ที่มา Thai E-News
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
23 มีนาคม 2552
ปัจจุบันนี้สังคมไทยขาดความยุติธรรม และขาดสันติภาพ การปฏิรูประบบยุติธรรมในสังคมแยกออกไม่ได้จากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความยากจน และปัญหาประชาธิปไตย เราควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตำรวจ และทหาร ในลักษณะองค์รวม ซึ่งโยงไปถึงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างมาตรฐานวิถีชีวิตด้วยรัฐสวัสดิการอีกด้วย
การปฏิรูปกฎหมาย
*พลเมืองทุกคนต้องเท่าเทียมกันจริงต้องไม่มีใครอยู่เหนือใครเพราะเหตุว่าเกิดมาในตระกูลหนึ่ง ดังนั้นต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ และต้องไม่มีระบบสืบทอดอำนาจทางสายเลือด เพราะระบบนี้ขัดต่อหลักวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตย
*ควรยกเลิกกฎหมายสามกฎหมายหลัก ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยคือ กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพ กฎหมายหมิ่นศาล และกฎหมายว่าด้วยการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ด เพื่อให้มีความโปร่งใสและเอื้อกับการตรวจสอบสถาบันต่างๆ โดยพลเมือง การ”ปฏิรูป”กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพไม่เพียงพอ ต้องยกเลิกไปเลย
*ควรยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงานเพื่อลดบทบาทของรัฐในการเข้าข้างนายจ้างในกรณีข้อพิพาทแรงงาน และเพื่อเพิ่มอำนาจให้พลเมืองจำนวนมากที่เป็นลูกจ้าง
*ต้องยกเลิกกฎหมายห้ามค้าประเวณี เพื่อไม่ให้ตำรวจรังแกผู้ให้บริการทางเพศปัญหาการซื้อขายเพศต้องแก้ไขโดยการให้ความเคารพกับทุกฝ่าย และผ่านการปฏิรูปหรือยกเลิกแนวคิดจารีตคับแคบเรื่องเพศ ไม่ใช่ผ่านการใช้กฎหมายและตำรวจ
*ต้องมีการเพิ่มอำนาจให้แก่ชุมชนในการตัดสินใจในเรื่องทรัพยากร หรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า ท่อก๊าซ ถนน ฯลฯ โดยใช้ระบบไตรภาคีที่กล่าวถึงไปแล้ว รัฐบาลส่วนกลางไม่ควรมีสิทธิ์ใช้ตำรวจในการบังคับใช้นโยบายโครงการขนาดใหญ่ เช่นท่อก๊าซ หรือเขื่อน
*การใช้ยาเสพติด ควรเน้น “นโยบายลดความเสี่ยงต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้ยาเสพติด”เช่น ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ยาเสพติดเพื่อให้หลีกเลี่ยงยาอันตราย ต้องแจกเข็มฉีดยาสะอาดฟรี ยกเลิกบทลงโทษผู้ใช้ยา เพื่อป้องการแอบซ่อนและลดราคายาในท้องตลาด ซึ่งก่อให้เกิดการเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้น ต้องมีการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์อย่างทั่วถึง ควรมีการทำความเข้าใจว่าการติดยามีหลายมิติ ไม่ใช่แค่มิติเคมี และควรมีการเปรียบเทียบภัยจากการใช้ยาชนิดต่างๆ เช่นสุรา บุหรี่ กาแฟ ยาอี กัญชา เฮโรอีน ฯลฯ ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์
*ต้องมีการยกเลิกกฎหมายจากยุคเผด็จการหรือคำประกาศฉุกเฉินต่างๆ ทุกฉบับ เพราะไม่สร้างความมั่นคงแก่ประชาธิปไตย
*ต้องถอนทหารและตำรวจออกจากสามจังหวัดชายแดน เพื่อยุติสงครามและลดความรุนแรงซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการแก้ปัญหาด้วยการเมืองสันติ
*ต้องให้ประเทศไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาในทุกรูปแบบศาสนาต้องแยกออกจากรัฐและเป็นทางเลือกส่วนตัวของพลเมือง ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะนิยามความถูกต้องของการนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่นแต่อย่างใด
ปฏิรูประบบยุติธรรม
*ควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างถอนรากถอนโคนเพื่อให้ประชาชนเข้ามาควบคุมตามหลักการประชาธิปไตย ควรลดอำนาจของผู้พิพากษา ตุลาการ และเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
โดยให้มีระบบใหม่คือ คณะลูกขุนที่มาจากทะเบียนรายชื่อประชากรในเขตนั้นๆ หมุนเวียนกันมาเป็น เพื่อเป็นผู้ตัดสินคดีโดยที่ผู้พิพากษาเป็นเพียงผู้ชี้แจงประเด็นกฎหมายให้คณะลูกขุน
*พลเมืองควรมีสิทธิ์วิจารณ์ศาลได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบของประชาชน ดังนั้นควรยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาลในรูปแบบที่ใช้ในปัจจุบัน
*เราควรจะร่วมกันพิจารณาวิธีเลือกตั้งผู้พิพากษาและตุลาการทั้งหมดไม่ใช่ปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนที่ไม่รักประชาธิปไตยเป็นผู้แต่งตั้ง
*สำหรับคดีย่อยๆ เช่นลักขโมยฯลฯ ไม่ควรมีการจำคุกควรใช้นักสังคมสงเคราะห์ในการชี้แนะให้ผู้ผิดสามารถปรับตัวผ่านงานสาธารณะ แต่ที่สำคัญ เราต้องแก้ปัญหาอาชญากรรมที่ต้นเหตุ เพราะการลักขโมยส่วนใหญ่มาจากปัญหาความยากจนหรือการติดยา ดังนั้นต้องเน้นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมผ่านการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการสร้างรัฐสวัสดิการ
*ควรมีการทบทวนปรัชญาในการจำคุก เพื่อเน้นความปลอดภัยของสังคมแทนการแก้แค้นลงโทษ เราต้องยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณีควรปฏิรูประบบคุกเพื่อลดจำนวนนักโทษ และเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักโทษ ในปัจจุบันคุกไทยเป็นพื้นที่ป่าเถื่อน มีการใช้ความรุนแรง มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต และสภาพการขังนักโทษเป็นสภาพจากศตวรรษก่อน ทั้งหมดนี้ต้องปฏิรูปและต้องลดจำนวนผู้ถูกขังอีกด้วย
*ต้องสร้างมาตรฐานความเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม โดยเริ่มจากเบื้องบน ต้องนำเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เคยทำผิดในคดีความรุนแรงกับประชาชน เช่น ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๖ตุลา พฤษภา๓๕ กรณีตากใบ ฯลฯ มาลงโทษและให้อำนาจแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ฟ้องอาชญากรของรัฐให้ขึ้นศาล(แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน) อดีตอาชญากรของรัฐควรถูกกีดกันไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งสาธารณะอีก
*ต้องมีสำนักงานดูและสุขภาพและความปลอดภัยที่มีระบบบริหาร “สามส่วน”ประกอบด้วย (1)คนจากรัฐบาลส่วนกลางที่มาจากการเลือกตั้ง (2)คนที่ได้รับการเลือกตั้งจากชุมชนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลได้ผลเสีย และ(3)คนที่เป็นตัวแทนของสหภาพแรงงาน โดยที่ทั้งสามส่วนมีผู้แทนเท่ากัน สำนักงานนี้ต้องมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับบริษัทหรือหน่วยงานของรัฐที่ละเมิดกฎระเบียบความปลอดภัยหรือทำลายสิ่งแวดล้อม
การปฏิรูปทหารเพื่อให้เผด็จการหมดสิ้น
*ประชาชนต้องสามารถตรวจสอบการทำงานของทหารได้ควรลดงบประมาณทหารให้เหลือน้อยที่สุด ยกเลิกงบประมาณลับ เน้นกองกำลังอาสาสมัครของประชาชนแทนอุปกรณ์แพงๆ ในการทำสงคราม และการเกณฑ์ทหาร
*นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งควรเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทหารไม่ควรมีสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีทหารไม่ควรมีบทบาทอะไรทั้งสิ้นในการควบคุมหรือรักษาความสงบภายในประเทศ ควรลดจำนวนนายพลให้เหลือแค่จำนวนที่จำเป็น และเพื่อสกัดกั้นการใช้อำนาจในทางที่ผิด
*ทหารควรจำกัดบทบาทในการป้องกันประเทศ ไม่ควรมีตำแหน่งใดๆ ในรัฐวิสาหกิจระบบคมนาคม หรือสื่อ
*ต้องถอนทหารและตำรวจออกจากสามจังหวัดชายแดน เพื่อยุติสงครามและลดความรุนแรงซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีการแก้ปัญหาด้วยการเมืองสันติ
การปฏิรูปตำรวจ
*ควรนำระบบบริหาร “ไตรภาคี” เข้ามาใช้ในการบริหารและควบคุมตำรวจ ศาล และคุกซึ่งกรรมการไตรภาคีดังกล่าวควรประกอบด้วย 1.คนจากรัฐบาลส่วนกลางที่มาจากการเลือกตั้ง 2.คนที่ได้รับการเลือกตั้งจากชุมชนที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับผลได้ผลเสีย รวมถึงนักสหภาพแรงงาน หรือผู้แทนขบวนการเคลื่อนไหวภาคเกษตร และ 3.ผู้แทนของผู้ที่ทำงานในองค์กรเหล่านั้น ดังนั้นตำรวจชั้นผู้น้อยควรมีสหภาพแรงงาน
*ตำรวจไม่ควรถืออาวุธควรทำหน้าที่หลักในการเป็นผู้ประสานงานกับชุมชนเพื่อสร้างความปลอดภัยแทนการปราบปราม ทุกวันนี้ชุมชนในเมืองหรือชนบทเป็นสิ่งที่สร้างความปลอดภัยมากกว่าตำรวจอยู่แล้ว
*คดีไหนที่มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐทรมานผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้สารภาพหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ต้องยกฟ้องทันทีและต้องนำเจ้าหน้าที่มาลงโทษ ทั้งนี้เพราะเป็นปัญหาร้ายแรงในปัจจุบัน
*ตำรวจไม่ควรมีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อไม่ให้กลั่นแกล้งพี่น้องที่เดินทางเข้ามาในประเทศเรา
และควรยกเลิกตำรวจตระเวนชายแดนเพราะหน่วยงานนี้มีประวัติในการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเหตุการณ์ ๖ ตุลา
*ตำรวจและทหารไม่ควรมีสิทธิ์ตั้งด่านตรวจคนบนท้องถนนถ้าจะค้นบ้าน รถ หรือขอตรวจบัตร ต้องมีมูลเหตุชัดเจนว่าผู้ถูกสอบสวนแต่ละคนอาจกระทำความผิด
*ปัญหาจราจรต้องแก้ที่ระบบคมนาคมขนส่งมวลชนไม่ใช่โยนภาระให้ตำรวจชั้นผู้น้อยต้องยืนข้างถนนเสี่ยงภัยต่อสุขภาพอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ตำรวจชั้นผู้น้อยควรได้เงินเดือนในระดับที่พอเหมาะกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
*การดับเพลิงควรโอนไปเป็นหน่วยงานพลเรือนซึ่งขึ้นอยู่กับหน่วยปกครองท้องถิ่นแต่ควรได้งบประมาณจากส่วนกลางเพื่อให้ท้องถิ่นยากจนมีการพัฒนา
ใครควรจะเป็นผู้ปฏิรูปสังคมไทย?
คงไม่ใช่ คนอย่าง นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า(เซ็นเซอร์) ที่ได้กล่าวไว้ในปาฐกถาการประชุมประจำปี ของร.พ.ราชวิถี๒๕๕๑ ว่า"ประชาธิปไตย นั่นเหมาะกับประเทศที่มีชนชั้นกลางมาก แต่ประเทศไทยไม่ใช่ เพราะมีแต่คนจนและชอบประชานิยมแบบ ลด แลก แจก แถม ไปเรื่อย"
คงไม่ใช่ สถาบัน “กระโปกเกล้า” ที่ทำการปฏิรูปสังคมไทยเพื่ออภิสิทธิ์ชนในอดีต หรือแค่พวกนักวิชาการหรือนักเอ็นจีโอ
คงไม่ใช่ สุจิต บุญบงการ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่ให้ความสำคัญกับอภิสิทธิ์ชนในการสร้าง “ประชาธิปไตย”บนลงล่าง
ผู้ที่จะปฏิรูปการเมืองต้องเป็น พลเมืองธรรมดาที่รักประชาธิปไตยที่รวมกลุ่มกัน เช่นคนเสื้อแดง นักสหภาพแรงงาน หรือกลุ่มเกษตรกร และต้องมีผู้แทนของคนกลุ่มน้อยและผู้ถูกรังแกในสังคม