ที่มา ประชาไท
ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ‘เคิร์ท เอ็ม แคมป์เบลล์’
(ที่มา: เฟซบุ๊กสถานทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ)
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘เคิร์ท เอ็ม แคมป์เบลล์’ (Kurt M. Campbell) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ “U.S. engagement in Asia” ว่า ในขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐกำลังเปลี่ยนผ่านนโยบายต่างประเทศ โดยถ่ายน้ำหนักจากตะวันออกกลางและเอเชียใต้ มาสู่เอเชียแปซิฟิกมากขึ้น และจะเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจเป็นพิเศษ
เคิร์ท แคมป์เบลล์ กล่าวในงานที่จัดโดยสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา (ISIS) ว่า ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศดังกล่าวจะมีความท้าทาย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางยังคงเกิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติดอกมะลิ รวมถึงความขัดแย้งในอิรักและอัฟกานิสถาน ทำให้สหรัฐยังคงต้องรักษาบทบาทในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า สหรัฐคงจะมุ่งถ่ายน้ำหนักของทรัพยากรที่จำเป็นมาสู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มากกว่า
“ผมคิดว่าเราคงเข้าใจอย่างลึกซึ้งและชัดแจ้งว่า ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” แคมป์เบลล์กล่าว
นักการ ทูตและศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวต่อว่า สหรัฐได้พัฒนากรอบความร่วมมือกับเอเชียอย่างใกล้ชิดมากกว่าที่เคยเป็น ทั้งในกรอบความร่วมมืออาเซียน การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ G-20 และ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก เพื่อสร้างตลาดการค้าระหว่างสหรัฐและเอเชียที่สมดุล โดยเน้นให้จีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ลงทุนและซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น
แคมป์ เบลล์กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้ผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญมาก ว่าด้วยข้อตกลงทางการค้ากับเอเชียอีกสามร่างเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโอบามาจะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐ (ASEAN-US Summit) และประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ทีประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ด้วย
นอกจาก นี้ เขาชี้ว่า สหรัฐยังมุ่งที่จะเพิ่มยุทธศาสตร์ความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิกมากขึ้นในอีกสอง สามปีข้างหน้าโดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนฐานทัพ และการจัดการด้านความมั่นคงในรูปแบบที่หลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย เพื่อเป็นการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
“อาจกล่าว ได้ว่า ทุกประเทศในเอเชียมีความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์อย่างลึกซึ้งกับสหรัฐ แม้แต่กับมาเลเซีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่เรามีความสัมพันธ์ทางการทหารหรือยุทธศาสตร์ที่น้อยมากใน ช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ก็ยังถึงคราที่ได้กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐอีกครั้ง” แคมป์เบลล์กล่าว
เขายัง กล่าวด้วยว่า ภารกิจการมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ ยังรวมถึงการหารือและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวภายในพม่าด้วย เนื่องจากสหรัฐยังคงจับตาดูการเปลี่ยนแปลงในพม่าอย่างใกล้ชิด และระบุว่า สหรัฐยังคงจะรักษาสัมพันธ์และสนับสนุนออง ซาน ซูจี และพรรคเอ็นแอลดี รวมถึงจับตาประเด็นความท้าทายเรื่องชนกลุ่มน้อยในประเทศ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเกาหลีเหนือ และนักโทษการเมืองในพม่า และหวังว่า ประธานาธิบดีเต็นเส่ง จะสามารถนำพาพม่าไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้
ในตอนท้ายของปาฐกถา ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเอพี ได้ถามแคมป์เบลล์ถึงพลเรือนสหรัฐที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ‘โจ กอร์ดอน’ ว่ามีความกังวลอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ และแคมป์เบลล์ได้ตอบสั้นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ของสถานทูตได้ไปฟังการดำเนินคดีของ ‘โจ กอร์ดอน’ ที่ศาลเมื่อวันจันทร์ และกล่าวว่า “เรามีความเชื่อมั่นอย่างมากในเสรีภาพสื่อ และเราจะคอยนำคดีดังกล่าวมาพูดกับทางการไทยโดยตรง”