ที่มา Thai E-News
ยังมีประเทศไทย-(ที่มา:ภาพจากเฟซบุ๊คของ Theerachot Rergjaree และ Yingluck Shinawatra )
โดย รุ่งโรจน์ วรรณศูทร
12 ตุลาคม 2554
ในท่ามกลางวิกฤตพิบัติภัยธรรมชาติเป็นอุทกภัยใหญ่ ที่มีความร้ายแรงทั้งขอบเขตและความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ประชาชาติไทยกลับถูกซ้ำเติมด้วยผลจาก "ปรากฏการณ์ผลกระทบปีกผีเสื้อ" (Butterfly Effect) ที่เกิดจากเจตนาในการ "แบ่งแยก" ผู้คนในสังคมเป็น "สีเสื้อ" ต่างๆ นำไปสู่วิกฤตที่ยิ่งกว่าวิกฤตธรรมชาติ นั่นคือ
(การ์ตูนจากเวบไซต์ASTVผู้จัดการ)
กระแสแรก เกิดความ "กระหยิ่มยินดี/สะใจ" กับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของเพื่อนร่วมชาติ ที่อยู่ใน "พื้นที่คิดต่าง" หรือกลายเป็น "ศัตรูในจินตนาการ" จาก "กลุ่มสู่กลุ่ม" "สีเสื้อสู่สีเสื้อ" และ "ภูมิภาคภาคสู่ภูมิภาค" ทั้งมีการขยายความเกินจริง ไม่ว่าจะโดยไม่เจตนาหรือเจตนาก็ตาม
(ภาพจากเฟซบุ๊ค Abhisit Vejjajiva)
กระแสที่สอง การปลุกเร้าด้วยข้อเรียกร้อง "แบกรับภัยถ้วนหน้า" ในลักษณะ "เฉลี่ยสัมบูรณ์" ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง และเป็นไปไม่ได้ หรือไม่ควรจะเป็นในทางปฏิบัติ เนื่องจากความจำเป็นต้องที่พื้นที่ "แนวหลัง" เพื่อ "ต้านรับ" และ "รวมศูนย์การบัญชาการรับมือ"
(ภาพจากเฟซบุ๊ค Yingluck Shinawatra )
และ กระแสที่สาม การเปรียบเทียบเปรียบเปรยนโยบายและแนวทาง/การดำเนิน การแก้ไข/เยียวยาผู้ที่รับผลโดยตรงและ/หรือผลกระทบจากพิบัติภัย ไม่ว่าจะเป็นในด้านปัจจัยสี่ และในด้านอาชีพการงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนระดับล่างลงไปของสังคม
นำไปสู่การ "สาดโคลน" "เยาะเย้ยถากถาง" ที่นำโดย "นักประดิษฐ์วาทกรรมสามานย์" จากทุกขั้วการเมือง อย่างน่าละอาย โดยหาได้แสดงจุดยืน วิสัยทัศน์ ในฐานะกลุ่มคนที่ได้รับฉันทานุมัติผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยประชาชน ไปทำหน้าที่ "ใช้อำนาจอธิปไตย" แต่อย่างใด
คำถามเร่งด่วน และเป็นคำถามใจกลางของความขัดแย้งในทางการเมือง ที่สะท้อนผ่านทุกกิจกรรมในชีวิตของประชาชน ทั้งในฐานะปัจเจกและในฐานะกลุ่มทางสังคม นั้นคือ นอกเหนือจากระดมสรรพกำลังเพื่อดำเนินการแก้ไข เยียวยา ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อหน้านี้ แล้ว สังคมทั้งสังคม โดยผ่าน "กลุ่มคนชั้นนำ" ที่ประกอบด้วย ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย และบรรดากลุ่มชนที่อยู่ในฐานะผู้ได้เปรียบมาตลอดนั้นแล้ว จะประกาศจุดยืนและวิสัยทัศน์ เพื่อวางรากฐาน แนวทางการผลักดันสังคมให้ขับเคลื่อนผ่านวิกฤตในลักษณะเดียวกันนี้ในอนาคตได้ อย่างไร
ที่ สำคัญ "ต้อง" หยุดการ "โฆษณาชวนเชื่อ" เพื่อหวังผลในคะแนนเสียง "เลือกตั้ง" ทุกรูปแบบ ไม่ว่ากติกาในการเลือกตั้งนั้นจะเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม จากการดำเนินการแก้ไขเยียวยาผลจากพิบัติภัย ไม่เพียงครั้งนี้ หากหมายรวมไปถึงภาวการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งคงเป็นเรื่องที่หลีก เลี่ยงได้ยาก ในท่ามกลางวิกฤตโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลก
น่าเสียดาย ที่พื้นฐานบางประการจากอดีตด้วยข้อจำกัดโอกาสในการรับรู้ของประชาชาติไทยเรา นี้ หล่อหลอมในผู้คนส่วนใหญ่ "สนใจ" เฉพาะเรื่องราวเฉพาะหน้า โดยละเลยหลักการ และพิจารณาไปที่ "เหตุปัจจัย" ของปัญหาทั้งหลาย การแก้ปัญหาจึงมีลักษณะ "แก้ผ้าเอาหน้ารอด" การจะวางแผนบริหารจัดการแทบทุกกิจกรรมที่มีลักษณะระยะยาวจะถูกกีดกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสนอแนวทางก้าวออกจาก "ความคิดหวังพึ่ง" จะถูกขัดขวางจาก "มือ" ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นเสมอ เพราะนั่นจะทำลายแนวทาง "ลัทธิประสิทธิ์ประศาสน์" ในฐานะ "ผู้ให้" กับ "ผู้รับ" ออกไปทั้งหมด
การทำให้ประชาชน "เสพติด" การเป็น "ผู้รับ" หรือ "ผู้ร้องขอ/รอคอย" นั่นเอง ที่ทำให้ "สถานภาพเดิม" (status quo) ของความเป็น "คนชั้นนำ" (elite) ดำรงอยู่คู่ "ความล้าหลัง" ของสังคม
พิบัติ ภัยที่มนุษย์จะผ่านไปได้ก็ด้วยความเป็นหนึ่งเดียว เริ่มจากกลุ่มชนที่อยู่บนสุด ก้าวลงมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มคนที่อยู่ล่างสุด ในลักษณะ "ภราดรภาพ" หรือ "สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งนั้น" ที่มี "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" อย่างเท่าเทียมเสมอกัน ไม่ใช้ในลักษณะ "ผู้ให้" ในขณะที่อีกฝ่ายเป็น "ผู้รับ"
หาไม่แล้ว เมื่อประชาชนทั้งหลายตื่นขึ้นจากความหลับใหลในความไม่รู้ การมอมเมาด้วยความเท็จ และปกปิดบิดเบือนความจริง เมื่อนั้นประชาชนจะพร้อมใจกันลุกขึ้นแก้ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญในสภาพยาก แค้นแสนสาหัสมานานนับชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า ในขณะที่คนชั้นนำ นั่งพล่ามน้ำลายฟูมปาก ถึงความเมตตาเยี่ยง "น้ำตาจรเข้"
เป็นไปได้ว่าการแก้ปัญหานั้น อาจมีสภาพ "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" ก็เป็นได้ ใครจะรู้.