ที่มา ประชาไท
ปัญหา เรื่องการหย่าร้างได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการหย่าร้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก จนกระทั่งได้มีการก่อตั้งสำนักงานส่งเสริมสถาบันครอบครัวในเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 ดังที่ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แสดงให้เห็นว่าการหย่าร้างมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อาทิเช่น ในปี พ.ศ.2540 มีการหย่าร้างจำนวน 62,379 คู่ ซึ่งเพิ่มเป็น 77,735 คู่ในปี พ.ศ.2545 และเพิ่มเป็นถึง 109,277 คู่ในปี พ.ศ.2552
อย่าง ไรก็ตาม สังคมไทยดูจะหมกมุ่นวิตกกังวลอยู่กับเรื่องเพียงบางเรื่อง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาด้านเดียว และส่วนใหญ่ก็เป็นการมองที่ปลายเหตุเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาถึงสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการหย่าร้าง การหาหนทางว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาสถาบันครอบครัวเอาไว้ การพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่ เพียงคนเดียว และการพยายามหาแนวทางที่จะ “รักษา” “เยียวยา” หรือจัดความสัมพันธ์กับเด็กที่มี “ปัญหา” เหล่านี้อย่างไร
แน่นอนว่า การหย่าร้างย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมของ เด็กอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในการดำรงตนอยู่ในสังคมมากกว่า กว่าเด็กปกติทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสายตาของ “ผู้ใหญ่” ที่ย่อมต้องการให้เด็กๆ มีความคิดและปฏิบัติตนให้อยู่กับร่องกับรอย (น่าสงสัยว่าถ้าหากการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ในอนาคตเด็กกลุ่มใดกันแน่ที่จะเป็นเด็กส่วนน้อย เด็กที่ไม่ปกติ เด็กที่ต้องได้รับการเยียวยาเป็นพิเศษ)
ผู้เขียนชวนให้ตั้งคำถาม ง่ายๆ ว่า จริงหรือที่ปัญหาต่างๆ ที่เด็กเหล่านี้ได้รับ มีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของครอบครัวเพียงอย่างเดียว เพราะผู้เขียนเห็นว่าลำพังการหย่าร้าง หรือการอยู่กับ “พ่อ” หรือ “แม่” เพียงคนเดียวไม่น่าจะส่งผลถึงขนาดนั้น แต่กรอบความคิดบางอย่างของสังคมไทยเองต่างหากที่ทำให้ “การหย่าร้าง” หรือ “ความไม่สมบูรณ์” ของครอบครัวกลายเป็นปัญหามากกว่าที่มันควรจะเป็น ดังนั้น หากเรามองในมุมนี้ ประเด็นต่อมาก็คือ “เด็ก” เหล่านี้ (ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา) หรือสังคมไทยกันแน่ ที่ควรจะได้รับการรักษาเยียวยา
การให้ความสำคัญกับความผูกพันในครอบครัวอย่างล้นเกิน
ใน ขณะที่หลายๆ สังคมให้ความสำคัญกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูกภายหลังการหย่า ร้างพอๆ กับความพยายามหาทางรักษา “ครอบครัวที่สมบูรณ์” เอาไว้ ดังที่เรามักจะเห็นในหนังฝรั่งหลายๆ เรื่อง ที่ใช้กลไกทางกฎหมายในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ภายหลังการหย่าร้าง ว่าลูกควรอยู่กับใคร ใครมีสิทธิพบเจอลูกแค่ไหนและเมื่อไหร่ เป็นต้น แต่สังคมไทยกลับมีอคติที่ไม่ดีกับการหย่าร้างมากเกินไป เราไม่มองว่าการทะเลาะเบาะแว้ง การเข้า-ออกจากสถาบันครอบครัว การแยกทาง การหย่าร้างเป็นปัญหาปกติที่เกิดขึ้นในทุกๆ สังคมมนุษย์ เราพยายามไกล่เกลี่ย รอมชอม กดดันและบีบบังคับ (โดยสังคม) ให้ใครบางคนต้องอดทนกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาครอบครัวที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติเอาไว้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนที่โดนกดขี่ กลายเป็นผู้แบกรับต้นทุน/ภาระ ในการประคับครองครอบครัวตามอุดมคติแบบไทยเอาไว้บนบ่า
การที่เราสร้าง “กรอบมาตรฐาน” บางอย่างขึ้นมานั้น เป็นส่วนสำคัญที่เข้าไปกดดันและทำให้ผู้คนที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามกรอบ มาตรฐานดังกล่าวได้ รู้สึกผิด ย้ำแย่ และทดท้อในชีวิตมากกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ก็ดังเช่น ในปัจจุบันมีการรณรงค์กันอย่างเข้มข้นในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งถ้าหากวาทกรรมดังกล่าวสามารถสถาปนาขึ้นเป็นกรอบมาตรฐานหลักของสังคมไทย ได้แล้ว ก็จะทำให้ผู้หญิงหลายคนที่ไม่สามารถเลี้ยงลูก ดูแลลูก หรือให้นมลูกด้วยนมของตนได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต้องรู้สึกว่าตนเองได้กลายเป็น “แม่ที่บกพร่อง” ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ต้องกลายเป็น “แม่” ที่ไม่สมบูรณ์ตามอุดมคติของแม่แบบไทยๆ
อีกหนึ่ง ตัวอย่างที่เราพบเห็นได้ทั่วไปตามป้ายโฆษณาบนท้องถนนในปัจจุบัน คือการผลิตวาทกรรมว่าด้วยการเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริงต้องบวชให้ได้อย่างน้อย หนึ่งพรรษา ซึ่งถ้าหากวาทกรรมดังกล่าวถูกผลักดันให้กลายเป็นกรอบมาตรฐานของสังคม ก็จะทำให้ผู้ชายจำนวนนับไม่ถ้วนที่บวชไม่ถึงหนึ่งพรรษา (ดังเช่นตัวผู้เขียนเองเป็นต้น) ต้องรู้สึกว่าตนเองบกพร่อง เป็นปมด้อย และเป็น “ลูก(ผู้)ชาย” ที่ไม่สมบูรณ์
ในกรณีเรื่องการหย่าร้างก็เช่น เดียวกัน การที่เด็กคนหนึ่งไม่กล้าที่จะบอกว่าตนไม่มีพ่อหรือแม่ และรู้สึกว่าตนเองเป็นปัญหา มีปมด้อย ไม่สมบูรณ์ และรู้สึกกลัว ไม่กล้าที่จะเปิดเผยตนเองและปัญหาที่มีต่อสังคม จนต้องกลายเป็นเด็กมีปัญหา ไม่ได้เป็นเพราะพ่อแม่ของเขาแยกทางกัน หรือเพราะเขาขาดความอบอุ่นในครอบครัวเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคม ที่ให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบของครอบครัวมากเกินไปต่างหาก ที่เข้าไปกดดันพวกเขาเหล่านั้น
สังคมที่สถาปนากรอบมาตรฐานของครอบ ครัวที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติขึ้นมา สังคมที่ไม่มองว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ได้เบียดขับให้พ่อ แม่ หรือใครก็ตามที่ไม่สามารถประคับประครองครอบครัวของตนให้เป็นไปตามอุดมคติดัง กล่าวได้ หรือใครก็ตามที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในครอบครัวแบบอุดมคติดังกล่าว กลายเป็นคนที่ดูจะมีปัญหา ไม่มีความรับผิดชอบ มีความบกพร่อง และไม่สมบูรณ์อย่างรุนแรง
ดังนั้น สังคมที่ให้ความสำคัญกับความรัก ความผูกพันในครอบครัวจนล้นเกินต่างหาก ที่กดดันและทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกกลัวที่จะออกไปเผชิญกับโลกภายนอกด้วย สิ่งที่เขาหรือครอบครัวของเขาเป็น จนต้องเก็บกดปิดกั้น และแบกรับปัญหาต่างๆ เอาไว้เพียงคนเดียว จนนำมาซึ่งปัญหาในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาเองกับผู้คนในสังคมภายนอก
ครอบครัวที่ดีแบบไทยๆ
“ครอบ ครัวที่ดี” แบบไทยๆ ที่ต้องเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ความผูกผัน ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความกตัญญู การเคารพเชื่อฟัง ความสามัคคี ไม่แตกแยก และที่สำคัญคือไม่หย่าร้าง ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับอุดมการณ์ชาตินิยมตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา
อุดมการณ์ ชาตินิยมไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความกลมเกลียว ความสามัคคี ความจงรักภักดี ตลอดจนสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ปกครอง (ในทุกๆ ระบอบ) อยู่เสมอมา เพราะการสร้างจินตภาพเรื่อง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ให้เกิดขึ้นในสำนึกของคนทั้งปวง จะช่วยในการจัดระเบียบสังคม รวมทั้งยังช่วยลดความแตกต่างและความขัดแย้ง เอื้อให้เกิดสภาวะที่มีเอกภาพ การสมัครสมานภายใน หรือความสามัคคีภายในชาติสามารถเกิดขึ้นได้ [1] ซึ่งลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ที่ถูกสร้างขึ้นคือ ความพยายามทำให้เราจินตนาการว่าผู้คนภายใน “ชาติ” ก็เปรียบดังญาติพี่น้องที่อยู่ใน “ครอบครัว” เดียวกัน
ในสมัยแผนดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเผยแพร่เนื้อหาของจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ให้ปรากฏแก่มหาชน [2] ซึ่งเนื้อหาของจารึกหลักนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานของการอธิบาย “การปกครองแบบไทย” ในสมัยต่อมา ซึ่งถือว่ามีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือเป็นการปกครองแบบ “พ่อ” ปกครอง “ลูก”
แต่ ช่วงที่อุดมการณ์ชาตินิยมไทยลงมามีบทบาทในการจัดการกับความสัมพันธ์ ภายในครอบครัวของประชาชนอย่างเด่นชัดนั้น เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ที่พยายามหาทาง “เพาะ” ความรักชาติ ด้วยการ “เพาะ” ความรักใน “คณะ” ย่อยๆ ให้เกิดขึ้นก่อน โดยที่ผู้มีความรักใน “คณะ” ของตนจะต้องตระหนักว่าทุกคณะเป็นส่วนหนึ่งของ “ชาติไทย” ซึ่งเป็นคณะใหญ่ที่สุด [3]
พระองค์ ทรงสร้างสถาบันหรือชุมชนใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ที่จะรักและเสียสละให้กับชุมชนเหล่านั้น และถ่ายทอดความรักความเสียสละมาสู่ชาติ “คณะ” ที่สำคัญอันหนึ่งได้แก่ “ตระกูล”(ทรงริเริ่มการใช้นามสกุลในประเทศไทย) ซึ่งก็คือ “ครอบครัว” นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อ “ชาติ” ของพระองค์คือชาติที่สามัคคี กลมเกลียว รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่ขัดแย้ง และทำตามหน้าที่ “ครอบครัว” ตามอุดมคติของพระองค์จึงต้องเป็นครอบครัวที่มีแต่ความรัก ความกตัญญู ความผูกพัน ความสามัคคี ความกลมเกลียว ไม่แตกแยก ไม่หย่าร้างด้วยเช่นกัน
ต่อ มาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลได้แทรกแซงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมากขึ้น เพราะการแต่งงาน การมีครอบครัว ย่อมหมายถึงการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความเจริญมั่นคงของชาติ ในช่วงนี้เองเริ่มมีการส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำการแต่งงานสร้างครอบครัว มีการนำเสนอแนวทางการดำเนินชีวิตสมรสและแนวทางในการแก้ปัญหาชีวิตสมรส มีการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการสมรสขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อความสะดวกใน การสมรส อันคำนึงถึงความประหยัด ชี้แนะเกี่ยวกับการตรวจร่างกายก่อนสมรส รวมไปถึงการกำหนดพิธีสมรสมากคู่ในคราวเดียว [4]
การ เน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ของชาติเปรียบดังความสัมพันธ์ของครอบครัวถูก ตอกให้ลงลึกในความรู้สึกของผู้คนมากขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งใช้ลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกหรือที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ โดยมีหลวงวิจิตรวาทการและพระยาอนุมานราชธนเป็นปัญญาชนเบื้องหลังคนสำคัญ นโยบายต่างๆ ของจอมพลสฤษดิ์จึงสะท้อนการเป็นผู้นำแบบ “พ่อขุน” ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือ “ลูกๆ” ด้วยความเมตตา การรักษาความเรียบร้อยในครอบครัว และการส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม เป็นต้น [5]
ความ สัมพันธ์อันสมบูรณ์แบบในครอบครัว ระหว่าง “พ่อ-แม่-ลูก” ได้ถูกเน้นย้ำให้มากยิ่งขึ้นไปอีกในสมัยรัชกาลปัจจุบัน มีการเรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกลาปัจจุบันว่า “พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” มีการประดิษฐ์วันพ่อ วันแม่ และวันเด็กขึ้นมา ซึ่งในวันเหล่านี้ก็จะตามมาด้วยนิทรรศการเพื่อเน้นย้ำให้เราตระหนักว่าใคร เป็น “พ่อ” ของชาติ ใครเป็น “แม่” ของชาติ และใครเป็น “ลูกๆ” ของชาติ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความพยายามที่จะรักษาและตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบ ไทยๆ เอาไว้ นั่นก็คือความสัมพันธ์แบบพ่อปกครองลูกนั่นเอง และเมื่อผู้ปกครองถูกเปรียบเป็น “พ่อ-แม่” พลเมืองหรือผู้ถูกปกครองถูกเปรียบเป็น “ลูก” ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองจึงต้องเป็นความสัมพันธ์ ที่สงบเรียบร้อย รู้หน้าที่ รู้ที่ต่ำสูง กตัญญูรู้คุณ ไม่เบาะแว้ง ไม่แตกแยก และเต็มไปด้วยความรักความสามัคคี
การเน้น “ความรัก” ความผูกพัน ความสามัคคี ของผู้คนใน “ชาติ” ที่ถูกเปรียบดัง “ครอบครัว” ได้ทำให้สถาบันครอบครัวไทย ถูกหล่อหลอมไปด้วยทัศนคติแบบชาตินิยมไปด้วย ครอบครัวแบบไทยๆ จึงต้องเป็นความสัมพันธ์ที่รัก-ผูกพัน-สามัคคี แตกแยกไม่ได้ เมื่อเลือกแล้วก็ต้องช่วยกันประคับประคองความสัมพันธ์แบบ “พ่อ-แม่-ลูก” กันต่อไป ส่วนใครก็ตามที่ทำตามกรอบครอบครัวที่สมบูรณ์แบบไทยๆ ไม่ได้ ก็จะต้องกลายเป็นคนที่มีปัญหา ไม่สมบูรณ์ และมีอะไรผิดแปลก และจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเมื่อคุณไม่สามารถประคับประคองอุดมคติครอบครัวแบบไทยเอาไว้แล้วละก็ คุณย่อมอาจเป็นปัญหา และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะประคับประคองความสัมพันธ์หรืออุดมคติของการปกครอง แบบไทยเอาไว้ไม่ได้เช่นเดียวกัน
วาทกรรมเรื่องความรักความผูกพัน ความสามัคคีเช่นนี้เองที่บีบคั้นให้คนที่หย่าร้างกัน คนที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ รู้สึกบกพร่อง รู้สึกว่าตนไม่สมบูรณ์ จนเกิดความกลัว ความวิตกกังวลที่ล้นเกินมากไป
เชิงอรรถ
[1] โปรดดูประเด็นนี้ใน สายชล สัตยานุรักษ์, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535), สนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการวิจัย, พ.ศ.2550,[2] สายชล สัตยานุรักษ์, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535), สนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการวิจัย, พ.ศ.2550, หน้า 20.
[3] เรื่องการสร้าง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” สมัยรัชกาลที่ ๖ นี้ผู้เขียนใช้ข้อมูลจาก สายชล สัตยานุรักษ์, เพิ่งอ้าง, หน้า ๖๖-๑๐๕.
[4] โปรดดูใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ วันแม่ในทศวรรษ 2480: เซ็กส์ ความรักกับความเป็น “แม่พันธุ์” แห่งชาติ ในhttp://prachatai.com/journal/2009/08/25415
[5] ดูใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2548.