ที่มา Thai E-News
ที่มา Siam Intelligence
20 กันยายน 2554
ที่ ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุดของนายคณิต ณ นคร จำนวน 7 ข้อ โดยมีใจความสำคัญคือ
- ตรวจ สอบข้อหาและการดำเนินคดีทางการเมือง ที่เกิดจากความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548, คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ว่าตั้งข้อหารุนแรงเกินสมควรหรือไม่ และให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว หรือบางกรณีให้ขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดี เพื่อรอข้อมูลให้ครบถ้วน
- ใช้มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็น มาตรการพิเศษ ที่ไม่ใช่หลักการทั่วไปในกรณีผู้ประสบภัยพิบัติ และกำหนดคณะกรรมการเฉพาะกิจด้านการเยียวยา
- เร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชุมนุมที่ถูกกักขังในเรือนจำ และจ่ายค่าทดแทนต่อจำเลยที่ศาลยกฟ้อง
- ปรับ ปรุงแนวทางการสั่งคดีของอัยการในคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ใช้หลัก Opportunity Principle ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยถือประโยชน์สูงสุดในการป้องป้องพระเกียรติยศเป็นสำคัญ
วันนี้ (20 ก.ย. 2554) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ การปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย
โดย ให้รัฐบาลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างบรรยากาศปรองดองในชาติ ยึดหลักนิติธรรม เคารพกฎหมาย ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับการแจ้งข้อกล่าวหาในการดำเนินคดีอาญา และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อให้เกิดกระบวนการในการสืบสวนสอบสวนอย่าง ยุติธรรมเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทั้งนี้ให้ดูภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ก่อนและหลังปฏิวัติ สำหรับเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนให้ดำเนิน ทุกวิถีทาง เพื่อเป็นการปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับ ข้อ เสนอเรื่องชดเชย เยียวยา ฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นแนวปฏิบัติแบบกว้าง ๆ โดยตั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการดูแล เยียวยา ฟื้นฟู และขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลยตาม ลักษณะและสิทธิ์ของนักโทษ
ซึ่งในที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการประสาน และติดตามผลการดำเนินงานข้อเสนอของ คอป. เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีเจตนา และมีความจริงใจที่จะทำงานร่วมกับ คอป. เพื่อให้เกิดความปรองดองเกิดขึ้นโดยเร็ว โดยแต่งตั้งนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ
ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย
รายละเอียดจากสรุปการประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 20 กันยายน 2554
เรื่อง ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่ง ชาติ (คอป) ต่อ นโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย
คณะ รัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ การปรองดองแห่งชาติ (คอป) ต่อนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย ตามที่นายคณิต ณ นคร ในฐานะประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป) เสนอ รวม 7 ประการ ดังนี้
ประการแรก
คอป. เห็นว่า ในระหว่างที่สังคมไทยยังมีความขัดแย้งอยู่ รัฐบาลต้องดำเนินการมาตรการเพื่อลดความขัดแย้ง โดยตรวจสอบว่าเจ้าพนักงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารปฏิบัติตาม กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและผู้ต้องขังที่ต้องการความช่วยเหลือ ตรวจสอบและผลักดันให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อได้รับ การพิจารณาวินิจฉัยอย่างเท่าเทียมกัน
ประการที่สอง
คอ ป. ขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังอย่าง ยิ่งยวดในการกระทำใดๆ ซึ่งอาจเป็นการกระทบกระเทือนถึงบรรยากาศในการปรองดอง โดยเฉพาะรัฐบาลต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ดำเนินใดๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม
คอ ป. เห็นว่า การดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุก เฉิน พ.ศ. 2548 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่เกี่ยวเนื่องซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้งหลาย ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ล้วนเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลสมควรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ดังนี้
1. เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่า การแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์ แห่งการกระทำหรือไม่ และทบทวนว่า มีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควร หรือดำเนินคดีที่พยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่
2. ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ ต้องหาและจำเลย โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาและจำเลยว่า มีเหตุที่จะหลบหนี เหตุที่จะทำลายพยานหลักฐาน หรือเหตุที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมหากได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ หากไม่มีสาเหตุดังกล่าวให้ยืนยันหลักกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานว่าผู้ ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว และในการปล่อยชั่วคราวนั้น แม้ตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะไม่เรียกร้องหลักประกันก็ตาม และในกรณีที่ศาลอนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวแต่กำหนดให้มีหลักประกันด้วย นั้น ก็ชอบแล้วที่รัฐบาลจะจัดหาหลักประกันดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคน ที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้ตามทางปฏิบัติที่ผ่านมา
3. เนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตาม ปกติ แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุ
4. เป้าหมายในทางการเมือง หากผู้ต้องหาและจำเลยนั้นไม่ได้รับการการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติ
5. เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่มีการศึกษาถึงแนวทางในการนำมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยมาใช้ สมควรขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญาเหล่านี้ไว้ โดยยังไม่พิจารณานำคดีขึ้นสู้ศาล โดยรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ให้อัยการมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการประเมินความเหมาะสมทางด้านประโยชน์ สาธารณะ รวมทั้งมาตรการทางอาญาที่เหมาะสมก่อนสั่งคดี
ประการที่สี่
คอ ป. เห็นว่า การชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่าย เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ ควรดำเนินการอย่างน้อยตามแนวทาง ดังนี้
1. เนื่องจากการเยียวยาในกรณีนี้แตกต่างจากการเยียวยาในกรณีปกติ การเยียวยาในกรณีนี้จึงไม่อาจใช้หลักการและมาตรการตามปกติดังเช่นที่รัฐใช้ กับผู้ประสบภัยพิบัติ หรือหลักการในการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายในคดีอาญา ฯลฯ แต่จะต้องใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ติดยึดอยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบของ กฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานและองค์กร ที่ดำเนินการในกรณีปกติ
2. รัฐบาลควรเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายในการเยียวยาไม่ควรจำกัดเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์ในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 เท่านั้น แต่ควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา
3. รัฐบาลควรกำหนดกรอบในการเยียวยาให้กว้างขวาง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ และครอบคลุมถึงความสูญเสียในลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้ครอบคลุมถึงความสูญเสียในทางเศรษฐกิจและโอกาสของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
4. รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ในการให้การเยียวยาผู้ที่ ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีองค์กรเฉพาะกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการเยียวยา อย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และต่อเนื่อง
ประการที่ห้า
คอ ป. เห็นว่า การเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมก็เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ที่เป็นเงื่อนไขในการสร้างความปรองดองในชาติ จึงเห็นควรดำเนินการเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดี โดยไม่เป็นธรรมเนื่องจากการชุมนุม ดังนี้
1. ควรเร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของผู้เข้าร่วม ชุมนุมและ ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินสมควร
2. จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่
3. สำหรับจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษถึงที่สุดแล้ว หรือไม่ให้ประกันตัว ควรให้ ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของจำเลยเหล่านั้นในด้านมนุษยธรรม และหากพ้นโทษแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการ ให้ความช่วยเหลือแนะนำในการประกอบอาชีพ เพื่อลดความคับแค้น และฟื้นฟูให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติ
ประการที่หก
คอ ป. มีความกังวลต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 คอป. เห็นควรให้มีการดำเนินการ ดังนี้
1. ในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ คอป. เห็นว่ารัฐบาลต้องดำเนินการการทุกวิถีทาง โดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้าย คือการปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยควรดำเนินการอย่างเด็ดขาดและเคร่งครัดต่อผู้ที่จาบจ้วงล่วงละเมิดที่มี เจตนาร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะและหวงแหนของปวงชน ชาวไทย แต่ไม่ควรนำเอามาตรการในทางอาญามาใช้มากจนเกินสมควรโดยขาดทิศทางและไม่คำนึง ถึงความละเอียดอ่อนของคดี อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาทั้งจากภายในประเทศและ จากต่างประเทศ
2. ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง และต้องยุติการกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
3. รัฐบาลต้องดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีความเป็นเอกภาพและดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการ
4. ในการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรให้ความสำคัญกับแนวทางการสั่งคดีโดยใช้ดุลพินิจ (Opportunity Principle) ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการอันเป็นสากล ในกรณีนี้ ประเด็นที่อัยการต้องพิจารณาคือแนวทางใดระหว่างการสั่งฟ้องคดีหรือการสั่ง ไม่ฟ้องคดี จะเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการปกป้องและถวายพระเกียรติยศที่เหมาะสมแด่สถาบัน พระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ
5. รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยชั่วคราว
6. รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนการดำเนินคดีที่นำเอาประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรม เดชานุภาพมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีต่อไปจะต้องมีการพิจารณาโดยมีพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเฉพาะบุคคลที่ชัดเจน ที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม
ประการที่เจ็ด
คอ ป. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สั่งสมจนทำ ให้เกิดความแตกแยกที่ร้าวลึกในสังคมไทยจนเกินกว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะ แก้ปัญหาได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและสื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนทุกคนจึงล้วนมีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศชาติไปสู่การปรองดอง ด้วยกันทั้งสิ้น รัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมไทย ได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคมในห้วง เวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ในการนี้รัฐบาลควรสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้และการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความ คิดเห็นเพื่อความเข้าใจร่วมกันของสังคมในการก้าวข้ามความขัดแย้ง ในสื่อต่าง ๆ อย่างเต็มที่ การทำความเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาและการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งร่วม กันของสังคมไทยอย่างถูกวิธีเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะนำพาสังคม ไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนสืบไป
ทั้ง นี้ ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ดูแลเรื่องเยียวยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กรณีกรือเซะและสถานการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มเติมด้วย