WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, September 24, 2011

เมื่อพระอ้างพระไตรปิฎก “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ”

ที่มา ประชาไท

พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นหูที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นกายที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นใจที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง
พระไตรปิฏก เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง

ข้อความข้างบนนี้คือข้อความที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์สำนักสงฆ์ป่าสามแยก ที่พำนักของพระเกษม อาจิณฺณสีโล ผู้อ้างพระไตรปิฎกว่า “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ” ผมคิดว่าวิธีอ้างพระไตรปิฏกแบบ “อีเดียต” ของพระรูปนี้เป็น “กรณีศึกษา” ที่น่าสนใจ แต่โปรดเข้าใจว่า “อีเดียต” ในที่นี้ผมไม่ได้ใช้เป็นคำด่า แต่ใช้ในความหมายเชิงวิชาการที่หมายถึง การอ้างข้อความในพระไตรปิฎกโดยไม่วิเคราะห์เนื้อหาและบริบทเพื่อเป็น “คำตอบสำเร็จรูป” แก่ทุกเรื่องอย่าง (ที่ไม่รู้จะใช้คำไหนแทนดีจึงใช้) อีเดียต”

บังเอิญผมเพิ่งได้อ่านแง่คิดในการอ่านพระไตรปิฎกจากข้อเขียนของสมภาร พรมทา (วารสารปัญญา ฉบับที่ 12 กันยายน 2554) ซึ่งเข้ากันได้กับเรื่องนี้พอดี จึงขอ “เก็บความ” มาเล่าโดยย่อ ข้อเขียนดังกล่าวยกตัวอย่างเรื่องหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เขียนประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอนหนึ่งว่าคืนที่ท่านบรรลุธรรมนั้นเกิดนิมิตมีพระพุทธเจ้าหลายองค์มาแสดง ความยินดี พระพุทธเจ้าแต่ละองค์มีพระอรหันต์เป็นบริวารจำนวนมากน้อยต่างกันตามบารมีที่ บำเพ็ญมาต่างกัน แถมมีพระอรหันต์ที่เป็นสามเณร อายุประมาณ 7- 8 ขวบ หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูมาในขบวนนั้นๆ ด้วย ความประทับใจในความน่ารักของสามเณรทำให้หลวงตาบัวถึงขนาดเขียนว่า “ถ้าเป็นเราคงอดไม่ได้ที่จะเข้าไปหยิกแก้มสามเณร แล้วค่อยขอขมาโทษทีหลัง”

อีกเรื่องเป็นประวัติของหลวงพ่อชา สุภัทโท ตอนวัยหนุ่มท่านต่อสู้กับ “ราคะ” ชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน ระหว่างเดินจงกรมอยู่กลางป่าตอนกลางคืน ปรากฏว่าท่านเกิดนิมิตเห็นอวัยวะเพศผู้หญิงลอยมาเวียนวนรบกวนสมาธิอยู่ตลอด เวลา จนทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ องคชาติแข็งตัวจนต้องถลกสบงเดินจงกรมสู้กับความรู้สึกทางกามารมณ์นั้นอย่าง เอาเป็นเอาตายอยู่ถึง 10 วันจึงเอาชนะได้เด็ดขาด (ปกติถ้าเราจะเกิดอารมณ์ทางเพศเมื่อเห็นหรือจินตนาการภาพผู้หญิงเปลือยทั้ง ตัว ถ้าเห็นอวัยวะชิ้นใดชิ้นหนึ่งลอยมา เราน่าจะเผ่นป่าราบมากกว่า ไม่รู้ว่าคนเขียนประวัติหลวงพ่อชาทำไมถึงจินตนาการได้พิลึกพิลั่นขนาดนั้น)

อาจารย์สมภารแสดงความเห็นทำนองว่า ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นการเขียนประวัติพระเกจิอาจารย์แนวโรแมนติก คือใส่จินตการเหนือจริงเข้าไป แม้ว่าผู้เขียนจะบอกว่าเขียนจากคำบอกเล่าของเจ้าของประวัติเองก็ตาม แต่ท่วงทำนอง ลีลาในการเขียน หรือการใส่สีตีไข่เพื่อให้เห็นความน่าอัศจรรย์ หรือเห็นความเพียรเป็นเลิศในการเอาชนะกิเลสของครูบาอาจารย์นั้นเป็นของผู้ เขียนเอง

ประเด็นคือ เราต้องเข้าใจว่า ประวัติของพระเกจิอาจารย์ต่างๆ นั้น ไม่ใช่ตัวท่านเขียนเอง แต่เป็นลูกศิษย์ท่านเขียน ขนาดประวัติพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยเรายังเห็นความโรแมนติก หรือความเหนือจริงที่ถูกเติมแต่งโดยผู้เขียนเพื่อยกย่องหรือสร้างศรัทธาใน ครูอาจารย์ของตนขนาดนี้ เรื่องราวของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกในสมัยพุทธกาลก็เช่นกัน ท่านไม่ได้เขียนประวัติของตัวท่านเอาไว้เอง เป็นเรื่องที่คนอื่นเขียนให้ท่านทั้งนั้น แม้แต่เนื้อหาคำสอนที่ถูกบันทึกเป็นพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ถูกรวบรวมจัดหมวด หมู่ที่เรียกว่า “สังคายนา” หรือ edit โดยกลุ่มพระสาวกผู้เชี่ยวชาญที่ทำกันมาแล้วหลายครั้ง

จะเห็นว่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่เราพบในพระไตรปิฎกมีอยู่สองแนวคือ แนวโรแมนติก (romantic) กับแนวสมจริง (realistic) ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระสาวกมีสองประเภทคือพวก romanticists กับพวก realists และสองพวกนี้ก็ทรงจำและบันทึกเรื่องราวของพระพุทธเจ้าต่างกัน เราจึงได้เห็นภาพลักษณ์ของพระพุทธสองภาพที่แตกต่างกัน (ซึ่งต่างก็ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นแหละ) ภาพของพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติแนวโรแมนติก คือภาพของ “อภิมนุษย์” ที่สง่างามสมบูรณ์แบบ มีลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ เกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าวทันที มีอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ เป็นสัพพัญญูรู้ทุกอย่างในจักรวาล ทำอะไรไม่เคยผิดพลาดล้มเหลว เป็นต้น แต่ภาพของพระพุทธเจ้าแนวสมจริง คือมนุษย์ธรรมดาเหมือนเรา ต่างจากเราเพียงเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นจากกิเลส ทว่าร่างกายบุคลิกภาพก็เหมือนคนธรรมดา มีความเจ็บป่วยแก่ชรา นั่งนานๆ ก็เหนื่อย บางครั้งต้องนั่งพิงเสาศาลาเวลาประชุมสงฆ์ บางครั้งก็สอนลูกศิษย์ให้เป็นพระที่ดีก็ไม่ได้ เช่นพระเทวทัต ลูกศิษย์บางคนก็หัวดื้อไม่เชื่อฟัง เช่นพระฉันนะอดีต “อำมาตย์คนสนิท” ของท่านเอง บางครั้งลูกศิษย์แตกเป็นสองก๊ก พระองค์ก็ไม่สามารถประสานให้เกิดความสามัคคีกันได้ เช่นภิกษุเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน เป็นต้น

สำหรับพวก realists เวลามองคำสอนของพระพุทธเจ้าเขาก็มองตามเป็นจริง ไม่คิดว่าทุกข้อความของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกจะเป็นสัจธรรมที่ตอบปัญหาได้ ทุกเรื่อง คือเขาแยกคำสอนของพระพุทธเจ้าออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นความจริงอันเป็นหลักการทั่วไปที่ไม่สัมพันธ์หรือขึ้นอยู่กับ บริบทใดบริบทหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นอริยสัจสี่ ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ ฯลฯ กับส่วนที่เป็นความจริงที่สัมพันธ์หรือขึ้นต่อบริบทเฉพาะบางอย่าง ซึ่งบริบทเฉพาะนั้นอาจเป็นปัญหาของบุคคลที่พระพุทธเจ้าสอน หรือวัฒนธรรมทางสังคมในเวลานั้นก็ได้ หมายความว่าเวลาสอนคนเป็นรายบุคคล พระพุทธองค์จะใช้วิธีพูดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นมีทุกข์หรือปัญหาเฉพาะตัวอย่างไร หรือมีภูมิหลังทางความเชื่ออย่างไร หรือเวลาสอนธรรมะทางการเมืองก็ดูบริบททางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เช่น คำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรพระองค์ก็สอนเพื่อตอบสนองต่อปัญหาของระบบสังคมการเมืองแบบราชา ธิปไตย วัชชีธรรมหรืออปริหานิยธรรมก็สอนแก่สังคมการเมืองแบบสามัคคีธรรม หรือคณาธิปไตยในเวลานั้น เป็นต้น

เมื่อค้นดูข้อความในพระไตรปิฎกที่พระเกษมยกมาอ้างแล้วสรุปว่า “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ” นั้น จะเห็นว่า เป็นข้อความในกัณฑินชาดก (และเพิ่มเติมตัวอย่างในอินทริยชาดก) “ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง” (พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 ข้อ 13 หน้า 5) ว่า “เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ผู้ยิงไปเต็มกำลัง เราติเตียนชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ อนึ่ง สัตว์เหล่าใดตกอยู่ในอำนาจของหญิงทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น บัณฑิตก็ติเตียนแล้วเหมือนกัน”

บริบทของการตรัสข้อความนี้คือ เกิดปัญหาว่าพระรูปหนึ่งจะสึกเพราะภรรยาเก่าลวงว่าจะไปแต่งงานกับคนอื่น การอยากจะสึกของพระรูปดังกล่าวนั้นตามค่านิยมของสังคมสงฆ์หมายถึงการตกอยู่ ใน “อำนาจ” (ในเรื่อง หมายถึงความติดใจในรสปลายจวักและในทางกามารมณ์) ของตรีซึ่งเป็นอุปสรรคต่อชีวิตพรหมจรรย์ของพระ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสข้อความในพระไตรปิฎกนั้นในบริบทของการสอนพระที่ตกอยู่ใน “อำนาจ” ของสตรีในความหมายดังกล่าวนั้น จนทำให้อยากสึกไป (โดยการสอนนั้นใช้วิธีเล่านิทานชาดกประกอบ ซึ่งการสอนด้วย “นิทาน” น่าจะเป็นที่นิยมในยุคนั้น)

แต่ข้อความว่า “เราติเตียนชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ” เราอาจเข้าใจได้ว่า ข้อความนี้น่าจะเป็นการพูดถึงความจริงที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคมวัฒนธรรม ยุคนั้นที่หัวเมืองใดมีผู้หญิงเป็นผู้นำอาจทำให้อ่อนแอเนื่องจากเป็นยุคสมัย ที่ “ศึกชิงเมือง” เกิดได้ตลอดเวลา หรือเป็นยุคที่สังคมยังไม่ยอมรับบทบาทความเป็นผู้นำของสตรี ซึ่งเป็นไปได้ว่าพระพุทธเจ้าก็เห็นด้วยกับการไม่ยอมรับบทบาทเช่นนั้นด้วย

ทว่าการไม่ยอมรับบทบาทความเป็นผู้นำของสตรีดังกล่าวนั้น เป็นเพียงค่านิยมร่วมสมัยในยุคหนึ่ง (ในยุคใกล้เคียงกับพุทธกาล เพลโตก็ถือว่าสตรีไม่ใช่เสรีชน) ไม่ใช่ “หลักการตายตัว” ของพุทธศาสนาที่ใช้ได้กับทุกยุคสมัย ฉะนั้น การที่พระเกษมอ้างคำพูดของพระพุทธเจ้า (ถ้าใช่?) ที่ว่า “เราติเตียนชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ” เพื่อเป็น “คำตอบสำเร็จรูป” กับยุคปัจจุบันว่า “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ” จึงเป็นการอ้างแบบอีเดียต คือไม่รู้จักใช้สติปัญญาจำแนกแยกแยะว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความจริงในบริบทของสังคมวัฒนธรรมยุคกว่าสองพันปีที่แล้ว ไม่ใช่ความจริงที่เป็นหลักการทั่วไปเหมือนความจริงของอริยสัจสี่ หรือไตรลักษณ์ที่ปรับใช้ (apply) ได้กับทุกยุคสมัย

ส่วนข้อความที่ว่า “สตรีผู้มีปัญญาทราม” ที่พระเกษมอ้างถึง แม้จะเป็นข้อความในพระไตรปิฎกจริง แต่ก็ไม่ใช่ข้อความที่พูดถึงธรรมชาติของความเป็นผู้หญิง หรือเป็นคำตัดสินค่าความเป็นเพศหญิง เพราะมีข้อความมากมายในพระไตรปิฎกที่ระบุว่า “บุรุษผู้มีปัญญาทราม” ซึ่งทั้งสองข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่พาดพิงถึงสตรีหรือบุรุษบางคนที่ แสดงออกถึงความมีคุณภาพทางปัญญาเช่นนั้น เช่น ข้อความว่า “พระอ้างพระไตรปิฎกแบบอีเดียต” ในที่นี้ก็หมายเฉพาะพระบางรูป ไม่ใช่พระทุกรูป เป็นต้น

หากย้อนไปดูข้อความโปรยต้นบทความจะเห็นว่า พระเกษมเชื่ออย่างสุดโต่ง (extreme) ว่าปัญหาทุกเรื่องหา “คำตอบสำเร็จรูป” ได้จากพระไตรปิฎก หรือสามารถอ้างพระไตรปิฎกมาตอบปัญหาในชีวิตและสังคมปัจจุบันได้ทุกเรื่อง นี่ก็เป็นความเชื่อแบบอีเดียตเช่นกัน เมื่อเชื่อแบบอีเดียตเช่นนี้จึงทำให้อ้างพระไตรปิฎกแบบอีเดียตดังกล่าวแล้ว

จะว่าไปวิธีคิด และทัศนคติที่มองคำถามท้าทายทางวิชาการเป็นคำด่า มองกัลยาณมิตรทางวิชาการเป็นตัวปัญหา และวิธีอ้างพระไตรปิฎกแบบอีเดียตดังกล่าว คือภาพสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษา และวัฒนธรรมทางปัญญาของสังคมสงฆ์ที่ฝังรากลึกมานาน และยังมองไม่เห็นวิสัยทัศน์ของการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด!