ที่มา มติชน
เศรษฐกิจ
อีก ไม่กี่อึดใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การบริหารงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะได้เริ่มต้นการทำงานอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
โดยในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ รัฐบาลมีกำหนดแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้กรอบนโยบายการบริหาร ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
คือ 1.นโยบายเร่งด่วน ที่จะดำเนินการภายใน 1 ปี ซึ่งมีการรวมรวบนโยบายสำคัญ ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ใช้หาเสียงไว้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรงรายวัน 300 บาท เงินเดือนผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน การลดภาษีนิติบุคคล เหลือ 23% รวมถึงการป้องกันปัญหายาเสพติด เป็นต้น
เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การลด รายจ่ายเพิ่มรายได้ ให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ทั้งในภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตร ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุข การลดความเหลื่อมล้ำของสภาพสังคม โดยรวมก็จะดีขึ้น
2.นโยบายที่จะ ดำเนินการภายในช่วงอายุการบริหารงาน 4 ปีของรัฐบาล ที่แบ่งภารกิจงานออกเป็นด้านๆ ครอบคลุมทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การบริหารงาน ภาคการท่องเที่ยว ไปจนถึงกีฬา การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ความมั่นคง การจัดการทรัพยากร เชื่อมโยงการบริหารงานของทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายสำคัญ อยู่ที่การพัฒนาประเทศให้เกิดความอย่างยั่งยืน
ขณะ ที่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน รัฐบาลชุดนี้ ก็โชว์ฟอร์มได้น่าสนใจ โดยเฉพาะการลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อรับข้อร้องเรียนต่างๆ มาแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง อาทิ การสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ ปรับปรุงแก้ไขอัตราการชดเชยความเสียหายในไร่นาของเกษตรกร ให้มากกว่าไร่ละ 606 บาท รวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก ในระยะยาว
ส่วนบรรดารัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่เริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งการบริหารงานในกระทรวงต่างๆ ก็พร้อมใจกันประสานเสียง ประกาศนโยบายเชิงรุกในการบริหารงานแต่ละกระทรวง ตามนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่
ความหวังของประชาชนชาวไทยที่จะได้เห็น รัฐบาลชุดใหม่ ที่มีฝีมือเข้ามาบริหารงาน เพื่อนำประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้า เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
แต่ ยิ่งความหวังเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ความกังวลของประชาชน เกี่ยวกับงานบางเรื่องของรัฐบาล ที่เตรียมจะดำเนินการ ก็เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการ รื้อฟื้นโครงการเก่า ซึ่งถูกมองว่าเป็น "ของร้อน" ขึ้นมาปัดฝุ่นทำใหม่ เช่น งานก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่โครงการนี้ เมื่อเกิดขึ้น อาจจำเป็นต้องแลกระหว่างไม้สักทอง จำนวนหลายหมื่นไร่ และระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้าง เขื่อนขนาดใหญ่แห่งนี้ กับการบริหารจัดการลุ่มน้ำยม ที่สร้างปัญหาให้กับกรมชลประทาน มาโดยตลอด
โครงการสร้างกระเช้าลอย ฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ที่ การอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องการเดินทางขึ้นภูกระดึง แต่ความสะดวกสบายต้องแลกกับต้นไม้หลายพันต้นที่ต้องหักโค่นไป เป็นระยะทางยาวหลายสิบกิโลเมตร เพื่อทำทางขึ้นภูกระดึง
นี่ยังไม่รวม ถึงโครงการถมทะเลก่อสร้างเมืองใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ของรัฐบาลชุดนี้ ที่ทำท่าว่าจะต้องสละทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนมหาศาลในการดำเนินการ หากจะมีการลงทุนทำจริงๆ
กระแสการต่อต้านจากเหล่าเอ็นจีโอ ก็คงจะรุนแรงไม่แพ้กัน!!
นอก จาก "ของร้อน" ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติแล้ว งานด้านการบริหาร ที่เป็นของร้อนๆ อย่างเรื่องไอเดียการนำเงินกองทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ไปซื้อบ่อก๊าซ-บ่อน้ำมัน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งที่กองทุนสำรองฯ เป็นของต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา ก็มีความพยายามที่จะโยกมาใช้ แต่ไม่เคยสำเร็จ และถูกกระแสตีกลับอย่างหนักว่า จะเอาสมบัติของชาติไปผลาญ
เช่นเดียว กับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ทันทีที่เปลี่ยนรัฐบาล โดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เสนอแนวคิดทันทีที่เข้าบริหารประเทศว่า จะนำพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นกรณีพิพาทกันมาอย่างหนักตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ขึ้นโต๊ะเจรจาพัฒนาร่วมกันให้เป็นแหล่งปิโตรเลียม ก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าหากเกิดขึ้นจริง เงื่อนไขข้อตกลงที่เกิดขึ้น ฝ่ายไทย จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบซ้ำรอยเหมือนกรณีเขาพระวิหารอีกหรือไม่
ดู เหมือนเพียงชั่วไม่กี่เดือน สถานการณ์ไทย-กัมพูชาพลิกผัน จากสู้รบยิงกระสุนใส่กัน มีทหารบาดเจ็บล้มตายแทบนับไม่ถ้วน แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ กลับจูบปากกันแบบดูดดื่มโดยไม่มีสาเหตุ แม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาล สมเด็จฮุน เซน จะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ
แต่เชื่อว่า คนไทยทั้งประเทศคงจะยังปรับใจรับไม่ทัน!!
ยิ่ง ไปกว่านั้น "เผือกร้อน" ที่น่าจะก่อให้เกิดความรู้สึกมากที่สุด น่าจะเป็นกระแสข่าวการคืนพาสปอร์ตเล่มแดงให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะพี่ชายของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ซึ่งแม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศภายใต้รัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล จะปฏิเสธว่า ยังไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ แต่นายสุรพงษ์กลับให้สัมภาษณ์ในทำนองเปิดช่องว่า ถ้าในอนาคตจะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุย จะทำทุกอย่างตามขั้นตอนกฎหมาย รวมถึงท่าทีของหลายประเทศ ที่เริ่มปล่อยวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น เยอรมนี หรือ ญี่ปุ่น
พร้อมๆ กับข่าวยืนยันว่า ประเทศญี่ปุ่นตกลงให้วีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศได้แล้ว!!
เป็น การดำเนินการแบบทันทีทันควัน หลังจากรู้ผลชนะเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพิ่งจะขอเวลาจากประชาชนในการทำงานเพื่อพิสูจน์ฝีมือ
และ ประชาชนคนไทยยังไม่ทันได้ลืมว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศไว้ชัดเจนตอนที่รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าจะไม่ทำอะไรเพื่อคนกลุ่มเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง คนในพรรคเพื่อไทยก็ยืนยันชัดเจนว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ จะมุ่งทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนอย่างเดียว จะยังไม่มีการหยิบยกเรื่องการเดินทางกลับเข้ามาในประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นมาหารือ
แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า นอกจากจะยังไม่เริ่มดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ กลับมีแต่เรื่องที่ไม่ได้เป็นนโยบาย และเป็น "ประเด็นอ่อนไหว" ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำก่อน ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดูดี เป็นที่น่าไว้ใจ
ได้แต่เตือนว่า ระวัง "ของร้อน" จะลวกมือ!!