ที่มา ประชาไท
ทั้งที่เคยพาดพิงรัฐบาลก่อนว่าเป็น "อำมาตย์" ชี้เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่รัฐบาลใหม่ไม่แก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง ด้าน "จตุพร" ลุกขึ้นโต้ขอโอกาสรัฐบาลทำงานเพราะเพิ่งเริ่มแถลงนโยบาย ด้าน "กรณ์" วอนรัฐบาลทำให้ชัดเจนว่าจะทำได้ตามที่หาเสียงหรือไม่
"สาทิตย์" อัดนโยบายเพื่อไทยไม่ต่างจากนโยบายรัฐบาลชุดก่อน
ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญทั่วไป เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ตามมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยวันนี้ (24 ส.ค.) ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 2 นั้น
ในวันนี้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายตั้งคำถามไปถึงรัฐบาล ที่เคยพาดพิงรัฐบาลชุดที่แล้วว่าเป็นรัฐบาลอำมาตย์ แต่เมื่อพิจารณานโยบายรัฐบาลใหม่แล้ว เห็นว่า ไม่มีอะไรแตกต่าง และไม่มีอะไรชัดเจนในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องน่าผิดหวัง เพราะไม่มีเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง เป็นเพียงเทคนิควาทกรรมทางการเมืองให้ความหวังกับประชาชนเท่านั้น พร้อมขอให้รัฐบาลใหม่ อย่าปฏิเสธนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องโฉนดชุมชน โดยขอให้สานต่อแม้จะมีการเปลี่ยนชื่อเพราะเหตุผลทางการเมือง อย่าเป็นเพียงวาทกรรมเพื่อดึงมวลชนเท่านั้น
ทั้งนี้หลังการอภิปราย ของ นายสาทิตย์ เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อยเมื่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายขอโอกาสรัฐบาลทำงานเพราะเพิ่งเริ่มแถลงนโยบาย แต่ก็เกิดการประท้วงไปมาระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านและนายจตุพร และขอให้ถอนคำพูดที่กล่าวพาดพิง แต่ที่สุดแล้ว พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานการประชุม ก็พยายามควบคุมการประชุมให้ดำเนินต่อไปได้
กรณ์วอนรัฐบาลทำให้ชัดเจนว่าจะทำได้ตามที่หาเสียงหรือไม่
ขณะที่คืนก่อนหน้านี้ (23 ส.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายถึงนโยบายพักหนี้เกษตรหรือผู้มีรายได้ต่ำ ไม่เกิน 5 แสนบาท ว่า ได้ประสานไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐ แต่ปัจจุบันมีประชาชนที่เป็นหนี้ 16 ล้านคน ต้องพักหนี้ถึง 300,000 ล้านบาท รวมถึงการดูแลการพักหนี้นอกระบบที่มีประชาชนเป็นหนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก ซึ่งกำลังรอความชัดเจนของรัฐบาลด้วย ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้มีแนวโน้ม ว่าบางคนจะได้ 300 บาท ส่วนผู้ที่ไม่ได้ 300 บาท เนื่องจากมีเงื่อนไขของประสิทธิภาพการทำงานมาเป็นตัวชี้วัด ด้านนโยบาย 15,000 บาท ก็ยังไม่มีความชัดเจน ว่าสุดท้ายแล้วจะได้หรือไม่ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้เกิดความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามที่หา เสียงไว้หรือไม่
หวั่นนโยบายบ้านหลังแรกเอื้อประโยชน์บริษัทพวกพ้องรัฐบาล
ขณะเดียวกันนโยบายรัฐบาลที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ เช่น การสกัดกั้นไม่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลเงินเฟ้อ ลดภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีรถต้องเสียภาษีแพง รวมถึงนโยบายลดภาษีนิติบุคคล ทำให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องเสียภาษี 1 ใน 3 ของภาษีนิติบุคคลทั้งหมดได้รับประโยชน์ ทั้งที่บริษัทเหล่านี้มีผลกำไรมหาศาล นอกจากนี้ นายกรณ์ ยังตั้งข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง เช่น นโยบาย บ้านหลังแรก โดยลดภาษีนิติบุคคล ภาษีเฉพาะและภาษีค่าโอนให้กับผู้ประกอบการบ้านจัดสรรที่มีกำไรเพิ่มขึ้นในปี ล่าสุดร้อยละ 33 และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีชี้แจงข้อครหาที่ครอบครัวถือหุ้นในบริษัท เอส ซี แอสเซท บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ขนาดใหญ่
ซึ่งการอภิปรายของนายกรณ์ นั้นทำให้นายกรัฐมนตรี ต้องลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้ง โดยยืนยันว่า วัตถุประสงค์ของนโยบายเพื่อต้องการให้ประชาชนตั้งตัวมีบ้านหลังแรกเป็นของ ตัวเอง โดยลดภาษีให้กับประชาชนโดยตรงไม่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ หากมีความคิดช่วยเหลือผู้ประกอบการก็มีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องด้านภาษี
ที่มา: เรียบเรียงจาก
สำนักข่าวแห่งชาติ [1], [2]