ที่มา ประชาไท
อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
Froilan O. Galardo
“ผม เคยมาเป็นวิทยากรอบรมสื่อทางเลือกที่ปัตตานี เมื่อเดือนเมษายน 2554 ที่จัดโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ก่อนกลับไปฟิลิปปินส์ ผมเห็นสภาพพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พอสมควร”
เป็นคำบอกเล่าของ Froilan O. Galardo ช่างภาพจากสำนักข่าวมินดานิวส์ เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์
ถึงกระนั้น เมื่อฟังประโยคถัดมาก็ดูเหมือน Froilan O. Galardo จะมีหางเสียงเจือความผิดหวังอยู่ไม่น้อย
“ชายแดนภาคใต้ของไทย มีเรื่องราวน่าสนใจ แต่ผมพยายามค้นหาข่าวสารภาษาอังกฤษเกี่ยวกับที่นี่ แทบจะไม่มีเลย”
Froilan O. Galardo ตัดสินใจตอบรับทุน FELLOWSHIP ของพันธมิตรนักข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA ในโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นที่ข่าว FELLOWSHIP 2011 ระหว่างนักข่าว 11 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมาชิกซึ่ง เป็นตัวแทนของประเทศ เดินทางมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำข่าวในพื้นที่ที่จังหวัดปัตตานี โดยให้ความสนใจพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทยเป็นพิเศษ เนื่องจากมีสถานการณ์ความขัดแย้งคล้ายคลึงกับพื้นที่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์
SEAPA เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์เพื่อเสรีภาพของการสื่อสาร ก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 1998 มีเป้าหมายที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างนักข่าวอิสระและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในภูมิภาค
ภายใต้วิสัยทัศน์ของ SEAPA ที่ต้องการเผยแพร่แนวคิดความเป็นเสรีและความเป็นอิสระในการสื่อสารเรื่องราว ที่เกิดขึ้นสู่สาธารณะ มีกฎข้อหนึ่งที่สมาชิกต้องปฏิบัติ คือห้ามเขียนเรื่องราวในประเทศตัวเอง
Amalia H. A’Rofiati จากสำนักงาน Tribun Kaltim บนเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ตอบรับทุน FELLOWSHIP โดยเลือกประเทศไทย และเจาะจงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ
“เรื่อง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีเอกสารให้อ่านอย่างที่คิด พยายามจะหาซื้อมาอ่านทั้งที่เป็นภาษามลายูและภาษาอังกฤษก็ไม่มี ไม่มีทั้งข้อมูลเบื้องต้น และประวัติศาสตร์”
Amalia กล่าวระหว่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
Amalia บอกว่า ความสนใจส่วนตัว คือเรื่องอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเยาวชน โดยตระเวนเดินทางสัมภาษณ์เยาวชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสื่อทางเลือกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักวิชาการ และเยาวชน
กลุ่มบุคคลที่ Amalia สัมภาษณ์มาแล้วก็คือ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักข่าวสำนักข่าว AMANNEWS AGENCY จังหวัดปัตตานี เยาวชน และชาวบ้านในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา
คำถามของ Amalia คือ ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างไรบ้าง ในหนึ่งวันใช้กี่ชั่วโมง เข้าถึงอินเตอร์เน็ตง่ายหรือไม่ ต่อจากที่ใด ซึ่ง Amalia บอกว่า สิ่งที่ต้องการทราบคือ คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สื่อสารกันอย่างไร
“เรื่อง ราวของสามจังหวัดจริงๆ แล้วน่าสนใจมาก ทั้งที่เป็นสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม ถ้าไม่ฟังเรื่องราวจากคนในพื้นที่ก็ไม่ค่อยรู้ว่า ที่นี่เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง” Amalia กล่าว
Amalia มองว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องรอนักข่าวจากสื่อกระแสหลัก หรือนักเขียนฝีมือดีนำออกไปเผยแพร่ สิ่งสำคัญคือคนในพื้นที่ต้องเขียนสารส่งออกไป รอให้ใครมาทำให้คงไม่ทันการณ์ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือภาษา อย่างเราสองคนเดินทางมาเพราะสนใจเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่รู้จะสื่อสารกับคนท้องถิ่นอย่างไร เพราะคนที่นี่พูดเฉพาะภาษาไทยและภาษาท้องถิ่น”
Froilan จากมินดานิวส์กล่าวว่า ที่นี่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สวยงามมากพอที่จะอธิบายคนทั้งโลกได้ เป็นชุมชนที่ร่ำรวยวัฒนธรรม การสื่อสารกับคนข้างนอก ไม่จำเป็นต้องสื่อเฉพาะเรื่องสงคราม หรือภาพด้านลบเสมอไป
“อุปสรรค สำคัญของนักข่าวต่างประเทศ ที่อยากเสนอเรื่องราวที่นี่คือ ไม่สามารถสื่อสารกับคนในพื้นที่ได้โดยตรง ถ้าสื่อกันได้จะได้อรรถรสในการสื่อสารมากกว่า จากความรู้สึกแล้วคนที่นี่ต้องการสื่อสารกับเรา สังเกตจากความร่วมมือในการให้ข้อมูลและรอยยิ้ม คนที่นี่ชอบให้เราถาม ต่างจากที่อื่นที่ไม่อยากคุยกับคนแปลกหน้า ถ้าสามารถสื่อสารเป็นภาษาที่เข้าใจกันได้ทั้งสองฝ่าย จะดีมากกว่านี้” froila จากมินดานิวส์ กล่าว
สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองคน สัมผัสมาก็คือ คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการสื่อสารเรื่องภายในออกสู่สังคมภายนอก โดยให้คนต่างประเทศเข้ามาเล่าเรื่องแทน
ขณะที่มินา เนา และกาลิมันตัน พื้นที่ทำงานของคนทั้งสองพบว่า มีปัญหานักข่าวต่างประเทศเขียนเรื่องราวของคนท้องถิ่น ผิดไปจากความจริงค่อนข้างมาก Amalia ถึงกับพูดออกมาว่า…
“น่า แปลกมากที่คนที่นี่ ไว้ใจนักข่าวต่างประเทศ ที่อินโดนีเซียเรามีปัญหากับนักข่าวต่างประเทศ มากกว่าคนในประเทศเดียวกัน ที่นั่งเทียนเขียนข่าวเสียอีก” Amalia กล่าว
จาก การเดินทางตามหาเรื่องราวของ FROILAN และ AMALIA โดยใช้เวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ ทั้งสองได้สะท้อนปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาค ใต้
“สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ต่างอะไรกับมินดาเนามากนัก เราเคยเป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่เราพยายามทำมาโดยตลอดคือ การทำให้คนจำนวนมากที่สุดรับรู้ความเดือดร้อนของคนที่นั่น นั่นหมายถึงเราต้องเป็นคนเล่าเอง เราระมัดระวังการเล่าเรื่องของเรา โดยคนต่างประเทศ เราต้องติดตามเนื้อหาที่เขานำเสนอว่า ตรงกับความเป็นจริงหรือเปล่า…
“บุคคลสำคัญที่จะขับ เคลื่อนความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ก็คือ คนรุ่นใหม่ เราต้องสร้างพวกเขาขึ้นมา เพราะคนรุ่นเก่าจะมีความคิดแบบเก่า แต่คนรุ่นใหม่มีเครื่องมือใหม่ รู้จักช่องทางสื่อสาร รู้จักใช้ภาษาสากลได้ดีกว่า สามารถใช้อินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์…
“นี่เป็นสิ่งเดียวที่เราจะช่วยที่นี่ได้คือ คำแนะนำนี้”