ที่มา มติชน
สราวุธ เบญจกุล
ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล ศาลจำเป็นต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยการใช้ดุลพินิจชั่ง น้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงว่ามีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลจะรับฟังประกอบการ พิจารณาหรือไม่ โดยเฉพาะในคดีอาญาที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 กำหนดไว้ว่า
“ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำ ความผิดนั้น”
ทั้งนี้ ในการรับฟังพยานหลักฐานนั้น นอกจากหลักเรื่องความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานที่มีความสำคัญแล้ว ในการพิจารณาคดีบางประเภทที่มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อน หรือเป็นคดีที่การอ้างถึงพยานหลักฐานบางประเภทไม่สามารถอธิบายได้โดยง่าย การนำบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆมาเบิกความย่อมเป็นประโยชน์ แก่ศาลในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
กฎหมายจึงกำหนดให้ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรหรือเมื่อมีคำขอของคู่ความ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งบุคคลที่เรียกว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” ขึ้นได้ โดยบุคคลที่ถูกแต่งตั้งต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในทางที่เกี่ยว ข้องกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและความเห็นของผู้นั้นอาจเป็นประโยชน์ในการ วินิจฉัยชี้ขาดคดี เช่น มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฝีมือ พาณิชยการ การแพทย์ ภาษาต่างประเทศ หรือกฎหมายต่างประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 129 กำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งแต่งตั้งหรือไม่ก็ได้ หากมีการแต่งตั้งศาลอาจใช้วิธีเรียกคู่ความมาให้ตกลงกันกำหนดตัวผู้เชี่ยว ชาญที่จะแต่งตั้งก็ได้ แต่ศาลจะบังคับบุคคลใดให้เป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ นอกจากบุคคลนั้นได้ยินยอมลงชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญไว้ในทะเบียนผู้เชี่ยวชาญ ของศาลแล้ว
ในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมนั้น ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2546 และต้อง “เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญหรือมีความชำนาญพิเศษโดยมีประสบการณ์ในทางที่ขอ ขึ้นทะเบียนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี”
บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นสามารถยื่นคำขอโดยมีผู้รับรองตาม แบบที่กำหนดต่อผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งขึ้นและคณะ กรรมการจะพิจารณาเสนอความเห็นในการรับขึ้นทะเบียนบุคคลเป็นผู้เชี่ยวชาญของ ศาลต่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งรับหรือไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของ ศาล และถ้าไม่รับขึ้นทะเบียนต้องแสดงเหตุผลในคำสั่งนั้นด้วย
เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจำต้องประพฤติและปฏิบัติตนตามที่กำหนดไว้ในประมวลจริยธรรมผู้ เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม ทำนองเดียวกับกรณีที่ผู้พิพากษาต้องประพฤติและปฏิบัติตนตามที่กำหนดในประมวล จริยธรรมข้าราชการตุลาการ และผู้ประนีประนอมต้องประพฤติและปฏิบัติตนตามที่กำหนดในประมวลจริยธรรมผู้ ประนีประนอม นั่นเอง
ในกรณีของประมวลจริยธรรมผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมนั้น ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติตนของผู้เชี่ยวชาญไว้ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ การให้ความเห็น และการดำรงตนไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจะต้องเป็นพยานในคดี และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอาจใช้เป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของ ศาล ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่ความ ผู้เชี่ยวชาญจึงต้องมีหน้าที่สำคัญในการ “ให้ความ เห็นตามความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของตน เพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล โดยจักต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นกลาง ปราศจากอคติ ประพฤติตนตามกฎหมายและทำนองคลองธรรม อยู่ในกรอบศีลธรรมและจริยธรรม มีความรู้และเข้าใจในเรื่องที่ให้ความเห็นอย่างถ่องแท้ และมีความพร้อมที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม...”
นอกจากนี้ “ผู้เชี่ยวชาญจักต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ตามมาตรฐาน วิชาชีพ มาตรฐานวิชาการ หรือมาตรฐานอื่นใด วิธีปฏิบัติ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมอย่างมี ประสิทธิภาพ” โดยในส่วนของการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการให้ความเห็นนั้น ประมวลจริยธรรมผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม กำหนดให้ต้องประกอบด้วยหลักการสำคัญ อันได้แก่
1. การให้ความเห็นที่เป็นกลาง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต้องให้ความเห็นโดยปราศจากอคติ ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ปล่อยให้มีอิทธิพลใดๆ เข้ามาทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของตนขาดความเป็นธรรมหรือเสียความเป็นกลาง และหากมีข้อเท็จจริงใดอันอาจเป็นเหตุให้คู่ความมีความสงสัยตามสมควรในความ เป็นกลาง ผู้เชี่ยวชาญต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ผู้รับผิดชอบราชการศาล องค์คณะผู้พิพากษา และคู่ความทราบ
2. การให้ความเห็นเฉพาะเรื่อง ที่ผู้เชี่ยวชาญมีคุณสมบัติ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ เพียงพอในเรื่องนั้นๆ เพื่อที่จะช่วยศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี
3. การให้ความเห็นต้องชัดเจน เป็นไปในลักษณะที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง และไม่คลุมเครือเพื่อลดปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกัน อีกทั้งต้องไม่ให้ความเห็นหรือรายงานอันเป็นเท็จ และหากมีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแสดงก็ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือ รายงานเท็จด้วย
นอกจากการให้ความเห็นที่ต้องมีความเป็นกลาง ชัดเจน และเป็นความเห็นที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังต้องมีจริยธรรมในการประพฤติ ปฏิบัติและดำรงตนในฐานะผู้เชี่ยวชาญอีก อาทิเช่น
4. การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งในคดี โดยไม่ควรจะแสดงความเห็นใดๆ ไม่ว่าจะกระทำต่อสาธารณชนหรือไม่ หากการแสดงความคิดเห็นนั้นอาจกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาคดี และทำให้บุคคลทั่วไประแวงสงสัยในความเป็นกลาง
5. การดำรงตนในเรื่องอื่นๆ เช่น ต้องไม่กระทำการใดๆอันอาจเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีขาดความเป็นอิสระ หรือความยุติธรรม ไม่ประพฤติตนให้เกิดความเสื่อมเสียโดยต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมาย ศีลธรรม และจริยธรรม อย่างเคร่งครัด และผู้เชี่ยวชาญจะต้องไม่อวดอ้างหรือแสวงประโยชน์ใดๆจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับรองจากศาลยุติธรรม
จากคุณลักษณะพิเศษของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอาจใช้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ที่มีผลกระทบต่อคู่ความในคดีโดยตรงนั้น บุคคลที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญจึงต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ศีลธรรม และจริยธรรม อย่างเคร่งครัด ตามที่ประมวลจริยธรรมผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมกำหนด เพื่อประโยชน์ในการรักษาและผดุงความยุติธรรม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมแก่ ประชาชน
( เรื่อง สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม )