ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ในช่วงครบรอบ 5 ปีเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
เพราะ อย่างที่รู้กันว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ร่างขึ้นจากกลุ่มอำนาจเผด็จการ คมช. หลังจากฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ไปเรียบร้อยแล้ว
รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกขนานนามต่างๆ นานา อาทิ ฉบับหน้าแหลมฟันดำ ฉบับจีเอ็มโอ ฉบับผลไม้พิษ ฉบับเผาป่าล่าสัตว์ เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายจัดการกับคนๆ เดียวคือ "ทักษิณ"
ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยหาเสียงว่าจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงกับเสนอเป็นแคมเปญด้วยซ้ำไปว่า
ถ้าประชาชนต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับ ผลไม้พิษให้เลือกพรรคเพื่อไทย ถ้าไม่ต้องการให้แก้ไขก็เลือกพรรคฝ่ายตรงข้าม
ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเข้ามาถล่มทลายเกินครึ่งสภา
จึง ถือเป็นความชอบธรรมที่หลังจากเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะอ้างฉันทานุมัติจากประชาชนในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญหน้า แหลมฟันดำ
แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่บท ของประเทศ การบอกจะแก้แล้วทำได้เลยเป็น ไปไม่ได้ จะต้องมีกระบวนการแก้ไขที่ทุกฝ่ายยอมรับ
ตาม ที่รัฐบาลเพื่อไทยเสนอ อันดับแรกคือแก้มาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่าง หรือส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง เข้ามาเป็นผู้ยกร่าง คล้ายกับเมื่อครั้งรัฐธรรมนูญปี 2540
ยกร่างเสร็จแล้วก็จะจัดให้มีการทำประชามติ สอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่
ทั้งหมดคือกระบวนการคร่าวๆ ซึ่งไม่เห็นว่าหากดำเนินการตามนั้นแล้วจะทำให้ประเทศชาติเกิดความขัดแย้งถึงขั้นกลียุคได้อย่างไร
ส่วน "พรรคแมลงสาบ" ที่ได้รับประโยชน์จากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จะคัดค้านการแก้ไขก็ถือเป็นสิทธิ์ แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกา
เช่น สามารถรณรงค์ชี้แจงต่อประชาชนได้ในขั้นตอนการทำประชามติ ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรที่คนไทยต้องช่วยกันปกป้องรักษาไว้ซึ่งรัฐ ธรรมนูญปี 2550
อันเป็นมรดกอำนาจกลุ่มเผด็จการ ที่มุ่งหวังใช้เป็นเครื่องมือสร้างความทุกข์ทรมานให้คนคนเดียว แต่กลับมีผลข้างเคียงในการทำลายระบอบการเมืองอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง
ขอเตือนไว้ก่อนว่าต้องอธิบายให้ดี
อย่าหน้ามืดตามัวเหมือนสมัยเรียกร้อง "มาตรา 7" ก็แล้วกัน