ที่มา Thai E-News
การปราบจลาจล ทำไมต่างประเทศประท้วงบ่อย แต่ไม่มีคนตาย ทำไมประเทศเราจึงมีคนตาย ..?
โดย อานนท์ ตันติวิวัฒน์
ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม
ภาพประกอบ Manit Sriwanichpoom
เมื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2554 ณ ห้องแลคเชอร์ ชั้น 2 อาคารมีเดีย อาร์ต แอนด์ ดีไซน์ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเสวนา "เดือนตุลา : ความรุนแรง สันติวิธี และ การต่อสู้ทางวัฒนธรรม" โดยมีวิทยากรที่ร่วมเสวนาประกอบด้วย ภัควดี ไม่มีนามสกุล นักเขียนและนักแปลอิสระ ชัชวาล บุญปัน อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมิตร ใจอินทร์ ศิลปินอิสระในสาขาทัศนศิลป์ โดยมีณัฐกร วิทิตานนท์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ชัชวาล บุญปัน กล่าวว่า ความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทยมายาวนาน สิ่งที่จะแก้ไขความรุนแรงได้คือการเปิดเผยความจริง ซึ่งการเปิดเผยความจริงคือสันติวิธีที่ทำให้สังคมเป็นปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการปิดกั้นไม่ให้มีการแสวงหาความจริง เป็นการสร้างความรุนแรงให้สังคม
เพราะความจริงจะทำให้สังคมร่วมกันตัดสินใจได้ ในประวัติศาสตร์สังคมที่ผ่านมา มันล่มสลายเพราะสังคมไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง เช่น สังคมของชนเผ่ามายา ที่แข่งกันสลักรูปหินใหญ่ ทำลายสิ่งแวดล้อม จนสุดท้ายนำมาสู่การล่มสลายของชนเผ่า
หรือสังคมที่รู้ว่าความจริงมันคืออะไร แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว สังคมก็ล่มสลายอย่างเรื่อง อุทกภัย โลกร้อน เป็นต้น
หรือสังคมรู้ว่าความจริงคืออะไร แต่ไม่แก้ไขเพราะติดปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ผลประโยชน์ อำนาจ ฯลฯ สังคมก็อาจล่มสลาย
ชัชวาล กล่าวต่อว่า มนุษย์มีธรรมชาติในการแสวงหาความจริง แม้ว่าผู้ปกครองจะปิดกั้น ข่มขู่ไม่ให้คนแสวงหาความจริง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าสมัยไหนก็ทำไม่สำเร็จ
เช่น สมัยของกาลิเลโอที่จะอธิบายความจริงเกี่ยวกับโลก ก็มีการวิวาทะระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ สันตะปาปาพยายามทำให้หนังสือของกาลิเลโอเป็นหนังสือต้องห้าม ไม่ได้รับการเผยแพร่ แม้ในกรุงโรมจะไม่ได้อ่าน แต่นอกกรุงโรมนั้นได้อ่านหมด
กรณีประเทศไทย แอนดรูว์ มาร์แชล รู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยจากเอกสารวิกิลีกส์ประมาณ 3-4 พันฉบับ เขาไม่สามารถเขียนให้คนไทยอ่านได้ แต่เขาสามารถเขียนเป็นภาษาต่างประเทศและเผยแพร่ไปทั่วโลก นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความจริงไม่สามารถปิดกั้นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกสมัย ใหม่
นอกจากนี้ ชัชวาล อ้างบทสัมภาษณ์ของแอนดรูว์ มาร์แชล ว่า
มัน น่าแปลกที่ในยุคโลกาภิวัฒน์ คนไทยไม่สามารถพูดถึงประเด็นใจกลางที่เป็นอนาคตของลูกหลานตัวเองได้ มันไม่สามารถหาทางออกได้หากยังไม่มีใครยอมรับว่าใครทำอะไรลงไป มันจะเป็นวงจรอุบาทว์ต่อไปซึ่งแอนด์ดรูว์เห็นว่า การยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 จะทำให้สังคมไทยสามารถพูดในสิ่งที่ไม่สามารถพูดถึงได้
"มีคนกล่าวว่าสังคมไทยขาดจิตวิญญาณที่จะพูดความจริง แต่คิดว่าไม่จริง เพราะหลังรัฐประหารปี 49 นั้นมีคนแบบกาลิเลโอเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
เกิดการตั้งคำถามว่า คนไทยทำไมถึงถูกห้ามไม่ให้พูด เขียน หรืออ่านหนังสือบางเล่มที่คนทั้งโลกได้อ่านทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ
ตรงกันข้ามสื่อกระแสหลักไม่ส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเปิด เผย เพื่อที่จะทำให้คนไทยประเมินความจริงแบบรอบด้าน และรู้เท่าทัน เพราะนี่คือพลังที่จะทำให้สังคมไทยไม่ไปสู่ความล่มสลาย
แต่เครือข่ายอำนาจที่ไม่มีจิตวิญาณที่จะยอมรับความจริง พยายามจะอนุรักษ์ความรุนแรงเพื่อเป็นเครื่องมือปกปิดความจริง" อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
ชัชวาล ตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมต้องปกปิดข้อมูลข่าวสารอย่าง วิกิลิกส์ นั่นเป็นเพราะข้อมูลนั้นมีพลังการอธิบายสูง คือมันมากกว่าคำอธิบายเดิมที่หมดพลังไป ในโลกแบบอริสโตเติ้ลไม่สามารถอธิบายได้อย่างที่เคยเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะมีคำอธิบายใหม่ๆเกิดขึ้นและดีกว่าเดิม เมื่อใดก็ตามที่มีคำอธิบายใหม่และมีพลังอธิบายมากกว่า คำอธิบายนั้นจะยั่งยืนมั่นคงมากกว่า จนกว่าจะมีคำอธิบายใหม่มาคัดค้านมันให้ตกไป
"ขอเปรียบเทียบในเชิงวิทยาศาสตร์ คำอธิบายของวิกิลีกส์อาจจะเทียบได้กับปรากฏการณ์ "photo reactive effect" หมายความว่าปรากฏการณ์นี้มันเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสของโลกทัศน์กลศาสตร์คลา สสิค ซึ่งมันมีพลังในการอธิบายมาก
จนกระทั่งมีเหตุการณ์เล็กๆเกิดขึ้น คือ มีแสงตกกระทบแผ่นโลหะแล้วมีกระแสไฟฟ้าไหล ก็คิดว่าจะอธิบายด้วยแนวคิดกลศาสตร์นิวตันแบบเดิม แต่ปรากฏว่าทำอย่างไรก็อธิบายไม่ได้ จนกระทั่งต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งทฤษฎีโปรตอนของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อธิบายเรื่องนี้ได้ กลายเป็นว่าทฤษฎีนี้ มีพลังในการอธิบายปรากฏการณ์ได้มากขึ้น
เปรียบได้กับวิกิลีกส์ที่ทำให้เราสามารถอธิบายการเมือง และปรากฏการณ์ทางสังคมได้มากกว่าเดิม การได้อ่านข้อมูลมากขึ้นย่อมทำให้ประเมินปรากฏการณ์ได้มากขึ้นกว่าเดิม
กรณีดังกล่าวก็ทำให้เราพบว่าความงอกงามทางปัญญาจะเกิดขึ้นจากอิสรภาพ เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นอย่างเต็มที่และยืนยันว่าผลมันเกิดขึ้นอย่าง ไรจริงๆ" ชัชวาล กล่าว
ชัชวาล สรุปว่า ในโลกปัจจุบันข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และไม่สามารถสกัดกั้นได้ พลังการอธิบายโลกแบบเดิมมันลดลง เครื่องมือของสังคมไทยในการปกป้องพลังอธิบายเดิมคือ พลังรัฐประหาร ในโลกวิทยาศาสตร์ เราพูดถึงหลักการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานมันไม่เคยหายไปไหน มันแค่เปลี่ยนรูปแบบ
เมื่อเทียบกับสังคมไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารกี่ครั้ง สิ่งที่ประชาชนทำ สะท้อนให้เห็นว่า มันยังคงมีพลังของประชาธิปไตยอยู่ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็สะท้อนว่าพลังประชาธิปไตยนั้นยังคงอยู่
การจำคุก เข่นฆ่า ไม่ได้ทำให้หายไป การต่อสู้ทางวัฒนธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะรักษาพลังประชาธิปไตยไว้ ที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นสามัญชนกับการเปลี่ยนโลกเพื่อตั้งคำถามว่าวิถีชีวิต แบบไหนแน่ที่คนไทยต้องการ คำถามนี้คือ การยืนยันว่าวิธีที่จะทำให้สังคมกลับไปสู่ความปกติ ก็คือวิถีชีวิตที่ต้องการสิทธิเสรีภาพนั่นเอง
ภัควดี ไม่มีนามสกุล เริ่มต้นกล่าวถึงความสนใจเรื่องการปราบจลาจลว่า ทำไมต่างประเทศประท้วงบ่อย แต่ไม่มีคนตาย ทำไมประเทศเราจึงมีคนตาย
ดังนั้น จากความสนใจในประเด็นเรื่องการปราบจลาจลของตน จึงนำมาสู่เรื่องที่จะนำมาเล่าอยู่สองเรื่องคือหนึ่ง เรื่องความรุนแรงของรัฐ ในเมืองไทยมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปราบจลาจล
ซึ่งในภาษาอังกฤษมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกเรียก "Counterinsurgency" ภาษาไทยเรียกว่าการปราบปรามการก่อความไม่สงบ (ซึ่งคิดว่ายังแปลไม่ถูกและยังไม่รู้ว่าจะแปลอย่างไรจึงขอเรียกเป็นภาษา อังกฤษ-ภัควดี)
อีกอย่างคือ Riot control หรือการควบคุมการจลาจล
เมืองไทยไม่มีการแยกสองอย่างนี้ ฉะนั้นทุกครั้งที่เกิดปัญหาประชาชนประท้วงในเหตุการณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 กรือเซะ ตากใบ เมษายน 52 เราจะใช้วิธีการเดียวกันคือการเอาอาวุธหนักออกมาปราบ
วิธีการที่รัฐไทยทำคือ "counterinsurgency" ซึ่งจริงๆแล้ววิธีนี้ใช้ใน 3 กรณี หนึ่ง ใช้ในการสงคราม สอง การรุกรานเพื่อการยึดครอง และสามการปราบปรามกบฏติดอาวุธ
ภัควดี กล่าวต่อว่า ในสงครามเวียดนาม เวลาทหารสหรัฐเข้าไปปราบปรามคนเวียดนาม เขาจะฆ่ามั่ว ฆ่าชาวบ้านด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเป็นเรื่องยากที่เขายากจะแยกแยะว่าใครเป็นใคร ก็เลยฆ่าหมด เป็นวิธีการเหมารวม
สิ่งที่อยากจะบอกคือรัฐไทยอยู่ในชุดความคิดนี้ไม่เคยเปลี่ยน การปราบประชาชนก็ปราบแบบ "counterinsurgency" ตลอดเวลา
ฉะนั้นเราจะเห็นว่า ตอนพฤษภา 53 ทำไมพยาบาลตาย ทำไมสื่อมวลชนตาย นั่นก็เป็นเพราะทหารไทยปราบหมด ฆ่าตายหมด นี่คือชุดความคิดของรัฐไทยที่มีต่อประชาชนไทย
ทำไมรัฐไทยจึงคิดแบบนี้ ทั้งที่ประเทศอื่นเขาก้าวหน้าไปหมดแล้ว บทความอาจารย์ธงชัยในหนังสือฟ้าเดียวกันเล่มล่าสุดตอบคำถามนี้ได้ดี โดยบอกว่ารัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 ไปรับเอาความคิดแบบอาณานิคมเข้ามา ขณะเดียวกันกรุงเทพฯที่เป็นศูนย์กลางก็มองพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นอาณานิคม ด้วย
อธิปไตยของรัฐไทยในสายตาผู้ปกครอง คือ การมีอำนาจเหนือดินแดน สิ่งสำคัญคือดินแดน ไมใช่คน เพราะฉะนั้นรัฐไทยจึงไม่ใช่รัฐประชาชาติ คือไม่ได้มองว่าชีวิตมนุษย์ประชาชนสำคัญต่อรัฐ ดังนั้นเมื่อต้องการปราบปรามประชาชน คือ การปราบปรามให้หมดสิ้น เหมือนปราบปรามประเทศในอาณานิคม
นอกจากนี้ นักเขียนและนักแปลอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่
า วิธีคิดของรัฐและศาล ยังมีวิธีคิดเป็นชนเผ่าอยู่ แนวคิดสมัยใหม่ศาลต้องมองมนุษย์เป็นปัจเจกบุคคล ใครทำผิดก็หาหลักฐานเป็นบุคคล แต่ศาลและรัฐกลับมีแนวคิดคล้ายช่างกลตีกัน คือ ตีหมดทุกคน โดยไม่มองว่าคนนี้เป็นอริหรือไม่ เห็นหัวเข็มขัดก็ตีไว้ก่อน ศาลไทยก็คิดแบบนี้ เวลาจับคนเสื้อแดง แค่ใส่เสื้อแดงก็ผิดหมด ไม่มีการพิสูจน์เป็นรายปัจเจกบุคคล วิธีคิดนี้ครอบงำรัฐไทยมาตลอด
ส่วนวิธีปราบจลาจลแบบ Riot control โดยปกติประเทศโลกที่หนึ่งจะใช้กันมาก คือ มีข้อห้ามในการใช้อาวุธที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ได้แก่ กระบอง โล่ แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำ สเปรย์พริกไทย ใช้กระสุนยาง วิธีการนี้มีมาเป็นร้อยปี อย่างประเทศอังกฤษเขาใช้วิธีนี้มานานแล้ว
น่าสนใจว่าทำไมอังกฤษ ประเทศซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคม แต่ไม่ใช้วิธีปราบปรามรุนแรง ไม่ใช้วิธีการฆ่าให้ตายหมด วิธีการนี้เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามอังกฤษก็เลิกใช้กระสุนยางไปเมื่อ 30 กว่าปีแล้วเพราะอาจเกิดอันตรายได้
"เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐไทยไม่เคยใช้วิธีนี้ในการปราบปรามการจารจลในขณะที่ ประเทศอื่นๆอย่าง เยอรมันหรือมาเลเซียเองใช้วิธีนี้ในการควบคุมฝูงชนและไม่ทำให้ผู้ประท้วง เสียชีวิต ทำไมรัฐไทยไม่เปลี่ยนชุดความคิด เปลี่ยนวิธีการปราบจาลาจลใหม่" นักเขียนและนักแปลอิสระ กล่าว
ภัควดี กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สองเรื่อง สันติวิธี การต่อสู้แบบนี้ ไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง ถ้าเราสังเกตดูมันเกิดขึ้นในระยะหลัง อาจเรียกได้ว่า คานธีเป็นคนริเริ่ม แต่ปัญหาอยู่ที่การนิยามรุนแรง ซึ่งแต่ละคนจะคิดแตกต่างกัน
การประท้วงในต่างประเทศ แรกเริ่มคือนักสันติวิธีจะพยายามห้ามโน่น ห้ามนี่ จนเกิดการโต้เถียงกันในขบวนการประท้วง และมีแบ่งโซนกันประท้วงว่าโซนสีเขียว (แบบสันติวิธี) โซนสีแดง (แบบแนวหน้าชอบปะทะ ไม่ได้นั่งเฉย เช่นอาจมีการรื้อรั้ว) แต่เวลาประท้วงจริงกลับปรากฏว่าผู้ประท้วง จะเทไปอยู่ในโซนสีแดงทุกครั้ง เพราะเวลาโดนยิงแก๊สน้ำตาก็โดนหมด
ฉะนั้นความรุนแรงจึงยากที่จะนิยามได้ เพราะในบางประเทศการใช้ระเบิดขวด ถูกกล่าวหาว่ารุนแรง แต่ในประเทศแคนนาดาโซนที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ระเบิดขวดเป็นมาตรฐานของการประท้วง ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงเพราะผู้ประท้วงปาระเบิดขวดหมด แล้วปรากฏว่าการระเบิดขวดก็ไม่ได้ทำให้อาคารไหม้ด้วย
การประท้วง WTO หลายครั้ง คนก็จะบอกว่าผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง เช่นการรื้อรั้ว (แต่ไม่มีใครตาย)แต่ก็ได้ผลทำให้ที่ประชุมหยุดการประชุมชั่วคราวได้เหมือน กัน อย่างนี้เรียกว่ารุนแรงหรือไม่ ในขณะที่ทั่วโลกประท้วงสหรัฐในการทำสงครามกับอิรัก โดยใช้หลักสันติวิธี แต่สุดท้ายก็ห้ามไม่ได้ จึงเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่าแบบนี้สันติวิธีเกินไปหรือเปล่าจึงทำให้ไม่สามารถ ยับยั้งสงครามได้ มันจึงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ
สันติวิธีในเมืองไทยมีปัญหามากกว่าในต่างประเทศ เป็นเพราะมันถูกผูกขาดหรือนิยามโดยคนกลุ่มเดียว และนักสันติวิธีในเมืองไทยไม่ใช่นักเคลื่อนไหว ใช้ทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติ ส่วนใหญ่เป็นนักสันติวิธีในห้องแอร์
นักสันติวิธีกลุ่มนี้มักจะเอาตัวอย่างในต่างประเทศมาโดยไม่ดูบริบท จะอ้าง คานธี หรือ เนลสัน แมนเดลา ซึ่งไม่ได้ดูว่าคานธีเคยคิดใช้อาวุธต่อสู้กับอังกฤษ แต่คิดว่าไม่ได้ผลเลยไม่ใช้ ส่วนแมนเดลาก็เคยใช้อาวุธในการต่อสู้มาก่อนเหมือนกันแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันมาต่อสู้โดยสันติวิธี
"อหิงสาของคานธีที่นำมาใช้กัน อย่างการประท้วงเรื่องเกลือ เราจะเห็นภาพคนเดินให้ตำรวจตีหัวโดยไม่ตอบโต้ เป็นภาพที่น่าสะเทือนใจมาก แต่ถามว่าวิธีการนี้มันใช้ได้ทุกที่หรือเปล่า เขาบอกว่าคนอินเดียใช้วิธีการนี้ได้เพราะอินเดียมีระบบวรรณะ และวรรณะต่ำ คือ จัณฑาล ซึ่งถูกกดขี่หรือถูกทำร้ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่วรรณะนี้จะเดินไปให้เขาตีเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการที่วิธีการนี้จะสำเร็จในพื้นที่อื่น จะต้องสร้างระบบวรรณะขึ้นมาหรือไม่" นักเขียนและนักแปลอิสระ กล่าว
ภัควดี กล่าวอีกว่า ในสังคมไทยเป็นสังคมของเจ้าพ่อ นักเลง การใช้สันติวิธีแบบอินเดีย เช่น การเดินไปให้เขาตี อาจทำไม่ได้ การใช้สันติวิธีจึงต้องมีเงื่อนไขเฉพาะ นักสันติวิธีเมืองไทยเอาเรื่อง อหิงสามาใช้โดยไม่ดูบริบท ทำให้มีปัญหาในสังคม นอกจากนี้ยังนำสันติวิธีไปผูกติดกับศาสนา โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าคนที่คิดเรื่องจิตวิญญาณ มักจะมองคนเป็นระดับชั้น คือเมื่อเราเชื่อเรื่องจิตวิญญาณเราก็เชื่อว่ามีจิตวิญาณที่ลุ่มลึกกับจิต วิญญาณที่ตื้นเขิน ฉะนั้นจึงนับถือคนที่มีจิตวิญญาณที่ลุ่มลึก จึงทำให้คนที่คิดเรื่องนี้ยึดติดกับผู้นำที่มีบารมี สังเกตได้จากขบวนการสัตยาเคราะห์ของอินเดีย
"กระบวนการสันติวิธีในไทยนั้นแปลก เพราะในต่างประเทศสันติวิธีนั้นมีเป้าเหมายทางการเมือง เช่น คานธีต้องการเอกราชจากอังกฤษ เนลสัน แมนเดลาต้องการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ มาร์ติน ลูเธอร์คิงต้องการให้คนยอมรับสิทธิคนผิวดำในอเมริกา หรือแม้กระทั่งสันติวิธีในการประท้วง WTO ก็ต่อต้านทุนนิยม
แต่ในไทยใช้สันติวิธีเฉยๆ ไม่มีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ทางการเมืองอะไรเลย คือ ไม่เคยบอกว่าต้องการอะไรทางการเมือง ไม่เคยสร้างภาพวิสัยทัศน์การเมืองแบบที่เขาต้องการ สันติวิธีเพื่อสันติวิธีเท่านั้นเอง เป็นสันติวิธีที่ระบอบการปกครองเป็นอะไรก็ได้ ขอแต่อย่าให้มีใครตาย ถ้าสันติวิธีเป็นอย่างนี้ก็อยากให้ผู้ทำสันติวิธีนอนอุเบกขาอยู่บ้านดีกว่า" นักเขียนและนักแปลอิสระ กล่าว
ภัควดี สรุปว่า การต่อสู้ประชาชนไทยต่อไปข้างหน้า เราคงต้องมาคิดเรื่องสันติวิธีกันใหม่ มาสร้างสันติวิธีกันใหม่ที่ไม่ต้องผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียว นอกจากนี้ทุกความเปลี่ยนแปลงไม่โรแมนติก ฉะนั้นจึงไม่ต้องยึดติดกับตัวบุคคล เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเราจึงต้องมีการเตรียมตัว เรื่องสันติวิธีเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความนิยม เพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐด้วยการใช้กองกำลังอาวุธ เราต้องมีทุน อาวุธ เหมือนสมัยก่อน
แต่ปัญหาคือเมื่อไรก็ตามที่เราจัดตั้งกองทัพหนึ่งขึ้นมาเพื่อปราบอีกกองทัพ หนึ่ง มันจะสร้างอสูรกายขึ้นมากดขี่เราอีก เกิดบาดแผลจากการใช้กองกำลังอาวุธ และใช้เวลาในการเยียวยานาน เป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้ความเป็นเผด็จการมาสร้างประชาธิปไตย
ส่วนเรื่องการนำสันติวิธีมาใช้ ปัญหามันอยู่ที่การนิยามความรุนแรงที่ต่างกัน เพราะในเมืองไทยสันติวิธีมันถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนี้ได้ออกทีวี เพราะเขาบอกว่า การเทเลือดคือความรุนแรง เป็นต้น
ภัควดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ดีใจที่คนทำงานด้านศิลปะหันมาสนใจประเด็นนี้ ซึ่งถ้าดูการประท้วงในต่างประเทศ ศิลปินมีบทบาทสูงมาก และทำให้การประท้วงมีสีสัน เช่น การประท้วงในประเทศอิตาลี กลุ่ม "ตูเต้ เบียงเช่" ที่เชื่อว่าสันติวิธีคือการประท้วงแล้วไม่เจ็บตัว เวลาประท้วงเขาจะใส่เกราะ แล้วเดินไปให้ตำรวจตี เขาก็ไม่เจ็บตัว ฉะนั้นถ้าศิลปินเข้ามาร่วมเคลื่อนไหว ก็จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
ด้านมิตร ใจอินทร์ กล่าวถึงประท้วงทางวัฒนธรรมโดยการอดอาหาร ว่า รู้สึกแปลกใจ อดอาหารแต่ก็ยังมีแรงมาก ยังอยู่ได้ ทฤษฎีกาลิเลโอในปัจจุบัน เราใช้วิกิลีกส์ผ่านโลกออนไลน์ การปกปิดความจริงและความอุจาดทางความคิดวิปริตยิ่งกว่าน้ำท่วม
ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ และกฎหมายมาตรา 112 ตนคิดว่าเป็นความรุนแรงอย่างมาก เกิดความวิปริต และเกิดอะไรขึ้นจากความจริง ความรุนแรงคือการปกปิดความจริง โดยเฉพาะเรื่องสถาบันกษัตริย์ วิธีการต่อสู้กับความวิปริตเหล่านี้แบบสามัญชน คือการเข้าถึงข้อมูล และการตรวจสอบได้
"การอดอาหารประท้วง 112 ชั่วโมง นั้นคิดมานานแล้ว เพราะรู้สึกตกใจที่ศิลปินด้วยกันที่เคยใช้แนวทางสันติวิธีมาก่อนในการต้าน รัฐประหาร กลับร่วมมือเผด็จการ โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดกับอำนาจเผด็จการ "รู้ทั้งรู้ว่าชั่ว ก็ยังสมคบ" ศิลปินอิสระ กล่าว
มิตร กล่าวต่อว่า อดอาหารประท้วง เพราะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถพูดถึงได้ เพราะ มาตรา 112 และการที่คณะวิจิตรศิลป์สนใจ ทำให้ตนอยากทำเรื่องนี้ต่อ โดยจะจัดเวทีพูดเรื่องนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่าลืมว่าประชาชนไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว แต่การรัฐประหารทำให้อำนาจของประชาชนไทยหายไป
มิตร กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเห็นสถานะของสถาบันกษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลง และสามารถพูดถึง หรือตรวจสอบได้มากขึ้น บทบาท สถานะ อำนาจของสถาบันต้องพูดได้ในชีวิตประจำวัน ปัญหาของสังคมไทยที่ผ่านมาเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดของกลุ่มต่างๆในสังคมกับ อำนาจเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน สื่อมวลชน เอ็นจีโอ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงของการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนซักถาม นายทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ สาขาสื่อศิลปะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรมว่า สิ่งที่น่าสนใจคือสิ่งที่อยู่ระหว่างสันติวิธี และความรุนแรง เป้าหมายของวิธีการต่อสู้หรือขบวนการของพวกสังคมใหม่ มันไม่ได้มีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริง แต่โดยตัวของมันเอง วิธีการต่อสู้ มันเป็นวิธีการเปิดเวทีหรือเปิดพื้นที่ใหม่ ที่นำไปสู่การต่อสู้ในหลายๆรูปแบบ เช่นในอเมริกามีนักต่อสู้วัฒนธรรมร่วมกัน 2 คน ชื่อ เดอะ เยส แมน (The Yes Man)
วิธีการแบบเดอะ เยส แมน คือปลอมตัวเป็นผู้แทนของสมาคมการค้า หรือบุคคลสำคัญ เข้าไปร่วมประชุมสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น IMF WTO เสร็จแล้วก็จะมีการ sanction เช่น ยกตัวอย่างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น และจะปฏิเสธหรือไม่เอาด้วยกับมติที่มันจะเกิดขึ้นจาก WTO หรือ IMF จนกลายเป็นเรื่องเป็นราว
และคนกลุ่มนี้ก็เป็นคนที่วิจัยและศึกษาเรื่องนั้นๆมาก่อน และมีแถลงการณ์ออกมาก่อนว่ามติของที่ประชุมจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร เป็นเรื่องที่ในที่ประชุมไม่มีทางคัดค้านได้เพราะมองในเรื่องผลกระทบ และเขาก็ใช้วิธีการแบบนี้ในเวทีเล็กอื่นๆ พอมีคนเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น ก็เปลี่ยนกันไปหลายเวที ต่อมาในภายหลังก็ถูกจับได้ พวกเขาทำถึงขั้นที่ว่า ทำเว็บเพจของรัฐบาลปลอมในช่วงรัฐบาล จอร์จบุช ขึ้นมา โดยมีเนื้อหาที่สนับสนุนสงครามอ่าว ทำให้รัฐบาลจอร์จบุชถูกด่าเละ โดยไม่รู้เรื่อง ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าอะไรคือสถานะ จอร์จบุช และนำไปสู่คำถามว่า รัฐบาลสนับสนุนสงครามจริงหรือไหม
หรืออีกกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ กอลิล่าเกิร์ล จะประท้วงโดยการสวมชุดกอลิล่า ออกไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดประเด็นถกเถียง ตั้งแต่เพศสภาพ เศรษฐกิจ ชาติพันธุ์และความไม่ธรรม ซึ่งปัจจุบันกอลิล่าเกิร์ลมีอยู่ทั่วอเมริกา และเนื่องจากทุกคนใส่ชุดกอลิล่า จึงทำให้ไม่รู้ว่ามันเป็นเกิร์ลหรือบอย มันจึงทำให้เกิดการประท้วงทางวัฒนธรรม และนำไปสู่การทบทวนสิ่งต่างๆในประเด็นเหล่านี้
หรือมีชายคนหนึ่งคล้ายกับกลุ่มเดอะเยสแมน คือ ปลอมตัวเป็นตัวแทนนักลงทุน จากนั้นใช้กาวตราช้างเช็คแฮนด์กับบุคคลสำคัญ วิธีการแบบนี้มันอาจจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรในเบื้องต้น แต่มันนำไปสู่การเปิดบาดแผลของประเด็นต่างๆในประเทศที่เขาไปเยี่ยม ซึ่งตอนนี้เขาไม่ต้องทำถึงขั้นเอากาวตราช้างทามือเพื่อเช็คแฮนด์ แต่แค่ประกาศว่าจะไปที่ไหน ประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็จะถูกเปิดโดยสื่อมวลชนทันที
การเคลื่อนไหวบางครั้งที่ถูกมองว่าไร้สาระอาจจะนำไปสู่การเปิดประเด็น หรือการพูดคุยต่อไป อาจจะไม่ต้องเป็นแบบวิชาการ หรือว่าต้องมีการเสนออะไรก่อนก็ได้ หรือไม่ต้องเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม แบบนิติราษฎร์ทุกกลุ่มก็ได้
เพราะแต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน.
************
15 ตุลาคม -เชิญฟังอภิปรายเนื่องในโอกาส ครบรอบ 38 ปี 14 ตุลา 2516
หัวข้อ “14 ตุลากับเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ผู้ร่วมอภิปราย
-วีระ มุสิกพงษ์
-จรัล ดิษฐาอภิชัย
-สมาน เลิศวงศ์รัฐ
-สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ์
(ดำเนินรายการโดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์)
จัดโดยกลุ่ม เครือข่ายเดือนตุลาและกลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ40 วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2554 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (สี่แยกคอวัว)
ในงานนี้ขอเชิญนักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน และ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ทุกรุ่นทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น วิจารณ์ เส้นทางการต่อสู้ประชาธิปไตยไทย พร้อมวางพวงมาลัย ดอกไม้ต่างๆ ณ อนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลา