ที่มา มติชน
โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ
(ที่มา คอลัมน์ที่เห็นและเป็นไป หนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2554)
|
ประชาชนกว่า 15 ล้านคน ส่ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ใน 15 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นมวลชนเสื้อแดง ที่ยืนหยัดต่อสู้เคียงข้าง "ทักษิณ ชินวัตร" อีกส่วนหนึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ที่เลือกเพราะเห็นว่า "พรรคเพื่อไทย" น่าจะบริหารประเทศได้ดีกว่าพรรคอื่น
แต่ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มไหน หลังกาบัตรเลือกตั้งแล้ว ดูเหมือนว่าสิทธิที่จะเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ทางการเมืองหมดลงตรงนั้น
ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คนที่ตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลคือประชาชน
แต่หลังจากนั้น การเมืองเข้าสู่ความเป็นจริงอีกแบบ
ผู้ที่จะทำให้รัฐบาลอยู่หรือไป ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ แต่เป็นบางกลุ่มที่มีอิทธิพลการชี้ทิศทางทางการเมือง
ภาพง่ายๆ ย้อนกลับไปดูทฤษฎี "สองนครา" ของ "ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์"
คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล แต่คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล
นั่นเป็นภาพคร่าวๆ เพื่อความเข้าใจ ความจริง อาจจะไม่ตรงอย่างนั้นเสียที แต่ก็ไม่หนีไปจากแนวคิดนี้
บทบาท ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อาจจะถูกใจคนเสื้อแดง ที่มีความเชื่อว่า "ทักษิณ" จะใช้ความเป็นผู้นำที่ชาญฉลาด สร้างสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ แล้วใช้ความสัมพันธ์นั้นมาเป็นประโยชน์กับประเทศในอนาคต
แต่สำหรับฝ่ายตรงกันข้าม "ทักษิณ ชินวัตร" ได้เปิดช่องให้เข้าโจมตีรัฐบาล ยิ่งมีเรื่องราวของ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ" ซึ่งภาพแรกที่ประชาชนรู้สึกคือถูกส่งเข้ามาดูแล "ทักษิณ" เข้าไปมีบทบาทในเรื่องนี้
กลายเป็นบาดแผลบะเร่อบะร่าที่ของรัฐบาลชุดนี้ไปทันที ในมุมมองของฝ่ายตรงกันข้าม
ที่บอกว่า "ทักษิณ ชินวัตร" ทำให้ภาพการเมืองไทยชัดขึ้นก็เพราะเริ่มมองเห็นชัดเจนแล้วว่า การเมืองไทยยังไปไม่ถึงไหน
แม้ว่า "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" จะมีประชาชนกว่า 15 ล้านคน เป็นผนังให้อิง
แต่ "ยิ่งลักษณ์" จะอยู่หรือไป อยู่ได้นานแค่ไหน กลับกลายเป็นอิทธิพลจากคนที่เสียงดังกว่า
ประชาชน ส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกเฉยกับความเคลื่อนไหวของ "ทักษิณ ชินวัตร" แต่กระแสที่ถูกสร้างให้เป็นเรื่องเลวร้าย เป็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลที่ไปเอื้อให้ "ทักษิณ" ถูกจุดอย่างง่ายดาย
เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ขยายความกันไปใหญ่โต โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามา แทบจะช่วยอะไรไม่ได้เลย
การเมืองไทยยังเหมือนเดิม ประชาชนได้แค่กำหนดผลเลือกตั้ง แต่จะเป็นรัฐบาลได้หรือไม่ยังขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางการเมือง
ยังเป็นภาพกว้างๆ แบบ "คนต่างจังหวัดเลือก มาให้คนกรุงเทพฯล้ม"
ถ้าจะอยู่ให้ยาว "ทีมงานของเพื่อไทย" จะต้องแก้เกมนี้
ทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่มีบทบาท และลดอิทธิพลของคนส่วนน้อยที่เสียงดังกว่าลง
ซึ่งเรื่องนี้การตั้งโจทย์นั้นง่าย แต่การทำเพื่อแก้โจทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย
ความเคลื่อนไหวของ "ทักษิณ ชินวัตร" ทำให้เห็นชัดว่า "เกมการเมือง" สำคัญกับการอยู่ได้หรือไม่ของรัฐบาล มากกว่า "ผลงาน" และ "นโยบาย"
เพราะจุดตายคือรัฐบาล คือ "กฎหมาย" ที่คนเสียงดังกว่า พยายามหาประเด็น และสร้างกระแสกดดัน
ไม่ใช่ "ผลงาน" อย่างที่ประชาชนเชื่อกัน
จะแก้เกมการเมือง ต้องอาศัยมือการเมือง แค่นักบริหารมืออาชีพยังไม่พอ
ต้องเข้าใจธรรมชาติของการเมืองไทยที่ยังไปไม่ถึงไหนด้วย