ที่มา มติชน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2554)
ในระยะแรกๆ ยังพอจะพูดได้บ้างว่าขบวนการมุ่งจะต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม จึงทำร้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ รวมทั้งครูซึ่งคือผู้นำเอาอุดมการณ์ของรัฐไปเผยแพร่ ในขณะเดียวกันปฏิบัติการของผู้ก่อการอย่างอุกอาจหลายครั้ง ก็เพื่อทำให้เห็นประจักษ์ว่าอำนาจของรัฐไทยในพื้นที่สั่นคลอน จนไม่สามารถทำหน้าที่ขั้นพื้นฐานของรัฐคือการให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและ ทรัพย์สินของพลเมือง
แต่ "การก่อการร้าย" ต้องมีเป้าหมายทางการเมือง เพราะ "การก่อการร้าย" ไม่อาจเป็นเป้าหมายในตัวเองได้
แต่ ขบวนการไม่ได้ทำหรือไม่พยายามจะทำให้เป้าหมายทางการเมืองเด่นชัดออกมา เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง (ไม่เฉพาะแต่ประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่รวมถึงพลเมืองไทยในที่อื่นๆ ทั่วประเทศ) ได้แต่จัดองค์กรเพื่อก่อการร้ายอยู่อย่างเดียว
การใช้ ระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรง อาจแสดงสมรรถนะทางเทคนิคที่เพิ่มขึ้นของขบวนการ แต่ในขณะเดียวก็กลายเป็นภาระที่ชัดเจนของขบวนการที่ทำให้ผู้ไม่เกี่ยวข้อง เดือดร้อนยิ่งขึ้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ได้แต่แสดงซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงความอ่อนแอของอำนาจรัฐไทย แต่ในขณะเดียวกัน ก็แสดงถึงความไม่อาทรต่อประชาชนของขบวนการเช่นเดียวกัน
ความชอบธรรม ในการเคลื่อนไหวของขบวนการได้สูญสิ้นไปแล้ว ทั้งในทรรศนะของต่างชาติและองค์กรอิสลาม ที่อาจให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการ-ในทางการทูต, การเงิน, การฝึก, หรือกำลังคน-ในขณะที่นับวันขบวนการก็สูญเสียความชอบธรรมในหมู่ประชาชนใน พื้นที่ไปด้วย
หลายปีมาแล้วที่ขบวนการพยายามจะยกการเคลื่อนไหวของตน ให้เป็นประเด็นระหว่างชาติ อย่างน้อยก็ในหมู่ประเทศมุสลิม รัฐบาลไทยหลายชุดที่ผ่านมา ก็พยายามอย่างเดียวกันที่จะทำให้ความพยายามของขบวนการในเวทีระดับโลกล้มเหลว แต่ความล้มเหลวของขบวนการที่จะยกระดับการเคลื่อนไหวขึ้นสู่นานาชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลไทยเป็นหลัก ความล้มเหลวนั้นมาจากปฏิบัติการของขบวนการเอง
บัดนี้คงไม่มีประเทศหรือองค์กรมุสลิมระหว่างประเทศที่ไหนซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือขบวนการอย่างเปิดเผยได้อีกแล้ว ปฏิบัติการเยี่ยงนี้ทำให้ยากที่เวทีระดับโลกของประเทศมุสลิมที่ไหน สามารถออกมติใดที่หนุนช่วยขบวนการในประเทศไทยได้อีกแล้ว เพราะไม่มีใครต้องการร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการที่ไม่อาจเรียกตัวเองเป็นอื่น ได้ดีกว่าขบวนการ "ก่อการร้าย"
ขบวนการในประเทศไทยอาจได้รับความช่วย เหลือจากขบวนการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายอยู่แล้ว แต่นั่นไม่น่าเป็นเป้าประสงค์ขั้นสูงสุดของขบวนการในประเทศไทย เพราะขบวนการที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบวนการก่อการร้ายเหล่านั้น ไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เป้าหมายทางการเมืองของขบวนการในเมืองไทยเป็นประเด็น สำหรับการต่อรองกับรัฐไทยได้
บางคนในภาคใต้ลือกันมานานว่า บางส่วนของขบวนการได้หันไปร่วมมือกับขบวนการนอกกฎหมายต่างๆ (เช่น ค้ายาเสพติด, ค้าของเถื่อน และค้ามนุษย์) เพื่อหาเงินมาสนับสนุนปฏิบัติการของตน และก็ลือกันมานานแล้วเหมือนกันว่า อำนาจรัฐบางส่วนในภาคใต้ก็ทำอย่างเดียวกัน ส่วนหนึ่งของ "สงคราม" กลายเป็นการแย่งผลประโยชน์กันของมาเฟียสองกลุ่ม
ในด้านหนึ่ง ก็ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้ซับซ้อนขึ้นไปอีก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ขบวนการของฝ่ายก่อการกำลังเดินมาสู่จุดจบอันเดียว กับที่เคยเกิดมาแล้ว โดยไม่มีผลอย่างยั่งยืนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐไทยต่อประชาชนชาวมลายู มุสลิม
การค้ายาเสพติด และค้ามนุษย์ ไม่ว่าใครเป็นผู้กระทำก็ตาม ย่อมระบาดหนักขึ้นได้จากสถานการณ์ความไม่สงบ ดังนั้นสถานการณ์นี้จึงยิ่งทิ่มตำประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นไปอีก จนแม้แต่การใช้เป็นแหล่งหลบซ่อนและสะสมกำลังในประเทศเพื่อนบ้านน่าจะทำได้ ยากขึ้น เพราะเขาก็อยากเห็นความสงบในภาคใต้ไม่น้อยไปกว่ากรุงเทพฯ
ใน ทางตรงกันข้าม รัฐไทยไม่ได้ฉกฉวยโอกาสจากความอ่อนแอทางการเมืองของขบวนการ เพราะการขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของกองทัพหลังรัฐประหาร 2549 นับตั้งแต่รัฐบาลรัฐประหาร สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นต้นมา ได้กระจุกอำนาจการบริหารสูงสุดไว้ในมือ กอ.รมน.หรือกองทัพ จึงยิ่งทำให้การแก้ปัญหาทั้งหมดถูกมองจากมิติด้านการทหารเพียงอย่างเดียว
แม้ แต่ปฏิบัติการของฝ่าย "กิจการพลเรือน" ก็กลับก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปอย่างหนัก เช่น หัวหน้าครอบครัวถูกนำไปเข้าค่าย เพื่อฝึกอบรมอุดมการณ์ของกองทัพเป็นเวลาแรมเดือน ต้องปล่อยให้ครอบครัวอดอยากขาดรายได้เป็นเวลานานๆ
ในขณะที่การเรียน รู้เพื่อปกป้องชีวิตของหน่วยปฏิบัติการ หรือชีวิตของประชาชน ก็ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เคยถูกลอบวางระเบิด หรือลอบยิงอย่างไร เมื่อห้าปีที่แล้ว ก็ยังถูกทำร้ายเหมือนเดิม แม้ว่ารัฐได้ทุ่มเทงบประมาณผ่าน กอ.รมน.ไปมากมายสักเพียงใดก็ตาม
แม้ แต่การเรียนรู้ด้านการทหารเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้ยังทำได้เพียงเท่านี้ จะเรียนรู้การบริหารจัดการด้านอื่นๆ ได้สักเพียงใด การกระจุกอำนาจจัดการทั้งหมดไว้ในมือกองทัพ โดยไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล (นอกกระดาษ) เลยเช่นนี้ จึงยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง...
กอง ทัพไม่ว่าที่ไหนในโลก หากปราศจากการกำกับควบคุมจากภายนอก โดยเฉพาะจาก "การเมือง" ก็ล้วนกลายเป็นกองโจรไปทั้งนั้น ไม่ต่างจากกองกำลังของฝ่ายขบวนการซึ่งขาดองค์กรทางการเมืองที่เข้มแข็งพอใน การชี้นำ
อันที่จริง การต่อสู้ทางการเมืองในภาคใต้ไม่ใช่ประเด็นหลักอีกแล้ว เพราะปฏิบัติการของขบวนการเอง ทำให้เป้าหมายทางการเมืองไร้ความหมาย การเคลื่อนไหวกลายเป็นการเคลื่อนไหวภายในประเทศ อย่างเดียวกับพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ประชาชนในพื้นที่ส่วนที่ไม่พอใจรัฐไทย ไม่อาจฝากความหวังไว้กับขบวนการได้ (แม้ไม่อาจฝากความหวังไว้กับรัฐไทยได้เช่นกันก็ตาม) ใครจะสามารถฝากความหวังไว้กับขบวนการ ที่เวลาผ่านไปถึง 7 ปี การต่อสู้ก็ยังไม่มีมิติอื่นมากไปกว่า "ก่อการร้าย" ซ้ำเป็นการ "ก่อการร้าย" ที่เลือกเป้าน้อยลงเสียอีก
แต่มาตรการทางการทหารที่รัฐ ไทยใช้เป็นเครื่องมือหลักในการปราบปราม ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยุติปฏิบัติการของขบวนการได้ อันที่จริงมาตรการนี้ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้ว เพราะได้ใช้มาด้วยเวลากว่าครึ่งหนึ่งของการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการ แต่ไม่นำไปสู่อะไรเลย ทั้งๆ ที่ฝ่ายขบวนการอ่อนแอทางการเมืองลงอย่างมาก จนรัฐไทยสามารถยุติการเคลื่อนไหวได้ในเวลาเร็ววัน หากรัฐไทยมีประสิทธิภาพดีกว่านี้
แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า กองทัพที่ไม่มีอำนาจภายนอกอื่นคอยกำกับควบคุม ก็จะกลายเป็นกองโจร ที่ปฏิบัติการด้วยเป้าประสงค์ที่เป็นอิสระของตนเอง สงครามกองโจรที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้ทำโดยกองโจร แต่ทำโดยพรรคซึ่งสามารถกำกับควบคุมกองโจรได้ถึงระดับท้องถิ่นย่อยๆ
(ปฏิบัติ การของฝ่ายขบวนการในระยะ 2 ปีท้ายนี้ ชี้ให้เห็นว่า อำนาจภายนอกอื่นที่คอยประสานและกำกับกองโจรย่อย (ที่เรียกกันว่า RKK) ดูเหมือนจะอ่อนลงหรือถึงกับหายไป ขบวนการกำลังแตกสลายลงเป็นกองโจร อย่างเดียวกัน)
กล่าวโดยสรุป ในสถานการณ์ภาคใต้เวลานี้ ทั้งสองฝ่ายได้อ่อนแอลงพอๆ กัน เพราะเป็นการต่อสู้ที่ปราศจากเป้าหมายทางการเมืองทั้งคู่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ก็สามารถยุติปัญหาลงได้ในเวลาไม่นาน จะโดยการบีบบังคับให้อีกฝ่ายขึ้นนั่งโต๊ะเจรจาด้วยอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า หรือการเอาชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ไว้ได้ด้วยประสิทธิภาพของการปกป้องชีวิตและ ทรัพย์สินก็ตาม
แต่ทั้งสองฝ่ายก็อ่อนแอเกินกว่าจะนำความขัดแย้งไปสู่ จุดจบเช่นนั้นได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนทั้งคู่ และทั้งสองฝ่ายต่างก็กลายเป็นอำนาจอิสระ ที่ไม่มีอำนาจอื่นคอยตรวจสอบควบคุม
การ ต่อสู้ทางการเมือง กลายเป็นการต่อสู้ทางการทหาร และการต่อสู้ทางการทหารที่ขาดการกำกับควบคุมจากภายนอก กลายเป็นการต่อสู้ของกองโจรเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า และอาจสู้กันไปได้เป็นหลายสิบปี ดังที่เกิดในบางประเทศของแอฟริกา, ละตินอเมริกา และอุษาคเนย์