ที่มา ข่าวสด
หลังเกิดเหตุรัฐบาลชุดที่แล้ว สั่งกำลังทหารติดอาวุธครบมือเดินหน้าสลายและปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ในช่วงเดือนเม.ย. ถึง 19 พ.ค. 2553 ผลสอบสวนของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ชี้ว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพนั้น เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะฝีมือของเจ้าหน้าที่ 13 ราย ล่าสุด ดีเอสไอได้ส่งคดี 13 ศพดังกล่าวคืนให้ตำรวจ "บช.น." รับสำนวนและศพกลับไปชันสูตรหาสาเหตุการตายที่แท้จริงอีกครั้ง โดยตำรวจประจำสน. เจ้าของคดีแต่ละแห่งจะรับหน้าที่พิสูจน์ความจริงต่อไป สำหรับรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง13ศพและสน.พื้นที่เจ้าของคดีรวมถึงข้อมูลสำนวนการสอบสวนโดยสรุปของดีเอสไอ มีดังนี้ 1.นายมานะ อาจราญ ในพื้นที่สน.ดุสิต , พนักงานดูแลบำรุงรักษาสัตว์สวนสัตว์ดุสิต ถูกยิงตายในสวนสัตว์ดุสิต เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ในสำนวนระบุว่า มีพยานรวม 14 ปาก ทั้งเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ และเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งรวมพลกันในลานจอดรถสวนสัตว์ดุสิต รายนี้หลักฐานชัดเจนมากเพราะในที่เกิดเหตุมีแต่ทหารที่เข้าไปประจำการอยู่ คาดว่าเกิดความเข้าใจผิด สุดท้ายนายมานะ ก็ถูกยิงตาย ในที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 2 ปลอก โล่ปราบจลาจล และเสื้อลายพรางระบุชื่อ "บารมี ชีพไธสงค์" 2.พลฯ ณรงฤทธิ์ สาละ พื้นที่สน.พญาไท, ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 บริเวณใกล้อนุสรณ์สถานแห่งชาติ บนถ.วิภาวดี-รังสิต เขตดอนเมือง กทม. มีพยานรวม 26 ปาก ส่วนใหญ่เป็นตำรวจ ทหาร และพยานที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ ซึ่งระหว่างนั้นตำรวจ-ทหารตั้งแถวป้องกันกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางผ่านมาทาง ถ.วิภาวดีฯ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ กับพวกขี่รถจักรยานยนต์มาสมทบโดยมาทางกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อมาถึงแถวทหารก็ถูกยิงเสียชีวิต วิถีกระสุนมาจากซ้ายข้างจุดที่มีทหารถือปืนเอ็ม 16 เอชเค และลูกซองประจำการอยู่ และมีพยานยืนยันว่าเห็นทหารชุดดังกล่าวยิงปืนเข้าใส่กลุ่มรถจักรยานยนต์ที่แล่นเข้ามา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่าความตายของพลฯ ณรงค์ฤทธิ์ เกิดจากเหตุ "เฟรนด์ลี่ไฟร์" หรือ ทหารยิงทหารฝ่ายเดียวกันตายโดยไม่ได้ตั้งใจ 3.นายชาติชาย ชาเหลา พื้นที่สน.ปทุมวัน , หนึ่งในผู้ชุมนุมถูกยิงตายเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ระหว่างเดินถ่ายวิดีโอบริเวณริมถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี จุดดังกล่าวมีทหารประจำอยู่บนสะพานลอยบริเวณตึกอื้อจือเหลียง มีพยานรวม 3 ปากเป็นทหาร และหลักฐานภาพถ่ายจากกล้องวิดีโอของนายชาติชาย ช่วงเกิดเหตุนายชาติชายถือกล้องวิดีโอถ่ายภาพมาตามบาทวิถี แล้วมาหยุดห่างจากด่านของทหารประมาณ 100 เมตร ระหว่างถ่ายภาพทหารบนสะพานลอยก็ถูกยิงได้รับบาดเจ็บก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา 4.นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ พื้นที่สน.พลับพลาไชย 1 , ถูกยิงขณะทำข่าวอยู่ในแนวของคนเสื้อแดง ถ.ราชดำเนิน วันที่ 10 เมษายน 2553 5.นายรพ สุขสถิต พื้นที่สน. ปทุมวัน , ถูกยิงตายในวัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พ.ค.2553 6. นายมงคล เข็มทอง พื้นที่สน.ปทุมวัน , ถูกยิงตายในวัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พ.ค.2553 7. นายสุวัณ (สุวรรณ) ศรีรักษา พื้นที่สน.ปทุมวัน , ถูกยิงตายในวัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พ.ค.2553 8. นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล พื้นที่สน.วัดพระยาไกร , ถูกยิงที่หน้าอกซ้าย พบศพใต้ทางด่วนพระราม 4 9. นายประจวบ ประจวบสุข พื้นที่สน.วัดพระยาไกร , เหยื่อกระสุนจากการกระชับพื้นที่ย่านบ่อนไก่ เดือนพ.ค. 2553 10.นายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี พื้นที่สน.ปทุมวัน , ถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 บริเวณทางเท้าข้างร้านอาหารระเบียงทอง เขตปทุมวัน กทม. โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเลย เพราะช่วงเกิดเหตุนายบุญมี ไปทานอาหารที่ร้านระเบียงทอง เมื่อเดินออกมาก็ถูกยิง นายบุญมี ได้รับบาดเจ็บนอนรักษาตัวอยู่ราว 2 เดือน ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ซึ่งระหว่างรักษาตัวเหยื่อบอกกับภรรยาและแพทย์ที่รักษาว่า ถูกยิงโดยกลุ่มทหาร 11.ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ พื้นที่สน.พญาไท กับ 12.นายพัน คำกอง สน.พญาไท ถูกยิงตายบริเวณ ถ.พญาไท เขตราชเทวี มีพยานระบุชัดว่าเป็นความเข้าใจผิดของทหารที่ตั้งด่านสกัดแล้วมีรถตู้พยายามแล่นเข้ามา จึงใช้อาวุธปืนยิงใส่หลายนัด หลังเหตุการณ์สงบพบว่าด.ช.คุณากร และนายพัน ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง 13.นายชาญณรงค์ พลศรีลา พื้นที่สน.พญาไท , ถูกยิงเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 14.00 น. บริเวณถ.พญาไท เขตราชเทวี กทม. ระหว่างชุมนุมแล้วใช้หนังสติ๊กยิงสู้กับทหาร นายนิโคลัส นอร์ติสส์ ช่างภาพต่างชาติที่อยู่กับผู้ชุมนุมให้ปากคำชัดเจนว่า นายชาญณรงค์ ถูกยิงบาดเจ็บ ก่อนที่เพื่อนๆ จะพาหนีเข้าไปในห้องน้ำปั๊มน้ำมันใกล้ๆ กัน พยานระบุว่ามีทหารตามเข้ามาแล้วเกิดเสียงปืนอีกหลายนัด ก่อนที่จะลากนายชาญณรงค์ออกไป และเสียชีวิตในเวลาต่อมา |
|