WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, August 27, 2011

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ที่มา ประชาไท

"ผม เป็นอำมาตย์ 100% ในชีวิตไม่เคยทำอะไร นอกจากเป็นข้าราชการ อำมาตย์ก็คือข้าราชการ มียศ มีศักดิ์ ใช่...แล้วไง แล้วตอนบ้านเมืองจนมุม ก็มีแต่พวกอำมาตย์กู้ชาติ ถ้าผมตายก็ตาย ไม่รู้จะเตือนอย่างไร จำนวนคนอวิชชามันเยอะ ถ้าเขาฟังก็ฟัง เขาด่าเราก็ไม่ด่าตอบ ทำตามบทบาทหน้าที่ ทำได้เท่านี้ แล้วก็ทำไม่เคยหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก็ทำงาน" [1]

สุเมธ ตันติเวชกุล นับเป็นบุคคลสำคัญของป้อมค่ายฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ชีวิตมีสีสันอย่างมาก เขาเรียนระดับปริญญาตรีที่เวียดนาม มีประสบการณ์ที่ฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาลุยงานต่อสู้คอมมิวนิสต์ และคุมโครงการในพระราชดำริ ว่ากันว่าเขาทำงานไม่หยุด แม้อายุจะเลยวัยเกษียณมาแล้วก็ตาม ด้วยความที่เขาเป็นคนทำอะไรจริงจัง เป็นผู้ใหญ่เสียงดังโผงผาง พูดจาขวานผ่าซาก แต่ก็เปี่ยมไปด้วยบารมีอันเป็นที่เกรงใจแก่ผู้น้อยทั้งหลาย

ระยะ หลังพบว่า เขามีพฤติกรรมที่น่ากังขา และมีความลักลั่นไม่สมเหตุสมผลในคำเทศนา ดุจจะสวนทางกับสิ่งที่เขากระทำ แต่ด้วยขนบของสังคมไทยที่ยังคงรักษาลำดับชั้นของสังคม มักจะละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ “ผู้อาวุโส” “คนดี” นี่จึงทำให้ “ผู้อาวุโส” “คนดี” จึงทำหน้าเคร่งขรึมลอยหน้าลอยตาเข้ามามีบทบาทสำคัญในสถาบันทางสังคมมากขึ้น เรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยความเกรงใจหรือเกรงกลัวก็ตาม ขณะที่หากเป็นคนที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมและอยู่ในวัยเยาว์ กลับต้องเผชิญกับคำปรามาส และดูถูก การอ้างเหตุผลและถกเถียงกันอย่างอิสระ เป็นหนทางที่น้อยครั้งที่จะนำไปสู่การหาคำตอบ ขณะที่ข้ออ้างของการอาบน้ำร้อนมาก่อน ประสบการณ์ เส้นสายและการอุปถัมภ์ กลับเป็นยาสามัญประจำบ้านในการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาของชาติ

สุเมธจึงเป็นอีกหนึ่งในคนดีและผู้อาวุโสที่ผู้ เขียนเห็นว่า ควรถูกตั้งคำถามจากพฤติกรรมและปรากฏการณ์ที่ผ่านมา การที่ใครคนใดคนหนึ่งผลิตข้อเขียนและอุดมการณ์ อันส่งผลกระทบต่อสังคมสาธารณะ โดยไร้การตรวจสอบและการตั้งคำถามนั้น มิใช่สัญญาณที่ดีของสังคมประชาธิปไตย มิใช่หนทางของสังคมแห่งความหวังและจินตนาการ ผู้เขียนเชื่อว่าการที่เราจะปิดตาแกล้งทำตาบอดข้างเดียวให้กับ “การเมืองของคนดี” อาจทำให้เรามืดบอดไปจริงๆ กับหนทางการไปข้างหน้า และนั่นคือ ความฉิบหายที่เราต้องแบกรับ

บทความนี้ตั้งใจเสนอ เนื่องในโอกาสที่ครบ 6 รอบนักษัตรชีวิตของสุเมธใน วันที่ 26 สิงหานี้ โดยใช้ข้อมูลหลักมาจากหนังสือ 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่จัดทำโดยคณะทำงานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุไว้ว่าจัดทำ “เพื่อระลึกถึงคุณูปการที่ท่านได้ผลักดันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มั่นคง และต่อเนื่อง” [2]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
จัดทำโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถือกำเนิดในตระกูลอำมาตย์

สุเมธ เกิดในตระกูลโบราณที่เคยเป็นเจ้าเมืองและคหบดีเมืองเพชรบุรีมาก่อน เขาลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2482 สุเมธเล่าว่า เขาได้รับการสอนมาเป็นอย่างดีในคุณสมบัติที่ต้องนอบน้อมถ่อมตน ถึงขนาดว่า เวลาทวดพาไปตลาด เจอแม่ค้าทวดสอนให้ยกมือไหว้แม่ค้า สุเมธเข้าใจว่า “ถูกเลี้ยงดูและโตขึ้นมาอย่างแบบนั้น คือไม่ลืมตัว ถ่อมตน ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันในสังคม” [3]

เขา เล่าว่า เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมของบ้านเรือนไทยหมู่ที่มีอยู่ด้วยกัน 5 หลัง ขณะที่มารดาคือ ประสานสุข ตันติเวชกุล ที่มีคำนำหน้าเป็นท่านผู้หญิง ทำงานเป็น “ต้นเครื่อง” ในวังสวนจิตรลดา เป็นข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [4] ขณะที่บิดาคือ อารีย์ ตันติเวชกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลถนอม กิตติขจร [5] ในปี 2501 เป็นรัฐบาลที่ 2 หลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพิบูลสงครามในปี 2500 อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์ได้ระบุว่า พ่อและแม่ของเขาแยกทางกันอยู่ตั้งแต่เขายังอายุ 5 ปี ได้ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาด้วย [6] นั่นคือ

“โชค ดีที่มีแม่เป็นหลัก แม่แทนทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าสังเกตให้ดีกิริยามารยาทของผมบางทีเป็นผู้หญิง เพราะถูกแม่สอนมาตลอด เดินดังก็ไม่ได้ต้องโดนเอ็ด" แม้เขาจะไม่ได้ตัดพ้อและฟูมฟาย แต่ก็ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่ดีงามรายล้อมตัวเขาอยู่ ถึงขนาดกล่าวว่า “หากเกิดมาในสลัมแล้วชีวิตต้องแก่งแย่งปากกัดตีนถีบ เพื่อความอยู่รอด เมื่อโตมาก็ต้องมีชีวิตแบบนั้น ฉันใดก็ฉันนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม”

ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความเท่าเทียมในสายตาของสุเมธนั้นเป็นอย่างไรกันแน่?

ชีวิต ของสุเมธในวัยเรียน ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาที่เพชรบุรีเพื่อหลบไฟสงคราม พอจบสงครามโลกครั้งที่ 2 สุเมธก็กลับไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก [7] จากนั้นเขาได้ศึกษาต่อ ณ โรงเรียน “ผู้ดี” วชิราวุธวิทยาลัย ราวๆปี 2497-2498 คนดังร่วมรุ่นก็คือ อดิศัย โพธารามิก, พล.อ. แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ฯลฯ [8] และในสถาบันแห่งนี้เองที่เป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรก

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

สุเมธ ตันติเวชกุล ในเครื่องแบบโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

เล่าเรียนถึงเวียดนาม ลาว ฝรั่งเศส

หลัง จากจบวชิราวุธวิทยาลัย สุเมธมีโอกาสไปศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศเวียดนาม ในขณะนั้นยังอยู่ในสถานการณ์สงครามที่เวียดนามต้องการจะปลดปล่อยตนเองจาก ประเทศเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ทำให้เขาต้องย้ายเข้าไปเรียนต่อในลาว และฝรั่งเศสตามลำดับ [9] สุเมธบันทึกว่า ในครั้งนั้นได้โอกาสรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ที่ทั้งสองพระองค์เสด็จเวียดนามเมื่อ วันที่ 18-21 ธันวาคม 2502

หลังจากที่ได้อนุปริญญาตรีทางปรัชญาที่ลาวแล้ว จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกรอนอบ ปริญญาโทและเอกทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมองเปลิเอ วิทยานิพนธ์ของสุเมธทำเรื่อง ระบบการปกครองแบบทหาร เป็นตัวจบการศึกษาในปี 2512 [10] วิทยานิพนธ์นี้ได้รับพิจารณาให้เป็นวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม พร้อมคำสดุดีจากคณะกรรมการ สำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสนั้น เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากสังคมไทย ทำให้ได้พบเจอประสบการณ์ที่เขาไม่อาจหาได้ สุเมธเล่าว่าเมืองที่เขาเคยอยู่ Lyon มีการนัดหยุดงานประท้วงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นเขายังเคยทำงานพิเศษเป็นกรรมกรในโรงงานน้ำแร่ Evian ที่นั่นทำให้เขาเห็นความแตกต่างจากสังคมไทยอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ การที่ประธานบริษัทที่เข้ามาตรวจงาน หากเห็นว่างานล้นก็จะเข้ามาช่วย [11] สุเมธเลือกอธิบายว่า นั่นคือการปกครองบริหารคนอย่างเข้าถึงจิตวิทยา ว่า “อย่าสั่งอย่างเดียวต้องร่วมทำ” ด้วย นั่นคือวิธีคิดแบบคนที่ถูกฝึกมาให้เป็นเจ้าคนนายคน ขณะที่โอกาสการทำงานของสุเมธนั้น มาจากโครงสร้างระบบการหมุนเวียนแรงงานที่เปิดโอกาสให้กรรมกรหยุดพักร้อน และเป็นช่วงที่รับนักศึกษาเข้ามาทำงานแทน

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ขณะศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

อย่าง ไรก็ตามประสบการณ์กรรมกรครั้งนั้นสุเมธถือว่า ได้สอนอะไรหลายอย่างให้กับเขา “ให้ความรู้สึกมากมาย รู้สึกถึงความเหนื่อยยากของชีวิตกรรมกร เงินแต่ละสิบแต่ละร้อยต้องแลกกับหยาดเหงื่อท่วมกาย รู้สึกและรู้ค่าของเงินอีกมาก” [12] ขณะที่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 พรรคการเมืองอย่าง เพื่อไทย นำเสนอนโยบายค่าแรง 300 บาท รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆเสนอนโยบายประชานิยม สุเมธกลับชี้ว่า

“ผมเหมือนอยู่ในความฝันเวลาขับรถไป เห็นทุกป้ายสร้างความฝันให้ผมว่าแรงงานระดับล่างกำลังจะได้รับเงิน 300 บาทต่อวัน และจะปลดหนี้ไม่มีหนี้แล้ว...แต่เผลอแป๊บเดียวความฝันผมก็หายไป นโยบายต่างๆ กำลังบอกว่าเศรษฐกิจดี แต่มองว่าจะส่งผลเสียนานัปการไม่เหลืออะไรเลย คนไทยแม้แต่เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ตามบ้านนอกมีคนเอาของไปล่อ เกิดความอยากได้ กลายเป็นคนหิวกระหายและนิสัยเสียไปหมด” [13]

กลับเมืองไทย การเข้าเฝ้า และชีวิตที่ถูกลิขิต

สุเมธ กลับมาอยู่เมืองไทยในปี 2512 ด้วยความที่จบรัฐศาสตร์การทูตจึงได้งานที่กระทรวงต่างประเทศ เข้าใจว่าก่อนจะเข้าทำงาน ได้ไปกราบในหลวงที่หัวหินด้วย ในฐานะที่สุเมธเป็นลูกข้าราชบริพาร การเข้าเฝ้าครั้งนั้น ในหลวงรับสั่งถามเรื่องการศึกษาและสถานที่ทำงาน เมื่อทรงทราบว่าเป็นกระทรวงต่างประเทศพระองค์ก็ทรงเฉยและไม่ทรงคุยต่อ ในเวลาต่อมา ก่อนที่สุเมธจะเข้าทำงาน ณ กระทรวงต่างประเทศ ก็ได้ข่าวจากเพื่อนว่า ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องการคนเรียนจบปริญญาเอก และได้ชักชวนสุเมธให้มาทำงานร่วมกัน สุเมธจึงกลับไปเข้าเฝ้าในหลวงอีกครั้ง และกราบบังคมทูลเรื่องดังกล่าว ในครั้งนี้พระองค์ทรงรับสั่งว่า “ดีนะสภาพัฒน์ฯ ช่วยเหลือประเทศที่นี้ดีๆ” จากนั้นก็มีพระกระแสรับสั่งคุณหญิงมณีรัตน์ บุนนาค [14] ว่า “ส่งสุเมธไปพบคุณหลวงเดชสนิทวงศ์ พรุ่งนี้”

นั่นคือ ความเป็นมาของงานแรกที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในตำแหน่ง วิทยากรโท กองวางแผนกำลังคน เมื่อปี 2512 [15] ปีต่อมาเขาได้ย้ายไปสังกัด กองวางแผนเตรียมพร้อมทางเศรษฐกิจ ในบันทึกยังระบุว่า กองวางแผนเตรียมพร้อมนั้นมีไว้เตรียมรับกับสงคราม จนคลอดออกมาเป็น “แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ” ไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเขาแสดงความเห็นว่า แผนดังกล่าวเมื่อเสร็จแล้วก็เก็บอยู่ในตู้มิได้มีปฏิบัติการใดๆ สุเมธได้โต้เถียงกับพวกนายทหารที่ดูแลนโยบายด้านความมั่นคง เกี่ยวกับยุทธวิธีทางทหาร สุเมธไม่เห็นด้วยในการประเมินว่าจะต้องใช้สงครามเต็มรูปแบบต่อสู้กับการรบ แบบกองโจรของคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามในครั้งนั้น เขาถือว่า ได้รับการดูถูกว่าเป็นเพียงความเห็นของข้าราชการพลเรือน จึงทำให้เขามีมานะในการเรียนต่อที่วิทยาลัยการทัพบก ปรากฏว่าเขาสำเร็จการศึกษาในรุ่น 23 ที่มีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ประมณฑ์ พลาสินธุ์ (อดีตผู้บัญชาการทหารบก) ศิรินทร์ ธูปกล่ำ ฯลฯ [16]

หลัง 6 ตุลาคม 2519 ยุครัฐบาลหอย ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขณะนั้นสุเมธ อยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 6 และรักษาการหัวหน้ากองวางแผนเตรียมพร้อมและพัฒนาเพื่อความมั่นคง เขาเล่าว่า ได้เข้าพบเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สิทธิ เศวตศิลา ในยศพลอากาศเอก เพื่อนำเสนอแนวทางการต่อสู้ว่า ควรเปลี่ยนเป็นแนวทางการพัฒนาในพื้นที่สีแดง ใช้การต่อสู้ทางความคิด ครั้งนั้น สิทธิ รับปากว่าจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เงื่อนไขของสุเมธในการแก้ไขปัญหาก็คือ จะต้องมีอำนาจและงบประมาณอยู่ในมือ ส่วนอำนาจในระดับชาติ ใช้อำนาจของคณะกรรมการเตรียมพร้อมแห่งชาติอนุมัติแผนและโครงการ แล้วนำเรื่องขออนุมัตินายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ขณะที่อำนาจเชิงปฏิบัตินั้น ขอให้แต่งตั้งเขาเป็นเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับ พื้นที่กองทัพภาคทั้ง 4 ภาค โดยมีแม่ทัพภาคเป็นประธาน โดยที่อำนาจก็ยังอยู่ใน อำนาจสั่งการของแม่ทัพภาคในฐาน ผู้บัญชาการกองอำนวยการรักษาความมั่่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค [17]

ใน ที่สุด นายกรัฐมนตรีก็อนุมัติ การดำเนินการครั้งนั้นมี บุญญรักษ์ นิงสานนท์ เป็นมือขวา และพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต เป็นมือซ้าย ครั้งนั้น สุเมธเองก็ได้บรรจุเป็นกำลังพลของ กอ.รมน. ความหมายของ การบรรจุ นั้นหมายถึง เป็นบุคลากรที่ต้องปฏิบัติการในพื้นที่สู้รบ [18]

สู้สงครามคอมมิวนิสต์ อ้างตัวว่าเป็นต้นตอคำสั่งที่ 66/23

สุเมธ กล่าวอย่างภูมิใจว่า ตั้งแต่ได้รับงานนี้จนถึงปี 2524 เขาได้ลงสนามรบทั่วประเทศที่มีการก่อการร้ายในทุกภาค ลงไปวางแผนวางโครงการโดยการเมืองนำการทหาร ซึ่งเขาอ้างว่า เป็นต้นตอของคำสั่งที่ 66/23 การลงพื้นที่เพื่อประสานกับแม่ทัพภาคต่างๆ ทำให้เขาเจอกับ เปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่2 [19] เขายังเล่าต่อไปว่า “ชีวิตนอนกลางสนามรบ สะพายปืน โดดร่ม ถูกยิง เฉียดกับระเบิด เฮลิคอปเตอร์ตกกลางป่าที่อุทัยธานี”

สุเมธ พยายามบ่ายเบี่ยง กอ.รมน. ที่ได้เสนอบรรจุเป็นกำลังพล แต่ก็ไม่ยอม ซ้ำยังย้อนกลับไปว่า “ป้องกันชาติบ้านเมืองต้องจ้างกันด้วยหรือ” ผู้อ่านต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ในสถานการณ์สงครามเช่นนี้ พวกข้าราชการเหล่านี้จะมีเบี้ยเลี้ยงพิเศษและวันราชการนับทวีคูณ การปฏิเสธคงแค่เป็นการแก้เกี้ยว เพราะในที่สุด กอ.รมน.ก็ตั้งการเบิกจ่ายน้ำมันให้เดือนละ 80 ลิตร เบี้ยเลี้ยงประมาณ 1,000 บาท และได้วันทวีคูณมา 9 ปี [20] ซึ่งกรณีสุเมธ เขาได้อายุราชการเพิ่มตอนเกษียณอีกต่างหาก

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

แม่ทัพภาคที่ 2 เปรม ติณสูลานนท์

แก้ไขแบบไม่ตามก้นฝรั่ง ก็ชนะคอมมิวนิสต์ได้

การ ทยอยเข้ามามอบตัวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หลังนโยบาย 66/23 แสดงให้เห็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของรัฐไทย สุเมธบันทึกโดยไม่พูดให้หมดถึงปัจจัยสาเหตุความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างจริงจัง นั่นคือ สถานการณ์แตกหักระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียตรัสเซีย ความคุกรุ่นของความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ขณะเดียวกันภายใน พคท.เองก็ประสบปัญหาการแตกแยกทางความคิดภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เอง โดยเฉพาะระหว่างคณะนำกับนักศึกษารุ่นใหม่ที่เข้าไปพยายามมีบทบาทในพรรค [21] สุเมธสรุปเอาเองอย่างไร้บริบททางประวัติศาสตร์ว่า ทฤษฎีโดมิโน่อันเป็นการอธิบายถึงการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ฝรั่งเสนอ มาหยุดที่เมืองไทย เพราะ “เราแก้แบบไทยไม่ตามฝรั่งเขาที่ใช้อาวุธมากมายมหาศาล แต่สุดท้ายต้องแก้ไข ‘คนและความคิดอุดมการณ์’ ” ชัยชนะที่ได้มาจากภาวะที่ง่อนแง่นของพคท. ทำให้ฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะสุเมธย่ามใจในการนิยามความสำเร็จอย่างพิลึกพิลั่น เช่นการพูดว่า “เรา(ทำ)ให้สงครามมาร์กซิสต์ ว่าด้วยการต่อสู้ระหว่าง”คนมีกับคนไม่มี” มาเป็นการทำให้ “คนไม่มีเป็นคนมี”” [22]

ขณะที่การอธิบายว่า “เรา ชนะศึกโดยไม่ได้ใช้อาวุธ เราใช้แทรกเตอร์แทนรถถัง เราใช้จอบเสียมแทนเอ็ม 16 เราใช้ สทก. (หนังสือสิทธิทำกิน ในเขตป่าสงวน) ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของแผ่นดิน” [23] ก็เป็นการละเลยที่จะไม่พูดถึงการใช้อาวุธสงครามหนักถล่มฐานที่มั่นของ พคท. ซึ่งเป็นการกสกัดกั้นเชิงยุทธวิธีที่ต้องทำงานควบคู่กัน

ข้าราชการ ซี 22 รับงานโครงการในพระราชดำริควบสภาพัฒน์

หลัง การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเปรม ในปี 2523 ก็ได้มีการตั้ง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งเคยเป็นหน่วยงานหนึ่งในกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [24] เปรมได้ทาบทามสุเมธให้มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วย ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [25]

สุเมธ วิเคราะห์ว่า โครงการพระราชดำริมีลักษณะสนับสนุนยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงภายในของ ฝ่ายทหาร ด้วยการรุกทางยุทธศาสตร์การเมือง เพื่อช่วงชิงพื้นที่เดิมใต้อิทธิพลคอมมิวนิสต์กลับมา และฟันธงว่า โครงการพัฒนาของโครงการพระราชดำริมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงได้ มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการพัฒนาตามแนวทางของรัฐบาล ซึ่งแน่นนอนว่าโครงการฯ มีเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบททุรกันดาร ในลำดับความสำคัญต่ำที่รัฐบาลมองข้ามไป [26]

ต่อ มาในปี 2531 สุเมธก็ได้รับตำแหน่งเลขามูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมูลนิธิมีวัตถุประสงค์เพื่อ “เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว” มูลนิธินี้ในหลวงทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน [27] สุเมธได้รับความไว้วางใจในเรื่องการเงิน จนได้รับฉายาจากในหลวงว่า “ถุงเงิน” [28]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ตำแหน่งสำคัญในมูลนิธิชัยพัฒนา

ภารกิจ อันหนักหนาของสุเมธ ทำให้เกิดที่มาของคำว่า ข้าราชการ “ซี 22” ได้มาจากการทำงานควบ 2 ตำแหน่งงาน นั่นคือ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกปร. ที่อยู่ในระดับ ซี 11 ทั้งคู่ และวลี ซี 22 ก็ยังปรากฏการอ้างอิงอยู่เสมอในหมู่คนรู้จักของสุเมธ ซี 22 จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของสุเมธว่า เป็นคนทุ่มเททำงานหนักและเอาจริงเอาจัง และมีความสำคัญเพียงใดในแวดวงราชการ

เดือน มีนาคม 2535 ก่อนเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม นายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ที่มาจากการรัฐประหาร อนุมัติหลักการแยก กปร. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยยกฐานะเป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามมีผลทางกฎหมายก็เมื่อ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2536 มีผลบังคับใช้ในเดือน กันยายน 2536 แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของหน่วยงานกปร.ที่โตเกินจะอยู่ในสภาพัฒน์ แล้ว

งานเขียน และการสัมมนา การผลิตซ้ำทางอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมโดยสุเมธ

หาก เราจะดูพัฒนาการทางความคิดและการปฏิบัติผ่านร่องรอยที่เป็นลายลักษณ์ อักษรแล้ว จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกที่เขาลงสนามรบกับคอมมิวนิสต์จะมีงานเขียนไม่มาก เท่าที่พบก็คือ การพัฒนาเพื่อความมั่นคงของชาติ (2521) การศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการพัฒนาหมู่บ้านยากจนเพื่อความมั่นคง (2525) “การพัฒนาชนบทตามระบบ กชช.” ใน ชนบทไทย 2527 (2527) “บทบาทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการสนับสนุนความมั่นคงของชาติใน พื้นที่ชนบทของประเทศ” (2529) สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องที่ชนิดา ชิดบัณฑิตได้นำเสนอว่า อุดมการณ์ด้านการพัฒนาของไทยมีความเชื่อมโยงกับสงครามเย็น [29]

โดยเฉพาะเมื่อเขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาในปี 2531 ทำให้เกิดงานเขียนแนวเทิดพระเกียรติในด้านการพัฒนาขึ้น ได้แก่ ในหลวงนักเศรษฐศาสตร์ (2530) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับงานพัฒนา (2531) ในปี 2536 เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) [30] จึงทยอยมีงานทางด้านวิชาการที่เป็นระบบมากขึ้น นั่นคือการจัดสัมมนาดังนี้ การ ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาการเกษตรยั่งยืน (2536 : ฉะเชิงเทรา) การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2537 : ราชบุรี) บทความ “มูลนิธิชัยพัฒนา : พระราชดำริเพื่อนำปวงไทยให้บรรลุถึง “ชัยชนะแห่งการพัฒนา” “ ใน จิตวิทยาความมั่นคง (2538) “แนวพระราชดำริและการพัฒนาชนบท” ใน การ ประชุมวิชาการเรื่อง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเทคโนโลยีชนบท (2538) การสัมมนาเรื่อง การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ครั้งที่ 3 : 2542 : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) แม้กระทั่งการหนังสืออนุสรณ์งานศพในนาม โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2539) [31]

กระแส พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ทำให้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ (ขณะที่สุเมธอ้างว่า ในหลวงตรัสเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2517) ด้วยความใกล้ชิดกับในหลวงและภารกิจงานที่เขารับผิดชอบมีส่วนเกี่ยวข้องอย่าง มากกับชุดความคิดนี้ สุเมธจึงถือว่า เป็นอรรถกถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการเผยแพร่ความคิดนี้ออกสู่สาธารณะมากที่สุด คนหนึ่ง

คนดี มือสะอาด สมถะ ทำงานหนัก มีผลงาน

“การ ทำความดีนั้นน่าเบื่อ ประการถัดไป การทำความดีนั้นมันยาก ทำไมมันยากเพราะมันไปสวนกระแสชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์คือสัตว์อย่างหนึ่งที่ถูกกระตุ้นโดยแรงตัณหา แรงอาฆาต กิเลส ความอยาก” [32] นี่คือ นิยามความดีของสุเมธที่ได้เรียนรู้มาจากในหลวง ความดีเหล่านี้เป็นความบริสุทธิ์ที่อยู่ตรงข้ามกับกิเลส ตัณหา แต่กระนั้นก็มิได้หมายความว่า จะมุ่งให้ทุกคนละกิเลสได้หมด แต่การจะเป็นคนดีนั้นหัวใจสำคัญก็คือ ขอเพียงควบคุมกิเลสให้ได้

คำ สรรญเสริญที่เป็นรูปธรรมของสุเมธ ก็คือ การได้รับรางวัลการันตีความเป็น “คนดี” จากสถาบันต่างๆ ได้แก่ รางวัลบุคคลตัวอย่าง ประจำปี 2537 จาก มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ [33] รางวัลผู้บริหารราชการดีเด่น (ครุฑทองคำ) ปี 2538 จากสมาคมข้าราชการพลเรือน และได้รับโล่ห์รางวัลเชิดชูเกียรติ บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จากสำนักงาน ป.ป.ป. ปี 2540 [34] ที่น่าสนใจก็คือ สุเมธระบุว่า รางวัลนี้ไม่มีใครได้มานานมากแล้วเพราะคนที่ได้ล่าสุดคือ สิทธิ จิระโรจน์ ซึ่งมีอายุห่างจากสุเมธกว่า 20 ปี [35]

แน่ นอนว่า “คนดี” นั้นจะต้องเอาใจใส่พุทธศาสนา ฝักใฝ่ต่อการขัดเกลาทางธรรมของตน สุเมธบันทึกเอาไว้ว่า เขาผ่านการบวชมา 4 ครั้ง เณร 1 ครั้ง และบวชพระ 3 ครั้ง โดยสองครั้งหลังเป็นการบวชวัดป่า เขาเล่าต่อไปว่า ครั้งล่าสุดคือเมื่ออายุได้ 65 ปี หากเทียบแล้วก็อยู่ราวๆปี 2547 ครั้งนั้นบวชอยู่ที่สกลนคร ในสายอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ของพระป่านิกายธรรมยุตในยุคปัจจุบัน [36]

“การ บวชครั้งล่าสุดนี้ทำให้รู้สัจธรรมว่าร่างกายต้องการ อาหารน้อยนิด กินแบบอดอยาก มีน้ำตาลน้อยลง ไขมันก็ไม่อุดตัน ร่างกายก็แข็งแรงแม้ว่าน้ำหนักจะหายไปถึง 8 กก. ไม่ต้องมาอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี มีผ้านุ่งเพียง 4 ผืน กับบาตรเท่านั้น ทำให้ซึ้งสัจธรรมอีกข้อว่า ชีวิตเราเกิดมาจากการขอ อยู่ได้ด้วยความเมตตา มีความสุขที่สุดจากคนที่ไม่มีอะไร...ไม่ต้องรับรู้ในสิ่งที่ไร้สาระ นั่งสมาธิกระทั่งพบพลังจิตอันว่างเปล่า อันเป็นพลังบริสุทธิ์" [37]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

บรรยายพิเศษเรื่อง “ตามรอยเท้าพ่อ”
โครงการบวชพุทธสาวิกาภาคฤดูร้อน 2553
ณ เสถียรธรรมสถาน

ปีที่บวชครั้งสุดท้ายยังตรงกับการที่เขาเริ่มดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด 2547 [38] ในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ระบุว่า “เพื่อ ปลูกจิตสำนึกให้คนไทยมีจริยธรรม มีคุณธรรม รังเกียจการทุจริต ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ รวมทั้งประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีความใสสะอาด” และ “เพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย” [39] นั่นจึงมิใช่เรื่องแปลกอันใดที่ สุเมธยังมีตำแหน่งกรรมการตรวจสอบ และกรรมการธรรมาภิบาล ในบริษัทเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ด้วยในปัจจุบัน [40]

ดัง นั้นคนดีในเชิงการเมือง จึงมิได้เป็น “ความดี” ด้วยตัวของมันเอง แต่การเป็นคนดีเช่นนี้จะมีความสามารถในควบคุมกิเลสให้อยู่หมัดทั้งในกิเลส ส่วนตัว และครอบคลุมไปถึงกิเลสของสังคมด้วย การอธิบายเช่นนี้เข้ากันได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับแนวคิด “เผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาส ที่เชื่อมั่นในตัวบุคคลที่มีศีลธรรมและความดีอยู่เต็มเปี่ยม ว่า เมื่อทุกอย่างเริ่มต้นด้วยคนดีแล้วปัญหาทุกอย่างก็ไม่ต้องห่วงแล้วว่าแก้ อย่างไร ซึ่งทัศนะเช่นนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา และที่กำลังจะเกิดขึ้น

ตำแหน่งบริหารในองค์กรสำคัญในประเทศไทย เมื่อชีวิตเริ่มต้นที่ 60

ภารกิจ งานจำนวนมากที่สุเมธได้ทุ่มเท ตลอดชีวิตราชการ นอกจากจะสร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังสร้างเครือข่ายการทำงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการทำงานอุทิศให้กับในหลวงเรื่อยมา จึงไม่เรื่องแปลกที่สุเมธเป็นบุคคลต้นแบบที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ (เมื่อเดือนเมษายน 2554 เขาได้ออกรายการ The Idol คนบันดาลใจ ทางช่อง Modern Nine ด้วย) ข้าราชการ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม เขาถือเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่ายิ่งสำหรับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการเขาไปเป็นส่วนหนึ่ง สุเมธครบวาระเกษียณอายุเมื่อปี 2542 แต่เราพบว่าก่อนหน้านั้นสุเมธดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในส่วนที่เป็นหน่วยงานของรัฐได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2537-2539) กรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (2537-2539) ประธานกรรมการ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (2540-2541)

ในส่วนของธุรกิจเอกชน ได้แก่ กรรมการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (2537-2544) กรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (2539-2540) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหาร บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (2540-2541) กรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (2540-2543)

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ร่วม งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “รวมใจ รวมไมล์ เพื่อชัยพัฒนา” ซึ่งการบินไทยจัดขึ้น เพื่อขอรับการบริจาคไมล์จากสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส เพื่อมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา 24 มิถุนายน 53

ที่พึ่งของสถานศึกษา กับ 6 ปี ในตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การ ทำงานมาตลอดชีวิตราชการ ทำให้เขาเป็นที่กว้างขวาง ดังที่พบว่าเขาได้รับเชิญให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนั้น เดิมเป็นเพียงตำแหน่งทางเกียรติยศ ถือได้ว่าเป็นสภาเกียรติยศ หรือสภาตรายางที่ไม่มีอำนาจ [41] ที่น่าสนใจก็คือ หลังการปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี 2542 สภามหาวิทยาลัยได้รับการกระจายอำนาจการบริหารจากสำนักงานคณะกรรมการอุดม ศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษา (กพอ.) ได้โอนอำนาจบริหารให้มาอยู่กับสภามหาวิทยาลัย ยกเว้นแต่ การของบประมาณจากรัฐบาล และการแต่งตั้งที่ต้องสู่ระบบโปรดเกล้าฯ ก็คือ การแต่งตั้งตำแหน่งนายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และศาสตราจารย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาตรายาง มาเป็น “สภารับผิดชอบ” ที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นทางกฎหมาย [42] ดังนั้นตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญมากขึ้นหลังปี 2542 ผลของการกระจายอำนาจ ทำให้แต่ละสถานศึกษา ปรับตัวในการดึงบุคลากรที่มีบารมี ความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้น ผู้ที่จะมาอยู่ในสภายิ่งจำเป็นก็ต้องมีพลังขับเคลื่อนมากพอสำหรับ มหาวิทยาลัยนั้นๆด้วย

ประจวบเหมาะกับที่ช่วงสุเมธ เกษียณอายุราชการในปี 2542 เขาได้รับตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง บางแห่งก็เป็นกรรมการตั้งแต่ก่อนเกษียณ เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2541-2543) กรรมการสภามหาวิทยาลัยทักษิณ (2542-2544) กรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา (2544-?) กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร (2549-2551) เชื่อได้ว่า สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับการปรับตัวของมหาวิทยาลัยจากการปฏิรูปการศึกษาที่ เน้นการกระจายอำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว การได้รับการเชิญไปเป็นกรรมการสภา คาดว่าเนื่องมาจากการที่เป็นคนที่มีทุนทางสังคมสูงและมีเครือข่ายที่น่าจะ เป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยต่างๆได้ โปรดสังเกตว่าอำนาจที่จะเชื่อมกับการโปรดเกล้าฯ ไม่ได้อยู่ในมือของมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย แต่ไปอยู่กับเครือข่ายภายนอก

อย่าง ไรก็ตาม ในสายตาผู้เขียนเห็นว่า ช่วงเวลาที่มีนัยทางการเมืองอย่างมากก็คือ การที่สุเมธ ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กินเวลาถึง 3 วาระ เป็นระยะเวลา 6 ปี (2548-2554) เพียงการเสนอชื่อ สุเมธ จากกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย ก็เกิดข้อสงสัยจากประชาคมธรรมศาสตร์ต่างๆกันไปว่า “ใครเป็นคนเสนอชื่อ” “ชื่อนี้มาได้อย่างไร” “ไม่ใช่คนธรรมศาสตร์ จะเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยได้หรือ” “มีเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้ใช้ระบบบังคับบัญชา จะทำได้หรือ” [43] แต่อย่างไรก็ตามไม่พบว่า นอกจากข้อสงสัยดังกล่าวแล้ว มีอุปสรรคใดๆหรือไม่ที่ขัดขวางการเข้ามาดำรงตำแหน่งของสุเมธ นอกจากนั้นความเชื่อมโยงระหว่างสุเมธกับธรรมศาสตร์นั้น อาจนับได้ตั้งแต่ปี 2513 ที่เขาไปสอน เขาเริ่มไปสอนทฤษฎีการเมือง ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จุดนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เขามีความสัมพันธ์กับธรรมศาสตร์ เขาอ้างว่า ลูกศิษย์รุ่นแรกเขาคือ นพดล เฮงเจริญ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งถึง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ [44] ดังนั้นในทางคอนเนคชั่นไม่น่าจะเป็นที่กังขาเท่าใดนัก การเข้ามาของสุเมธ อยู่ในช่วงที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเมือง การนัดพบระหว่างสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีกับสุเมธ เพื่อทาบทามอย่างให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ มีการบันทึกไว้ว่าม ประเด็นที่พูดคุยของสุเมธแสดงความเป็นห่วงของสถานการณ์ของบ้านเมืองตั้งแต่ เมื่อแรกพบ [45]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

สุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)
เป็นประธานพิธีถวายสังฆทานพระสงฆ์ เนื่องในวัน ปรีดี ประจำปี 2554
ภาพจาก มติชนออนไลน์

การถ่ายทอด อุดมการณ์ “เศรษฐกิจพอเพียง” ในธรรมศาสตร์อย่างเป็นระบบนั้น เข้าใจได้ว่ามาจากสุเมธนั่นเอง พบการบันทึกจาก สมคิด เลิศไพฑูรย์ว่า สุเมธเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวให้นักศึกษาหลายคณะฟัง โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ ที่ระบุว่าจะมีการบรรยายในช่วงที่มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้จบการศึกษา ประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน ปีละ 2 รุ่น [46] บารมีและความสามารถที่โดดเด่นของสุเมธในตำแหน่งนายกสภาฯ ทำให้เป็นที่รักใคร่แก่เหล่าอาจารย์นักบริหาร ดังที่เราพบว่า สมคิด เลิศไพฑูรย์ เชิดชูสุเมธอย่างสูงส่งในกรณีที่สุเมธปฏิเสธไม่รับตำแหน่งนายกสภา มหาวิทยาลัยอีกวาระหนึ่งนั้นว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง และความเหนือชั้นของสุเมธเป็นเรื่องที่นำทฤษฎีการแบ่งอำนาจ ของ Montesquieu มาเทียบใช้ยังไม่ได้ เพราะมีการระแวดระวังเรื่องการหลงอยู่ในอำนาจเป็นอย่างดี

“ดูเหมือนสมมุติฐานของ Montesquieu จะใช้ได้กับคนทั่วไป แต่ใช้ไม่ได้เลยกับนายกพอเพียงที่ชื่อสุเมธ ตันติเวชกุล ของพวกเรา” [47]

สมคิดคงลืมไปว่า สุเมธอยู่ในตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 3 วาระ 6 ปี

พลังอนุรักษ์นิยมเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนและการเมือง

ต้น ทศวรรษ 2540 กลายเป็นยุคหายนะของเศรษฐกิจทุนนิยมฟองสบู่ของไทย ในอีกด้านหนึ่งมันได้แผ้วถางให้แก่อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมรูปแบบใหม่ขึ้นมาบน ซากศพทุนนิยมที่เต็มไปด้วยหนี้เน่าและหายนะทางเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกัน สังคมไทยเริ่มกลับมาเงี่ยหูฟังเสียงก้องตะโกนจาก นักพัฒนาเอกชน เอ็นจีโอ ที่สมาทานความคิดสำนักคิดชุมชนนิยม หมู่บ้านนิยม ชนบทนิยม และนั่นคือโอกาสทองของการสถาปนาความรู้และอำนาจกระแสรองของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามการเฟื่องฟูของภูมิปัญญาสายนี้ มิได้ยืนได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ยังมีพลังทางอนุรักษ์นิยมและพลังทางการเมืองขนาดมหาศาลที่หนุนเสริมอีก ด้วย

สุเมธบันทึกไว้ถึงความสำเร็จของการจับมือกับคนหลายฝ่ายในการจัด ทำ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544) เขาร่วมกับคนอย่างประเวศ วะสี ในฐานะผู้อาวุโสแห่งค่าย “ภาคประชาชน” ที่แผนนี้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เอาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เคยเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็เกิดขึ้นจากสสร. อันเป็นการร่วมมือกันระหว่าง “ภาคประชาชน” นักพัฒนาเอกชน และผู้ตื่นตัวทางการเมืองทั่วประเทศ ความสำเร็จนี้ยังถูกอ้างอิงเรื่อยมาจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เช่น สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาที่ พลเดช ปิ่นประทีป เป็นเลขาธิการ อ้างว่า การดำเนินการจัดทำแผน 8 ถือว่าเป็นเวทีสาธารณะครั้งแรกของประเทศไทยที่ระดมความเห็นจากทั้ง 8 ภาคทั่วประเทศ [48]

นอก จากนี้สุเมธยังได้เดินสายไปบรรยายที่ต่างๆเรื่องเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยอิงอยู่กับในหลวง และชุดคุณค่าทางศีลธรรมแบบชาติ-ศาสนาพุทธเถรวาทนิยม สุเมธได้เดินสายบรรยายเรื่องราวดังกล่าวอย่างไม่ย่อท้อ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเช่นนี้ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ “อดีตอันดีงาม” “พุทธศาสนาแบบเถรวาทไทย” และมีศัตรูที่สำคัญก็คือ “ฝรั่งตะวันตก”

แต่ พลังเหล่านี้ดูจะเป็นคู่ตรงข้ามกับพลังของกลุ่มทุนและการเมืองสาย พันธุ์ใหม่ ที่ถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่นำโดย ทักษิณ ชินวัตร ที่แต่เดิมอาจกล่าวได้ว่า เหล่านักคิดแนวท้องถิ่นนิยม นักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนไม่น้อย มีส่วนร่างนโยบายให้กับพรรคไทยรักไทยด้วย อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาของไทยรักไทยที่เน้นไปทั้งสองขา คือ ทั้งเน้นการค้าขายกับตลาดต่างประเทศ และกระตุ้นการใช้เงินภายในประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ในสายตาของสุเมธแล้ว ถือว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดความละโมบ แน่นอนว่าขัดกับหลักการของความดีที่ต้องพยายามควบคุมกิเลส นโยบายทางเศรษฐกิจเช่นนี้จึงขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงกับอุดมการณ์ที่สุเมธ สมาทาน

หลังช่วงฮันนีมูนกับรัฐบาล ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลไทยรักไทย สุเมธเคยบรรยายในปี 2545 ว่า สังคมไทยมีโรค 4 บ้า นั่นก็คือ บ้าเงิน บ้าอำนาจ บ้าวัตถุ และบ้าฝรั่ง (ตะวันตก) [49] แต่ก็ยังไม่ได้เป็นการเจาะจงเท่าในปี 2547 ที่เขาเขียนบทความที่ชื่อ "เศรษฐกิจพอเพียง หัวใจเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่ dual track " [50] การจั่วหัวเช่นนี้เป็นการวิจารณ์นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทยโดยตรง ในบทความได้ตอกย้ำถึงหลักคิดของเขาอย่างชัดเจน

"พระ เจ้าอยู่หัวทรงเริ่มต้นที่ฐานราก แต่ไม่รากหญ้า ผมเกลียดคำนี้มาก ไม่เคยพูดมาที่สาธารณะเลย เพราะอะไร เพราะเราแปลมาจาก grass root ของฝรั่ง ตามฝรั่งจนเนรคุณคนที่เลี้ยงดูเรามา เราเคยให้เกียรติชาวไร่ชาวนามาตลอด เคยเรียกว่ากระดูกสันหลังของชาติ พอถึงยุคนี้ไม่สำนึกบุญคุณ ดูถูกดูแคลนพวกเขาว่ารากหญ้า เดี๋ยวนี้คนไทยขาดสติอย่างแรง เอะอะอะไรก็ตามฝรั่งจนลืม ความหมายของตัวเอง"

ในฐานะ ประธานมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด ได้แสดงข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อรัฐบาลทักษิณ เนื่องในโอกาสที่รัฐบาลตั้งแคมเปญประกาศสงครามกับคอรัปชั่นในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ขณะที่ภาพลักษณ์ของรัฐบาลและตัวทักษิณเอง กำลังมีปัญหามากขึ้นทุกทีในสายตาของนักวิชาการ มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น กรณีปราบปรามยาเสพติดจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในช่วงปี 2546 ประเด็นการลุกฮือของชาวมลายูในภาคใต้ กรณีมัสยิดกรือเซะ เมษายน 2547 กรณีตากใบ 2547 กรณีที่รัฐบาลมีความพยายามจะออกสลากเพื่อซื้อสโมสรลิเวอร์พูลเป็นจำนวนเงิน กว่า 46,000 ล้านบาท ในปีเดียวกัน

ข่าวลือ เรื่องนายกพระราชทาน คนดีที่จะมาแทนนักการเมืองที่แสนชั่วช้า

รัฐบาล ทักษิณยิ่งประสบกับปัญหาอย่างหนักหน่วง เมื่อเครือข่ายต่อต้านทักษิณ ชินวัตร ขยายตัวเป็นทวีคูณ จากการที่สนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายผู้จัดการ ลงสนามต่อต้านทักษิณด้วยในปี 2548 มีการวิพากษ์วิจารณ์การคอรัปชั่น และยกประเด็นการละเมิดอำนาจพระมหากษัตริย์ ในปีต่อมา การขายหุ้นชินคอร์ปก็ยิ่งกลายเป็นผลลบอย่างมากต่อทักษิณ และครอบครัว ในกรณีเลี่ยงภาษีและขายหุ้นให้ต่างชาติซึ่งเชื่อกันว่ามีผลต่อความมั่นคงของ ชาติ ความง่อนแง่นของรัฐบาลทำให้ในที่สุดทักษิณแก้เกมด้วยการยุบสภาเพื่อเลือก ตั้งใหม่ ในด้านหนึ่งทักษิณก็ถูกกล่าวหาว่า ยุบสภาเพื่อหนีการตรวจสอบ การเลือกตั้งทั่วไปในเดือน เมษายน 2549 ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยและพรรคมหาชน ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง อย่างไรก็ตามความตึงเครียดทางการเมืองก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อรัฐบาลถูกกล่าวหาจากเครือผู้จัดการกรณี “ปฏิญญาฟินแลนด์” ในเดือนมิถุนายน 2549

ข่าวและข้อมูลการทุจริตและฉ้อฉลของทักษิณ ชินวัตร ได้โหมกระแสไฟแห่งการเกลียดชังของชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง นักคิด นักวิชาการจำนวนมาก ความอึดอัดทางการเมืองเหล่านี้เองนำไปสู่การเรียกร้องหาข้อยุติที่มีธงอยู่ แล้วคือให้ “ทักษิณ...ออกไป” โดยไม่สนใจวิธีการว่า จะเป็น “ประชาธิปไตย” หรือไม่

วิธีการ “อประชาธิปไตย” ข้อแรก ก็คือ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาด้วย “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” จาก มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทักษิณเว้นวรรคทางการเมือง สิ่งนี้เป็นการเสนอโดยหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการและนักการเมือง หนึ่งในนั้นก็มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย [51] ซึ่งกรรมนี้เอง เป็นที่มาของการถูกล้อเลียนในนามของ “มาร์ค ม.7” แน่นอนว่า ภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของทักษิณ ยังส่งผลต่อความเน่าเหม็นของนักการเมืองคนอื่นในระบบด้วย ดังนั้นการที่จะหาคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงควรจะเป็นคนนอกที่ ไม่มีผลประโยชน์ เป็นกลาง และจะต้องมีคุณสมบัติที่ถึงพร้อมในความเป็น “คนดี” ที่มีศีลธรรม ไม่โกงกิน และอาจรวมถึงเป็นผู้มีสกุลรุนชาติ ได้รับการอบรมมารยาทเป็นอย่างดีด้วย

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ฎีกาขอนายกฯพระราชทาน ลงนามโดย
นายแพทย์ มงคล ณ สงขลา และ
ม.ร.ว.ยงยุทลักษณ์ เกษมสันต์
วันที่ 5 มีนาคม 2549

ในขณะนั้นมีข่าวลือว่า คนที่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีพระราชทาน ก็คือ สุเมธ ตันติเวชกุล [52] จากการให้สัมภาษณ์ สุเมธ ก็ใช้เทคนิคเดิมก็คือ กล่าวปฏิเสธทั้งยังยกเหตุผลมาอ้างพัลวันว่า "คุณ พ่อผมเล่นการเมืองจนหมดตัว สมัยก่อนนักการเมืองเล่นการเมืองจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ผมสาบส่งการเมือง ไม่เอาเด็ดขาด ใจมันไม่ชอบทางนี้เลย ผมว่าช่วงเวลาทำงานที่สุขที่สุดคือ การเป็นข้าราชการระดับ ซี 4 สบายสุดๆ แต่พอยิ่งใหญ่ ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งเครียด"

กระนั้น วิธีการขอนายกพระราชทานก็มีอันตกไป พวกรักบ้านเมืองจนหน้ามืดตามัวมีอันฝันสลาย เมื่อในหลวงทรงปฏิเสธทางอ้อม ผ่านพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษาที่ว่า "...เขาอยากจะได้นายกฯ พระราชทาน เป็นต้น จะขอนายกฯ พระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย..." [53]

อย่าง ไรก็ตาม ความสั่นคลอนของรัฐบาลถูกขย่มด้วยการปฏิบัติการทางการเมือง และสงครามข่าวอย่างมหาศาล แม้กรณีคาร์บอมบ์ เดือนสิงหาคม 2549 ที่มุ่งร้ายเอาชีวิตนายกรัฐมนตรี ก็ถูกทำให้เป็นเรื่องตลกในนาม “คาร์บ๊อง” ความอึมครึมและคลุมเครือทางการเมืองที่ผูกติดแน่นเป็นเงื่อนตายเหล่านี้ ในที่สุดก็ถูกทะลวงด้วยอำนาจของปากกระบอกปืน รถถังได้ออกมายาตรายึดสถานที่สำคัญ ควบคุมการสื่อสารสาธารณะในจุดใหญ่ นี่เป็นวิธีการ “อประชาธิปไตย” ข้อที่สองที่ได้ผลอย่างชะงัด ด้วยฐานคิดที่เชื่อว่าการเอาคนเลวๆหนึ่งออกจากอำนาจ แล้วทุกอย่างจะจบ

หกล้มหกลุก กับ รัฐประหาร 2549

อย่าง ไรก็ตามเรื่องข่าวลือดังกล่าวก็คงส่งผลต่อข้อมูลในการวิเคราะห์ข่าว อื่นๆด้วย ดังที่พบกว่าหลังการรัฐประหาร Shawn W. Crispin นักข่าวจาก Asia Times เขียนวิเคราะห์ว่า สุเมธ เป็นผู้มีความเป็นไปได้ที่จะถูกเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คู่กับอีกคนคือ พลากร สุวรรณรัฐ ในวันที่ 21 กันยายน 2 วันหลังจากรัฐประหาร [54] แต่แล้ว นายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร กลับมาหวยออกที่ สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายทหารยศพลเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก และขณะนั้นดำรงตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งสุรยุทธ์ก็เข้าข่าย คนดีมีศีลธรรม จริยธรรม ฝักใฝ่พุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเข้ามาสู่แวดวงการเมืองในระบบ ทำให้ “คนดี” อย่างเขาถูกตรวจสอบ กรณีที่โด่งดังเป็นอย่างมาก และทำให้สุรยุทธ์เปลืองตัวและเกือบเสียคน ก็คือ คดีละเมิดป่าสงวน ณ เขายายเที่ยง การที่คนดีได้มาอยู่ในระบบการเมืองแบบรัฐสภาที่ทำให้เกิดการตรวจสอบต่อ สาธารณะได้ก็ทำให้คนดีเกิดอาการไม่เป็นเหมือนกัน [55] หรือนี่จะเป็นคราวเคราะห์ของสุรยุทธ์ แต่เป็นโชคดีของสุเมธ?

ตำนาน เฟอร์รารี่

ข้อ กล่าวหาที่อาจกล่าวได้ว่า เสียดสีกับสิ่งที่สุเมธเทศนาที่สุด นั่นก็คือ สุเมธขับรถสปอร์ตหรูหรา ยี่ห้อเฟอร์รารี่ มาบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งข้อความระบุต่อไปว่า สุเมธ ซื้อรถคันงามต่อมาจาก ชุมพล ณ ลำเลียง ด้วยราคา 500,000 บาท [56] ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น เรื่องเล่านี้น่าจะเป็นเรื่องโจ๊กเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามโจ๊กเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่ากันสนุกๆ หรือใช้นินทาลับหลังกันในวงแคบๆ เท่านั้น ความน่าจะร้อนไปถึงสุเมธ จนทำให้ต้องแก้ข้อกล่าวหาผ่านสื่อมวลชน ดังนี้

“ผมขับรถ แอคคอร์ดเก่าๆ ยามเห็นเขาก็ให้ผมไปจอดข้างหลัง แต่ถ้าลองเป็นเบนซ์มาเขาให้จอดข้างหน้า หรือผมไปซื้อรถโฟล์ก 37,000 บาท แต่ซ่อมไปแสนกว่าบาท แถมตอนออกจากราชการ ผมก็ใช้เงิน 5 แสน ซื้อรถสปอร์ต เพราะอยากได้ โคโรลล่า มือสอง แต่ใครไม่รู้ไปเขียนแซวมาผมถอยเฟอร์รารี่ กลายเป็นข่าวคึกโครมไปทั่ว” [57]

หกกลับ ชีวิตอำมาตย์ หกรอบนักษัตร ‘สุเมธ ตันติเวชกุล’

ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

เงินบริจาคจากเทศกาลอาหารหรูหรา

เทศกาล Epicurean Masters of the World ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6-10 ก.พ.2550 ณ ภัตตาคาร The Dome ซึ่งอยู่บนยอดหอคอยงาช้างของตึกสเตททาวเวอร์นั้น เป็นการรับประทานอาหารมื้อค่ำราคาสุดโหด ตัวเลขกลมๆตกอยู่ที่มื้อละ 1 ล้านบาท และบวกค่าบริการอีก 7 เปอร์เซ็นต์ ข่าวนี้เป็นที่สนใจต่อสำนักข่าวบีบีซี [58] และหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ อีกด้วย มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในเวลาไล่เลี่ยกัน สุเมธ ในฐานะ เลขาธิการมูลนิธิ ชัยพัฒนา ได้แสดงบรรยายประกอบการสัมนา เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี วันคล้ายวันสถาปนาสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 6 หัวข้อ "ความพอเพียงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อสมดุลแห่งชีวิต" ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า “ความจริงร่างกายมนุษย์ต้องการอาหารไม่มากนัก ทานให้อิ่มก็พอ แต่ที่เรากินกันเยอะอย่างทุกวันนี้ เป็นการกินส่วนเกิน เรียกว่า "โรคสังคม"” [59]

ที่ เหนือความคาดหมายก็คือ รายได้จากเทศกาลอาหารสุดหรูระดับโลก ส่วนหนึ่งนำมาสมทบแก่องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม หนึ่งในนั้นก็มีชื่อของ มูลนิธิชัยพัฒนา อยู่ด้วย

อำนาจของการปฏิเสธ กับการแก้เกี้ยว

สุเมธ มักจะแสดงให้เห็นในบันทึกถึงความใจกว้าง ไม่รับในสิ่งที่ไม่ควรจะได้ ดังเช่น สิทธิพิเศษของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ในปลาย ทศวรรษ 2510 ต่อต้นทศวรรษ 2520 เขากล่าวปฏิเสธไว้ในบันทึกด้วยเหตุผลว่า “ป้องกันชาติบ้านเมืองต้องจ้างกันด้วยหรือ”แต่สุดท้ายในบันทึกของเขาเองก็ ระบุว่าเขารับทั้งเบี้ยเลี้ยงและอายุราชการทวีคูณ [60]

เช่น เดียวกับรางวัลพ่อตัวอย่าง สุเมธปฏิเสธไม่รับเช่นเคย เนื่องจากว่าเขาไม่เคยมีเวลาได้เลี้ยงลูก เพราะไม่มีเวลาให้ อย่างไรก็ตามทางผู้มอบรางวัลก็อ้อนวอนให้ไปรับโดยให้เหตุผลว่า ถึงไม่ได้เลี้ยงลูกตัวเองก็เลี้ยงลูกคนอื่น ดูแลเด็กเล็กในต่างจังหวัด ในชนบท [61]

สุเมธก็เคยอิดออดที่จะไม่รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ได้เรียนจบธรรมศาสตร์จะเป็นได้อย่างไร [62] ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจรับตำแหน่งที่มีวาระ 2 ปีต่อครั้ง อีกกรณีหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งสุเมธได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่สาม ในช่วงใกล้ครบวาระที่สองในปี 2552 สุเมธ แจ้งที่ประชุมสภาว่าจะไม่ขอรับหน้าที่ในวาระที่สาม แต่ด้วยความที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอร้องให้อยู่ต่อ เนื่องจากเห็นว่าสุเมธมีศักยภาพมากพอที่จะผลักดันงานให้ลุล่วง โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอธิการบดี ในปลายปี 2553 และก็เป็นอีกครั้งที่สุเมธ กลับคำปฏิเสธ และมุ่งมั่นทำงานตามคำขอร้องต่อไป [63]

การรู้จักหยุด

“ "มีคนถามผมว่าจะกลับไปวงการเมืองอีกไหม ไม่แล้ว เหตุผลว่าไม่แล้วเพราะอะไร? ก็ให้พวกคุณเนี่ย เมืองไทย Next Generation, Go on Man! ไม่งั้น “ตาแก่คนนี้เอาอีกแล้ว”" [64]

พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ อายุ 68 ปี

“ตลอด ชีวิตการทำงานจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตผมไม่เคยลาพักร้อนเลย ตั้งแต่ทำงานราชการไม่เคยลาพักร้อน ไม่รู้จัก นี่ขนาดเกษียณมา 12 ปี ก็ยังไม่รู้จักคำว่าเกษียณ ทำงานทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำ โดยเฉพาะงานตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ บางที่ก็เชิญไปสอน ไปบรรยาย ซึ่งโครงการปริญญาโทชอบสอนวันเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องไป ชีวิตไม่รู้จักคำว่าเสาร์อาทิตย์ ไม่รู้จักวันหยุด หรือปีใหม่ คือ ชีวิตมอบให้การทำงานจริงๆ” [65]

สุเมธ ตันติเวชกุล อายุ 72 ปี

คำถามก็คือ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าพอ?


อ้างอิง:

  1. คำต่อคำ อำมาตย์ ชื่อ "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บันทึกไว้ในแผ่นดิน...ตามเส้นทาง http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1260344414&grpid=no&catid=04 (9 ธันวาคม 2552)
  2. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2554?, น.คำนำ
  3. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2554?, น.4
  4. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.21
  5. รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 จากการสืบค้นพบว่า อารีย์ มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในช่วงปี 2501 http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main11.htm (22 สิงหาคม 2554 )
  6. "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
  7. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.7
  8. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.8 และ 10
  9. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.13
  10. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.16
  11. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.16-19
  12. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.19
  13. มติชนออนไลน์. ดร.สุเมธชี้ไทย"รวยกระจุก-จนกระจาย" มุ่งแต่เจริญด้าน ศก. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1310041118&grpid=03&catid=03 (7 กรกฎาคม 2554)
  14. หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค (2265-2543) นามสกุลเดิมคือ สนิทวงศ์ เป็นพระมาตุฉา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ
  15. รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 ในนี้ระบุลำดับเหตุการณ์การรับตำแหน่งราชการในแต่ละปีอย่างละเอียด
  16. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.23-24
  17. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.24-25
  18. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.25
  19. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.25
  20. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.26-27
  21. ราย ละเอียดโปรดอ่านใน ธิกานต์ ศรีนารา. หลัง 6 ตุลา ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย (กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก), 2552
  22. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27 และ รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554)
  23. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27 และ รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554)
  24. สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) http://www.rdpb.go.th/RDPB/front/RDPBHistory.aspx?p=9 (20 สิงหาคม 2554)
  25. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.27
  26. ชนิ ดา ชิตบัณฑิตย์. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์), 2550, น.130-131
  27. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.28 และ มูลนิธิชัยพัฒนา (The Chaipattana Foundation). "ความเป็นมา" http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php?option=com_content&view=article&id=13&Itemid=184&lang=th (20 สิงหาคม 54)
  28. "ปรัชญา ความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12 http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
  29. ขนิดา ชิตบัณฑิตย์, เรื่องเดียวกัน นอกจากนั้นดูใน "เศรษฐกิจพอเพียง" กับ "การสถาปนาพระราชอำนาจนำ": เสวนาที่ ม.อุบลราชธานี http://prachatai.com/journal/2007/11/14954 (27 พฤศจิกายน 2550)
  30. รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545
  31. โครงการ พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2539) จัดพิมพ์ในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไป พระราชทานเพลิงศพ นางเอื้อนศรี ภักดีผดุงแดน ณ เมรุ วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พุทธศักราช 2539
  32. "ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อ การบริหารในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12 http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
  33. รัตนบุรุษของแผ่นดิน http://lib.pbru.ac.th/th/gold/phetchaburi/sumet.htm (20 สิงหาคม 2554) อ้างจาก มนู อุดมเวช และคณะ. รัตนบุรุษของแผ่นดิน (กรุงเทพฯ : นานาสิ่งพิมพ์), 2545 อารีย์ มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในช่วงปี 2501 http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main11.htm (22 สิงหาคม 2554 )
  34. "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
  35. "ปรัชญา ความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12 http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
  36. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.37
  37. "ถุงเงิน" ชื่อเล่นพระราชทานของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล http://www.gotoknow.org/blog/inthaiheart/79216 (25 สิงหาคม 2554) อ้างอิงจาก เหมวดี พลรัฐ. เดลินิวส์ (8 ธันวาคม 2545)
  38. SCG. รู้จักกรรมการบริษัท สุเมธ ตันติเวชกุล. http://www.siamcement.com/th/01corporate_profile/board/sumet_tantivejkul.html (24 สิงหาคม 2554) อย่างไรก็ตามมีหลักฐานว่า มูลนิธิฯ มีการตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2544 ในครั้งนั้น นิรมล สุริยสัตย์ ที่มีคำนำหน้าเป็น “ท่านผู้หญิง” เป็นประธานมูลนิธิฯ ดูใน "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด" " ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 46 ง , 7 มิถุนายน 2544, น.36 และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. "นิรมล สุริยสัตย์". http://th.wikipedia.org/wiki/นิรมล_สุริยสัตย์ (30 มกราคม 2554)
  39. "ประกาศ นายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด" " ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 46 ง , 7 มิถุนายน 2544, น.35
  40. SCG. รู้จักกรรมการบริษัท สุเมธ ตันติเวชกุล. http://www.siamcement.com/th/01corporate_profile/board/sumet_tantivejkul.html (24 สิงหาคม 2554)
  41. ปอมท ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย. "บทบาทของกรรมการสภามหาวิทยาลัยกับการปฏิรูปอุดมศึกษา" http://thaifacultysenate.com/Regent_Board.aspx (23 สิงหาคม 2554)
  42. ปอมท ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย. "จากสภาเกียรติยศ สู่สภารับผิดรับชอบ" http://thaifacultysenate.com/Regent_Board.aspx (23 สิงหาคม 2554)
  43. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.51
  44. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.43-45
  45. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.67-68
  46. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.53
  47. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.55
  48. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา. “ไม่รัฐประหาร ไม่นองเลือด” http://www.ldinet.org/2008/index.php?option=com_content&task=view&id=412&Itemid=28 (20 สิงหาคม 54)
  49. "ปรัชญา ความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" อ้างใน “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง 6พฤศจิกายน 2545 ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ 49 : 27 (29 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2545) : 11-12 http://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1146.php (25 สิงหาคม 2554)
  50. Toxinomics – พิษทักษิณ (2547) อ้างถึงใน จรัญ ยั่งยืน. “เสียงจาก สุเมธ ตันติเวชกุล "เรารวยโดยไม่มีเสาเข็ม"” ใน ประชาชาติธุรกิจ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q2/article2004june28p5.htm (28 มิถุนายน 2547 )
  51. The Nation .Prem stays silent on Democrats' latest call http://nationmultimedia.com/2006/03/26/headlines/headlines_30000239.php (27 March 2006)
  52. โอเพ่นออนไลน์. "วิธีแกะกล่องของขวัญแบบ สุเมธ ตันติเวชกุล" http://www.onopen.com/node/3828 (27 มีนาคม 2549)
  53. พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรม 25 เมษายน พ.ศ. 2549 http://th.wikisource.org/wiki/พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรม 25 เมษายน พ.ศ. 2549 (21 พฤษภาคม 2554 )
  54. เมื่อโลกจ้องมองไทยหลังรัฐประหาร และ coup d’etat Effect : เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน? http://prachatai.wordpress.com/2006/09/21/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87e/ (21 กันยายน 2554)
  55. The Nation, Activists call on Surayud to resign for alleged forest encroachment (29 December 2006)
  56. ประชาไท.ลิปเล่ย์. การแสดงความคิดเห็น ในบทความ "รสนิยมเหนือระดับ กับอาหารค่ำ มื้อละ "1 ล้านบาท"!" http://prachatai.com/node/11561/talk (10 กุมภาพันธ์ 2550)
  57. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์."อย่างผมน่ะหรือจะมี ′เฟอร์รารี่′ ลำพังตัวเองหาได้แค่ ′โคโรลล่า′. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1272018509&grpid=no&catid=04 (27 เมษายน 2553)
  58. BBC NEWS. Bangkok banquet beckons for rich.http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/6335419.stm (7 February 2007)
  59. ประชาไท "รสนิยมเหนือระดับ กับอาหารค่ำ มื้อละ "1 ล้านบาท"!" http://prachatai.com/node/11561/talk (10 กุมภาพันธ์ 2550)
  60. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.26
  61. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.31
  62. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.45
  63. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.68-69
  64. siam intelligence. "Practical Utopia สัมภาษณ์ "พันศักดิ์ วิญญูรัตน์" "." http://www.siamintelligence.com/pansak-interview/ (2 ธันวาคม 2553)
  65. 72 ปี แห่งประสบการณ์ หลักคิด และแรงบันดาลใจ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, 2554?, น.29