ที่มา มติชน
โดย จำลอง ดอกปิก
(ที่มา คอลัมน์ระหว่างวรรค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2554)
รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กำลังเข้าสู่ภาคการบริหารราชการแผ่นดินเต็มรูปแบบ นโยบายหลายเรื่องที่ประกาศเป็นคำมั่นสัญญา ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมากว่า ภาคปฏิบัตินั้นจะทำได้จริงหรือไม่ และครบถ้วนสมบูรณ์เพียงใด
ที่กล่าวถึง และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาค่อนข้างมาก มีอยู่อย่างน้อย 2 เรื่อง นั่นคือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และเงินเดือนแรกเข้าสำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท
นโยบาย ค่าแรง 300 บาทนั้น นอกจากผู้มีส่วนได้-เสียโดยตรง คือนายจ้างผู้ประกอบกิจการ กับฝ่ายลูกจ้างแล้ว ยังมีภาควิชาการ สถาบันต่างๆ ออกมาชี้ข้อดี-ข้อด้อย แสดงความห่วงใยผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ในทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันกับนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท ที่ต้องกระทบงบประมาณอย่างแน่นอน สำหรับการเพิ่มเงินเดือนขั้นต้นข้าราชการบรรจุใหม่ และอาจหมายรวมถึงต้องขยับในระดับถัดไปเพื่อความเป็นธรรมด้วย
กระนั้นไม่ว่ารัฐบาลจะผลักดัน 2 เรื่องนี้ได้สำเร็จ ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งเป้าหมายตัวเลข และระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม
ด้าน หนึ่งย่อมถือได้ว่า สังคมได้กำไรจากสองเรื่องสองนโยบายนี้แล้ว เมื่อมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะ วิพากษ์วิจารณ์ ศึกษาผลดี-ผลเสียอย่างจริงจัง พร้อมกับเสนอแนะทางออก เพื่อมิให้เกิดผลกระทบรุนแรง
ส่วนใหญ่เป็นทางออกที่ให้การยอมรับว่า ถึงเวลาต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของคน 2 กลุ่มนี้ และถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไม่ เอารัดเอาเปรียบ
ยอมรับความจริงว่า ค่าแรงและเงินเดือนข้าราชการปัจจุบันนั้น ไม่เพียงพอและเหมาะสมต่อพื้นฐานการครองชีพ
ไม่ ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง 300 บาท หรือแม้แต่เงินเดือน 15,000 บาท ทางออกหรือข้อเสนอแนะ ภายหลังการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล ล้วนแต่เป็นไปในทิศทางบวกทั้งสิ้น
นั่นคือแทบทุกฝ่ายยอมรับและเห็น ตรงกันว่า ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และต้องปรับฐานเงินเดือนข้าราชการแรกเข้าสำหรับผู้จบปริญญาตรี เหลือแต่เพียงวิธีการเท่านั้นว่า เรื่องค่าแรงนั้น จะปรับขึ้นรวดเดียว หรือค่อยเป็นค่อยไป เงินเดือนข้าราชการจะขึ้นอย่างไร ซ่อนอยู่ในรูปค่าครองชีพ ปรับฐานใหม่ ฯลฯ
เห็นทิศทางและแนว โน้มชัดเจนยิ่งว่า ผู้ใช้แรงงาน และผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีใหม่นั้น จะได้ปรับขึ้นค่าแรง และเงินเดือนใหม่อย่างแน่นอน
จะเรียกว่าเป็นอานิสงส์เบื้องต้นจากนโยบายเพื่อไทยก็คงไม่ผิดนัก!
สำหรับ เรื่อง 15,000 บาทนั้น มีไอเดียเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว อย่างแนวคิดท่านผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คุณวลัยรัตน์ ศรีอรุณ ก็เข้าท่าดี ขออนุญาตนำมาถ่ายทอด
ผู้อำนวยการสำนักงบฯบอกว่า โครงสร้างเงินเดือนข้าราชการเริ่มต้น วุฒิปริญญาตรี หรือระดับปฏิบัติการ ซี 3 นั้นประมาณ 8,000 บาท สูงสุดระดับ 11 เงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท
หาก พิจารณาเส้นกราฟปัจจุบัน อยู่ในลักษณะลาดชันมาก อธิบายได้ง่ายๆ คือช่วงต้นของชีวิตราชการได้รับเงินเดือนน้อยและขั้นที่ขึ้นแต่ละปีก็น้อย มากๆ จึงจำเป็นต้องปากกัดตีนถีบ และค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นไปกินเงินเดือนสูงๆ ในช่วงก่อนวัยเกษียณ ซึ่งจะเห็นว่ามีเส้นกราฟชีวิตที่ลาดชันทำมุม 40-45 องศา
แนวคิดใหม่นี้ คือ การทำให้เส้นกราฟเงินเดือนข้าราชการอยู่ในลักษณะลดความลาดชันลง เกือบเป็นแนวราบ ข้าราชการปริญญาตรีจบใหม่จะมีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 40,000-50,000 บาท วิธีการนี้จะทำให้องศาเส้นกราฟเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณใน ระยะยาว แม้กระทบงบประมาณระยะแรก แต่ในท้ายที่สุดแล้วเม็ดเงินที่รัฐบาลจ่ายจริงให้แก่ข้าราชการระหว่างจุด เริ่มต้นที่ 8,000 บาท กับ 15,000 บาท จะใกล้เคียงกันมาก ทั้งนี้เนื่องจากการกำหนดเพดานเงินเดือนสูงสุดใหม่นั้น จะไม่เกิน 50,000 บาท
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาเป็นแบบนี้ ทำให้ข้าราชการหนุ่มสาวมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น เพราะได้รับเงินเดือนสูงโดยไม่ต้องรับจ๊อบอื่นๆ นอกเวลาราชการ
ช่วงวัยเริ่มต้นของการทำงานถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกคนอยากมีบ้าน มีรถยนต์ มีครอบครัว แต่เงินเดือนกลับไม่พอแม้จุนเจือครอบครัว
เรื่องนี้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณหารือกับปลัดกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเบื้องต้นแล้ว!
เป็นรูปธรรมอีกขั้นของนโยบาย 15,000 บาท ที่น่าสนับสนุน
ครับ หากคนหนุ่ม-สาว หรือใครต่อใครไม่ต้องปากกัดตีนถีบแล้วย่อมมีไฟ มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน สิ่งดีงามในสังคมคงตามมาอีกมากมาย