพี เป็นประธานงานแต่งงาน
หลังครองรักมานาน 7 ปี มีพยานรักชื่อ "ด.ช.ศุภเสกข์" หรือ "น้องไปค์" อายุ 9 ปี
กระทั่ง ปี 2554 เธอตัดสินใจทิ้งทุกตำแหน่งทางธุรกิจ-เทขายหุ้นทั้งหมด เพื่อลงสู่สนามการเมืองเต็มตัว ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเสนอ "ยิ่งลักษณ์" เป็นแคนดิเดตนายกฯ
แต่ เหนือสิ่งอื่นใดคือเธออยู่ในสถานะ "โคลนนิ่งทักษิณ" และนั่นทำให้เธอเติบโตทางการเมืองแบบ "ก้าวกระโดด" จาก "ซีอีโอหญิง" ผู้ไม่เคยเป็น ส.ส. ไม่ผ่านงานรัฐมนตรี แต่ถูกแทงทะลุตรงไปที่ตึกไทยคู่ฟ้า ในฐานะ "นายกฯหญิงคนแรก" ของสยามประเทศ!!!
(มติชนรายวัน ฉบับ 6 สิงหาคม 2554 หน้า2)