ที่มา ประชาไท
นับเป็นเวลากว่าหนึ่งปีเศษที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เมื่อ 8 มิถุนายน 2553 โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการ ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553 รองรับ และมีวาระในการทำงาน 2 ปี
เมื่อ ศ. คณิต ณ นคร ตอบรับการทาบทามเป็นประธาน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรวม 8 ท่านเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 และตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการอีกรวมทั้งสิ้น 12 ท่าน นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงจำนวน 19 ท่าน (รวมเลขานุการและผู้ช่วย) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2553 จากนั้นได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริง เฉพาะกรณีขึ้นมาอีก 5 คณะ โดยแยกเป็นการรับผิดชอบในภาพรวมของการตรวจสอบและค้นหาความจริง, กรณีเสียชีวิต 6 ศพ กรณี 10 เมษายน การปะทะทั้งอนุสรณ์สถานและไทยคม, กรณีการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวต่างประเทศและการฆาตกรรมพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล, การปะทะบริเวณบ่อนไก่ สีลม ซอยรางน้ำและการเผาอาคารสถานที่ในกรุงเทพ รวม 37 แห่ง, กรณีการเผาอาคารสถานที่ราชการในต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553
ต่อ มาได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความรุนแรงในวันที่ 19 สิงหาคม 2553 และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเยียวยา ฟื้นฟูและป้องกันความรุนแรงเฉพาะกรณีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 ขึ้นอีกคณะหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการศึกษาวิจัยและกิจกรรมทาง วิชาการ (ลงวันที่ 8 กันยายน 2553) และคณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์เพื่อการปรองดอง (ลงวันที่ 21 กันยายน 2553)
จะเห็นได้ว่า คอป. ใช้รูปแบบการดำเนินงานในรูปคณะอนุกรรมการเป็นส่วนใหญ่ แต่คณะกรรมการ คอป. และอนุกรรมการคณะต่างๆ ได้ทำงานภายใต้ขีดจำกัดในช่วงบรรยากาศที่ผ่านมา และการขาดความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความไม่ไว้วางใจในบทบาทและท่าทีของ คอป. ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการของ คอป.
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่เป็นขีดจำกัดดังกล่าวน่าจะหมดไป เมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้ามาบริหารประเทศ ภายใต้เงื่อนไขนี้จึงเหมาะสมแก่กาลที่จะได้ทบทวนและปรับปรุงแนวทางการตรวจ สอบ ค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองที่สามารถมีคำตอบให้แก่สังคม
ข้าพเจ้า ในฐานะของอนุกรรมการคณะที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบตรวจสอบค้นหาความจริงของการปะทะบริเวณบ่อนไก่ สีลม ซอยรางน้ำและการเผาอาคารสถานที่ในกรุงเทพ รวม 37 แห่ง ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากบุคคลหลายฝ่ายจึงใคร่ขอเสนอวิธีการและการปรับแนวทาง เพื่อนำไปสู่การถกเถียงและปรับปรุงการทำงานของ คอป. เพื่อให้เป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชนและบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำงาน ดังต่อไปนี้
1. ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการโดยไม่รั้งรอ
1.1 ให้รัฐบาลสำรวจและเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันมีคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขัง อยู่กี่มากน้อย เขาเหล่านั้นจะได้รับการดูแล เยียวยาอย่างไร ในแง่รูปคดี จะมีแนวทางพิจารณาอย่างไร เช่นเดียวกับนักโทษการเมืองอื่นๆ (ไม่ว่าจะกรณี 112 หรือคดีก่อการร้ายที่เกิดขึ้นระหว่างการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน เพราะต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร เสียด้วยซ้ำ) ทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่าย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และประชาชนทั่วไป
1.2 ให้ ศอฉ. ส่งมอบข้อมูลการสั่งการกำลังพล ที่ดำเนินการจำแนกตามหมวดหมู่ของเอกสารทั้งหมดแล้วส่งมอบให้ คอป. รักษา เพื่อทำฐานข้อมูลในการดำเนินการและตรวจสอบการตัดสินใจของ ศอฉ. ในระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเมือง (ปัจจุบัน คอป. ยังไม่ได้รับเอกสารจาก ศอฉ. ดังที่ผมได้เคยแถลงไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา)
1.3 ด้านเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกองทัพ จะต้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งระดับบังคับบัญชาและปฏิบัติการมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงแก่ทาง คอป. เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏว่ามีระดับบังคับบัญชาเข้ามาให้ข้อมูล คงมีแต่เพียงเจ้าหน้าที่ด้านธุรการของกองทัพมาให้ข้อมูล ซึ่งในความเป็นจริง ตั้งแต่ระดับอดีตนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนผู้นำเหล่าทัพและผู้คุมกำลังปฏิบัติการกระชับพื้นที่จะต้องมาให้ปากคำ และเหตุผลในการปฏิบัติงานกับ คอป. รัฐบาลต้องถือเป็นนโยบายหลักที่จะต้องอำนวยความสะดวกและคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้ให้ข้อมูลตามสมควร เพื่อหลักประกันว่าจะได้ข้อมูลที่เป็นจริงโดยปราศจากการแทรกแซงจากผู้มี อำนาจในการบังคับบัญชาดังกล่าว
1.4 รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอแก่การทำงานของ คอป. โดยไม่ล่าช้า
1.5ให้จัดทำโครงการหอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ความขัดแย้งทางการเมือง ตลอดจนอนุสรณ์สถานความขัดแย้งทางการเมือง และมีกำหนดวาระการทำงานที่ชัดเจนเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจมิให้เกิดการใช้ ความรุนแรงต่อประชาชนและการชุมนุมทางการเมืองในอนาคต
2. ภาพรวมของ คอป.
2.1 ในแง่ระบบการทำงาน ขอให้ คอป. แถลงวิธีการทำงาน ทั้งในภารกิจการแสวงหาความจริงและการปรองดอง ว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไร ใครรับผิดชอบอะไร เพื่อสาธารณชนจะได้ตรวจสอบและติดตาม
2.2 ให้ คอป. ชี้แจงว่ามีการประสานงานภายในและระหว่างคณะอนุกรรมการอย่างไร อุปสรรคที่ผ่านมาอยู่ที่ไหน และมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เช่น ในการรับฟังข้อมูลจากประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบ มีการเชื่อมโยงไปยังคณะอนุกรรมการเยียวยาหรือไม่ หรือมีการสื่อสารควบคุมภายในอย่างไรจึงจะสามารถเชื่อมฐานข้อมูลผู้ได้รับผล กระทบที่จะมาให้ปากคำข้อเท็จจริงและรับการเยียวยา สถานะของผู้รับการเยียวยา เป็นต้น และหากระบบอนุกรรมการที่ได้ดำเนินมามีความล่าช้าและไม่สนองตอบต่อปัญหา จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ในระยะยาวอาจต้องให้มีคณะกรรมการภาคประชาชนเป็นผู้นำเสนอ ให้ข้อติติงในการทำงานและจัดทำรายงานเพื่อสรุป ชี้แจงต่อประชาชน เพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
2.3 ในกรณีผู้เสียชีวิต ยังไม่มีข้อมูลทางการจากกรมสอบสวนคดีพิเศษครบทุกราย แต่ในเบื้องต้นยังไม่มีการดำเนินการในสิ่งที่ที่ควรจะจัดทำเป็นฐานข้อมูล เช่น
2.3.1 ประวัติ (profile) ของผู้เสียชีวิต (อายุ อาชีพ รายได้ การศึกษา ภูมิหลังเบื้องต้น) ซึ่งควรจะตรวจสอบความถูกต้องของชื่อ เลขบัตรประชาชนกับฐานทะเบียนราษฎร์ และเหตุแห่งมรณกรรมทั้งในรูปของบาดแผล เหตุแห่งการตาย แผล หลักฐานทางนิติเวช กระสุน และอื่นๆ เพื่อตรวจสอบกับรายงานผลชันสูตรของตำรวจ แพทย์ตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และ/หรือหน่วยงานนิติเวชอื่น
2.3.2 การเยียวยาแก่ทายาทหรือญาติ (การเยียวยาในรูปของค่าตอบแทน การชดเชยค่าเสียหายจากแหล่งต่างๆ สถานภาพของการเยียวยา -กรณีที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาเต็มรูปแบบ)
2.3.3 การจัดการข้อมูลที่ขัดแย้งกัน เช่น ทางรัฐบาลกับ นปช. อ้างถึงผู้เสียชีวิต 91 ศพ แต่ ทาง ศปช. ระบุว่าควรจะนับรวมผู้เสียชีวิตที่ป่วยเรื้อรังจากแก๊สน้ำตาอีกสองรายรวม เป็น 93 ศพ เป็นต้น
2.4 ในกรณีผู้บาดเจ็บกว่าสองพันราย ยังไม่มีการจัดทำข้อมูลอ้างอิงจากหน่วยศูนย์นเรนทร หรือวชิรพยาบาลที่แสดงอาการหรือรูปแบบความบาดเจ็บทางกายภาพ
2.4.1 ในเบื้องต้นยังไม่มีการทำประวัติ (profile) ของผู้บาดเจ็บ (บาดแผล เหตุแห่งการบาดเจ็บ แผล หลักฐานทางนิติเวช กระสุน บันทึกทางการแพทย์ และอื่นๆ)
2.4.2 การเยียวแก่ผู้บาดเจ็บ (การเยียวยาในรูปของค่าตอบแทน การชดเชยค่าเสียหายจากแหล่งต่างๆ สถานภาพของการเยียวยา—กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือพิการทุพลภาพ ควรจะมีมาตรการดูแลอย่างไร-หรือกรณีที่พบว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาเต็มรูป แบบเนื่องจากหวาดกลัวไม่กล้าเข้ามารายงานว่าได้รับผลกระทบจากการชุมนุม หรือสลายการชุมนุม)
2.5 การเผาสถานที่กว่า 37 จุดในกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีรูปแบบการทำงานเก็บข้อมูลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
2.6 เปิดช่องทางการรับข้อมูล เช่น
2.6.1 เปิดรับข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ทางจดหมายอิเล็คทรอนิคส์
2.6.2 เปิดตู้ ปณ. รับข้อมูลทางไปรษณีย์
2.6.3 เปิดการรับฟังเป็นเวทีสาธารณะในบางพื้นที่
2.7 ด้านการเขียนรายงาน บทเรียนจากรายงานฉบับร่างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนน่าจะเป็นอุทธาหรณ์แก่ คอป. ในการทำงานด้วยความระมัดระวัง คอป. ควรจัดเวทีรับฟังจากภาคประชาชน นักวิชาการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหารูปแบบรายงานและข้อเท็จจริง ข้อถกเถียงที่สังคมต้องการรับรู้ ทั้งนี้การค้นหาความจริงจะต้องเป็นหลักการพื้นฐานในการทำงาน ทั้งนี้ ท่านประธานคณิตได้มีโอกาสจัดทำรายงานกรณีพฤษภาคม 2535 คณะทำงานของ คอป. จึงน่าจะถอดบทเรียนเพื่อนำมาใช้เป็นฐานการค้นหาความจริงเพื่อเปิดเผยต่อ สาธารณชนได้ โดยอาจใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความเห็นประกอบ
2.8 ให้มีการขยายหรือยืดระยะเวลาการแจ้งเหตุความเสียหายอันเกิดจากการชุมนุม โดยเฉพาะผู้ที่บาดเจ็บและทุพพลภาพ ให้ได้มีโอกาสแจ้งเพิ่มเติม เพราะประสบการณ์ในการทำงานเห็นได้ชัดว่าหลายกรณีเข้าไม่ถึงการเยียวยา ไม่รู้ช่องทางการเยียวยา และถูกตำหนิจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอคติ หรือทัศนะบางประการต่อผู้มาขอรับการเยียวยา
2.9 ให้ คอป. เปิดเผยวิธีการเยียวยาหรือการประสานงาน และให้มีข้อมูลที่เปิดเผยว่าได้มีช่องทางอื่นใดที่จะเข้าถึงผู้เสียหาย บาด เจ็บ เสียชีวิต จากการชุมนุม หรือประชาชนทั่วไป (รวมทั้ง ในกรณีที่เป็นเจ้าของกิจการ ห้างร้าน) 2.10 กรณีที่ผู้ต้องขังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและยังไม่มีหน่วยงานใดยื่น มือเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้รัฐบาลมอบหมายให้ คอป. จัดทนายและดำเนินการประกันตัว (พร้อมงบประมาณ) โดยไม่ชักช้า กรณีที่ถูกคุมขังและไม่มีการแจ้งข้อหา รัฐบาลต้องให้มีการชดเชยตามความเหมาะสม 2.11 คอป. จะต้องให้มีเวทีไต่สวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูล หรือเปิดเผยผลการตรวจสอบ อย่างน้อยทุกๆ สามเดือน หรือจัดทำเว็บไซต์เพื่อแถลงความคืบหน้า ตลอดจนเอกสารเผยแพร่จากการค้นหาความจริง
3. มองผ่านการทำงานของอนุกรรมการ: อุปสรรค และทางออก ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่ารูปแบบการดำเนินงานของ คอป. ยังเป็นการทำงานผ่านคณะอนุกรรมการเป็นส่วนใหญ่ อุปสรรคสำคัญจึงยังอยู่ที่ภาระงานของกรรมการและอนุกรรมการ ทั้งๆ ที่ควรจะกำหนดวาระสำคัญคือการตรวจสอบและค้นหาความเพื่อการปรองดอง แต่การดำเนินงานของ คอป. ในสภาพการทำงานปัจจุบันยังดำเนินไปอย่างล่าช้า และหากไม่มองโลกในแง่ร้ายเกินไป วิธีการดำเนินงานขณะนี้ไม่น่าจะสำเร็จทันกรอบเวลาที่ตั้งไว้สองปี ดังนั้น นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะต้องหารือกับ คอป. เพื่อจัดการกับปัญหาและข้อท้าทายที่กล่าวมาแล้ว
คอป. ควรเปิดการรับฟังเป็นเวทีสาธารณะในพื้นที่ หรือรุกไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ข้อมูลมากกว่าจะนั่งรอให้ประชาชนหรือ เจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลในสำนักงาน ส่งตัวแทนไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบกลุ่มต่างๆ เพื่อรับฟัง เพื่อเยียวยา และเพื่อค้นหาความจริงโดยมีการนัดหมายล่วงหน้า ประสานทำความเข้าใจไปก่อนจะลงพื้นที่ มีตัวแทนคณะอนุกรรมการลงไปรับฟัง และบันทึกการเสวนาเพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน
คอป. อาจจัดให้มีนักวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลภาคสนาม ลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกมากกว่าในปัจจุบัน เพื่อรวบรวมข้อมูลให้กับคณะอนุกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสัมภาษณ์กลุ่ม สัมภาษณ์เชิงลึก หรือรับข้อมูลทางตรงในแบบอื่นๆ ในระหว่างคณะอนุกรรมการควรจะได้จัดให้มีฐานข้อมูลร่วมเพื่อจะเห็นภาพรอบด้าน ของการค้นหาความจริง
กรณีการเผาสถานที่ น่าจะแบ่งออกเป็นสถานที่ราชการและเอกชน เพื่อแยกแยะรับฟังขอบเขตความเสียหายและการเยียวยา ซึ่งปัญหาที่ยังค้างอยู่ก็คือคดีความและการรับประโยชน์จากการประกันภัยซึ่ง อุปสรรคสำคัญยังอยู่ที่ข้อถกเถียงเรื่องการเป็นหรือไม่เป็นผลจากการก่อการ ร้าย ทำให้ผู้เสียหายไม่อาจได้รับค่าชดเชยตามสินไหมที่ประกันภัยเอาไว้
ที่สำคัญที่สุด รัฐบาลและ คอป. ควรตรวจสอบเร่งรัดการส่งมอบเอกสารค้างส่งจาก ศอฉ. และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าดำเนินการไปถึงไหน ขัดข้องในขั้นตอนใดในการส่งมอบเอกสาร ไม่เช่นนั้นก็จะมีเอกสารที่หลุดออกมาโดยไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องให้ คอป.และสาธารณชนต้องตรวจสอบว่าจริงหรือไม่จริง อย่างไร
เหนือ สิ่งอื่นใดก็คือการเยียวยารักษาชีวิตและจิตใจของประชาชน และมีการค้นหาความจริงเพื่อทลายวาทกรรมที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสีใน ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา
หมายเหตุุ: จากบทความเดิมชื่อ"ข้อเสนอในการปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ"