WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, October 15, 2011

"หมอเลี้ยบ" อ่านไพ่ในมือ "ปู" ผ่าตัดจุดอ่อน "รบ.เพื่อไทย"..เตือน "บางเรื่องไม่มีโอกาสแก้ตัว"

ที่มา มติชน



สัมภาษณ์ โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์

การเมือง/สัมภาษณ์ (ที่มา มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 15 ตุลาคม 2554)



เคยมีส่วนร่วมคิดนโยบายของ "พรรคไทยรักไทย" จนเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทย จากสู้ด้วย "น้ำลาย" มาเป็น "นโยบาย"

เคยนำ "พรรคพลังประชาชน" สู้ศึกเลือกตั้ง จนชนะพรรคคู่แข่งท่วมท้น ทั้งที่ถูกเตะสกัดทุกทาง ท่ามกลางยุคทหารครองเมือง

วินาที หนึ่ง ยังเคยถูกเสนอชื่อให้เป็น "นายกรัฐมนตรีคนที่ 26" หลังเกิดอุบัติเหตุกับ "สมัคร สุนเทรเวช" ก่อนที่เจ้าตัวจะเอ่ยปาก "ปฏิเสธข้อเสนอ" ไป

ด้วยประสบการณ์โชกโชน ทั้งบู๊-บุ๋นนี้ ทำให้ "หมอเลี้ยบ" นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สามารถอ่านจุดอ่อน-จุดแข็งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้ทะลุปรุโปร่ง ยิ่งในยามที่เกิด "มหาอุทกภัย" ที่ถึงกับทำให้นายกฯนารีหลั่งน้ำตาด้วยแล้ว จึงถือโอกาสส่งคำเตือนไปยังรัฐบาลในฐานะกัลยาณมิตร หวังใช้เป็น "ยา" รักษาโรค "มือไม่ถึง" ที่เริ่มแสดงอาการให้เห็น...

"ผมไม่เคยทำงาน กับคุณยิ่งลักษณ์ แต่ได้ยินคนรอบข้างบอกว่า จุดแข็งของท่านคือผ่านงานธุรกิจมา จึงบริหารคน จัดการเชิงระบบได้ แต่จุดอ่อนคือท่านไม่เคยมีประสบการณ์บริหารงานการเมือง ในฐานะผู้กำหนดนโยบายมาก่อน การมาเป็นนายกฯทันทีโดยไม่เคยเป็นรัฐมนตรี จึงเป็นความท้าทายและทำให้เกิดอุปสรรค เช่น 1.มองว่างานยากเพราะไม่รู้ทำอะไรได้บ้าง 2.อ่านไพ่ในมือได้น้อย และไม่รู้จะใช้ใคร อย่างไร"

"หมอเลี้ยบ" ยกตัวอย่างว่า สมัยที่รับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุขใหม่ๆ จะรู้จักเฉพาะคนคุ้นเคย แต่ไม่รู้เลยว่า เลขาธิการสภาพัฒน์ ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการ ครม. หรือปลัดกระทรวงอื่นๆ กลับไม่รู้จัก ทำให้ไม่รู้จะประสานงานอย่างไร

"ต่างกับสมัยที่ผมเป็น รมว.คลัง ที่รู้ว่าแต่ละคนมีบทบาทอย่างไร ทำให้เวลาต้องการผลักดันเรื่องใด หรือเจอปัญหาใด เราอ่านไพ่ในมือได้เลยว่า เรื่องนี้ต้องคุยกับใคร ประสานใคร เรื่องยากๆ แบบนี้ ใครเก่ง และใครเป็นคนทำ"

เขาบอกว่า คนเป็นรัฐมนตรีจะมีคุณสมบัติ "3 เก่ง" คือ 1.เก่งจัดการ 2.เก่งคิด หาโอกาสเรียนรู้และคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอด และ 3.เก่งคน อ่านคนออก รู้ไพ่ในมือทั้งหมด เช่นรู้ว่าเมื่อน้ำท่วมต้องการการทำงานที่ฉับไว คนไหนจะเหมาะ สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางเรียนรู้ได้ในระยะเวลาอันสั้น

ส่วน ข้อสงสัยคลางแคลงใจเรื่อง "นายกฯยิ่งลักษณ์" เป็น "โคลนนิ่ง" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้เป็นพี่ชาย เลยทำให้ไม่ได้เลือกไพ่เอง นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เป็นปัญหารองลงไป เพราะถึงเวลา "นายกฯคนที่ 28" จะต้องชี้ได้เองว่า ไพ่ที่คนอื่นเสนอมานั้น ใบไหนใช่ ใบไหนไม่ใช่ แต่กว่าจะเลือกได้ ก็ต้องได้ลอง-เรียนรู้ก่อน ซึ่งระยะเวลาเพียง 1 เดือนเศษนั้น ถือว่ายังน้อยเกินไป

แม้จะปลอบใจให้คะแนนความตั้งใจนารีวัย 44 ด้วย "เกรด A" ก็ตาม แต่ก็ไม่วายข้อคิดไว้น่าฟัง

"เทียบ กับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ปี 2544 เป็นรัฐบาล 1 เดือน ถ้าเจอปัญหาเดียวกัน ผมคิดว่ารัฐบาลนั้นก็รับมือไม่ได้ดีกว่ารัฐบาลนี้มากนัก ที่เรารับมือสึนามิในปี 2547 ได้ เพราะผ่านประสบการณ์มาแล้ว ผ่านการทำงานมาเยอะ อ่านไพ่ในมือได้หมด รู้ว่าในทีมเราไหนเหมาะเป็นทีมรับ คนไหนเหมาะเป็นทีมรุก แม้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นระยะๆ แต่แกนกลางยังเป็นทีมที่ทำงานร่วมกัน 3-4 ปี ทำให้รับมือได้ดีพอสมควร"

อดีต แพทย์มหิดลฯ ยังกล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมคราวนี้ ไม่ใช่การรักษาปกติ แต่ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน จึงต้องมีการรักษาถึง 3 ขั้นตอน "ห้องฉุกเฉิน" ป้องกันความเสียหาย ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จากนั้นให้นำเข้า "ห้องผู้ป่วยใน" เพราะน้ำท่วมไม่จบใน 5 วัน 7 วัน แต่นานเป็นเดือน จึงต้องจัดการเรื่องศูนย์อพยพ โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ ซึ่งทีมงานทั้ง 2 ห้องนี้จะต้องทำคู่ขนาน ปิดท้าย "ทีมกายภาพบำบัด" ต้องเข้ามาฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้ง 3 ทีม 3 เรื่อง จะต้องมีคนทำ จึงต้องอ่านไพ่ในมือว่า ใครเหมาะกับเรื่องอะไร

เมื่อถามว่าแล้ว "สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และฝ่ายค้าน" เป็นไพ่อะไร?

หมอ เลี้ยบบอกว่า เรื่องคนไทยรักไทยนั้น บางทีไพ่ในมือไม่พอก็ต้องยืมไพ่สำรับคนอื่นมาเล่น ถ้าเล่นแล้วไม่ผิดกติกาก็ไม่เสียหายอะไร เพราะเป้าหมายไม่ใช่เล่นให้ชนะ แต่เล่นให้วงไม่แตก แต่เรื่องพรรคประชาธิปัตย์นั้น เขาตอบแบบเทียบเคียงให้วิเคราะห์เอง

"ย้อนไปสมัยสึนามิ แม้จะเป็นช่วงเลือกตั้ง พอพรรคไทยรักไทยหยุดหาเสียง พรรคประชาธิปัตย์ก็หยุดเช่นกัน แล้ว ส.ส.ทุกพรรคมาช่วยกันหมด ภารกิจวันนี้ก็เช่นกัน การชิงไหวพริบทางการเมืองเป็นเรื่องรอง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นเรื่องหลัก ผลที่ตามมาคือได้รับการชื่นชมจากทุกฝ่าย ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ"

นพ.สุรพงษ์พักจิบน้ำ ก่อนตะลุยตีแตก "จุดอ่อน" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

"รัฐบาล นี้มีปัญหาเรื่องการเตรียมการ เหมือนที่คุณปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ ยอมรับว่าประเมินสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.พระนครสรีอยุธยา ว่ารุนแรงน้อยกว่าที่เป็นจริง ขนาด จ.นครสวรรค์ เตรียมการมาหลายเดือน ทำพนังกั้นน้ำ 2 ชั้น มีการติดซีซีทีวีรายงานสถานการณ์น้ำ สุดท้ายพนังก็ยังแตกเพราะมีเรือชน"

เขากล่าวว่า ปัญหาของรัฐบาล คือมี "จุดโฟกัส" มากไป จนน้ำท่วมกลายเป็น "เรื่องรอง"

ทำให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่า คือ "การมองปัญหา-การคาดการณ์" ของรัฐบาลชุดนี้ ที่ "ไม่ได้มาตรฐาน"

"สิ่ง ที่คุณทักษิณพูดเสมอ คือคำของแอนดรูว์ โกรฟ อดีตซีอีโอ บ.อินเทลฯ ที่ว่า Only the Paranoid Survive (คนขี้ระแวงเท่านั้นที่จะอยู่รอด) คือให้มองแง่ร้ายไว้ก่อน คาดว่าร้ายที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะเตรียมรับมืออย่างไร ที่ย้ำอยู่ตลอดว่า กทม.จะไม่ท่วม ถ้าพูดในเชิงบริหารจัดการต้องบอกว่า ให้เตรียมใจไว่ก่อนว่าจะท่วม แล้วคุณยกของขึ้นไปไว้ชั้นสองหรือยัง หน้าบ้านคุณเตรียมพร้อมหรือยัง เพราะวันนี้ข่าวลือมันเยอะมาก ถามว่าคนเชื่อไหมว่า กทม.ไม่ท่วม ถึงวันนี้คนเริ่มไม่เชื่อแล้วนะ ในทางจิตวิทยาถ้าบอกว่า กทม.จะท่วม แล้วสุดท้ายไม่ท่วม หรือท่วมน้อยกว่า เราก็จะบอกได้ว่า นี่ไง...เพราะเราเตรียมการดี

"อีกคำพูดคือ Under Promise, Over Deliver (สัญญาให้น้อย, ทำให้มากกว่า) คือถ้าคุณสัญญาไว้น้อย แต่ทำได้มากกว่า คนก็จะบอกว่าคุณทำดี"

เมื่อ ถูกถามเรื่องการเมือง ที่กรณีพรรคประชาธิปัตย์ออกมาทำตัวเป็นโหรการเมือง ทำนายว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอายุสั้นแค่ 6 เดือน คิดว่ามาจากปัจจัยอะไร อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชาชนทายว่า พรรคประชาธิปัตย์คงเข้าใจว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยนายสมัคร สมัครสุนทรเวช ซึ่งเป็นข้อเตือนใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ต้องระมัดระวัง เพราะข้อหาคุณสมัครในปี 2551 ครั้งนั้นในพรรคพลังประชาชนก็ไม่ได้คาดคิด และอุบัติเหตุไม่มีทางจะรู้ล่วงหน้าได้

"ยอมรับว่าไม่รู้ว่าจะเกิด เรื่องไม่คาดคิดขึ้นในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะบางอย่างอยู่เหนือจินตนาการ ที่ทำได้ดีที่สุดให้เอาหลังพิงประชาชน อะไรที่สุ่มเสี่ยงไม่ได้ยึดผลประโยชน์ประชาชน ให้พิจารณาว่าควรทำหรือไม่ ควรทำเวลานี้หรือไม่"

เมื่อโฟกัสลงในประเด็นระหว่าง "นายกฯยิ่งลักษณ์ กับ คนเสื้อแดง" อะไรจะเป็น "ปัจจัยเสี่ยง" มากกว่ากัน หมอเลี้ยบอธิบายว่า..

"ความ เสี่ยงในประวัติศาสตร์มาจากความสุดโต่ง ศัพท์ทางธุรกิจคือ High Risk, High Return (ความเสี่ยงสูง, ผลตอบแทนสูง) ยิ่งสุดโต่งยิ่งเสี่ยงมากขึ้น คนที่ไม่มีอะไรเสียก็สุดโต่งได้ แต่คนที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าถ้าเดินไปแล้วสุ่มเสี่ยง ทำให้ตัวเองหรือเพื่อนร่วมงานเสียหาย ก็ต้องระมัดระวัง ไม่สุดโต่ง ซึ่งไม่ได้หมายถึงไม่ทำอะไรเลย แต่ทำให้เหมาะสม สอดคล้อง รู้จักประมาณตน และประมาณสถานการณ์"

หมอเลี้ยบแย้งความเห็นที่โยนมาในวงสนทนาที่ว่า เพราะรัฐบาลคุณสมัคร-คุณสมชายไม่สุดโต่ง จึงทำอะไรไม่สำเร็จ "รัฐบาลปู" จึงต้องทำตรงกันข้าม

โดยบอกว่า สถานการณ์ปีนี้ ไม่เหมือนในปี 2551 ที่เพิ่งผ่านรัฐประหารมาแค่ปีกว่า ยังไม่มีเรื่องสองมาตรฐานหรือความรุนแรง ปี 2551 แค่พูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญหน่อยเดียว ก็มีเสียงค้านแล้ว แต่วันนี้การแก้รัฐธรรมนูญจะมีเสียงตอบรับมากขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ในปีนั้นยังไม่มีตัวเปรียบเทียบเหมือนปีนี้ ที่คนได้เห็นการทำงานของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แล้ว

"ในปี 2551 คนไม่น้อยอยากเห็นคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นนายกฯ เพราะเชื่อว่าจะบริหารประเทศได้ดี ถึงวันนี้ทุกคนรู้แล้วว่าคุณอภิสิทธิ์บริหารประเทศแล้วเป็นอย่างไร ดีไม่ดี ดีเบตกันได้ แต่ได้เห็นฝีมือแล้ว ดังนั้นรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะไม่ได้เทียบกับรัฐบาลไทยรักไทยเหมือนรัฐบาลคุณ สมัคร หรือรัฐบาลคุณสมชาย แต่จะเทียบกับรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ด้วย การมี Comparative Study อย่างนี้เป็นตัวช่วยให้คนเห็นภาพมากขึ้น และมันทำให้อะไรที่เคยเสนอไม่ได้ เสนอได้ง่ายขึ้น"

นพ.สุรพงษ์สรุปว่า ความสุดโต่งไม่ได้อยู่ "เนื้อหา" ของข้อเสนอ แต่อยู่ที่ "ความสอดคล้อง" กับการรับรู้ของผู้คนหรือไม่

มี คนโยนคำถามตูมกลางวงสนทนาว่า "แต่คุณทักษิณอาจมองว่าไม่มีอะไรเสียแล้ว เลยต้องสุดโต่ง เพราะบ้านก็ยังไม่ได้กลับซักที?" ทำให้หมอเลี้ยบต้องตอบว่า "ผมไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นความคิดคุณทักษิณหรือเปล่า เพราะหลายอย่างที่ถูกอ้าง ในอดีตก็พิสูจน์ว่าเป็นแค่ข้ออ้าง บางทีคุณทักษิณอาจเกรงใจบอกว่า "ให้ไปปรึกษากันดู" ซึ่งแปลว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่คนไปตีความว่าเห็นด้วย ทั้งที่ถ้าเห็นด้วยจะบอกว่า ทำเลย เอาเลย"

วันนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะมีมวลชน 15.7 ล้านคนหนุนหลัง แต่การจะเดินหน้าอะไร หมอเลี้ยบเน้นว่า รัฐบาลก็ยังต้องระดมคนหมู่มากให้มาเห็นด้วย ไม่ว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แก้ พ.ร.บ.กลาโหม ฯลฯ

สำหรับคำถามสุดท้ายที่ถามว่า พรรคเพื่อไทยมีโอกาสถูก "อำนาจนอกระบบ" เตะออกนอกกระดานอีกครั้งหรือไม่ นพ.สุรพงษ์บอกว่า บทเรียนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ตลอดเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมาสอนว่า การจะทำอะไรโดยไม่ฟังความเห็นอย่างรอบคอบ สุดท้ายก็ต้องมาแก้ บางเรื่องแก้ไม่ยาก แต่บางเรื่องไม่มีโอกาสได้แก้...

"หลายเรื่องต้องประเมินกันจริงๆ จังๆ ว่า มันเป็นคำตอบหรือไม่ บางเรื่องเหมาะจะทำในอนาคต แต่ไม่เหมาะจะทำตอนนี้" นพ.สุรพงษ์ทิ้งท้าย
.....

หมอเลี้ยบ-ชูธงเชียร์ "นิติราษฎร์" ทำนายอุบัติเหตุการเมือง "ยิ่งลักษณ์" ..คลิกอ่าน