ที่มา ประชาไท
ประเด็น นี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ คือ ประเด็นแรก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพราะถูกศาลอาญามีคำสั่งให้เพิกถอนการประกันตัวในคดีก่อการร้าย และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หรือไม่
ประเด็นที่สอง เกี่ยวเนื่องจากประเด็นแรก สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายจตุพร พรหมพันธุ์ สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่
รัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 (ฉบับคณะรัฐประหารฉบับนี้) ระบุไว้ในมาตรา 101 ว่าด้วย คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 102 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครเป็น ส.ส. ซึ่งบุคคลที่จะสมัครเป็น ส.ส.นั้น ต้องมีทั้งคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามความที่ระบุไว้ใน 2 มาตรานี้
มาตรา 101 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น ไม่มีข้อใดที่เกี่ยวข้องกับการถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เพราะกล่าวถึงโดยทั่วไป เช่นว่า บุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ซึ่งนายจตุพร ก็มีคุณสมบัติตามมาตรานี้ ส่วนในมาตรา 102 ระบุลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เช่น ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 100 (1) คือ ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช หรือ (2) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และข้อห้ามตามมาตรา 102 (4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
โดยคุณสมบัติ ตามมาตรา 100 (3) ที่ว่า ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย นายจตุพรก็ไม่อยู่ในลักษณะต้องห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และหากจะพิจารณาว่าอาจเข้าข่ายไม่มีสิทธิเป็น ส.ส. ตามมาตรา 102 (4) ก็ไม่ได้ เพราะ (4) ของมาตรา 102 มีการห้ามต้องคำพิพากษให้จำคุกและถูกขังอยู่โดยหมายของศาล แต่นายจตุพรยังไม่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก
เมื่อพิจารณาทั้งสองมาตรา ประกอบกันแล้ว ไม่มีเหตุใดๆ ที่ทำให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่มีสิทธิได้รับการ ประกาศให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในมาตรา 105 [1] ว่าด้วยสมาชิกภาพของ ส.ส.เริ่มนับแต่วันเลือกตั้ง และ มาตรา106 ว่าด้วยเรื่องการสิ้นสุดลงของสมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายจตุพร ก็ไม่เข้าข่ายการขาดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ตามมาตราดังกล่าว คือ ไม่เข้าข่าย ตามมาตรา 106 (4) (5) ที่อ้างว่าขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 101 และ มาตรา102 และ (11) เพราะนายจตุพร พรหมพันธุ์ ยังไม่ถูกศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (ดูมาตรา 106 )
นายจตุพร พรหมพันธุ์ อาจถูกเพิกถอนสิทธิการเป็น ส.ส.ได้ ด้วยเหตุเดียว คือ ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 106 (6) ที่ระบุว่า คุณสมบัติอื่นตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งอาจมีข้อกำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวว่า การที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง ำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ซึ่งเมื่อพิจารณาในประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นประเด็นเล็กน้อย เพราะเหตุว่า การที่นายจตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง เพราะศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกจากเรือนจำไปเลือกตั้ง
กรณีที่ศาล ไม่อนุญาตให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะการที่นายจตุพรตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและถูกควบคุมตัวในเรือนจำโดย ไม่ได้รับการประกันตัวนั้น เป็นปัญหาว่าด้วยสิทธิผู้ต้องหา ซึ่งต้องยึดถือหลักการว่า ก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคท้าย) ซึ่งหมายความว่า การที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการประกันตัว เท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เพราะคนที่ยังไม่ถูกศาลวินิจฉัยว่าเป็นผู้กระทำผิด ต้องไม่นำตัวไปคุมขังไว้เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดนั่นเอง
ดังนั้น จึงเป็นการเสมาะสมและชอบยิ่งนักที่ กกต.ได้ประกาศรับรองสถานภาพการเป็น ส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ เพราะหากไม่ประกาศรับรอง เท่ากับว่า กกต.เป็นผู้ละเมิดหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง อันไม่เป็นผลดีต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหาษััตริย์ภายใต้รัฐ ธรรมนูญ ตามแบบอย่างของนานาอารยประเทศ
[1] มาตรา ๑๐๕ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๐๖ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐๑
(๕) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๒
(๖) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๒๖๕ หรือมาตรา ๒๖๖
(๗) ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ให้พ้นจาก การเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ลาออกหรือพรรคการเมือง มีมติ เว้นแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติคัดค้านว่า มติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมิได้มีลักษณะตามมาตรา ๖๕ วรรคสามให้ ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าว มีลักษณะ ตามมาตรา ๖๕ วรรคสาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน สามสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย
(๘) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น เป็นสมาชิก และไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรค การเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุด สมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น
(๙) วุฒิสภามีมติตามมาตรา ๒๗๔ ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๙๑ หรือศาลฎีกามีคำสั่งตามมาตรา ๒๓๙ วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติหรือศาลมีคำ วินิจฉัยหรือมีคำสั่ง แล้วแต่กรณี
(๑๐) ขาดประชุมเกินจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยไม่ได้ รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร
(๑๑) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการ รอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท