ที่มา ไทยรัฐ
ถึงแม้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะปิดฉากไปแล้วก็จริงแต่ยังมีประเด็นตกค้างให้ล้วงควักมาวิเคราะห์อีกหลายกรณี
โดยเฉพาะผลโหวตไม่ไว้วางใจ “นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และรัฐมนตรีที่ถูกจองกฐินอีก 5 คน ได้เกิดความสับสนอลหม่าน ไม่เหมือนการลงมติไม่ไว้ วางใจรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา
พูดสั้นๆคือโหวตมั่วนั่นแหละท่านประธาน
มั่วจนนับคะแนนไม่ถูกว่าฝ่ายค้านมี ส.ส.กี่คน ฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส.กี่คน
เนื่องจากพรรคการเมืองบางพรรคจะเป็นฝ่ายค้านก็ไม่ใช่ เป็นฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เชิง
พรรคการเมืองบางพรรค เดี๋ยวโหวตข้างฝ่ายค้าน เดี๋ยวพลิกไปโหวตข้างรัฐบาล
แม้แต่ ส.ส.พรรคเดียวกันก็โหวตสวนทางกันเองเป็นที่ชุลมุนวุ่นวาย
ส.ส.ฝ่ายค้านแหกโผไปโหวตไว้วางใจรัฐบาลก็มาก ส.ส.รัฐบาลแหกกฎเหล็กไปโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีก็มี
ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนก็งดออกเสียงเพื่อช่วยเหลือรัฐบาล ฝ่าย ส.ส.รัฐบาลก็งดออกเสียง เพื่อตัดคะแนนไว้วางใจพวกเดียวกันเอง
ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการ เมืองไทย
“แม่ลูกจันทร์” ยอมรับว่าประชาธิปไตย แบบไทยๆ มันก็มั่วๆอย่างนี้มานานนมเน
แต่ครั้งนี้รู้สึกจะวุ่นวายขายปลาช่อนมากที่สุดที่เคยพบเคยเจอ
ต้นเหตุก็ต้องโทษรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่น คมช. ที่ทำให้การออกเสียงลงมติในสภาฯ ออกมาผิดสีผิดกลิ่นผิดฝาผิดตัว!!
มาตรา 162 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ระบุว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอิสระจากมติพรรคการเมือง ในการตั้งกระทู้ ถาม การอภิปราย และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”
แปลไทยเป็นไทยคือ ส.ส.ทุกคนมีอิสระในการโหวตไว้วางใจ หรือไม่ไว้ วางใจรัฐมนตรี โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคการเมือง!!
รัฐธรรมนูญมาตรานี้จึงมีผลทำลายระบบพรรคการเมืองจนไม่เหลือความสำคัญ
ยัง...ยังแสบไส้ติ่งไม่พอ เพราะมาตรา 126 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ยังเขียนย้ำอีกกระทอกว่า การออกเสียงลงคะแนนฯ สมาชิกย่อมมีอิสระไม่ถูกผูกพันโดยมติพรรค การเมือง หรืออาณัติอื่นใด
เท่ากับรัฐธรรมนูญทั้งมาตรา 126 และมาตรา 162 มีเจตนาเปิดช่องให้ ส.ส. ไม่ต้องเชื่อฟังมติพรรคอีกต่อไป
พูดอย่างถึงกึ๋นก็คือ ยุยงส่งเสริมให้ ส.ส.เป็นกบฏพรรคตัวเอง!!
แถมเมื่อมี ส.ส.ฝ่าฝืนมติพรรคอย่างชัดเจน พรรคการเมืองที่ ส.ส.ผู้นั้นสังกัดจะไม่มีสิทธิขับออกจากพรรค หรือลงโทษ หรือแม้แต่ ตำหนิติเตียน...
เพราะมีรัฐธรรมนูญมาตรา 162 และมาตรา 126 ให้ความคุ้มครอง
“แม่ลูกจันทร์” ถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดกติกาอย่างนี้ จะมีพรรคการเมืองให้ เมื่อยตุ้มทำไม??
ในเมื่อ ส.ส.ทุกคนมีเอกสิทธิ์ มีอิสระในการตัดสินใจ ก็ไม่จำเป็นที่ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองให้เปลืองงบ กกต.
เพราะ ส.ส.ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ใครอยากเป็นฝ่ายค้าน ใครอยากเป็นฝ่ายรัฐบาล ก็เชิญตามสบาย
หรือใครอยากเปลี่ยนข้างสลับขั้วก็ทำ ได้ตลอดเวลา
ก็น่าสงสัยว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเป้าหมายอะไร??
เพราะผลที่ตามมาจากกติการัฐธรรมนูญแบบนี้ จะทำให้พรรคการเมืองซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถควบคุม ส.ส.ได้อย่างเดิม
เมื่อพรรคการเมืองควบคุม ส.ส.ไม่ได้ การเมืองไทยก็ยิ่งอ่อนแอ
ทีนี้เมื่อ ส.ส.มีเอกสิทธิ์ มีอิสระในการลงมติในสภาฯ ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้มีการใช้เงินซื้อเสียง ส.ส.ได้อย่างบริดวกโยธิน
โอ๊ย...ยิ่งคิดยิ่งปวดกบาล.
แม่ลูกจันทร์